สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

เอ็นจีโอเสนอเลิกใช้ระบบสิทธิบัตรยา ชวนประเทศกำลังพัฒนาร่วมลงขันวิจัยยาเอง

เอ็นจีโอเสนอเลิกใช้ระบบสิทธิบัตรยา ชวนประเทศกำลังพัฒนาร่วมลงขันวิจัยยาเอง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 มิถุนายน 2550 17:55 น.


      "จอน" ชี้ควรเลิกใช้ระบบสิทธิบัตรกับยาและการรักษาโรค เสนอให้ประเทศกำลังพัฒนาลงขันใช้ภาษีประชาชนตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนายาเพื่อประโยชน์สาธารณะ คิดยาใหม่ได้ไม่มีสิทธิบัตร จี้รัฐ-สปสช.ทำซีแอลยาเอดส์ "อลูเวีย" ด่วน ระบุจำเป็นมาก ขณะที่นักธุรกิจเผยเทียบจีเอสพีที่ต้องเสียไป 5 พันล้านบาทกับชีวิตผู้ป่วยเอดส์ถือว่าคุ้มค่า สปสช.เผยบริษัทยาข้ามชาติ "ซาโนฟี" หมกเม็ดสอดไส้เอกสารลับไม่ให้ไทยทำซีแอลยาพลาวิกซ์ แลกโครงการยาหัวใจ 3.5 ล้านเม็ด
      วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการสัมมนา "การบังคับสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL): สังคมเศรษฐกิจไทยได้อะไร?" นายจอน อึ๊งภากรณ์ เลขานุการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เติบโตเพราะอุตสาหกรรมการผลิต แต่เป็นการค้าและการคิดค้นเทคโนโลยีที่มีราคาแพงและได้ผลประโยชน์ในรูปของการผูกขาดสิทธิบัตร ในส่วนของยาที่มีความจำเป็น เมื่อผูกขาดราคายาทำให้สหรัฐฯ สามารถกำหนดราคาได้เองตามอำเภอใจ ซึ่งมีตัวอย่างของผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพราะได้รับผลกระทบจากการที่ยามีราคาแพง
      นายจอน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันราคายาที่มีสิทธิบัตรและขายในประเทศไทยนั้น ต่างจากราคายาที่ขายในสหรัฐฯ ถึง 20% ซึ่งถ้าราคายาต่างกันแค่ 7% ที่เป็นส่วนต่างรายได้ของไทยกับสหรัฐฯ ไทยก็คงไม่ต้องทำซีแอล ดังนั้น ระบบสิทธิบัตรถือเป็นระบบที่ใช้ฆ่าคน ทั้งๆ ที่ยาเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตแต่กลับปล่อยให้ระบบทุนการตลาดเข้ามาควบคุม ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงยาได้
      "งานวิจัยในสหรัฐฯ ซึ่งมีการติดตามยาที่ขายดีที่สุด 5 ลำดับแรกในสหรัฐฯ พบว่า 85% เป็นยาที่พัฒนาวิจัยจากเงินภาษีของประชาชนไม่ใช่จากบริษัทยา เพราะทุนดังกล่าวมาจากในมหาวิทยาลัยของรัฐบาลทั้งสิ้น ส่วนงานวิจัย 90% ของบริษัทยาทั่วโลกก็เป็นการวิจัยยาเพื่อรักษาโรคในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเพียง 10% เท่านั้นที่เป็นยาจำเป็นในประเทศกำลังพัฒนา เพราะรู้ว่าวิจัยพัฒนาไปก็ขายไม่ออก จึงเน้นตลาดในประเทศพัฒนาแล้วที่ให้กำไรมหาศาล นั้น แสดงว่าการวิจัยยานั้นไม่ได้สนใจการรักษาโรคในประเทศที่กำลังพัฒนาเลย" นายจอนกล่าว
      นายจอน กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ระบบสิทธิบัตรขณะนี้ไปไกลมาก อย่างเช่นที่สหรัฐฯ ทำกับไทย เป็นการเรียกร้องมากเกินขอบเขตข้อตกลงทริปส์ ซึ่งการทำซีแอลที่ผ่านมาไม่ได้มีการโจมตีว่าประเทศไทยทำผิดกฎหมาย มีแต่พูดว่าไทยทำโดยรัฐบาลเผด็จการ ไม่ควรใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือควรใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มองว่าต่อจากนี้ไทยควรจะเร่งส่งเสริมผลิตคิดค้นยาที่ใช้ทางการแพทย์ที่เป็นทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่สิทธิบัตร
      "เอ็นจีโอที่ทำงานด้านการเข้าถึงยาเสนอหลายวิธีที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้น วิธีหนึ่งคือ ระบบการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาที่มาจากภาคสาธารณะ โดยให้ทุกประเทศในโลกเอาเงินภาษีมาลงขันเป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายา โดยยาที่พัฒนาได้จะไม่ติดสิทธิบัตรประเทศใดเอามาใช้ก็ได้ แยกกระบวนการทางตลาดและกระบวนการทางการวิจัยออกจากกันชัดเจน โดยหลายประเทศต้องร่วมกันทำเพราะเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้เพียงลำพังแค่ประเทศใดประเทศหนึ่งได้ โดยไม่เลือกวิจัยเฉพาะเอดส์โรคเดียวแต่เป็นโรคที่เกิดในประเทศกำลังพัฒนา เช่น วัณโรคเชื้อดื้อยารุนแรงหลายขนานที่กำลังระบาดและไม่มียารักษา รวมถึงมาลาเรีย และโรคอื่นๆ และหากไม่เกิดระบบดังกล่าวขึ้น เชื่อว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายก็จะประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตยาที่ติดสิทธิบัตร (ซีแอล) มากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วที่มีบริษัทยาอยู่ ก็ต้องหาแนวทางอื่นเพื่อแก้ปัญหา" นายจอนกล่าว
      นายจอน กล่าวอีกว่า ที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ ไทยควรที่จะทำซีแอลยาต้านไวรัสเอดส์ ยาคาเลตต้า ชนิดเม็ด หรือยาอลูเวีย เร่งด่วนเนื่องจากมีความสำคัญต่อผู้ป่วยเอดส์อย่างมาก ซึ่งหวังว่ารัฐบาล และสปสช.จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้อาจจำเป็นที่ต้องประกาศซ้ำอีกครั้ง เพราะประกาศบังคับชิ้สิทธิยาคาเลตร้าครั้งที่ผ่านมา ไม่คลอบคลุมยาอลูเวีย แต่ระบุเพียงยาคาเลตตรา ซึ่งเป็นชนิดน้ำเท่านั้น
      ด้าน นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นักการเมืองที่ผ่านมาฉลาดพอรู้เรื่องสิทธิบัตรยาเป็นอย่างดี แต่ไม่มีเวลามาสนใจเรื่องการพัฒนายา เพราะมัวแต่ทะเลาะกันเรื่องการเมือง โดยที่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำซีแอล โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ทั้งหมด 4 พันกว่าล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ มีมูลค่าจีเอสพีที่ทำให้ประหยัดภาษีได้เพียง 5 พันกว่าล้านบาท แต่ไม่เคยมีใครพูดถึงจำนวนเงิน 5 พันล้านบาท แต่จะพูดถึงยอดขายทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งเมื่อได้สอบถามภาคธุรกิจก็ได้รับคำตอบว่าหากคำนวณเรื่องผลกระทบที่เกิดจากจีเอสพีเพียงเรื่องเดียวก็ถือว่าไม่ได้ผลกระทบมากเท่าใดนัก แต่เมื่อนำไปรวมกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าขึ้น 25% ประกอบกับเศรษฐกิจที่ไม่ดีก็อาจมีผลกระทบเกิดขึ้นได้
      "ในไม่ช้านี้เสียงที่กล่าวหาว่าการใช้ซีแอลจะมีผลกระทบทำให้โดนตัดจีเอสพีจะดังขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น จำเป็นต้องให้ความรู้แก่สังคมว่าไทยได้อะไรกลับมา สรุปแล้วเราสามารถลดอัตราการตายจากโรคเอดส์ ตั้งแต่ปี 2542 ได้ถึง 6 พันคน เหมือนกับซื้อชีวิตผู้ป่วยเอดส์ด้วยเงิน 1 ล้านบาทต่อคน ถามว่าเงินจำนวนดังกล่าวมากหรือไม่ หากเป็นญาติเราก็คงไม่มาก เราโดนตัดจีเอสพี แต่ได้ชีวิตมาหลายพันชีวิตถือว่าคุ้ม รวมถึงได้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ช้าก็เร็วไทยก็ต้องโดนตัดสิทธินี้อยู่แล้ว" นายสุทธิชัย กล่าว
      นายสุทธิชัย กล่าวอีกว่า ส่วนความรับผิดชอบทางสังคมนั้น ต้องถามว่าอุตสาหกรรมยามีจริยธรรม และความจริงใจในการดำเนินธุรกิจหรือไม่ ไม่มีใครกล้าถาม เพราะบริษัทเป็นผู้ควบคุมกติกาโลก ซึ่งกลุ่มองค์กรด้านธุรกิจได้มีข้อการร่างจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมยาก็บอกว่าสามารถดูแลควบคุมกันเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานกลาง ทำให้ไม่สามารถมีกติกาในการควบคุมอุตสาหรรมยาได้ แต่ขณะเดียวกันการเข้าไปขายของในประเทศสหรัฐ กลับต้องผ่านมาตรฐาน กติกาที่สหรัฐฯ เป็นผู้กำหนด
      ขณะที่ ภก.สรชัย จำเนียรดำรงการ ผู้เชี่ยวชาญสำนักนโยบายและแผน สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่กระทรวงสาธารณสุขจะสั่งซื้อยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมอง หรือโคพิโดเกรล จากประเทศอินเดีย เนื่องจาก บริษัท ซาโนฟี อเวนติส เจ้าของสิทธิบัตรยาดังกล่าว เสนอเงื่อนไขให้กระทรวงสาธารณสุขซื้อยาในราคาเดิมเม็ดละ 73 บาท แต่มีโครงการพิเศษให้ยาพลาวิกซ์ 3.4 ล้านเม็ดแก่ผู้ป่วย 3.4 หมื่นคนในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าประเทศไทยต้องยกเลิกการทำซีแอล ซึ่งทำให้ไทยอาจตัดสินใจซื้อยาจากประเทศอินเดียที่มีราคาประมาณ 5 บาทเท่านั้น
      รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มประนานนท์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การตัดสินใจใช้กฎหมายสิทธิบัตรยาตามข้อตกลงทริปส์ ที่ไทยรีบทำตามแรงกดดันของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการตัดสินใจผิด เพราะเมื่อเทียบระหว่างประเทศไทย กับประเทศอินเดีย ซึ่งก่อนหน้าที่ไทยจะมีการออกกฎหมายสิทธิบัตรยา ยาของประเทศไทยได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่ายาจากประเทศอินเดียในเรื่องคุณภาพ แต่ภายหลังจากการเข้มงวดในเรื่องสิทธิบัตรทำให้ไม่เกิดการพัฒนา วิจัยยาในประเทศไทย

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว