อำเภอหาดใหญ่ :: ประวัติความเป็นมาของอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา
อำเภอหาดใหญ่
ประวัติความเป็นมาของอำเภอหาดใหญ่
ที่มาของชื่อหาดใหญ่ มีการเล่าสู่กันฟังเป็น ๒ นัย คือ มีหมู่บ้านตั้งอยู่ริมหาดทรายคลองอู่ตะเภาซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ในปัจจุบัน เป็นหาดทรายที่ค่อนข้างใหญ่ และมีแห่งเดียวที่ริมคลองนี้ประชาชนนิยมขุดขนทรายไปก่อสร้างบ้านเรือนแต่ทรายที่หาดแห่งนี้ไม่มีวันหมด หมู่บ้านนี้จึงเรียกกันว่า "หาดใหญ่" ตามหาดทรายใหญ่แห่งนี้
ส่วนอีกนัยหนึ่งกล่าวว่าหมู่บ้านหาดใหญ่ที่เรียกกันปัจจุบันนี้ว่า "หาดใหญ่ใน" มีต้นมะหาดขนาดใหญ่ชาวบ้านจึงเรียกหมูบ้านบริเวณนี้ตามต้นมะหาดใหญ่ว่า "หาดใหญ่" (ชาวปักษ์ใต้นี้ลดคำพูดหลายพยางค์ เหลือน้อยพยางค์ที่สุด) และต้นมะหาดดังกล่าวในปัจจุบันไม่มีแล้วเพราะได้ล้มตายไปตามเวลา
ประวัติอำเภอหาดใหญ่
เป็นชื่อรวมของบ้านหาดใหญ่และหมู่บ้านโคกเสม็ดชุน ซึ่งหมู่บ้านโคกเสม็ดชุนนี้เดิมเป็นเนินสูงมีผู้อาศัยอยู่เบาบางการคมนาคมไม่สะดวกและมีป่าต้นเสม็ดชุนอยู่มากมาย เมื่อทางราชการได้ตัดทางรถไฟมาถึงหมู่บ้านซึ่งมีประชาชนอพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่มากขึ้น สมัยนั้นสถานีรถไฟตั้งอยู่ที่สถานีอู่ตะเภา (อยู่ด้านเหนือของสถานีชุมทางหาดใหญ่ ปัจจุบันเป็นเพียงที่หยุดรถไฟ) เนื่องจากสถานีอู่ตะเภาเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมบ่อย ทางการรถไฟจึงได้ย้ายสถานีเสียใหม่ไปอยู่ที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ในปัจจุบัน เพราะเป็นที่เหมาะสมกว่าและเป็นเนินสูงน้ำท่วมไม่ถึง ประชาชนได้ทยอยติดตามกันไปสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณนั้นเอง ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่ากิจการรถไฟมีผลต่อการขยับขยายและความเจริญก้าวหน้าของอำเภอหาดใหญ่ตลอดมา
ต่อมาได้มีผู้เห็นการณ์ไกลว่าบริเวณสถานีรถไฟหาดใหญ่แห่งนี้ต่อไปภายหน้าจะต้องเจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน จึงได้มีการจับจองซื้อที่ดินแปลงใหญ่จากราษฎรเป็นจำนวนมาก บุคคลที่ได้ครอบครองที่ดินป่าเสม็ดชุนนี้ เช่น นายเจียซีกี (ต่อมาได้รับพระราชทินนามเป็นขุนนิพัทธจีนนคร) คุณพระเสน่หามนตรี นายซีกิมหยง พระยาอรรถกระวีสุนทร ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วทั้งหมด นับว่าทั้ง ๔ ท่านนี้เป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่หาดใหญ่อย่างแท้จริง คือได้ตัดถนนสร้างอาคารบ้านเรือนให้ราษฎร เช่น ตัดที่ดินแบ่งขาย ตัดถนนสายใหม่ ฯลฯ
ชุมชนหาดใหญ่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนทางราชการต้องยกฐานะจาก "บ้านหาดใหญ่" เป็นอำเภอ มีชื่อว่า "อำเภอหาดใหญ่" มีนายอำเภอของอำเภอเหนือคนแรกคือ หลวงภูวนารถบุรานุรักษ์ (อ่อน เศวตนันทน์) ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อจาก "อำเภอเหนือ" เป็น "อำเภอหาดใหญ่" นายอำเภอคนแรกของอำเภอหาดใหญ่คือ คุณพระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) และในปี พ.ศ.๒๔๙๐ อำเภอนี้ก็ได้ยกฐานะเป็นอำเภอชั้นเอก
สภาพทางภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง อำเภอหาดใหญ่ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๗ เหนือ เส้นแวงที่ ๑๐๐° ๒๕´ ตะวันออก
อาณาเขต : อาณาเขตของอำเภอหาดใหญ่มีดังนี้ คือ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับทะเลสาบสงขลา เขตอำเภอเมืองสงขลาและอำเภอรัตภูมิ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตอำเภอเมืองสงขลา และอำเภอจะนะ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตอำเภอรัตภูมิ และเขตกิ่งอำเภอคลองหอยโข่ง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตอำเภอสะเดา และอำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา
ลักษณะภูมิอากาศ
หาดใหญ่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ทะเล อากาศจึงไม่ร้อนจัดไม่หนาวจัด พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ค่อยๆลาดต่ำลงทางทิศเหนือที่จดกับทะเลสาบสงขลา ส่วนในบริเวณตัวเมืองและรอบๆพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ ปกติฝนตกน้ำไม่ท่วม นอกจากฝนตกติดต่อกันหลายวันเป็นเหตุให้น้ำจากอำเภอสะเดา ซึ่งไหลผ่านคลองอู่ตะเภา ทำให้เกิดน้ำท่วมในที่ลุ่มทั่วๆไป
ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม : ส่วนใหญ่เป็นประเพณีพื้นเมืองที่เกี่ยวกับศาสนาและกีฬาพื้นเมือง ได้แก่ ประเพณีทำบุญวันสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางพุทธศาสนาที่จัดขึ้นที่วัด มีปีละ ๒ ครั้ง ครั้งแรกในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเรียกว่าพิธีรับเปรต ส่วนครั้งที่ ๒ นั้นทำกันในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เรียกว่าพิธีส่งเปรต (ทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว) เป็นความเชื่อถือที่ว่าเป็นการทำบุญที่บรรพบุรุษของเรามาร่วมรับเอาส่วนบุญกุศลได้มาก
สำหรับประเพณีที่ได้รับการส่งเสริมขึ้นในปัจจุบัน ประเพณีวันไหว้พระจันทร์และวันตรุษจีนของประชาชนชาวเชื้อสายจีน
ประเพณีชักพระ : ปัจจุบันนี้เห็นว่ามีรถสะดวกก็ได้มีการประดับตกแต่งรถยนต์ให้เป็นรูปเรือ มีการประกวดความสวยงามและความคิดกันด้วย โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลามีการชุมชนเรือพระและประกวดกันเป็นประจำทุกปี
ประเพณีลอยกระทง : จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นประเพณีที่ทำเช่นเดียวกับการลอยกระทงในภาคต่างๆ ของประเทศไทย ที่หาดใหญ่จัดทำขึ้นที่สวนสาธารณะเทศบาลเมืองหาดใหญ่ และที่วัดหาดใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้คลองอู่ตะเภา
โนรา : เป็นการแสดงของภาคใต้ที่มีแบบฉบับบทกลอน การร่ายรำ ตลอดจนลักษณะเครื่องแต่งกาย ดนตรี เป็นเอกลักษณ์ และมีการถ่ายทอดกันมานับหลายชั่วคน
หนังตะลุง : เป็นมหรสพพื้นเมืองที่ประกอบด้วยความสามารถในการใช้รูปหนังตะลุง ซึ่งทำมาจากหนังโคแห้ง มาดำเนินเรื่องราวบนจอผ้าขาว โดยใช้โวหารปราชญ์ เข้ามาประกอบในการเชิดและเสียงดนตรีเป็นสำคัญ และหนังบางคณะสามารถแทรกเรื่องราวสะท้อนสภาพสังคมได้อย่างน่าชมเชยยิ่ง ซึ่งผู้มาหาดใหญ่ก็สามารถชมได้ในฤดูกาลรื่นเริง หรืองานเทศกาลทางศาสนา
การชนโค : สัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่เข้มข้น มุทะลุดุดัน ถึงเลือดถึงเนื้อของชาวปักษ์ใต้ก็ไม่เห็นจะมีอะไรเกินไปเสียยิ่งกว่าการชนโค โดยการนำโคที่เจ้าขิงนำมาเปรียบเทียบขนาดกันนำมาทำการชนกันเพื่อการพนันและสนุกสนานนับเป็นกีฬาที่อาคันตุกะของหาดใหญ่ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศนิยมกันมาก
สถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ
น้ำตกโตนงาช้าง เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา อยู่ในเขตท้องที่อำเภอหาดใหญ่ ตำบลทุ่งตำเสา มีน้ำตกหลายชั้นไหลลงมาตามหน้าผาที่เขียวชอุ่มด้วยหมู่แมกไม้วันสุดสัปดาห์ชาวเมือง มักจะชวนกันเดินทางไปเที่ยวที่นี่มาก
สวนสาธารณะของเทศบาลเมืองหาดใหญ่ ตั้งอยู่ใกล้สนามกอล์ฟคอหงส์ คายเสนาณรงค์ มีบริเวณกว้างขวาง มีภูเขา มีสระน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ ทำให้ทางน้ำตกในฤดูมีน้ำมาก มีสัตว์เลี้ยง อากาศดี เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจในยามว่าง
สนามกอล์ฟ อยู่ริมถนนสายกาญจนวนิช ห่างจากหาดใหญ่ประมาณ ๕ กิโลเมตร ในบริเวณค่ายเสนาณรงค์ เปิดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗
โรงแรมและศูนย์การค้า โรงแรมเป็นส่วนสำคัญสำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในฐานะที่เมืองชุมทาง หาดใหญ่เป็นเมืองที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของภาคใต้
บุคคลสำคัญในอดีต
อำเภอหาดใหญ่ตั้งแต่อดีต ชื่อว่าอำเภอเหนือ บุคคลแรกที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเหนือ คือ "หลวงภูวนาถบุราณุรักษ์" (อ่อน เศวตนันท์) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๗-๒๔๕๐ นายอำเภอแต่ละท่านได้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งและได้กระทำคุณงามความดีมีประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติทั้งสิ้น แต่ที่จะกล่าวเป็นพิเศษถึงบุคคลสำคัญในอดีตของอำเภอหาดใหญ่ ผู้รวบรวมขอกล่าวถึงประวัติบุคคลไว้เพียง ๒ ท่าน คือ พระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) และเจียกีซี (ขุนนิพัทธ์จีนนคร)
๑. คุณพระเสน่หามนตรี
คุณพระเสน่หามนตรี มารับราชการอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ ในตำแหน่งนายอำเภอคนที่ ๔ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๗-๒๔๖๔ ซึ่งอำเภอหาดใหญ่เดิมเรียกว่า "นายอำเภอเหนือ" หมายถึงอำเภอที่กันดาร คนในจังหวัดมักพูดดูหมื่นบุคคลว่า "ชาวเหนือ" คู่กับใช้คำพูดกับคนที่อยู่ระหว่างทะเลสาบกับทะเลหลวง คือ ท้องถิ่นระโนด สทิงพระ เป็นต้นว่า "ชาวบก" ซึ่งความหมายของคำทั้งสองนี้คือ คนที่อยู่ห่างไกลความเจริญนั้นเอง เมื่อคุณพระเสน่หามนตรี (สมัยที่เป็นหลวงทิพย์กำแหงสงคราม) ได้รับราชการเป็นนายอำเภอก็เปลี่ยนชื่ออำเภอเหนือนี้เป็น อำเภอหาดใหญ่ และคุณพระก็ได้เลื่อนตำแหน่งจากหลวงขึ้นเป็นพระ ถ้าจะมีคำถามว่าใครเป็นนายอำเภอเหนือคนสุดท้ายก็ต้องตอบว่า คุณพระเสน่หามนตรี หรือจะถามว่าใครเป็นนายอำเภอหาดใหญ่คนแรก ก็ต้องตอบว่า คุณพระเสน่หามนตรีเหมือนกัน
