สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สปสช.และเครือข่ายฯ สานงานศูนย์มิตรภาพบำบัด เน้นเยียวยาผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วยใจ

23 พฤษภาคม 2551 14:59 น.

เครือข่ายมิตรภาพบำบัดและเครือข่ายผู้ป่วย โรคเรื้อรังรวมพลัง สปสช. สานงานมิตรภาพบำบัด ส่งเสริมให้เกิดศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด 17 แห่งทั่วประเทศตั้งแต่ปี 49 เพื่อเป็นพื้นที่เยียวยาผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ สปสช.ระบุงานมิตรภาพบำบัดจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
วันนี้ (23 พ.ค.) ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดและเครือข่าย ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หัวข้อ "เพื่อนช่วยเพื่อนและการเยียวยาด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์" ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเครือข่ายพันธมิตรด้านมิตรภาพบำบัดโดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง "คุณและค่าศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด การเยียวยาด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์"

      ศ.นพ.ประเวศ ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันมนุษย์มีความศรัทธาในเทคโนโลยีอย่างสูง ซึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนแล้วเกิดจากเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกลข้อดีคือ ช่วยชีวิตมนุษย์ได้เพิ่มขึ้น แต่ข้อเสียที่น่ากลัวคือ ขาดหัวใจของความเป็นมนุษย์ ส่งผลให้เกิดปัญหาระหว่างมนุษย์ด้วยกันมากมาย ที่สำคัญคือ เกิดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และผู้ป่วย อาจกล่าวได้ว่าการแพทย์ปัจจุบันเน้นแต่เรื่องปริมาณแต่ไม่สนใจคุณภาพคือ ทำให้คนไม่ตาย แต่ละทิ้งเรื่องของหัวใจ ทั้งที่ความเป็นมนุษย์นั้น กายและใจต้องสมดุลกัน ปัจจุบันมีเรื่องที่น่ายินดีที่กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติส่งเสริมเรื่องของจิตอาสา เรื่องของน้ำใจ เป็นมิตรภาพบำบัด
      "กรณี ผู้ป่วยมะเร็ง รักษากายเพื่อกำจัดเนื้อร้ายไม่ให้แพร่ขยายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีเรื่องของจิตใจด้วย เป็นที่รู้กันว่า ความเครียดมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง เชื้อโรคก่อตัวได้ง่าย การที่มีศูนย์มิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ดี อาสาสมัครช่วยเหลือกัน เป็นการเชื่อมโยงความเป็นมนุษย์ ปัจจุบันเรามีศูนย์มิตรภาพบำบัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ จะเป็นเรื่องที่ดีมาก หากมีศูนย์มิตรภาพบำบัดทุกรพ.เพื่อช่วยเหลือดูแลด้านจิตใจให้แก่ผู้ป่วย เพื่อผู้ป่วยด้วยกันเองที่เคยผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดนั้นด้วยตัวเองมาแล้ว เป็นเรื่องของจิตอาสาเพื่อเพื่อนมนุษย์ ตรงนี้จะทำให้แผ่นดินและโลกเปลี่ยนในทางที่ดีมากขึ้น มีความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงมากขึ้น"ราษฎรอาวุโสกล่าว
      ด้าน นางมาลินี ไหลสกุล อายุ 67 ปี ข้าราชการครูเกษียณ อาสาสมัครของศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด ศูนย์มะเร็งลพบุรี กล่าวว่า ตนป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมมาตั้งแต่ปี 2546 ความรู้ขณะนั้นแย่มาก ไม่มีกำลังใจจะรักษาตัวเอง ญาติพามารักษาที่ศูนย์มะเร็งลพบุรี ได้มาร่วมทำกิจกรรมที่ศูนย์ฯ ซึ่งช่วยได้มาก จิตใจผ่อนคลาย มีเพื่อนร่วมทุกข์ด้วยกัน พูดคุยกันก็เห็นอกเห็นใจกัน ได้เรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไร รู้สึกอะไรเมื่อต้องทำเคมีบำบัด เมื่อต้องผ่าตัด เมื่อได้รับการผ่าตัดมะเร็งเต้านม ก็มาเป็นอาสาสมัครในศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดเต็มตัว สิ่งได้เรียนรู้คือ มิตรภาพระหว่างผู้ป่วยด้วยกัน ญาติ และเจ้าหน้าที่สำคัญมาก เพราะทำเกิดกำลังใจในการใช้ชีวิต รู้สึกว่าเป็นผู้ให้ ไม่ใช่รอรับอย่างเดียว เรื่องจิตใจสำคัญมากสำหรับคนที่ป่วย จากชีวิตที่รู้สึกไร้ค่า แต่ที่นี่ทำให้เราได้รู้ว่าคนป่วยก็ทำประโยชน์ให้สังคมได้
      ขณะที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สปสช.ได้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อนในหน่วยบริการ ซึ่งก็คือรพ.และศูนย์มะเร็ง นำร่องทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2549-2550 จำนวน 17 แห่ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากการระดมความคิดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างเครือข่าย ผู้ป่วยและผู้ให้บริการ เพื่อพัฒนาระบบบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ โดยความร่วมมือระหว่างสปสช.และหน่วยบริการที่ให้บริการรักษาโรคมะเร็งและ โรคเรื้อรังอื่นๆ เพื่อให้หน่วยบริการมีระบบอาสาสมัครผู้ป่วย ผู้ดูแล ที่เข้มแข็งเข้าร่วมกับหน่วยบริการในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งสร้างแนวร่วมเครือข่ายผู้ป่วย ผู้ดูแล ในการดูแลช่วยเหลือกันในด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย
      รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ผลจากการดำเนินงานนั้น สปสช.ได้จัดให้มีการประเมินผลและถอดบทเรียนการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริม มิตรภาพบำบัดทั้ง 17แห่งเสร็จสิ้นแล้ว พบว่าหน่วยบริการตระหนักถึงความสำคัญต่อการให้บริการด้วยหัวใจของความเป็น มนุษย์ เกิดพื้นที่สำหรับอาสาสมัครผู้ป่วย ผู้ดูแลที่มีส่วนร่วมในการให้บริการดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วย และมีชุดความรู้ใหม่ๆ เพื่อการเยียวยารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่นๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของอาสาสมัครผู้มีจิตอาสานั้น นอกจากจะทำให้อาสาสมัครที่เป็นทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแล มีความสุขมีคุณค่าเนื่องจากจิตใจที่เป็นกุศลแล้ว อาสาสมัครยังเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญยิ่งที่จะร่วมกับหน่วยบริการผลักดันให้ ศูนย์ฯ มีความมั่นคงและยั่งยืนสืบต่อไป และในปีนี้เตรียมที่จะขยายสู่ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และรพ.ชุมชนที่สนใจ
      "การสัมมนาเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่องานมิตรภาพบำบัดด้วยหัวใจความเป็น มนุษย์ เกิดขึ้นจากแนวคิดของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช. ที่เห็นความทุกข์ยากและเจ็บปวดได้อยู่ใกล้ชิดกับญาติและครอบครัวและเพื่อน ผู้ป่วย เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์งานมิตรภาพบำบัดในแต่ละพื้นที่ และพัฒนาไปสู่ความร่วมมือระหว่างอาสาสมัครและหน่วยบริการ เป็นการขยายผลจิตอาสา ใจสาธารณะไปสู่ชุมชน และสังคมวงกว้างต่อไป"นพ.ประทีปกล่าว
      ทั้ง นี้ ขอเชิญร่วมบริจาคมูลนิธิมิตรภาพบำบัด กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่องานมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ธนาคารกรุงไทย สาขาแจ้งวัฒนะ เลขที่บัญชี : 096-0-09547-0

ที่มา :  ผู้จัดการออนไลน์

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว