เรื่องเล่าจากชุมชนตอน “กวนข้าวยาคู”
โดย ณัฑฐวรรณ อิสระทะ
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ณ วัดท่าประดู่ ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนร่วมกับชาวบ้านชุมชนวัดท่าประดู่ เครือข่ายเกษตรเมืองลุง เครือข่ายชาวนาภาคใต้ จัดโครงการถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคโนโลยีการผลิตข้าวพื้นเมืองจังหวัดพัทลุง
สืบสานประเพณีกวนข้าวยาคู และประเพณีทิ่มข้าวหม้าว เพื่อให้ชุมชนและท้องถิ่น เกิดความตื่นตัวและตระหนักในคุณค่าประเพณีและวัฒนธรรมข้าว เพื่อเกิดรูปแบบการทำงานแบบ มีส่วนร่วมของวิทยาลัยฯกับชุมชน ตื่นเต้น ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ที่มาร่วมงานอยากรู้ อยากเห็นว่าข้าวยาคูเป็นอย่างไร โดยเฉพาะพวกเราที่เดินทางจาก อ.รัตภูม จ.สงขลา อยากรู้มาก ว่าเค้าทำกันอย่างไร ฟังพระแสดงธรรมเทศนาพอจับใจความได้ว่าเป็นความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติ ตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสยาคู เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยแล้วก็ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณ พุทธศาสนิกชนชาวใต้มีความเชื่อว่า ข้าวยาคูเป็นอาหารทิพย์ ผู้ได้รับประทานจะมีสมองดีเกิดปัญญา มีอายุยืนยาว ผิวพรรณผ่องใส และเป็นยาขนานเอกที่สามารถขจัดโรคร้ายได้ทุกชนิด ทั้งยังบันดาลความสำเร็จสมความปรารถนาในสิ่งที่คิดไว้ด้วย
ชาวบ้านนิยมกวนข้าวยาคูช่วงเวลาในวันขึ้น ๑๓ และ ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ โดยใช้วัดเป็นสถานที่ประกอบพิธี ส่วนมากเริ่มกวนเวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา จนถึง ๐๐.๓๐ นาฬิกา ด้วยสถานการณ์เปลี่ยนชาวบ้านที่นี่จะใช้ช่วงเวลาที่ เหมาะสมกับพื้นที่พนางตุง
ความสำคัญพิธีกรรม
๑. การเตรียมบุคลากรที่สำคัญ อันได้แก่ สาวพรหมจารี นุ่งขาวห่มขาว ต้องรับสมาทานเบญจศีลก่อนเข้าพิธีกวน ทั้งนี้เพื่อความบริสุทธิ์ และความเป็นสิริมงคล และพระสงฆ์ สำหรับสวดชัยมงคลคาถา โดยมีด้ายสายสิญจน์โยงจากพระสงฆ์ผูกไว้บริเวณที่กวน
๒. พิธีกวน สาวพรหมจารีจับไม้กวน มีการ ตั้งอีโหย้ (โห่สามลา) พระสงฆ์จะสวดชยันโต ตั้งแต่เริ่มกวน สวดจนจบถือว่าเสร็จพิธี ต่อไปชาวบ้านที่เข้ามาร่วมพิธีก็จะเข้าไปเปลี่ยนมือ ใครจะกวนก็ได้ ถือว่าเป็นบุญ
สาวพรหมจารี นุ่งขาวห่มขาวเริ่มกวนก่อนใคร
วิธีกวน ข้าวยาคู จะใช้เวลาประมาณ ๘-๙ ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ และจะต้องกวนอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ข้าวยาคูติดกระทะ เมื่อเริ่มเหนียวจะใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวไว้เติมลงในกระทะ ข้าวยาคูจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเมื่อกวนเสร็จ และมีกลิ่นหอมเครื่องเทศ
ช่วยกันเตรียม ช่วยกันเติม ช่วยกันทำให้เนียน(ละเอียด)
จากการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าการกวนข้าวยาคูนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการกวนนั้นจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ต้องมี ความสามัคคีของชาวบ้านในการกวนข้าวยาคู ซึ่ง ดูจาก การตระเตรียมเครื่องใช้และเครื่องปรุงซึ่งมีไม่น้อยกว่า๕๐ ชนิด ความพร้อมเพรียงกันในการเตรียมของ เตรียมงาน ใน ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๓ วัน ต้องมีคนกวนข้าวยาคูอยู่ตลอดเวลาประมาณ ๘- ๙ ชั่วโมง เมื่อข้าวยาคูเริ่มเหนียวหนืดจะหนักมากต้องใช้แรงผู้ชายกวน ชาวบ้านจึงต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง การกวนข้าวยาคูจึงสำเร็จ
การแบ่งปันข้าวยาคู โดยตักใส่ถาดเกลี่ยให้บาง ๆ ตัดเป็นชิ้นนำไปถวายพระในวัด จากนั้นแจกจ่ายญาติมิตรที่มาร่วมในพิธีให้ทั่วทุกคน ที่เหลือจัดส่งไปยังวัดต่าง ๆ และนำไปฝากญาติมิตร การแบ่งปันข้าวยาคูนี้แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เกิดความห่วงใยซึ่งกันและกัน แม้ไม่ได้มาร่วมกวนข้าวยาคู ก็จะได้รับข้าวยาคูเป็นของฝากให้ได้รับประทานทั่วถึงทุกคน
อยากจะบอกว่า การกวนข้างยาคูทางภาคใต้ จะเหมือนกับการกวนข้าวทิพย์ที่บ้านเกิดของอิฉันเจ้าคะ คือจำได้ว่าตอนเด็ก ๆ คุณพ่อพาไปดูเค้ากวนข้างทิพย์กันที่วัด ภาพที่จำได้ก็คือ วัตถุดิบที่ใช้อาจแตกต่างกันตรงที่ จ.อุทัยธานีจะมีจำพวก ถั่ว งา ข้าวตอก ข้าวโพด ผลไม้ ส่วนทางใต้จะเป็น ผลไม้ซะส่วนใหญ่ ประเภท จำปาดะ สาคูวิลาส ใบพาโหม มากมายอย่างที่บอกแหละมากกว่า ๕๐ ชนิดแน่นอน
สามัคคีกันซะขนาด
พวกเราอยู่ร่วมงานการกวนยังไม่แล้วเสร็จ เดินทางกลับกันซะก่อน วันนั้นเลยอดชิม แต่วันรุ่งขึ้นช่วงค่ำ ๆ ก็ได้รับเป็นของฝากได้ชิมรสชาดของข้าวยาคู ถือโอกาสชิมเผื่อท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยนะ รับบุญกันไปทั่วหน้านะเจ้าคะ
ลุงยังมีไฟนะ ยายยังอร่อยไอติม นะจ๊ะ ลุ้น ให้กำลังใจ
Relate topics
- พินิจนคร สงขลา
- บ้านเธอ บ้านฉัน เล่าเรื่องเมืองเก่า
- เรื่องเล่าจากชุมชน ตอน “ออกปากเก็บข้าว”
- ผ้าป่าสามัคคีบำรุงสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาเพื่อชุมชน
- เรื่องเล่าจากต่างแดนนะ (อินเดีย) เอาบุญมาฝากด้วยนะ
- ออกกำลังกายไล่โรค
- ๓ ปี สถานีวิทยุพระพุทธศาสนาเพื่อชุมชน ใครได้อะไร? - เรื่องควรรู้ที่ควนรู
- เรื่องควรรู้ที่ควนรู
- อำเภอสะเดา :: ประวัติความเป็นมาของอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา
- อำเภอนาทวี :: ประวัติความเป็นมาของอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา