สุขภาพผู้สูงอายุ กับ กลไกซีอีโอ
" สุขภาพผู้สูงอายุ กับ กลไกซีอีโอ "
เรามีผู้สูงอายุในทุกวันนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2543 มีผู้สูงอายุที่หมายถึงผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีจำนวนกว่า 5.7 ล้านคน คิดเป็น 9.19% ของประชากรไทย และคาดว่าอีก 25 ปีข้างหน้า คือปี พ.ศ. 2568 จะมีผู้สูงอายุประมาณ 9 ล้านคน
ปัญหาความเจ็บป่วยนั้นอยู่คู่กับวัยชรา อันนี้เป็นสัจธรรมที่นิรันดร์ และจากรายงานวิจัยการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุภาคใต้ พบว่า มีผู้สูงอายุ 12.9%ที่ไม่มีฟันและต้องใช้เหงือกในการบดเคี้ยว คิดกลับมาในภาครวมของประเทศแล้ว แปลว่า คนชราที่ต้องใช้เหงือกเคี้ยวอาหารแทนฟันแท้หรือฟันปลอมนั้นมีกว่า 800,000 คน
แน่นอนว่า ความสุขใดจะเสมอการกินอร่อยนั้นหายาก ผู้สูงอายุที่ลูกหลานพอมีสตางค์ก็ดิ้นรนจุนเจือพาไปทำฟันปลอม ความสุขในชีวิตไม้ใกล้ฝั่งที่ได้กินของหลากหลายมากกว่าผักต้มก็กลับคืนมา แต่ผู้สูงอายุที่ยากจนยังมีอีกมาก ซึ่งขาดการดูแล ไม่บังเกิดเป็นความเท่าเทียมทางสังคมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
ผู้สูงอายุกับดวงตาที่ฝ้าฟางนั้นก็เป็นสิ่งที่คู่กัน จากข้อมูลการสำรวจระบาดวิทยาโรคตาบอดครั้งที่ 3 ในปี 2537 เรามีผู้ป่วยโรคต้อกระจกที่ทั้งเป็นเหตุให้ตาบอดและสายตาเลือนลางประมาณ 505,141 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้น สายตาที่มืดลงเหมือนชีวิตที่กำลังจะมืดดับ เป็นการตัดโอกาสการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยชราเป็นอย่างมาก ดูโทรทัศน์ก็ไม่เห็น อ่านหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้ อยากจะชื่นชมหลานรักก็เลือนลางเต็มที ถ้ายังต้องใช้เหงือกเคี้ยวอาหารแทนฟันอีกก็ยิ่งเศร้ากันไปใหญ่
ผู้สูงอายุนับว่าเป็นผู้ด้อยโอกาสกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย ส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ ลูกหลานไม่ค่อยว่างดูแล มีกินตามสมควร มีโรคประจำตัวมากบ้างน้อยบ้าง แม้จะมีบัตรสูงอายุกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนน้อยมากที่จะมาใช้สิทธิทำฟันปลอมหรือผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งสามารถเบิกได้ตามระเบียบบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนใหญ่ยอมรับความด้อยโอกาสไปจวบจนลมหายใจสุดท้าย เพราะเบื่อหน่ายคิวนัดที่ยาวข้ามปีหรือหลายปี
ฟันปลอมและแว่นตา ( ซึ่งรวมถึงการผ่าตัดใส่เลนส์เทียมในโรคต้อกระจก ) นับเป็นอวัยวะเทียมที่มีค่ามากที่สุดสำหรับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ แต่ปัญหาก็คือ จะทำอย่างไรชีวิตคุณตาคุณยายไม่ว่าในเมืองหรือชนบทได้มีโอกาสได้ใส่ฟันปลอม ดวงตาไม่ขุ่นมัว อย่างเท่าเทียมกัน นับเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่สังคมอาจต้องร่วมกันขบคิด
ค่าใช้จ่ายนั้นยังเป็นปัญหาใหญ่ งบประมาณรายหัวของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จัดสรรมาล่วงหน้าแล้วนั้น แม้จามกติกาจะครอบคลุมบริการเหล่านี้ แต่หากไม่ใช้ได้ก็ย่อมเป็นกำไรของสถานพยาบาล หรือจะได้นำไปใช้เฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายหมวดอื่นที่จำเป็นกว่า ดังนั้นหากโรงพยาบาลใดยิ่งขยันก็จะยิ่งจนยิ่งเข้าเนื้อ ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ทำงานเช่นนี้ได้นั้นมีน้อย จึงไม่แปลกที่คิวจะยาวข้ามปีหรือหลายปี
ดังนั้น กลไกการทำงานร่วมกันของภาคประชาสังคมร่วมกับทางราชการในรูปของคณะกรรมการสุขภาพระดับจังหวัด ซึ่งปัจจุบันไม่มี น่าจะช่วยทำให้มีการกำกับดูแลการทำงานของสถานพยาบาลต่างๆให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้บนพื้นฐานข้อจำกัดด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน แต่กลไกนี้อยู่คนละขั้วกับกลไกปกครองแบบ ซีอีโอ
กลไกแบบไหนที่จะทำให้คนไทยมีสุขภาพดีได้มากกว่ากัน คำตอบคงอยู่ในใจของทุกคนอยู่แล้ว
Relate topics
- "หมอประเวศ" ซัดสาธารณสุขไทยเหลว เหตุพัฒนาแต่ยอด
- ความเชื่อเรื่องวิญญาณ
- แพทย์ไทยตายอย่างไร
- 30 บาท กับทางออกไม่ให้โรงพยาบาลเจ๊ง
- ห้ามโฆษณาเหล้า จะลดการดื่มเหล้าได้จริงหรือ
- FTA ไทย-สหรัฐ สุขภาพคนไทยจะรุ่งหรือร่วง?
- แก้จนของจริงที่คำปลาหลาย
- ว่าด้วยทุจริตรถพยาบาลฉุกเฉิน
- ผู้สูงอายุเฮ ใส่ฟันปลอมฟรีทั้งปาก
- มองมุมกลับ ขยะล้นเมือง