ความเชื่อเรื่องวิญญาณ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ความเชื่อเกี่ยวกับความตายอันสืบเนื่องเชื่อมโยงกับเรื่องวิญญาณ เป็นความเชื่อพื้นฐานที่เชื่อว่ามนุษย์นั้นประกอบด้วยร่างกายซึ่งมีสูญสลายตามกาลเวลา กับวิญญาณซึ่งยังจะคงอยู่แม้ร่างกายได้ตายจากไปแล้ว นับเป็นความเชื่อพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของคนทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าในชนบทหรือในเมือง
คนไม่ว่าในประเทศใดในวัฒนธรรมใดมักจะมีความเชื่อเรื่องของวิญญาณหรือเรื่องของบรรพบุรุษอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมหรือประเพณีต่างๆ ที่ยังคงเป็นวิถีหลักของคนชนบท โดยเฉพาะในรุ่นตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป
ความเชื่อเรื่องวิญญาณนั้นในหนังสือปัญญาวิวัฒน์ของ พ.อ.สมัคร บุราวาศ ราชบัณฑิตทางสาขาอภิปรัชญา ได้เขียนไว้อย่างน่าสนใจ พอที่จะสรุปความได้ว่า
" มนุษย์เนแอนเดอร์ธาล ( Neanderthal ) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ในปัจจุบันนั้น มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 50,000 ปีมาแล้ว รู้จักการใช้ไฟ การล่าสัตว์ด้วยเครื่องมือหิน อาศัยเป็นหลักแหล่งในถ้ำ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในซากของมนุษย์กลุ่มนี้ที่พบในถ้ำเมื่อปี ค.ศ. 1856 พบว่า โครงกระดูกของมนุษย์ในสมัยนั้นมีการฝังในหลุมศพพร้อมด้วยเครื่องมือหิน สีทาตัวและอาหาร ซึ่งบ่งชี้ว่าได้มีประเพณีการฝังศพแล้ว มีการเตรียมของเพื่อให้ไปใช้ในโลกวิญญาณด้วย ความคิดเรื่องวิญญาณซึ่งถือเป็นปัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ชาติจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา "
" การฝังศพจึงเป็นประเพณีแรกที่สุดและเป็นพิธีกรรมทางศาสนาแรกที่สุดในโลก " ความเชื่อเรื่องวิญญาณนั้นได้รับการตอกย้ำปลูกฝังมาตลอด 50,000 ปีของพัฒนาการของมนุษยชาติจนถึงปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่ความเชื่อดังกล่าวจะฝังแน่นในจิตใจของผู้คนในทุกวัฒนธรรม
บ่อยครั้งที่บุคลากรด้านสุขภาพไม่ว่าแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยไม่มีความเข้าใจต่อพื้นฐานวิธีคิดที่ฝังแน่นสืบทอดมากว่า 50,000 ปีแล้ว ย่อมพาลให้อารมณ์เสีย ทะเลาะกับคนไข้และญาติที่จะพากลับไปรักษาแบบหมอบ้านบ้าง หมอผีบ้าง<br />
และด้วยความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายมีอยู่จริง การตายจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เป็นเพียงการเปลี่ยนสภาวะของตัวตนเท่านั้น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือชราภาพจึงมักไม่ได้กลัวที่จะต้องเผชิญความตาย จะมีก็เพียงความเป็นห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงภารกิจในโลกนี้ที่ยังสะสางไม่เสร็จมากกว่า สำหรับคนชนบท หรือคนชราที่ใฝ่ในทางธรรมการร้องขอให้แพทย์สู้สุดชีวิตอย่าให้ตายจึงมีน้อย ขอร้องไม่ให้แพทย์ช่วยฟื้นคืนชีพด้วยท่อและเครื่องมือนานาชนิดจึงเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องการ ซึ่งบ่อยครั้งที่แพทย์มีความเข้าใจในมิติเช่นนี้น้อย ทำให้การรักษาที่ควรจากกันด้วยดี ด้วยมิตรไมตรีในยามยากของผู้ป่วยและญาติกลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่เข้าใจกันอย่างน่าเสียดาย
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ แพทย์ประจำที่โรงพยาบาลชุมพวง จึงได้อนุญาตให้มีการรำผีฟ้าบนตึกผู้ป่วยในของโรงพยาบาลตามความต้องการของผู้ป่วยและญาติได้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยารักษาความป่วยไข้ของผู้ป่วย ที่ใส่ใจมิติทางสุขภาพที่มากกว่ามิติทางด้านร่างกาย เชื้อโรค ความไม่ปกติในการทำงานของอวัยวะภายใน มาให้ความสำคัญกับมิติด้านจิตวิญญาณและความเชื่อที่ฝังลึกอยู่ในตัวของผู้ป่วยควบคู่กันไปด้วย เป็นตัวอย่างที่กล่าวขานกันจนถึงทุกวันนี้
แม้ว่าในปัจจุบันโลกจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล โลกหันมาสู่ความเชื่อในสสารนิยมคือเชื่อในสิ่งที่มองเห็นหรือพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้า แต่โลกก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายหมื่นปีจึงจะลบล้างความเชื่อเรื่องวิญญาณ เรื่องเทพเจ้าของมนุษยชาติลงไปได้ หรืออาจจะลบล้างไม่ได้เลยตลอดวิวัฒนาการของมนุษย์
วิญญาณมีจริงหรือไม่ ยากที่จะตอบได้ แต่ความเชื่อเรื่องวิญญาณนั้น จะคงอยู่คู่มนุษยชาติอย่างแน่นอน
Relate topics
- "หมอประเวศ" ซัดสาธารณสุขไทยเหลว เหตุพัฒนาแต่ยอด
- แพทย์ไทยตายอย่างไร
- 30 บาท กับทางออกไม่ให้โรงพยาบาลเจ๊ง
- ห้ามโฆษณาเหล้า จะลดการดื่มเหล้าได้จริงหรือ
- FTA ไทย-สหรัฐ สุขภาพคนไทยจะรุ่งหรือร่วง?
- แก้จนของจริงที่คำปลาหลาย
- ว่าด้วยทุจริตรถพยาบาลฉุกเฉิน
- ผู้สูงอายุเฮ ใส่ฟันปลอมฟรีทั้งปาก
- สุขภาพผู้สูงอายุ กับ กลไกซีอีโอ
- มองมุมกลับ ขยะล้นเมือง