ความเจริญจากอำเภอเหนือมาเป็นอำเภอหาดใหญ่ ก็ในสมัยพระเสน่หามนตรีเป็นนายอำเภอ สมัยนั้นถนนจากอำเภอหาดใหญ่มี ๒ สาย สายหนึ่งจากอำเภอไปสถานีรถไฟชุมทางอู่ตะเภา (ปัจจุบันเป็นป้ายที่จอดรถหยุด) อีกสายหนึ่งจากอำเภอหาดใหญ่ไปถนนใหญ่ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า ถนนไทรบุรี ปัจจุบันคือถนนกาญจนวนิช (สี่แยกโรงเรียนบ้านคลองหวะปัจจุบัน) สายที่ออกไปถนนใหญ่สายนี้มีทางแยกตรงบ้านท่าเตียนไปถึงวัดคลองเรียน ซึ่งเป็นทางที่ข้าราชการและประชาชนไปทำบุญที่วัด นับเป็นทางที่ใกล้อำเภอมากที่สุด ความเจริญจุดใหญ่ที่ปรากฏอยู่ปัจจุบันนี้หรือขยายในอนาคตต่อไปนั้น ขอให้เข้าใจว่าจุดแรกที่เป็นจุดบุกเบิกจากที่ดินจำนวน ๕๐ ไร่ ซึ่งคุณพระซื้อไว้ในราคาประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ในสมัย ๓๐-๕๐ ปีก่อนนั้น ได้เจริญเติบโตกลายเป็นศูนย์กลางค้าของเมืองหาดใหญ่ที่หนาแน่นไปด้วยอาคารร้านค้า ศูนย์การค้า และโรงแรมหลายแห่ง
๒. เจียกีซี หรือ ขุนนิพัทธ์จีนนคร
เจียกีซี เดินทางมาจากประเทศจีนและได้โอกาสเดินทางมาภาคใต้ เมื่อสมัยของรัชกาลที่ ๕ เมื่อรัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายเพชรบุรีจนสุดชายแดนภาคใต้ เจียกีซี ซึ่งมีนิสัยชอบการผจญภัยอยู่แล้วก็สมัครเข้าทำงานกับบริษัทเหมาสร้างทางรถไฟ ลักษณะเป็นผู้ตรวจการ คนงานสร้างทางรถไฟส่วนมากเป็นชาวจีนแคะและชาวแต้จิ๋วจากกวางตุ้ง
เจียกีซีไปมาหาดใหญ่บ่อยครั้งและพิจารณาเห็นว่าหาดทรายที่เกิดขึ้นนี้เพราะเป็นที่รวมของแม่น้ำสายเล็กๆ สามสายรวมกันกว้างใหญ่ทุกๆ ปี ชาวบ้านเรียกว่าท้องที่หมู่บ้านหาดทราย เมื่อยังไม่มีชื่อตำบลหาดใหญ่ รถไฟสายผ่านหาดทรายนี้ก็เกิดปัญหาว่าตำบลนี้ควรจะตั้งสถานีนี้ว่าอย่างไร ปลัดเทศาภิบาลได้เชิญเจียกีซี นายไปรษณีย์และข้าราชการหลายท่านมาปรึกษากันว่าควรจะให้ชื่อสถานีนี้ว่าอย่างไร เจียกีซีเสนอขอให้ตั้งชื่อ "สถานีหาดใหญ่" ที่ประชุมก็เห็นด้วย เป็นอันว่าด้วยนี้เป็นชื่อที่เจียกีซี หรือขุนพิทักษ์จีนนครเป็นผู้เสนอให้ตั้งชื่อนี้ด้วย
เจียกีซีได้พิจารณาเห็นหลักการณ์ไกลจึงได้ซื้อที่ดินรอบๆ สถานีจำนวน ๕๐ ไร่ ซึ่งในครั้งนั้นเป็นจำนวนเงินเพียง ๑๗๕ บาท ที่จริงก็ไม่มีค่าสำหรับเวลานั้นเลย เพราะอำเภอหาดใหญ่ก็มีเพียงหาดทรายเปล่าๆ นายอำเภอหาดใหญ่ก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับเจียกีซี ก็ซื้อที่ดิน ๕๐ ไร่ ในราคา ๒๐๐ บาท แล้วเจียกีซีก็สร้างห้องแถวขึ้น ๕ ห้อง นอกจากนี้ยังซื้อที่ดินออกไปอีกหลายร้อยไร่ เป็นบริเวณกว้างขวางรอบเมืองหาดใหญ่ เมื่อความเจริญได้เริ่มต้นท่านก็ได้ตัดถนนในพื้นที่อุทิศให้แก่รัฐบาลไป ปัจจุบันคือถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑-๒-๓ อันเป็นถนนหลักของเมืองหาดใหญ่ แต่มิใช่ว่าพื้นที่ทั้งหมดของหาดใหญ่เป็นของขุนนิพัทธจีนนครแต่เพียงผู้เดียว เพราะท่านขุนได้แบ่งขายที่ดินให้แก่ผู้มาตั้งรกรากอีกมากมายให้ได้ช่วยกันลงทุนปรับปรุงที่ดินให้เจริญขึ้น
นี่เป็นเคล็ดลับแห่งความสำเร็จในชีวิตของขุนนิพัทธจีนนคร ผู้สร้างเมืองหาดใหญ่อีกท่านหนึ่ง
Relate topics
- พินิจนคร สงขลา
- บ้านเธอ บ้านฉัน เล่าเรื่องเมืองเก่า
- ผ้าป่าสามัคคีบำรุงสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาเพื่อชุมชน
- เรื่องเล่าจากชุมชนตอน “กวนข้าวยาคู”
- ประชุมภาคีแผนสุขภาพประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553
- ภาพสถานที่จัดงาน "สงขลาสร้างสุข 53.
- ออกกำลังกายไล่โรค
- ๓ ปี สถานีวิทยุพระพุทธศาสนาเพื่อชุมชน ใครได้อะไร? - เรื่องควรรู้ที่ควนรู
- เรื่องควรรู้ที่ควนรู
- เฉลิมฉลองวันกรรมกรสากล "วันแรงงานแห่งชาติ"