สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เมื่อคนดีไม่มีเสื่อม จะเขมือบ สสส.

by kai @14 ธ.ค. 47 22:29 ( IP : 61...150 ) | Tags : มุมมองหมอ

เมื่อคนดีไม่มีเสื่อม  จะเขมือบ  สสส.

ข่าวคราวสถานการณ์ความวุ่นวายเกี่ยวกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ที่รู้จักกันในนาม สสส. นั้นปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์มานานหลายเดือนแล้ว  แต่ข่าวคราวที่ปรากฏนั้นไม่สู้ปะติดปะต่อและไม่ได้นำเสนอภาพรวมของปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดใน สสส.  ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ที่ติดตามข่าวสารเรื่องนี้ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับ สสส.      ในวันนี้องค์กร สสส.ที่เป็นความหวังของประเทศไทยในการผลักดันการสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นของคนไทยทุกคนนั้นมีความน่าเป็นห่วงยิ่ง    เพราะ สสส.กำลังจะถูกเขมือบโดยคนที่มี "ภาพลักษณ์" ที่คนไทยจำนวนมากเชื่อว่าดีที่สุดคนหนึ่ง  กองบรรณาธิการวารสารโรงพยาบาลชุมชนจึงได้รวบรวมสถานการณ์ทั้งหมดเรียบเรียงขึ้น เพื่อให้สาธารณชนและชาวสาธารณสุขรับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่ไม่น่าเชื่อ
สสส. องค์กรที่น่าเขมือบ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติตั้ง "สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ"  หรือ "สสส."ขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544  เป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่นอกระบบราชการ  กองทุนนี้มีรายได้จาก "ภาษีบาป" (เหล้า บุหรี่) จำนวนปีละ 1,500 - 1,900 ล้านบาท  เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (health promotion) สสส.ถือเป็นนวตกรรมทางสังคมที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยที่ผลักดันมายาวนานกว่า 7-8 ปี  ผ่านการผลักดันถึง  4  รัฐบาล  การตั้ง สสส.ได้สำเร็จถือเป็นชื่อเสียงที่องค์การอนามัยโลกให้ความชื่นชมอย่างยิ่ง  ขณะนี้มีเพียง 5 ประเทศทั่วโลกที่มีองค์กรอย่าง สสส.แต่อีก 10 กว่าประเทศกำลังเสนอผลักดันกฎหมายกันอยู่  การจัดตั้ง สสส.เป็นเหตุผลหลักประการหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกตัดสินใจจะจัดประชุมระดับโลกด้านการสร้างเสริมสุขภาพขึ้นในประเทศไทยในปี 2548  และในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งล่าสุด (พ.ค.46) สมัชชาก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกจัดตั้งหน่วยงานทำนองเดียวกับ สสส.ของไทย สสส. เป็นสำนักงานเล็ก ๆ ที่มีเจ้าหน้าที่เพียงสี่สิบกว่าคน  แต่ทำงานผ่านเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพหลากหลายวงการ (วงการสาธารณสุข  วงการศึกษา วงการพัฒนาท้องถิ่น  วงการพัฒนาสังคม  วงการกีฬา  วงการสื่อสารมวลชน  วงการทหาร  วงการอุตสาหกรรม  เป็นต้น)  นับเป็นองค์กรหนึ่งที่มุ่งจัดรูปองค์กรในลักษณะใหม่คือ "จิ๋วแต่แจ๋ว" การให้ทุนหน่วยงานภาคีไปทำงานสร้างเสริมสุขภาพเป็นบทบาทหนึ่งและอาจเป็น"ภาพ"ที่คนจำนวนมากมองเห็นสสส.  แม้สสส. จะพยายามใช้ "งาน"ไม่ใช่ "เงิน"เป็นธงนำ  แต่กองทุนขนาดเกือบสองพันล้านบาทต่อปีนั้นย่อมเป็นที่มุ่งมาดปรารถนาของกลุ่มผลประโยชน์  มีการของบประมาณจากนักการเมืองในหลายโอกาสทั้งที่ขอตรงๆและฝากกับข้าราชการ  แต่ทาง สสส. ก็ได้จัดให้มีการพิจารณาไปตามระบบคุณธรรม  ซึ่ง  กระบวนการพิจารณาโครงการของ สสส.นับได้ว่าโปร่งใสที่สุดองค์กรหนึ่ง
ด้วยกระบวนการที่เป็นระบบเปิดประกอบกับบารมีสนับสนุนของผู้ใหญ่  สสส.จึงสามารถปลอดจากการแทรกแซงแบบตรง ๆ จากอิทธิพลมาได้เกือบ 2 ปี

ใครเป็นใครใน สสส. สสส.มีระบบการบริหารงานโดยคณะกรรมการ 2 ชุด  ได้แก่ คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน  มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานคนที่  1  กับคณะกรรมการประเมินผล  มี นพ.ดำรงค์  บุญยืน (อดีตรองปลัดกระทรวงและอธิบดีหลายกรมของกระทรวงสาธารณสุข) เป็นประธาน เมื่อต้นปี 2545  คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งอาจารย์หมอประกิต  "หมอนักรณรงค์สู้บุหรี่" ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้เป็น  รองประธานคนที่สอง  พร้อมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8  คนได้แก่ ศ.นพ.วิจารณ์    พานิช,  ศ.นพ.อุดมศิลป์  ศรีแสงนาม, นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม,  ดร.ชิงชัย  หาญเจนลักษณ์,  ครูสุรินทร์  กิจนิตย์ชีว์,  แม่ทองดี  โพธิ์ยอง, ดร.สายสุรี  จุติกุล, รศ.ดร.กาญจนา  แก้วเทพ
คณะรัฐมนตรียังเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลด้วย  โดยนอกจาก นพ.ดำรงค์แล้วยังประกอบด้วยกรรมการอีก 6 คนได้แก่  ศ.ดร.อัมมาร  สยามวาลา,  ศ.นพ.จิตร  สิทธิอมร,  รศ.พญ.พรพันธุ์  บุญรัตน์พันธ์,  ศ.ดร.ปรัชญา  เวสารัช,  ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์  และ ศ.ดร.ทวีทอง  หงษ์วิวัฒน์ สสส.เป็นองค์กรที่มีการทำงานที่เป็นระบบ  มีคณะกรรมการดูแลการกระจายงบประมาณอย่างเป็นระบบ  ซึ่งคณะกรรมการชุดสำคัญที่พิจารณาโครงการส่วนใหญ่มี นพ.บรรลุ  ศิริพานิช  อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ผู้มีฉายาว่าเป็น "เปาบุ้นจิ้น" เป็นประธานและประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายวงการอีก 15 คน  อีกทั้งยังมีผู้ทรงคุณวุฒิสมทบทำหน้าที่วิเคราะห์สอบทานโครงการอีกกว่า 400 คน

ความตรงคือภัย นพ.ประกิต  เวทีสาธกกิจ  รองประธาน สสส.คนที่ 2 ได้กล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดเจนในวันที่ 13 พฤษภาคม  2547 ว่า  " แม้หลายคนบอกว่า สสส.จะมีงบมากถึง 2,000 ล้านบาท  แต่ขอใช้ยากเหลือเกิน  ต้องขอเรียนว่า  เงินก้อนนี้เป็นเพียงร้อยละ 0.17 ของงบประมาณปกติ หรือเพียงร้อยละ    1  ของค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคทั่วประเทศ  เพราะฉะนั้นต้องใช้งบก้อนนี้อย่างคุ้มค่าที่สุด "
ดังนั้นในการพิจารณาโครงการนั้น  โครงการใดที่เสนอเข้ามาแล้วมีแนวโน้มที่จะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ  หรือเอื้อประโยชน์แอบแฝงแก่ผู้เสนอมากกว่าประชาชนก็จะไม่ได้รับการพิจารณา  ส่งผลให้มีโครงการจำนวนมากที่ไม่ผ่านการพิจารณา  รวมทั้งหลายโครงการของ ส.ส.หรือโครงการที่มีฝ่ายการเมืองขอมาอย่างไม่สมเหตุผลด้วย ในรอบปี 2546 ที่ผ่านมา  สสส.มีโครงการเปิดรับทั่วไปที่ส่งเข้ามา 1,947 โครงการ  ไม่ผ่านการกลั่นกรองรอบแรก (เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนเช่นเน้นการแจกของ ซื้อวัสดุครุภัณฑ์ เน้นการรักษาพยาบาล หรือเป็นกิจกรรมงานประจำของหน่วยงาน) จำนวน 521 โครงการ หรือคิดเป็น 37 %  ที่เหลือผ่านการกลั่นกรอง  1,426 โครงการ  แต่ได้รับการอนุมัติสนับสนุนจำนวน 300 โครงการ  คิดเป็น 21 % ของโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองแล้ว  เป็นวงเงิน 89 ล้านบาทเศษ  โครงการในกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นโครงการขนาดเล็กแต่มีจำนวนมาก  สสส.เรียกว่า "งานเชิงรับ" เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในทุกวงการสามารถขอรับการสนับสนุนโดยเน้นนวัตกรรม ในปี 2546 สสส.จ่ายงบประมาณสนับสนุนทุนไปรวม 736 ล้านบาท  งบประมาณส่วนใหญ่นั้น สสส.ทุ่มไปที่ "งานเชิงรุก" ซึ่งอยู่ในรูป "ชุดโครงการ" อันหมายถึงหลายๆโครงการที่สัมพันธ์กันมีจุดหมายร่วมในการผลักดันแก้ปัญหาเรื่องใหญ่  เช่น  การบริโภคแอลกอฮอล์, อุบัติเหตุจราจร,  การเรียนรู้ด้านสุขภาพ,  นโยบายสาธารณะ  และการพัฒนาสุขภาวะองค์รวมในพื้นที่  เป็นต้น  แม้กระนั้น สสส. ก็มิได้มุ่งทุ่มเทใช้งบประมาณให้ "หมดๆไป" แต่พัฒนาแผนงานเชิงรุกแต่ละแผนงานขึ้นจากงานวิจัยและกระบวนการมีส่วนร่วม  อีกทั้งชักชวนฟูมฟักภาคีวงการต่างๆให้แข็งแกร่งพอที่จะรับดำเนินงานขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นักการเมืองจำนวนหนึ่งจึงมองกองทุน สสส.ว่า "เงินเหลือเยอะ" นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2546 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่รองนายกปุระชัย  เปี่ยมสมบูรณ์เข้ามาดูแล สสส.นั้น  แทนที่ "คนดี" จะใช้บารมีและภาพลักษณ์ดีๆ ให้เกิดประโยชน์แก่การพัฒนางานและองค์กร  แต่ "คนดี" กลับวางตัวเหนือผู้หลักผู้ใหญ่และกรรมการทั้งหมด
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองท่าน (นพ.วิจารณ์ และนายไพบูลย์ ) เคยออกจดหมายเปิดผนึกเล่าว่า  การประชุมบอร์ด สสส.เดิมเคยมีแต่บรรยากาศสร้างสรรกลับกลายเป็นตึงเครียดมุ่งจับผิด  หากความคิดใดไม่ตรงกับประธานแล้วกรรมการก็จะมีโอกาสพูดน้อยมาก  ข้อสรุปที่มีคณะกลั่นกรองมาแล้วหากไม่ตรงใจประธานก็กลายเป็นเรื่องแขวนดองไว้  ในเรื่องนี้แม่ทองดี  โพธิ์ยอง กรรมการอีกท่านหนึ่งได้ให้การต่อกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภาว่า  "ประธานเล่นบทครูใหญ่  มองกรรมการเหมือนเด็กนักเรียน"
ในภาพรวมการประชุมบอร์ด สสส.ตลอดปีเศษจึงไร้วาระที่จะสร้างงานใหญ่  แต่กลายเป็นเรื่องหยุมหยิม  ซ้ำซาก  จนแม้แต่ ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  ผู้ใหญ่ที่มองทุกคนในแง่ดีได้ประกาศว่า หากยังมีประธานคนนี้อยู่ท่านก็จะไม่เข้าร่มประชุมบอร์ด สสส.อีกต่อไป นอกจากไม่ใส่ใจพัฒนางานพัฒนาองค์กรแล้ว  กลับมีการจัดการส่งสัญญาณจากคนที่ใกล้ชิดประธานให้ ส.ส.เสนอโครงการจาก สส.เข้ามาถึง 180 โครงการ  โดยโครงการส่วนใหญ่ผิดหลักเกณฑ์ คัดลอกกันมาโดยเปลี่ยนเพียงชื่อสถานที่ วันเวลา เท่านั้น  ส่วนเนื้อในนั้นเหมือนกันแทบทุกตัวอักษร  ส่งผลให้โครงการเหล่านี้ผ่านการพิจารณาเพียง  8 โครงการครึ่งเท่านั้น
ตัวอย่างกรณีที่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงถึงความผิดปกติในการเสนอโครงการ ได้แก่ หนังสือจากนักการเมืองผู้หนึ่ง ที่ระบุว่า เขาได้รับตัวเลขงบประมาณจำนวน 1.5 ล้านบาท  จึงได้ส่งโครงการเกือบ 20 โครงการเข้ามาขอเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ในกรณีนี้โครงการเหล่านั้นไม่ผ่านการพิจารณา
นอกจากนี้  ตัวอย่างของโครงการที่โดดเด่นที่ไม่ผ่านการพิจารณาได้แก่ - โครงการรณรงค์การใช้หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน หรือโครงการแจกหมวกกันน็อคเอื้ออาทร ที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย  วงเงิน  2,155  ล้านบาท  ที่ถูกประชาสังคมวิจารณ์ว่า  ได้แจกเก็บแต้มหาเสียง  แต่อุบัติเหตุไม่ลดแน่  เพราะปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย  ไม่ใช่ไม่มีหมวก  จากแหล่งข่าวกล่าวว่า  มีคนในทำเนียบไปแนะให้กระทรวงมหาดไทยเสนอมหาอภิโครงการนี้  แต่ต้องตกไปเนื่องจากเป็นข่าวหน้าหนึ่งในเช้าวันที่จะมีการประชุมพิจารณา - โครงการจัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับสมาชิกรัฐสภา  วงเงิน  6  ล้านบาท  เพราะเป็นการซื้อครุภัณฑ์ล้วนๆ  และควรใช้จากงบประมาณส่วนของรัฐสภามากกว่าเช่น ดูงานต่างประเทศให้น้อยลงสักครั้งก็ได้งบก้อนนี้แล้ว  ดีกว่ามาเบียดเงินสนับสนุนส่วนของประชาชน

วารสาร connect  ฟางเส้นท้ายๆ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2546 ที่ทำเนียบรัฐบาล  ผู้บริหารคนหนึ่งใน สสส.ได้ถูกเรียกเข้าทำเนียบพบ รองนายกคนหนึ่ง  โดยรองนายกฯคนนั้นชูหนังสือรูปสวยเล่มหนึ่งให้ดูพร้อมกับพูดว่า "ผมว่าโครงการแบบนี้ดี สสส.ควรสนับสนุน"  จากนั้นผู้ใกล้ชิดก็ยื่นโครงการ  " หนังสือสีขาวเพื่อเยาวชน หรือ วารสาร connect "  โดยใช้ชื่อ บริษัท ฐานการพิมพ์ จำกัด เป็นผู้เสนอโครงการขอรับทุน จำนวน 9.8 ล้านบาท  เพื่อจัดพิมพ์วารสารเพื่อให้เยาวชนรักสุขภาพ  และใช้ในการจัดกิจกรรมนักศึกษา  การเรียกพบครั้งนั้นมีโทรศัพท์กำชับกำชาว่า ต้องไปทำเนียบเพียงคนเดียว ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2546 คณะกรรมการพิจารณาโครงการของ สสส.ที่มี นพ.บรรลุ  ศิริพานิช เป็นประธานได้จัดประชุมพิจารณาโครงการ  มีความเห็นว่า  วารสาร connect นั้นน่าจะเกิดประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายในระดับหนึ่ง  จึงให้การสนับสนุนเป็นเงิน 4.8 ล้านบาท  เพื่อผลิตวารสาร  24 ฉบับใน  1 ปี  คือตลอดปี 2547  และจะมีการประเมินผลเมื่อวารสารออกได้  2 เดือน  ส่วนการจัดกิจกรรมนักศึกษาที่ขอมา 4 ล้านบาทนั้น  ไม่อนุมัติเพราะไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะก่อประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย เมื่อวารสารออกมาได้ 2 เดือน  ก็มีการประเมินผลตามที่ตั้งเงื่อนไขไว้  ซึ่งพบว่า  วารสารยังมีเนื้อหาที่เน้นบันเทิง  สุขภาพแบบตามกระแสเช่นผิวพรรณ รูปร่างภายนอก  อีกทั้งมีกระแสข่าวในเชิงลบต่อวารสารว่า  เป็นการใช้เงิน สสส. แอบแฝงหาเสียงเตรียมลงสมัครผู้ว่า กทม.หรือ สร้างภาพให้กับคนบางคน  ซึ่งทางคณะกรรมการก็ได้แจ้งให้ผู้รับผิดชอบโครงการไปปรับปรุง  และในเดือนกรกฎาคม 2547 จะประเมินอีกครั้งว่าจะพิจารณาสนับสนุนโครงการต่อหรือไม่ เป็นที่ทราบกันดีใน สสส.ว่า  โครงการดังกล่าวคือโครงการของใคร  เมื่อมีการให้ทุนเพียงครึ่งเดียว  แถมด้วยเงื่อนไขที่เข้มข้นก็ยิ่งทำให้ความร้อนระอุของความไม่สบอารมณ์ของฝ่ายการเมืองสูงขึ้นจนเกือบถึงจุดเดือด
และแล้ว  ฟางเส้นท้ายๆที่เหลืออยู่จึงขาดสะบั้น  นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2546  โครงการโหลจากนักการเมืองในทำเนียบก็หยุดไหลเข้าไปที่สสส.  แต่สิ่งที่ตามมาคือ ความตึงเครียดทวีขึ้น  และนำไปสู่  "มติครม.ฟ้าผ่า" ในเดือนมกราคม  และ การ "สอบสวนความผิด" ในเดือนกุมภาพันธ์ 47

มติครม. "ฟ้าผ่า สสส.เป็นสองซีก" ปีใหม่ 2547รัฐบาลประกาศรณรงค์ลดอุบัติเหตุจราจรแต่คนไทยกลับตายในช่วงเทศกาลนี้มากยิ่งขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา  คณะรัฐมนตรีประชุมกันเมื่อวันที่ 7 มกราคม  มีมติฟ้าผ่าให้คณะกรรมการกองทุน สสส.พิจารณาจัดสรรงบประมาณอย่างน้อยครึ่งหนึ่งไปสนับสนุนการรณรงค์อุบัติเหตุ  สุรา และอื่นๆ แต่แหล่งข่าวในทำเนียบแจ้งว่า ผู้เสนอมตินี้กลับมิใช่รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านลดอุบัติเหตุ  แต่กลับเป็นรองนายกฯอีกคนหนึ่ง  มติครม.นี้ได้กลายเป็นปมปัญหาในการทำงานของ สสส.ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  อาจารย์ประเวศ  วะสีวิจารณ์ว่า มตินี้เป็นการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล  และไม่มีข้อมูลความรู้ใดเป็นพื้นฐานเลย

ภาพรวมคำกล่าวหา  สสส. เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2547  เริ่มมีข่าวโจมตี "หมอประกิต" ในข้อหามีนอกมีในจาก "โครงการ 265 ล้าน" ซึ่งบิดเบือนว่า อาจารย์หมอประกิตทำโครงการนี้ไปของบประมาณจาก สสส.  โดยขอเงินไปเข้ามูลนิธิรามาธิบดี  ในขณะเดียวกันก็ขอนั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการอำนวยการดูแลโครงการนี้ เปิดบัญชีชื่อตนเองเพื่อให้มีการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนบุคคล และท้ายที่สุดคือเอาเงินจำนวนนี้ไปซื้อครุภัณฑ์ด้วยวิธีพิเศษ  โดยซื้อของแพงไปกว่าที่ควรจะเป็นถึงสองเท่า    โดยสรุปคำกล่าวหาว่า "ชงเอง-กินเอง" ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น  เชิญติดตามต่อไป

"จนกลางกระดาน  คณบดีรามายอมรับงบ 265 ล้านบาทล่องหน" หัวข่าวข้างต้นปรากฏในข่าวแจกไปตามโรงพิมพ์ต่างๆ  แต่มีน้อยฉบับที่ลงข้อความรุนแรงดังกล่าวเนื่องจากสื่อมวลชนผู้หวังดีประสานข้อมูลจาก สสส.ในค่ำวันที่ 24 มีนาคม 46 ก่อนข่าวปรากฏรุ่งขึ้น แผนงานอุบัติเหตุตามข่าวนี้เป็นงานเชิงรุกประกอบด้วยโครงการย่อยจำนวนหลายสิบโครงการ  ซึ่งแยกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ โครงการวิชาการ  โครงการรณรงค์  โครงการนำร่องในบางจังหวัด  และโครงการประเมินผล  โดยผู้ที่รับผิดชอบไปพัฒนาโครงการย่อย ๆ คือ รศ.นพ.ไพบูลย์  สุริยะวงศ์ไพศาล  นักวิชาการจากรามาธิบดีที่จับเรื่องอุบัติเหตุมาเป็นสิบปี  โดยกำหนดกรอบให้ทำงานเป็นเวลาสองปีเพื่อไปพัฒนาและสนับสนุนโครงการย่อย ๆ สี่ประเภทข้างต้นด้วยงบประมาณรวม 44 ล้านบาท
โครงการหลัก 44 ล้านบาทนี่เองที่ สสส.ให้ทุนผ่านมูลนิธิรามาธิบดี (ไม่ใช่ 265 ล้านบาทที่มีผู้ออกข่าวบิดเบือน)  นอกจากนั้นยังได้ตั้ง "คณะกรรมการอำนวยการ"  (ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิอาทิเช่น จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมและขนส่ง  ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร  และสภาทนายความ)  มาดูแล  ส่วนการสนับสนุนทุนแก่มูลนิธิรามาฯ นั้น มูลนิธิมิได้เป็นผู้ขอทุน  แต่ สสส.เองได้ขอคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีให้เข้ามาช่วย  และเมื่อวันที่ 7 มี.ค.46 คณะกรรมการกองทุน สสส.ก็ได้มีมติมอบหมายให้ อ.ประกิต  เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ  อ.ประกิต มิได้ขอเป็นเองและท่านก็มิได้อยู่ในการประชุมด้วย ในจำนวนโครงการย่อยเหล่านี้มีอยู่ 5 โครงการที่ สสส.สนับสนุนงบประมาณแก่จังหวัดนำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต และสงขลา  โดยส่วนหนึ่งสนับสนุนเป็นครุภัณฑ์  ส่วนนี้คิดเป็นงบประมาณ 10.3 ล้านบาท (ไม่ใช่ซื้อครุภัณฑ์มากถึง 265 ล้านบาทอย่างที่มีผู้ออกข่าว) การจุดประเด็นข่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคน มีที่มาจากข่าวแจกจากทำเนียบโดยฝีมือนักข่าวมือปืนที่ผู้ใกล้ชิด "คนดี" จัดให้เข้าไปฟังการประชุมบอร์ด สสส.  แต่บอร์ดไล่ให้ออก  ถึงกระนั้นก็มีการเขียนข่าวโจมตี นพ.ประกิตอย่างรุนแรง  ซึ่งข้อมูลย่อมจะมาจากใครอื่นไม่ได้
นี่คือการป้ายสีกรณีที่  1  นับเป็นการโกหกที่ไม่กลัวตกนรกเอาเสียเลย

หมอประกิตกับผลประโยชน์ทับซ้อน  (conflict of interests)? คำกล่าวหามีว่า นพ.ประกิตมีหลายตำแหน่งหรือ "สวมหมวก" ถึง 6-7 ใบ ได้แก่  (1) กรรมการ สสส. ตำแหน่งรองประธานคนที่สอง  (2) ประธานคณะกรรมการตรวจสอบภายในของ สสส. (3) ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานป้องกันอุบัติเหตุ  (4) คณบดีคณะแพทยศาสตร์  (5) ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดี  (6) เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  และ (7) ผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งในองค์คณะที่พิจารณาให้งบประมาณแก่โครงการนำร่อง 5 จังหวัด การหยิบยกตำแหน่งต่าง ๆ มากล่าวก็เพื่อชี้แจงว่า  อาจารย์หมอประกิตทำโครงการมาของบประมาณไปใช้เอง  อนุมัติเอง  กำกับดูแลเอง  โดยไปใช้ซื้อครุภัณฑ์ในราคาแพง  (มีนอกมีใน) ความจริงก็คือ  ทุกตำแหน่งข้างต้นนั้น  อาจารย์หมอประกิตได้รับเชิญหรือถูกขอร้องให้ไปทำคุณประโยชน์ทั้งสิ้น  และเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ  (เช่น  คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ท่านเป็นรองประธานคนที่สอง  คณบดีและประธานมูลนิธินั้นท่านก็เป็นมาก่อน  เลขาธิการมูลนิธิบุหรี่ก็เป็นงานที่ท่านทำมากว่า 15 ปี  ส่วนประธานกรรมการอำนวยการและประธานคณะตรวจสอบภายในนั้นก็เป็นมติมอบหมายจากบอร์ด สสส.เอง) VicHealth องค์กรต้นแบบของ สสส.ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2530  ก็ใช้แนวปฏิบัติเดียวกับ สสส.โดยมิได้ห้ามไว้มิให้กรรมการบอร์ดเข้าไปช่วยงานต่างๆ  ตรงกันข้ามเขายืนยันว่าเป็นประโยชน์และมีความจำเป็น  แต่ต้องเข้าไปอย่างเปิดเผยโปร่งใส ในกรณีอาจารย์หมอประกิต  บอร์ดสสส.เองได้พิจารณาและมอบหมายให้ท่านไปดูแลแผนงานอุบัติเหตุ  โดยผลประโยชน์จริงๆที่ท่านได้รับก็คือ  ค่าเบี้ยประชุม  และในกรณีของประธานคณะกรรมการอำนวยการ  ท่านก็ได้ทำเรื่องคืน "ผลประโยชน์" (เบี้ยประชุม) ให้แก่ สสส.ทั้งหมด 
คนที่ทำงานเพื่อสาธารณะมานานถึง 20 ปี และล้วนทำสำเร็จเป็นผลดี  หากมีผู้เชื้อเชิญไปช่วยงานต่าง ๆ นานาน ก็ไม่ใช่เรื่องประหลาด  ในขณะที่ผลประโยชน์จริง ๆ ก็ไม่มี  แต่กลับถูกหยิบยกขึ้นมาป้ายสีโจมตี    ศ.นพ.ประเวศ  วะสี ได้กล่าวว่า  ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน  มีแต่คุณประโยชน์ทับซ้อน  คือทำงานมากมายที่เป็นคุณให้แก่สังคมซ้อนทับหลายองค์กรต่างหาก นี่คือการป้ายสีกรณีที่ 2  ีที่พยายามทำขาวให้เป็นดำให้สังคมสับสน

ซื้อของแพงจริงหรือ ของแพงที่กล่าวหากันก็คือ "เครื่องตรวจจับความเร็ว" (speed-gun)  รุ่น MPH Z-35 จำนวน 45 เครื่อง  ราคาเครื่องละ 107,000 บาท  ซึ่งซื้อเมื่อต้นเดือนธันวาคม  2546 ข้อหา "แพง" นั้น  โดยการเทียบกับการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วรุ่น  Kustom  Falcon  จำนวน 350  เครื่องที่กระทรวงมหาไทยจัดซื้อเมื่อเดือนเมษายน  2547  ในราคาเครื่องละ  42,000  บาทเศษ รองนายกรัฐมนตรีปุระชัยได้กล่าวต่อวุฒิสภา  ระบุว่า  เครื่องมือทั้งสองมีคุณลักษณะใกล้เคียงกัน  และบางกรณีเครื่องที่กระทรวงมหาดไทยจัดซื้อมีคุณลักษณะดีกว่าอีกด้วย
ประเด็นนี้พิสูจน์ได้ไม่ยาก  เนื่องจากเป็นสิ่งที่ตรวจสอบและทดสอบได้  สิ่งที่พิสูจน์ง่ายที่สุดก็คือการส่งมอบที่คุณหมอไพบูลย์ส่งมอบได้ครบถ้วนทันการณรงค์ช่วงปีใหม่  แต่กระทรวงมหาดไทยจัดส่งมอบได้ทันเพียง 20 เครื่องเท่านั้น   ด้านคุณลักษณะเครื่องมือทั้งสองแตกต่างกันมาก เครื่อง Falcon  ออกสู่ตลาดเมื่อปี 2529  ในขณะที่ Z-35 ออกสู่ตลาดปี 2542  (เทคโนโลยีต่างกันถึง 13 ปี)  มีคุณสมบัติที่ต่างกัน  เช่น  เครื่อง Z-35  ตรวจจับรถได้พร้อมกันหลายคันในระยะตรวจจับ 1.6 กิโลเมตร  ทำงานในเวลากลางคืนได้สะดวก  สามารถใช้แบตเตอรี่ (ไม่ต้องมีสาย)  มีระบบป้องกันเรดาร์อัตโนมัติ  และน้ำหนักเบากว่าถึง 40%  ราคาขายในประเทศผู้ผลิต  (สหรัฐ)  ราคาเครื่องละ 1,303 เหรียญ
ส่วนเครื่อง Falcon ที่มหาดไทยจัดซื้อนั้น สามารถตรวจได้ดีเฉพาะรถที่วิ่งมาคันเดียวโดด ๆ เท่านั้นและตรวจได้คราวละหนึ่งคันในระยะ 0.75 กิโลเมตร  เครื่องไม่มีไฟหรือเสียงที่จะใช้ในเวลากลางคืน  เวลาใช้ต้องมีสายเสียบติดกับปลั๊กจุดบุหรี่ในรถตำรวจตลอดเวลา  และป้องกันเรดาร์อัตโนมัติไม่ได้  ราคาในสหรัฐเครื่องละประมาณ 600 เหรียญ การจัดซื้อครุภัณฑ์ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับอาจารย์หมอประกิตแต่อย่างใด    หากแต่เป็นเรื่องของ สสส.ที่มอบหมายให้คุณหมอไพบูลย์รับไปจัดซื้อรวมเพื่อแจกจ่ายให้แก่จังหวัดนำร่อง ส่วนครุภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งคือ  เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์  ซึ่งจัดซื้อขึ้นพร้อมกัน (ธ.ค.46)  โดยคุณหมอไพบูลย์จัดซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาที่หน่วยราชการใด ๆ เคยจัดซื้อมาในอดีต นี่คือการป้ายสีกรณีที่ 3  หวังทำลายคนดีด้วยข้อมูลเท็จทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอก

