สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

อุบัติเหตุจราจรดัชนีวัดมาตรฐาน อปท.

อุบัติเหตุจราจรดัชนีวัดมาตรฐาน อปท.

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 8 ตุลาคม 2550 15:24 น.


      บรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้นผ่านการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในการเรียกร้องและรักษาสิทธิชุมชน ตลอดจนการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นมากขึ้นตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 นับเป็นส่วนผสมสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันและแก้วิกฤตอุบัติเหตุจราจรที่กร่อนกัดสังคมไทยมานาน
        เนื่องด้วยอุบัติเหตุจราจรที่คร่าชีวิตคนไทยติดอันดับท็อปทรีมายาวนานต่อเนื่องมากถึงปีละ 1 หมื่น 4 พันราย บาดเจ็บ 1 ล้านราย พิการสะสม 7 หมื่นราย และสร้างความสูญเสียแก่ประเทศชาติมหาศาลถึง 2 แสนล้านบาทนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ใช่น้อย
        องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร จึงเป็นภาคีหลักและกลไกสำคัญยิ่งในการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรที่กำลังทำลายคุณภาพเมืองไทยทั้งระดับปัจเจกบุคลและเศรษฐกิจมหภาค
        ด้วยหนึ่งในพันธกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการให้ลุล่วงคือการจัดระเบียบชุมชน สังคม และรักษาความสงบเรียบร้อย โดยการสร้าง "มาตรฐานการป้องกันอุบัติภัยทางถนน" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการบริการสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากสุด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการด้านป้องกันอุบัติภัยทางถนน รวมถึงมาตรฐานป้ายจราจร เครื่องหมายจราจรบนพื้นทาง สัญญาณไฟจราจร เครื่องมือการยับยั้งจราจร และราวกันอันตราย
        ทิศทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าด้วยการจัดการเรื่องความปลอดภัยทางถนนจึงไม่เพียงเป็นก้าวย่างสำคัญในการยกระดับคุณภาพความปลอดภัยในชีวิตของชาวชุมชนเท่านั้น หากยังสะท้อนความสำเร็จของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการความเข้มแข็งสู่ชุมชนด้วย
        มากกว่านั้นยังสอดคล้องกับกระบวนการบูรณาการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุจราจรผ่านยุทธศาสตร์ 6E ที่ประกอบด้วยมาตรการบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) มาตรการด้านวิศวกรรม (Engineer) ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) การให้ความรู้ด้วยประสบการณ์ตรง (Education) การสร้างพลังอำนาจแก่ท้องถิ่นและชุมชนในการร่วมกันแก้และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ (Empowerment) และการเก็บรวบรวมข้อมูลและประเมินผลเพื่อนำมาวิเคราะห์หาแนวทางแก้ปัญหา (Evaluation)
        อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุจุดหมายดังกล่าวจักอาศัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกผลักดันสำคัญ หากกระนั้นถ้าขาด "จิตสำนึก" ของประชาชนในชุมชนแล้ว ก็ยากจะประสบความสำเร็จ
        ศักยภาพการผสานสรรพกำลังระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับชาวชุมชนให้เป็นเนื้อเดียวกันโดยไม่หลุดลอยจากกรอบยุทธศาสตร์ 6E จึงเป็นดัชนีชี้ขาดอนาคตของท้องถิ่นเองว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวในการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจราจร
        แม้กระบวนการจับมือระหว่างชาวชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะยากสาหัสในช่วงแรก ทว่าก็ใช่จะประสบความสำเร็จไม่ได้หากภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมุ่งหมายเป้าประสงค์เดียวกัน
        ดังภาพความร่วมมือระดับชุมชนของท้องถิ่นกิ่งอำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น ที่ประชากรในพื้นที่ 23,600 คน จาก 3 ตำบล บ้านโคก ขนวน และกุดธาตุ หันมาจับมือกับ อบต. และสถานีตำรวจภูธร จนสามารถผลิตอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้านและตำรวจอาสาได้มากกว่า 400 คน นอกเหนือไปจากสร้างจิตสำนึกและปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงภัยบนท้องถนนของชาวชุมชนอย่างได้ผล ตลอดจนลดความสิ้นเปลืองงบประมาณด้านนี้ลงได้มากด้วย
        ด้านเทศบาลนครขอนแก่นก็ประสบความสำเร็จในการดำเนินการด้านวิศวกรรมจราจรเพื่อแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง โดยทำการสำรวจเส้นทางคมนาคมทั้งทางหลักและรองอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับจัดทำข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุเพื่อค้นหาและขจัดจุดเสี่ยงด้วยการปรับปรุงและพัฒนาเส้นทางรถตามหลักวิศวกรรมจราจร ส่งผลให้ท้ายสุดนอกจากการเดินทางจะสะดวกสบายขึ้นแล้ว หลังปรับปรุงยังไม่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุเลย เฉกเช่นเดียวการทำ EMS ครบวงจรโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตที่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันเวลา รวมถึงสร้างเครือข่ายและใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
