มองมุมกลับ ขยะล้นเมือง
" มองมุมกลับ ขยะล้นเมือง "
ปัญหาขยะนั้นต้องบอกว่าเป็นปัญหาของโลกในยุคใหม่ เพราะสมัยปู่ย่าของเรานั้น วิถีชีวิตในอดีต มีการสร้างขยะน้อยมาก เพราะทุกอย่างมาจากวัสดุธรรมชาติ หมูหมากาไก่ล้วนมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะ รวมทั้งในสมัยก่อนมีการปลูกฝังอะไรมากมาย เช่นหากกินข้าวเหลือหรือหกจะถูกตี ขวดทุกใบจะเก็บไว้จนเต็มตู้เผื่อว่าได้ใช้ซ้ำ ขยะในสมัยโบราณจึงไม่ใช่ปัญหาของชุมชน ทุกบ้านทุกครัวเรือนมีหน้าที่ในการกำจัดขยะที่เกิดขึ้นมา เผาบ้างฝังบ้างแต่ไม่เคยมีปัญหา แต่ปัจจุบันหน้าที่การกำจัดขยะกลายเป็นของเทศบาลหรือองค์กรปกครองท้องถิ่น ดังนั้นคนทิ้งกับคนเก็บและกำจัดกลายเป็นคนละคนกับ ปัญหาจึงเกิดขึ้นมากมาย
คนปัจจุบันมีความเข้าใจว่า หากเราทิ้งขยะให้ลงถังแล้ว ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งความจริงไม่ใช่ ขยะในถังนั้นยังส่งผลกระทบอีกมากมาย ปัญหาขยะไม่ใช่ก่อให้เกิดปัญหาของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่ต้องนำภาษีประชาชนมาใช้จัดการแล้วยังจัดการให้ดีได้ยาก เกิดปัญหาสังคมคนจนตามกองขยะ รวมทั้งปัญหาทางการเมืองจากปัญหาความขัดแย้งในการหาที่ทิ้งขยะ เป็นต้น
เดี๋ยวนี้ถ้าเข้าไปในหมู่บ้าน จะเห็นขยะกองกันเกลื่อนกลาด บ่อยครั้งที่เป็นกองสูงใหญ่เป็นที่เพาะพันธุ์แมลงวัน เป็นที่ขังน้ำฝนเพาะพันธุ์ยุง ส่งกลิ่นเหม็นไปไกล จึงไม่แปลกที่โรคอุจจาระร่วงยังเป็นโรคยอดฮิตของคนไทยเสมอ และถูกตีตื้นมาด้วยโรคไข้เลือดออก พยาธิ ปัญหาใหญ่ที่น่าปวดหัวเช่นนี้แก้ไม่ง่าย เก็บให้ตายก็ไม่หมด ถึงเก็บหมดก็เป็นปัญหาในการหาที่ฝังกลบและการกำจัด การแยกขยะในบ้านเราก็ยังอีกไกล แยกมาแล้วเทศบาลก็มาเทรวมกัน จนไม่รู้ว่าจะแยกไปทำไม
ดังนั้นหากกลับมาคิดใหม่ทำใหม่อย่างจริงจัง เราจะพบว่า ต้นตอของปัญหาขยะก็คือการที่ทุกคนเห็นว่าขยะนั้นไร้ค่า และมีหน้าที่ทิ้งให้ลงถัง แล้วรอเทศบาลมาเก็บ ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาต้องทำให้ขยะนั้นมีค่าขึ้นมา ทุกคนช่วยกันแยกช่วยกันเก็บ เหลือส่วนน้อยเท่านั้นที่เอาไปไว้หน้าบ้านให้เทศบาลนำไปกำจัด เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว เรียกว่ามีวิสัยทัศน์ในการจัดการขยะแบบใหม่ที่ชัดเจนแล้ว
หลายชุมชนเริ่มด้วยการทำขยะให้มีค่า โดยให้ชาวบ้านแยกขยะเป็นประเภทต่างๆ กระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว เศษโลหะ เป็นต้น แล้วเอาขยะที่รวบรวมได้มาแลกกับไข่ไก่ เป็นโครงการขยะแลกไข่ บางที่ก็ทำเป็นโครงการขยะแลกต้นไม้ก็มี พอทำไปสักพักจะเกิดความตื่นตัวในชุมชนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปพูดให้สุขศึกษาในเหนื่อยยาก ชาวบ้านจะเก็บของเหลือใช้ที่ในอดีตทิ้งลงถังขยะไปนานแล้ว เก็บไว้ให้มีจำนวนมากพอ เอาไปแลกไข่ไก่ทำเป็นกับข้าวมื้อเย็น ขยะในบ้านนั้นบางครั้งน้อยเกินไป ระหว่างที่เด็กนักเรียนเดินกลับบ้านเห็นขวดน้ำพลาสติกหรือกระป๋องน้ำอัดลมเขาก็จะเก็บเอาไปรวมกับของที่บ้านไปไว้แลกไข่ ชุมชนก็สะอาดขึ้นอย่างมีชีวิตชีวา
ผลจากการเอาขยะมาแลกไข่ ทำให้จิตสำนึกในการกำจัดขยะที่ควรเป็นหน้าที่ของทุกคนนั้นกลับคืนมาสู่ชุมชนอีกครั้ง บรรดาซาเล้งรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ที่หายไปจากชุมชนก็กลับคืนมา โดยไม่มีใครต้องไปตามให้กลับมา เด็กๆในครอบครัวก็มีอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้นด้วยจากไข่ไก่ที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อหา รอยยิ้มและความสุขในชุมชนดูงดงามกว่าเดิมมาก
สุขภาพนั้นไม่ใช่เพียงโรคภัยไข้เจ็บ แต่รวมถึงสังคมที่ดี ที่ต้องร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนา กรณีการกำจัดขยะเช่นนี้ หลายเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลน่าจะได้ลองเริ่มต้น สร้างท้องถิ่นบ้านเราให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่ไร้ขยะ วาระ 4 ปีนั้นมากพอครับ หากลงมืออย่างจริงจังตั้งแต่วันนั้น
Relate topics
- "หมอประเวศ" ซัดสาธารณสุขไทยเหลว เหตุพัฒนาแต่ยอด
- ความเชื่อเรื่องวิญญาณ
- แพทย์ไทยตายอย่างไร
- 30 บาท กับทางออกไม่ให้โรงพยาบาลเจ๊ง
- ห้ามโฆษณาเหล้า จะลดการดื่มเหล้าได้จริงหรือ
- FTA ไทย-สหรัฐ สุขภาพคนไทยจะรุ่งหรือร่วง?
- แก้จนของจริงที่คำปลาหลาย
- ว่าด้วยทุจริตรถพยาบาลฉุกเฉิน
- ผู้สูงอายุเฮ ใส่ฟันปลอมฟรีทั้งปาก
- สุขภาพผู้สูงอายุ กับ กลไกซีอีโอ