พูดขาวเป็นดำ—เอาเงินเข้าบัญชี "ส่วนบุคคล" มีการกล่าวหาว่าเงินงบประมาณที่ได้จาก สสส.นั้น  นพ.ประกิต  นำไปเข้าบัญชีบุคคลส่วนตัว
คำกล่าวหานี้มีขึ้นในการตอบกระทู้ของรองนายกรัฐมนตรีปุระชัยในวุฒิสภา  และเป็นคำกล่าวหาจากปากของผู้ที่เคยเป็นถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยมาก่อน ประเด็นนี้สามารถเทียบเคียงได้กับการรับทุนวิจัย  ผู้ที่เป็นนักวิจัยคงจะเข้าใจเหตุการณ์ได้ไม่ยาก  เมื่อนักวิจัยที่สังกัดมหาวิทยาลัยได้รับทุนโดยมีมหาวิทยาลัยเป็นคู่สัญญารับทุน  หน่วยงานให้ทุนมักจะกำหนดให้นำเงินทุนไปเปิดบัญชีแยกออกจากรายได้อื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย  บัญชีลักษณะดังกล่าวเป็นบัญชีของโครงการ  และมักจะกำหนดให้มีผู้ลงนามสั่งจ่ายเงินในบัญชีจำนวน 2 - 3 คน ระเบียบปฏิบัติดังกล่าวมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและเพื่อให้การตรวจสอบบัญชีโครงการกระทำได้โดยง่ายเพราะไม่ปะปนกับรายรับ-รายจ่ายอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยนั้น ๆ
ในกรณีของโครงการหลักที่ สสส.จัดงบประมาณแก่มูลนิธิรามาธิบดีก็เป็นลักษณะเดียวกัน "บัญชีส่วนตัว"  ที่กล่าวหาก็คือบัญชีโครงการที่มีชื่อว่า  "บัญชีโครงการวิจัยแผนสนับสนุนการป้องกันอุบัติภัยจราจร"  โดยมีผู้สั่งจ่ายคือ อ.ประกิต  คุณหมอไพบูลย์  และคุณมณฑิรา  ไตรโกมล  (เจ้าหน้าที่)  โดยต้องลงนามสั่งจ่ายจำนวน 2 คน ใน 3 คน  กระนั้น อ.ประกิตเองไม่เคยสั่งจ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว นี่คือการป้ายสีกรณีที่ 4  ที่มีเจตนาพูดความจริงบางส่วนเพื่อสร้างความเข้าใจผิดในกับผู้คนในสังคม

ปุตั้งกรรมการสอบ นพ.ประกิต เมื่อป้ายสีจนเกิดกระแสสังคมที่เข้าใจผิดไปบ้างแล้ว  ด้วยอาศัยภาพการจัดระเบียบสังคมที่สังคมยังติดภาพบวก  รองนายกปุระชัยจึงได้เริ่มกระบวนการปลด นพ.ประกิต  ออกจากตำแหน่งรองประธาน สสส.คนที่  2  ซึ่งข้อกล่าวโทษอาจารย์หมอประกิตจนถึงขั้นมีผู้สรุปว่ามีความผิดและเสนอคณะรัฐมนตรีให้ปลดนั้น  น้อยคนจะทราบว่ามีที่มาอย่างไร สรุปขั้นตอนของการสอบสวนได้  ดังนี้ - 24 ธ.ค.46 ประชุมคณะกรรมการกองทุน สสส. ประธาน  (รองนายกรัฐมนตรี) ได้เปิดประเด็นเรื่องการจัดซื้อเครื่องมือแก่จังหวัดนำร่อง  และได้แจ้งให้ผู้จัดการกองทุน (นพ.สุภกร บัวสาย ) ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร - ผู้จัดการได้ทำหนังสือชี้แจงถึงสองครั้ง  โดยขอให้มีการจัดวาระพิจารณาในคณะกรรมการกองทุนฯ แต่การประชุมบอร์ดอีกสามครั้งถัดมาประธานก็ไม่ยอมให้จัดวาระพิจารณาเรื่องนี้ - 4 ก.พ.47  รองนายกปุระชัยในฐานะประธาน สสส. ได้ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งแต่งตั้ง  "คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง"  อันประกอบด้วยผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ ผู้ตรวจราชการมหาดไทย  และที่ปรึกษาของประธานเองรวม 4 คน  คำสั่งนี้เป็นคำสั่ง "ลับ"  โดยคณะกรรมการ สสส.ท่านอื่น ๆ ก็ไม่รู้เห็นด้วยเลย - 25  ก.พ.47  ประชุมคณะกรรมการกองทุน  นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ขอในวาระอื่น ๆ ให้เปิดเผยเรื่องคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน  ซึ่งปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์  จึงได้มีการส่งสำเนาคำสั่งให้กรรมการกองทุนฯ ในสัปดาห์ถัดมา - 25  มี.ค.47  มีกรรมการสอบถามเรื่องการสอบสวนอีกและขอให้นำมาพิจารณาในคณะกรรมการกองทุนฯ แต่ประธานตัดบทว่า  "ขั้นตอนนี้เป็นเพียงการตรวจสอบว่ามีมูลหรือไม่  ถ้ามีมูลก็จะเอาเข้าพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป" - 7 เม.ย.47  ประธานในฐานะรองนายกรัฐมนตรีนำผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบไว้แต่เพียงเอกสารบางส่วน  ตีความเองว่าเป็นผลการสอบสวนเสร็จสมบูรณ์และมีความผิด  แล้วเสนอแก่คณะรัฐมนตรีเองในวาระจรก่อนเที่ยง 5 นาที  โดยเสนอปลด    นพ.ประกิต ออกจากตำแหน่ง  แต่ ครม.ไม่เห็นด้วยและมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ  เครืองาม)  รับไปดูแลข้อกฎหมายก่อนส่งคืนให้รองนายกฯ คนที่เป็นเจ้าของเรื่อง จากลำดับเหตุการณ์ข้างต้น  ใครกันแน่ที่ "ชงเอง  กินเอง" ?

การต่อสู้ในสภาผู้แทน  ธรรมย่อมชนะอธรรม
ตามกฏหมาย  สสส.ต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะรัฐมนตรีและสภาทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาปีละ 1 ครั้ง
สำหรับการรายงานต่อคณะรัฐมนตรีนั้น  สสส. ได้นำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องก่อนเข้า ครม.ชุดที่  5  ที่มีรองนายกปุระชัยเป็นประธานเอง  เมื่อวันที่ 29 เมษายน 46  แต่ถูกตีกลับให้กลับไปแก้ไข  จึงยังไม่ผ่านการรายงานต่อ ครม.  เหตุการณ์นี้แสนประหลาดแท้  แทนที่ประธานชุดกลั่นกรองที่ 5 จะเข้าใจงาน สสส.เนื่องจากเป็นประธานบอร์ด สสส.ด้วย  และได้ร่วมพิจารณาร่างรายงานมาถึง 4 ครั้งแล้ว  แต่กลับเป็นประธานคนเดียวกันนี้ที่มุ่งล้มล้างตีกลับรายงาน "ของตัวเอง"
ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2547  นั้น  ได้มีการพิจารณารับทราบผลการดำเนินงานของ สสส.ของสภาผู้แทนราษฎร    โดย ส.ส.จำนวนหนึ่งก็รุมถล่ม สสส.และ ศ.นพ.ประกิต  เวทีสาธกกิจ กลางสภาในช่วงแรก  แต่ไม่นาน  บรรยากาศในสภาก็เปลี่ยนไป  เมื่อ ส.ส.อีกหลายท่าน  ได้กล่าวให้กำลังใจแก่ สสส.และ นพ.ประกิต  รวมทั้งชี้ให้เห็นความไม่จริงของการกล่าวหาของ สส.ลิ่วล้อของคนดีไม่มีเสื่อม  และเมื่อ นพ.ประกิตกล่าวชี้แจง  ความจริงก็ยิ่งปรากฏชัด  จนสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้นเสียงข้างมากได้ลงมติรับรองรายงานการดำเนินงานของ สสส.    ผิดไปจากคำเตือนแกมข่มขู่ทางโทรศัพท์ก่อนหน้านั้นที่มีนักการเมืองคนหนึ่งโทรมาขู่ผู้บริการสองคนของ สสส.ว่า จะถล่มล้มล้าง สสส.ให้ได้ในชั้นรายงานต่อสภา

ก้าวต่อไปของ สสส.  ผจญมารเพื่อองค์กรเข้มแข็ง จากวิกฤต สสส.ที่ปรากฏ  ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเข้มแข็งภายในของ สสส.เองที่ยังสามารถต้านทานการรุกฆาตของพญามารได้
การที่รองนายกรัฐมนตรีปุระชัย  เปี่ยมสมบูรณ์  ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วสรุปเองว่ามีมูลนั้น  สิ่งที่ควรจะเป็นคือ  รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี (ผู้เป็นประธานบอร์ด สสส.ตัวจริงตามกฎหมาย) ควรจะตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งที่มีบุคคลที่สังคมยอมรับมาสอบสวนข้อครหาทุกข้อต่อ สสส.และ ศ.นพ.ประกิต  เวทีสาธกกิจให้ชัดเจน  แต่แค่นั้นย่อมไม่พอ  คณะกรรมการชุดนี้ควรที่จะสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อกรณีการบริหารงานอย่างไร้ประสิทธิภาพของประธานบอร์ด สสส.ด้วย  รวมทั้งหากข้อครหาล้วนไม่มีมูล  แต่เป็นเจตนาแอบแฝงที่ต้องการให้ผู้คนในสังคมเข้าใจผิดต่อ สสส.ว่ามีการทุจริตแล้ว  ก็ควรที่ทาง ฯพณฯนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงประธานบอร์ด สสส.ต่อไป  เพื่อให้ สสส.สามารถทำงานตามภารกิจการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง วิกฤต สสส.เป็นปัญหาที่แก้ง่าย เพราะเป็นผลมาจากคนๆหนึ่งมีหลงตนเองว่า ตนเป็นคนดีคนวิเศษ  ไม่ใช่ปัญหาเชิงระบบ  ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาให้ถูกจุดแล้ว  ก็ต้องปรับคณะรัฐมนตรี  ให้คนดีไม่มีเสื่อมไปอยู่ในที่ๆควรจะเป็น
ถึงวันนี้  จริงไม่น่าที่ทำไมแปลกใจแต่อย่างใดที่ทำไม  พรรคไทยรักไทยไม่ยอมส่ง ร.ต.อ.ปุระชัย  เปี่ยมสมบูรณ์ ลงสมัครชิงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เรื่องราวความไม่สงบในองค์กร สสส.ยังไม่จบ  ก็ขอฝากชาวสาธารณสุขและผู้สนใจปัญหาบ้านเมืองทุกคนได้คอยติดตามและช่วยผลักดันสังคมให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง  และส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาล  ความตระหนักและรู้ทันของผู้คนในสังคมเท่านั้น  ที่จะทำให้ผู้ที่คิดจะเขมือบแต่ยังหวังรักษาภาพพจน์ให้ดูดี  ต้องคิดหนักหากยังจะลงมือทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากล