สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

FTA ไทย-สหรัฐ สุขภาพคนไทยจะรุ่งหรือร่วง?

by kai @18 ก.พ. 49 22:38 ( IP : 58...246 ) | Tags : มุมมองหมอ

ในช่วงระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2549 ที่ผ่านมามีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในรอบที่ 6 ณ จังหวัดเชียงใหม่  และมีการประท้วงจากภาคประชาสังคมและนักวิชาการอย่างกว้างขวาง  โดยเฉพาะในวันที่ 11 ม.ค.49 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการชุมนุม เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงการประชุมคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ที่ยังปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ โดยตำรวจได้เข้าสลายม็อบที่นอนปิดประตูขวางทางเข้าด้านข้างของโรงแรมเชอราตันสถานที่จัดประชุม  จนต้องเปลี่ยนสถานที่เจรจาใหม่    การเจรจายังไม่สิ้นสุด  จะต้องมีการเจรจากันอีกหลายรอบ

เรื่อง FTA ไทย-สหรัฐนั้น  เกี่ยวอะไรกับสุขภาพ  เป็นสิ่งที่สังคมไทยควรร่วมกันทำความเข้าใจ

คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา  ได้จัดทำเอกสารแสดงความเห็นในเรื่องการเจรจา FTA  กับสหรัฐ  ว่า  การเจรจาครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการลดภาษีสินค้าหรือการเปิดตลาดสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีหัวข้อการเจรจาครอบคลุมประเด็นต่างๆ รวมทั้งหมด 23 หัวข้อ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะมีผลต่อการเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืชและภูมิปัญญาท้องถิ่น, เรื่องการเปิดเสรีการลงทุน เรื่องการเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งจะมีผลต่อการเข้ามาใช้ฐานทรัพยากรในประเทศไทยเพื่อการผลิต ผลต่อเรื่องการจัดบริการการศึกษา ภาคการเงินการธนาคาร บริการสาธารณสุข การใช้กระบวนการยุติข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับรัฐบาลไทยแบบพิเศษแทนการใช้กระบวนการศาลยุติธรรม เป็นต้น เรียกได้ว่าเนื้อหาใน FTA เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย  แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมตรวจสอบไม่ให้รัฐบาลทักษิณขายประเทศนั้นแทบไม่มีเลย  มีแต่ประโยคที่ว่า "จงเชื่อผู้นำ" แต่ผู้นำกลับทำตัวไม่น่าเชื่อถือ  มีผลประโยชน์ทับซ้อนซ่อนเงื่อนไม่น่าไว้ใจ

ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานั้น  มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงต่อสุขภาพแบบตรงไปตรงมาหลายประเด็น

ในกรอบการเจรจา  สหรัฐเรียกร้องให้ไทยขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ถ้าไทยต้องยอมรับนำระบบสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์มาใช้ ต้นทุนพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในการผลิตจะสูงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เป็นภาระต้นทุนของเกษตรกรที่ต้องแบกรับ  เมื่อร่วมกับมาตรการการเปิดเสรีการบริการ การลงทุนและการเปิดตลาดสินค้าเกษตรนั้นจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์และทรัพยากรชีวภาพ  เกษตรกรนับล้านครอบครัวต้องสูญเสียอาชีพ  เกษตรกรจะจนลง  แต่ประชาชนกลับต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับความจำเป็นพื้นฐาน  รายจ่ายมาก  รายได้ต่ำ สุขภาพจะดีได้อย่างไร

ที่สำคัญ  ประเทศไทยจะไม่สามารถใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในการจำกัดการนำเข้าสินค้าดัดแปลงพันธุกรรม(GMOs) จากสหรัฐได้ ยกเว้นถ้ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ที่ชัดเจน ซึ่งจะหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ให้เห็นผลเสียที่ชัดเจนในระยะเวลาอันสั้นคงทำได้ยาก  การยึดหลักกันไว้ดีกว่าแก้  ถ้าแย่จะแก้ไม่ทัน  ด้วยการห้ามการปลูกและการนำเข้าสินค้า GMOs ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป  การปนปื้อน GMOs จะทำให้ผลิตผลการเกษตรของไทยถูกปฏิเสธจากประเทศคู่ค้ารายใหญ่อื่นๆเช่นสหภาพยุโรป

การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา ได้มีการหยิบยกเรื่องสิทธิบัตรยาขึ้นมาเจรจา จากการติดตามกรอบการเจรจาของสหรัฐอเมริกากับประเทศอื่นๆ เช่นสิงคโปร์ หรือออสเตรเลีย พบว่าได้มีการยื่นข้อเสนอให้ประเทศเหล่านั้นปรับแก้กฎหมายสิทธิบัตรยาในประเทศ  ให้มีการถือครองสิทธิบัตรยายาวนานขึ้นจาก 20 ปี เป็น 25 ปี ซึ่งหมายถึงการผูกขาดการตลาดของบริษัทยาเพียงเจ้าเดียว ทำให้ผู้ป่วยและผู้บริโภคต้องซื้อยาในราคาแพง  ประชาชนที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงยาได้  โดยเฉพาะยาต้านไวรัสเอดส์  และยาตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค

งานนี่คงแย่แน่สำหรับคนไทยและโรงพยาบาลไทย  เพราะงบ 30 บาทที่น้อยนิด  แต่ค่ายาใหม่ๆจะแพงหูฉี่  คนไทยอาจต้องใช้ยาตระกูลเพนนิซิลลิน 5 แสนไปก่อน  รอยาดีๆหมดสิทธิบัตรอีก 25 ปีค่อยมีปัญหาซื้อหามาใช้  แล้วจะมีโรคภัยไข้เจ็บสักกี่โรคกันที่สามารถรอได้ถึง 25 ปี

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว