30 บาท กับทางออกไม่ให้โรงพยาบาลเจ๊ง
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
เมื่อต้นเดือนมกราคม 2549 นี้ มีข่าวคราวของเรื่อง 30 บาทที่น่าสนใจ กล่าวคือ รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ นักวิจัยโครงการระบบประกันสุขภาพ 30 บาทสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ได้แถลงผลการศึกษาวิจัยเรื่องของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค พบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เริ่มมาตั้งพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลนั้น พบทั้งความสำเร็จและปัญหาอุปสรรค
ประเด็นที่เป็นความสำเร็จ คือ 1.ทำให้คนไทยเกือบทุกคนมีสิทธิประกันสุขภาพ 2.ส่งผลให้ประชาชนสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนลงได้ 3.ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้บริการในระบบมากขึ้น แต่ในความสำเร็จก็ยังพบปัญหามากมาย เนื่องจากการจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาล ทั้งงบประมาณ อุปกรณ์ไม่สมดุลกัน เงินงบประมาณที่โครงการ 30 บาทมีไม่เพียงพอต่อภาระที่ต้องรับผิดชอบ จากการคำนวณเงินงบประมาณประเมินความต้องการ พบว่าจะต้องใช้เงิน 2,000 บาท/คน/ปี จึงจะพอ ขณะที่ปัจจุบันได้รับจัดสรรงบอยู่ที่ 1,659 บาท/คน/ปี เท่านั้น
นอกจากนี้ยังพบปัญหาในเรื่องของการจัดการระบบบัญชีในโรงพยาบาล ที่มีปัญหาด้านความถูกต้องของข้อมูล เช่น มีหนี้สินบางรายการที่ถูกซ่อนไว้ ไม่ได้แสดงออกมา ทำให้ดูเหมือนว่าโรงพยาบาลไม่ติดลบ จากการที่โรงพยาบาลต้องรับภาระทางการเงินมาก ส่งผลต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลที่เป็นปัญหาร้องเรียนมา ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทาการแพทย์ที่เป็นปัญหาเรื้อรังก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้"
ในโอกาสเดียวกันนี้ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง หัวหน้าโครงการติดตามประเมินผลการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ได้เสนอทางออกของปัญหางบประมาณ 30 บาทไม่พอว่า ถ้าจะให้พอต้องเพิ่มอีก 20,000-30,000 ล้านบาท/ปี มีข้อเสนอทางเลือกให้กับรัฐบาล 4 ทางคือ
ทางเลือกที่ 1 คือ ย้ายสมาชิกครอบครัวของผู้มีสิทธิประกันสังคมไปอยู่กับกองทุนประกันสังคม จะช่วยลดจำนวนผู้มีสิทธิในโครงการ 30 บาทลง 6 ล้านคน และลดภาระงบประมาณลงปีละ 12,000 ล้านบาท
ทางเลือกที่ 2 คือ ให้กองทุนประกันสังคมขยายความครอบคลุมด้านสุขภาพให้ผู้ที่เกษียณจากโครงการประกันสังคมไปแล้ว
ทางเลือกที่ 3 คือ รื้อระบบการประกันอุบัติเหตุบุคคลที่ 3 ให้รัฐบาลจัดเก็บเบี้ยประกันเอง เช่น เก็บพร้อมกับการต่อทะเบียนรถและนำรายรับทั้งหมดเข้ากองทุนสุขภาพ ซึ่งจะสามารถเพื่อรายได้ 2,000-3,000 ล้านบาท/ปี
ทางเลือกที่ 4 คือ ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของรัฐบาล ซึ่งเงิน 20,000-30,000 ล้านบาทที่ต้องการเพิ่มนั้น คิดเป็นร้อยละ 1-2 ของงบประมาณประจำปี ซึ่งปกติรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ฉะนั้น รัฐบาลน่าจะจัดงบและค่าใช้จ่ายด้านอื่นลงได้ หรือหารายได้เพิ่มขึ้นจากการขึ้นภาษี โดยเฉพาะภาษีที่คนหนียาก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิม 7% เป็น 8%
การแก้ปัญหาเงินไม่พอในการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น มีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาจากนักวิชาการมาแล้วหลายครั้ง ทุกข้อเสนอเห็นตรงกันว่า เงินไม่พอระบบจึงเรรวน ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขในครั้งนี้ของ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นั้นน่าสนใจยิ่ง แต่ก็เชื่อแน่ว่า ครั้งนี้ก็เหมือนทุกครั้งที่มีข้อเสนอดีๆ แต่คนใหญ่คนโตในรัฐบาลอาจรับทราบแต่ไม่รับรู้ อาจได้ฟังแต่สมองมัวคิดแต่เมกกะโปรเจก บวกลบคูณหารเงินๆทองๆ
หากฝ่ายรัฐบาลไร้การตอบสนอง โรงพยาบาลต่างๆอาจต้องประกาศลดคุณภาพบริการกันอย่างเปิดเผย แจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าว่า เงินไม่พอ ขออภัยในความไม่สะดวก และจำกัดยาที่ใช้รักษา งดเยี่ยมบ้าน ลดคุณภาพอาหารผู้ป่วย งดบริการคลินิกนอกเวลาราชการ ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในทุกเวร แม้ประชาชนต้องรอนานขึ้นก็ต้องทำใจ เพราะโรงพยาบาลถูกรัฐบาลทอดทิ้ง คงมีแต่วิธีนี้เท่านั้นกระมังที่รัฐบาลขาลงะรีบมาแก้ปัญหาให้อย่างจริงจัง
Relate topics
- "หมอประเวศ" ซัดสาธารณสุขไทยเหลว เหตุพัฒนาแต่ยอด
- ความเชื่อเรื่องวิญญาณ
- แพทย์ไทยตายอย่างไร
- ห้ามโฆษณาเหล้า จะลดการดื่มเหล้าได้จริงหรือ
- FTA ไทย-สหรัฐ สุขภาพคนไทยจะรุ่งหรือร่วง?
- แก้จนของจริงที่คำปลาหลาย
- ว่าด้วยทุจริตรถพยาบาลฉุกเฉิน
- ผู้สูงอายุเฮ ใส่ฟันปลอมฟรีทั้งปาก
- สุขภาพผู้สูงอายุ กับ กลไกซีอีโอ
- มองมุมกลับ ขยะล้นเมือง