        ขณะที่หลายโครงการก็เปิดกว้างให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และวางแผนรับมือภัยที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสุภาพบุรุษวินมอเตอร์ไซค์ โครงการรณรงค์ขับมอเตอร์ไซค์ เปิดไฟใส่หมวกกันน็อก-ล็อกสายรัดคาง กิจกรรมการตั้งด่านตรวจช่วงเทศกาล หรือกิจกรรมสื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์เมาไม่ขับ
        ความสำเร็จของท้องถิ่นในการป้องกันและแก้อุบัติเหตุจราจรจึงเป็นบันไดขั้นแรกๆ ที่นำไปสู่สัมฤทธิผลของนโยบายสาธารณะว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะต่อให้ประเทศชาติพัฒนาด้านอื่นๆ ไปมากมายแค่ไหน หากทว่าคนในชาติยังต้องมาเจ็บและตายอย่างโง่ๆ จากอุบัติเหตุจราจร ดังคำกล่าวของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แล้ว ก็ยากที่ประเทศชาติจะรุดหน้าพัฒนา
        ทั้งๆ ที่อุบัติเหตุจราจรสามารถป้องกันและแก้ไขได้ไม่ยาก ยิ่งได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ "เวิร์ก" ดำเนินงานตามแนวทางการป้องกันแก้วิกฤตอุบัติเหตุจราจรอย่างน้อย 7 ข้อที่เกิดจากการระดมสมองของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว อัตราการเกิดอุบัติเหตุก็จะลดลงได้ โดย
        1) ท้องถิ่น-ชุมชนมีแผนปฏิบัติการเพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนตระหนักในเรื่องความปลอดภัย ส่งเสริมวินัยจราจร พร้อมทั้งจัดให้มีการบรรจุเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เป็นหลักสูตรท้องถิ่นในสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
        2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ควรดำเนินการส่งเสริมกระบวนการออกแบบถนนที่คำนึงถึงวิถีชีวิต และประโยชน์ของชุมชนสองข้างทาง โดยนำหลักวิชา การจัดการเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (Road Safety Audit) มาเป็นเครื่องมือในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย
        3) มีการพัฒนามาตรฐานการป้องกันอุบัติภัยทางถนนและระบบจูงใจให้แต่ละท้องถิ่นนำไปดำเนินการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายในการสำรวจและแก้ไขจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ จัดทำระบบข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุจราจรในพื้นที่ และมีการตรวจสอบความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง
        4) รัฐบาลและท้องถิ่นต้องร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัวโดยไม่จำเป็น โดยคำนึงถึงบริการที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงทั่วทุกภูมิภาค ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้โดยสะดวก ปลอดภัย และให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนมากกว่าความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจเท่านั้น
        5) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นมีบทบาทในการสนับสนุนการให้บริการฉุกเฉิน (Emergency Medical Service: EMS) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการตามมาตรฐานขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ โดยมีการออกแบบกลไกสนับสนุนด้านงบประมาณที่เหมาะสมทั้งจากหน่วยงานรัฐและภาคีที่เกี่ยวข้อง
        6) สนับสนุนบุคลากรท้องถิ่นให้มีสมรรถนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        7) มีกลไกประสานงานความปลอดภัยทางถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประสานและเชื่อมโยงการทำงานของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
        การบรรลุมาตรการ 7 ข้อข้างต้นไม่เพียงจะวัดคุณภาพการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น หากยังช่วยให้ "3 ม. 2 ข. 1 ร." มาตรการรณรงค์สร้างจิตสำนึกประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนที่รัฐบาลพยายามผลักดันประสบความสำเร็จ ควบคู่กับทลายอุบัติเหตุที่กลายสภาพเป็นภูเขาน้ำแข็งกร่อนเซาะโครงสร้างสังคมไทยอย่างถึงรากทั้งทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจลงได้ด้วย
        ท้ายสุดกระบวนการบูรณาการป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุจราจรผ่านมุมมอง "ท้องถิ่น-ชุมชน-ถนนปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ" ที่ขับเคลื่อนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสามารถพลิกผันวาระแห่งชาติว่าด้วยอุบัติเหตุจราจรจากสถานะตั้งรับกลับมา "รุก" ได้
      คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ       โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว