สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ช่องว่างที่ยังรอการเยียวยา

by kai @14 ธ.ค. 47 22:36 ( IP : 61...150 ) | Tags : มุมมองหมอ

" ช่องว่างที่ยังรอการเยียวยา  "

ในสังคมไทยยังมีช่องว่างของความแตกต่างมากมาย  ในขณะที่บางคนมีกินเหลือเฟือ  มีเงินเหลือใช้  แต่บางครอบครัวก็ยากจนสิ้นดี
เช่นชีวิตจริงของ 2 ตายายที่ล้วนสังขารทรุดโทรม  ทางเข้าบ้านเป็นทางเล็กเพียงที่พอให้ล้อรถจักรยานผ่านเท่านั้น  บ้านเป็นเรือนไม้เล็กๆ  ที่กิน ที่นอน ครัวและที่เก็บของคือที่เดียวกัน  เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคือหลอดไฟฟ้าเพียง  2  ดวง  มีข้าวกินไม่ครบมื้อ  มีรายได้จากการรับจ้างถางหญ้า เมื่อมีคนจ้างวันละ  30 บาท  คุณยายเป็นโรคถุงลมโป่งพอง  พูดได้เพียง 5 คำก็ต้องหยุดหายใจหอบๆ  ซ้ำขายังพิการเดินไม่สะดวก    คุณลุงหลังค่อม กร้านลมกร้านแดดและสูบใบจากจัดวันละกว่า  10  มวน
เราจะพบว่า  ปัญหาสุขภาพนั้นแยกไม่ได้จากปัญหาปากท้องและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม  ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสรรพสิ่งมิอาจมองอย่างแยกส่วนได้    สังคมที่พัฒนาไปสู่ความศิวิไลซ์นี้ช่างน่าตระหนกจริงๆ  ที่เบื้องหลังที่ถูกทิ้งไว้คือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอีกมากมาย  ที่ดิ้นรนสู้ชีวิตอย่างไม่มีวันที่จะได้ลืมตาอ้าปาก  ยากแม้กระทั่งการมีข้าวกินให้ครบทั้ง 3 มื้อ อาจารย์ชัยวัฒน์  สถาอานันท์  จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เคยบอกว่า  ความรุนแรงนั้นมีหลายระดับชั้น  ความรุนแรงทางตรงเช่นการฆาตกรรม  สงครามเป็นสิ่งที่เห็นง่าย  แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง  เช่นกรณีของตายายคู่นี้  เขาทั้งสองยากไร้สิ้นดีเพราะโครงสร้างของระบบสังคมที่เป็นอยู่เป็นระบบที่ไม่เกื้อกูลคนจน  เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อคนจน  แม้คนจนจะดิ้นรนอย่างไรก็หนีไม่พ้นความจน  จะขยันทำงานวันละ 20 ชั่วโมงก็อาจมีเพียงข้าวกินพออิ่มท้องไปวันๆ
โลกนี้พัฒนาไปในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ยิ่งใหญ่  คนยากจนก็เป็นได้เพียงคนสวน  คนทำความสะอาด  ยาม  คนเก็บรถเข็นในห้างอภิสรรพสินค้า  หรือเป็นเพียงคนตัดหัวปลาใส่กระป๋องที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำในโรงงานเท่านั้น  ในขณะที่อุดมคติที่ควรจะเป็นนั้น  เขาควรจะได้รับการพัฒนาให้เป็นเกษตรกรอิสระในที่ดินของตนเอง  ที่สามารถสร้างสรรค์ชีวิตอย่างเป็นอิสระใต้ฟ้าเดียวกันเช่นเดียวกับผม    จึงจะเป็นการส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
" ในท่ามกลางการพัฒนาได้พิสูจน์แล้วว่า  คนจนกำลังมีจำนวนมากขึ้น  และคนจนก็จนลงกว่าเดิมด้วย  ช่องว่างคนรวยและคนจนถอยห่างออกจากกันมากขึ้นทุกวัน  เมื่อผนวกรวมกับปัญหาอย่างการไม่มีที่ทำกิน  ความจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ  เมื่อมีการก่อสร้างอภิมหาโครงการความขัดแย้งในสังคมก็ยิ่งจะดูเด่นชัดมากขึ้น คนยากจนจะรู้สึกว่าตนเองถูกกระทำซ้ำซาก  เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ  ตนเองก็จะถูกปลดออกจากงานก่อน  อยู่ในสลัมในเมืองก็ถูกเวนคืนก่อน  กลับไปในชนบทก็สูญเสียที่ดินก่อน  เมื่อเข้าไปจับจองป่าสงวนก็ถูกจับกุมก่อน  แม้ยามเจ็บป่วยไปโรงพยาบาลใช้สิทธิที่รัฐบาลสัญญาไว้  โรงพยาบาลก็บอกให้รอก่อน  จนคนจนบางคนรอไม่ไหว  ตายไปก่อนเพราะรอไม่ไหวก็มีให้เห็น  การที่มนุษย์ตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมซ้ำซากเช่นนี้    ต้องถือว่าเป็นผลจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง  ( structural  violence )  ไม่ใช่ว่าใครจะเจตนาทำร้ายรังแกคนจน  แต่ตัวระบบและโครงสร้างนั่นเองที่เป็นปัญหาจนก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันถึงเพียงนี้  "
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องช่วยกันทำคือ  ช่วยกันสร้างระบบสังคมที่เกื้อกูลคนจน  หยุดวงจรแห่งความรุนแรงและความอยุติธรรมเชิงโครงสร้างลง  สุขภาพจึงจะดีได้  ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก
ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ  ทรัพย์สินของเศรษฐี 200 คนแรกของโลกรวมกัน  มีมูลค่ามากกว่ารายได้ของคน 41% หรือ 2,500 ล้านคนทั่วโลกรวมกัน  ยอดขายของห้างคาร์ฟูสัญชาติฝรั่งเศสที่มีสาขาทั่วโลกเกือบ 5,000  แห่ง  มียอดขายในปี 2543 ถึง 64,800 ล้านยูโร หรือแปลว่ามากกว่างบประมาณของประเทศไทยทั้งปีถึง  2  เท่า
หากเรารู้อย่างนี้แล้ว  มึนไหมครับว่าเราจะเป็นไท  เป็นอิสระจากพันธนาการในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ดูดเอาความมั่งคั่งจากทุกมุมโลกไปสู่บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่พันแห่งบนโลกนี้ได้อย่างไร  โจทย์นี้เป็นโจทย์ยาก  แต่หากสนใจที่จะแสวงหาคำตอบจากนักคิดและคนที่สนใจสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมแล้ว  ก็ย่อมพบหนทางที่มีความหวังเสมอ    ซึ่งผมเองก็พยายามเรียนรู้ที่จะหาคำตอบอยู่ด้วยเช่นกัน

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว