โครงการโนราโรงครูสร้างเสริมสุขภาพ
โครงการโนราโรงครูสร้างเสริมสุขภาพ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา.........................
โนราโรงครู เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบทอดกันมานานและนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ และประกอบพิธีกรรม เพื่อเชิญวิญญาณบรรพบุรุษที่เป็นโนรา ซึ่งเรียกว่า "ตายยายโนรา" หรือ ตาหลวง หรือ ครูหมอ-ตายาย มายังโรงพิธีเพื่อรับการเซ่นสังเวย เพื่อรับของแก้บน และเพื่อครอบเทริด ตัดจุก ผูกผ้า แก่โนรารุ่นใหม่ ด้วยเหตุที่ต้อง ทำการเชื้อเชิญครูมาเข้าทรงหรือมา "ลง" ยังโรงพิธี จึงเรียกพิธีกรรมนี้ว่า "โนราโรงครู"
โนราโรงครู จึงเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อที่มีบทบาทต่อวิถีชีวิตและสังคมของชาวภาคใต้โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโนราและผู้มีเชื้อสายโนรา โดยมีฐานความเชื่อว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ตาย ไปแล้วนั้นแท้จริงยังไม่ได้ไปไหน ยังอยู่คอยปกปักรักษาชีวิตของลูกหลานไว้อยู่รอดปลอดภัยดี มีความมั่งคั่งมั่นคง ตายายเหล่านี้จะมีโอกาสมาพบลูกหลานได้โดยมีโนราโรงครูเป็นพิธีกรรมที่ทำหน้าที่เปิดประตูปรโลกกับปัจจุบันให้บรรจบกันภายในโรงพิธี
พิธีกรรมจะถือเอาตายายของตนเป็นเป้าหมายหลัก มีนายโรงโนราเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมและจัดการละเล่นเพื่อเอาอกเอาใจ การเล่นร่ายรำโนราในโรงพิธีนี้เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บหรือขับไล่เคราะห์ต่าง ๆ ออกได้ โดยการปกปักรักษาจาก "ครูหมอตายาย"
พิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการเอาอกเอาใจบรรพชนนี้มี "เหมฺรฺย" ซึ่งเป็นพันธะสัญญาทางใจและวาจาเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จเสร็จสิ้นพิธีกรรม "เหมฺรฺย" มีความหมายทั้งรูปธรรม นามธรรมเป็นสัญลักษณ์สำคัญในภารกิจของพิธีกรรมตั้งโรงว่าจะต้อง "ขาดเหมฺรฺย" อันเป็นพันธะสัญญาระหว่างลูกหลานผู้ยังมีชีวิตกับตายายในปรโลก
พิธีกรรมโนราโรงครูเป็นพิธีกรรมที่มีการรวมหมู่รวมพวกปรองดองกันในกระบวนการสร้างพิธีกรรม เพื่อให้คนทั้งชุมชนมารับรู้เรื่องในสายตระกูลตนเอง นอกเหนือจากการเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างเต็มที่แล้ว พิธีโนรานี้ยังเปิดพื้นที่ให้หญิงชาวบ้านได้มาแลกเปลี่ยนแรงงานและการครัวให้ผู้ชายรวมตัวเป็นหมู่เป็นพวกในการสร้างโรงโนราโรงครู โนราโรงครูจึงเป็นทั้งการละเล่น พิธีกรรมความเชื่อ จนถึงระบบปกครองท้องถิ่นในวัฒนธรรมภาคใต้
พิธีกรรมแบ่งเป็น 3 วัน คือ เริ่มงานวันพุธและจบที่วันศุกร์ หากศุกร์ใดตรงกับวันพระจะต้องเลื่อนไปส่งครูวันเสาร์ พิธีการจะเริ่มจากการเข้าโรงในวันพุธตอนบ่าย จะทำพิธีเบิกโรง ชุมนุมครู ซัดหมาก ลงโรง แล้วแสดงในคืนแรก วันที่สองวันพฤหัสบดีจะถือเป็นวันครู มีการไหว้ครูหมอตายาย เชิญครู "แต่งพอก" "ว่าคำพลัดนกจอก" "จับสิบสองบท" "เหยียบเสน" "ตัดผมผีช่อ" เป็นวันแก้บน ตกกลางคืนจะเชิญตายาย "เข้าทรง" พบปะลูกหลาน วันศุกร์เป็นวันสุดท้ายของงานจะส่งครู มีการ "รำคล้องหงส์" "รำแทงเข้" และ "ตัดเหมฺรฺย"
พิธีกรรมโนราโรงครูประกอบด้วย การร่ายรำ การเล่าเรื่อง การฟื้นตำนาน การขานบท การขับกลอนโนรา ดนตรี เพลงโนรา เครื่องโนรา เล็บ หาง เทริด ฯลฯ และที่สำคัญที่สุด คือ คนดู ผู้ชม ซึ่งมีทั้งผู้จัดงาน เจ้าบ้าน แขกรับเชิญ แขกที่ไม่ต้องรับเชิญ และชาวบ้านในละแวก พิธีโนราโรงครูจึงเป็นกิจกรรมชุมชนโดยเอาเครือญาติของผู้จัดเป็นศูนย์กลาง
ความเป็นมาของโนราโรงครู ความเป็นมาของโนราโรงครูจะมีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด มีเพียงแต่ตำนานบอกเล่าเป็นหลาย กระแส คือ
กระแสที่ 1 ปรากฏเป็นคำกาพย์ถ่ายทอดโดยขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่มเทวา) ดังนี้
"นางนวลทองสำลี เป็นบุตรีท้าวพระยา
นรลักษณ์งามนักหนา จะแจ่มดังอัปสร
เทวาเข้าไปดลจิต ให้เนรมิตเทพสิงหร
รูปร่างอย่างขี้หนอน ร่อนรำง่าท่าต่างกัน
แม่ลายฟันเฟือน กระหนกล้วนแต่เครือวัลย์
บทบาทกล่าวพาดพัน ยอมจำแท้แน่หนักหนา
จำได้สิบสองบท ตามกำหนดให้วิญญาณ์
เมื่อฟื้นตื่นขึ้นมา แจ้งความเล่าเหล่ากำนัล
แจ้งตามเนื้อความฝัน หน้าที่นั่งของท้าวไท
วันเมื่อจะเกิดเหตุ ให้อาเพศกำม์จักไกล
ให้อยากดอกมาลัย อุบลชาติผลพฤกษา
เทพบุตรจุติจากสวรรค์ เข้าทรงครรภ์นางฉายา
รู้ถึงพระบิดา โกรธโกรธาเป็นฟุนไฟ
ลูกชั่วร้ายทำขายหน้า ใส่แพมาแม่น้ำไหล
พร้อมสิ้นกำนัลใน ลอยแพไปในธารัล
พระพายก็พัดกล้า เลก็บ้าพ้นกำลัง
พัดเข้าเกาะกระชัง นั่งเงื่องงงอยู่ในป่า
ร้อนเร่าไปถึงท้าว โกสีย์เจ้าท่านลงมา
ชบเป็นบรรณศาลา นางพระยาอยู่อาศัย
พร้อมสิ้นทั้งโฟกหมอน แท่นที่นอนนางทรามวัย
ด้วยบุญพระหน่อไท อยู่เป็นสุขเปรมปรีดิ์
เมื่อครรภาถ้วนทศมาส ประสูติราชจากนาภี
อีกองค์เอี่ยมเทียมผู้ชาย เล่นรำได้ด้วยมารดา
เล่นรำตามภาษา ท้าวพระยามาหลงใหล
จีนจามพราหมณ์ข้าหลวง ไททั้งปวงอ่อนน้ำใจ
จีนจามพราหมณ์เทศไท ย่อมหลงใหลในวิญญาณ์
ท้าวพระยาสายฟ้าฟาด เห็นประหลาดใจหนักหนา
ดูนรลักษณ์และพักตรา เหมือนลูกยานวลทองสำลี
แล้วหามาถามไถ่ เจ้าเล่าความไปถ้วนถี่
รู้ว่าบุตรแม่ทองสำลี พาตัวไปในพระราชวัง
แล้วให้รำสนองบาท ไทธิราชสมจิตหวัง
สมพระทัยหทยัง ท้าวยลเนตรเห็นความดี
แล้วประทานซึ่งเครื่องทรง สำหรับองค์พระภูมี
กำม์ไลใส่กรศรี สร้อยทับทรวงแพรภูษา
แล้วประทานซึ่งเครื่องทรง คล้ายขององค์พระราชา
แล้วจดคำจำนรรจา ให้ชื่อว่า ขุนศรีศรัทธา"
กระแสที่ 2 เล่าโดยโนราวัด จันทร์เรือง ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ( อุดม หนูทอง หนังสือดนตรีและการละเล่นพื้นบ้านภาคใต้ 2531 หน้า 150-151 ) ได้เล่าถึงการรำโนราโรงครูครั้งแรกว่า เป็นการรำของ อจิตกุมาร ซึ่งเป็นบุตรของนางนวลทองสำลี และได้เดินทางกลับถึงเมืองบิญจาในวันพุธตอนบ่ายโมง เพื่อเฝ้าพระเจ้าตา คือ พระยาสายฟ้าฟาด อจิตกุมารได้ทำพิธีเชิญพระพี่เลี้ยง เชิญพระยาหงษ์ทอง พระยาหงษ์เหมราช ที่เคยหลบหนีไปกลับบ้านเมือง โดยทำพิธีโรงครู ตั้งเครื่องสิบสอง เชิญครูเก่าแก่ให้มาดูการรำถวาย มากินเครื่องบูชา และเชิญพี่เลี้ยง คนอื่น ๆ กลับมาด้วย อจิตกุมารรำถวายครูเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ถึงวันศุกร์จึงเชิญครูทั้งหมดให้ กลับไป พระยาสายฟ้าฟาดได้ประทานเครื่องทรงของกษัตริย์ให้ และเปลี่ยนชื่อนางนวลสำลีเป็น "ศรีมาลา" เปลี่ยนชื่อ อจิตกุมาร เป็น "เทพสิงสอน" การรำโรงครูของอจิตกุมารหรือเทพสิงสอน ในครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของการรำโนราโรงครูในปัจจุบัน
กล่าวได้ว่าความเป็นมาของโนราโรงครูนอกจากจะปรากฏในตำนานแล้วโนราโรงครูคงเป็นพิธีกรรมเพื่อการไหว้ครู ครอบครู ที่มีมาพร้อมกับการเกิดโนราในภาคใต้<br />
ชนิดของโนราโรงครู
โนราโรงครูแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. โนราโรงครูใหญ่
2. โนราโรงครูเล็ก
<strong>โนราโรงครูใหญ่ </strong> หมายถึง โนราโรงครูเต็มรูป ปกติการรำโนราโรงครูใหญ่ทำกัน 3 วัน จึงจบพิธี เริ่มตั้งแต่ในวันพุธไปสิ้นสุดในวันศุกร์ และจะต้องทำกันเป็นประจำ เช่น ทุกปี ทุกสามปี ทุกห้าปี แล้วแต่จะกำหนด การรำเช่นนี้ต้องใช้เวลาเตรียมการนาน ใช้ทุนทรัพย์ค่อนข้างสูง ตั้งแต่การปลูกสร้างโรง การติดต่อคณะโนรา การเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ และการเตรียมอาหารเพื่อจัดเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน เป็นต้น
<strong>โนราโรงครูเล็ก</strong> หมายถึง การรำโรงครูอย่างย่นย่อใช้เวลารำเพียง 1 คืน กับ 1 วันเท่านั้น ปกติจะเข้าโรงครูในตอนเย็นของวันพุธไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี การรำโนราโรงครูเล็กมีจุด มุ่งหมายเช่นเดียวกับการรำโนราโรงครูใหญ่ แต่ไม่อาจทำพิธีให้ใหญ่โตเท่ากับการรำโรงครูใหญ่ได้เพราะมีปัญหาเรื่องเวลา ความไม่พร้อมในด้านอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อถึงวาระที่ต้องการบูชาครูหมอโนราหรือตายายโนราตามที่ได้ตกลงไว้ เช่น ถึงวาระสามปี ห้าปี จึงได้ทำพิธีอย่างย่นย่อเสียก่อน สักครั้งหนึ่ง เพื่อมิให้ผิดสัญญากับครูหมอโนราหรือตายายโนรา การทำพิธีอย่างย่นย่อเช่นนี้ เรียกว่า "การรำโรงครูเล็ก" หรือ "การค้ำครู" หรือ "โรงแก้บนค้ำครู" ซึ่งหมายถึงค้ำประกัน การค้ำครูจึงมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อยืนยันว่าตนเองเป็นเชื้อสายโนรา และยังไม่ลืมเคารพนับถือ ครูหมอโนรา หรือตายายโนรา โดยทั่วไปการค้ำครูก็เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกลงโทษจากครูหมอโนราหรือตายายโนรา แม้ว่าผู้ทำพิธีนี้จะไม่รำโนราแล้วก็ตามแต่หากเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากโนราก็ถือว่ายังมีครูอยู่จำเป็นต้องมาร่วมพิธีนี้ เพื่อเป็นการบูชาครูหรือค้ำครู การรำโรงครูเล็กหรือการค้ำครู เป็นพิธีกรรมอย่างย่นย่อ ถือกันว่ามีความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์น้อยกว่ารำโรงครูใหญ่ ดังนั้นการแก้บนและการครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ จึงไม่นิยมทำในโรงครูเล็ก แต่จะทำพิธีในโรงครูใหญ่
องค์ประกอบของโนราโรงครู โนราโรงครูใหญ่และโนราโรงครูเล็ก มีองค์ประกอบในการรำโนราครูที่สำคัญ ๆ คือ
<em>โนราใหญ่ </em> คือ หัวหน้าคณะหรือนายโรงโนรา ซึ่งจะเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในโนราโรงครู บางแห่งเรียกโนราใหญ่ว่า "ราชครู"
<em>คณะโนรา</em> มีประมาณ 15 - 20 คน อาจเป็นคณะของโนราใหญ่เองหรือเป็นโนราจากหลายคณะมารวมกันเพื่อประกอบพิธีกรรมและให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมด้วย
<em>คนทรง</em> หรือ ร่างทรงครูหมอโนรา ซึ่งอาจจะเป็นร่างทรงประจำครูหมอโนรา หรือ ตายายโนราองค์นั้น ๆ หรืออาจจะเป็นผู้มีเชื้อสายโนรา ลูกหลานตายายโนราที่ครูหมอหรือตายายโนราจะเข้าทรง
<em>ระยะเวลาและวันทำพิธี </em> นิยมทำกันในฤดูแล้งระหว่างเดือน 6 ถึงเดือน 9 จะเริ่มพิธีหรือ เข้าโรงครูวันแรกในวันพุธ ไปสิ้นสุดพิธีในวันศุกร์
<em>โรงพิธีหรือโรงครู </em> มีลักษณะคล้ายโรงโนรารุ่นเก่า คือ สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 9 ศอก ยาว 11 ศอก มี 8 เสา ไม่ยกพื้น แบ่งออกเป็น 3 ตอน เสาตอนหน้าและตอนหลังมี 3 เสา ส่วนตอนกลางมี 2 เสา ไม่มีเสากลาง หน้าโรงหันไปทางทิศเหนือ หรือใต้ เรียกว่า "ลอยหวัน" (ลอยตะวัน) ไม่นิยมหันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก "ขวางหวัน" (ขวางตะวัน) ซึ่งเชื่อว่าเป็นอัปมงคล หลังคาทำเป็นรูปหน้าจั่ว มุงด้วยจาก ตรงกลางจั่วครอบด้วยกระแชง ถ้าไม่มีกระแชงก็ใช้ใบเตยแทนได้ การที่ต้องครอบกระแชงบนหลังคาจั่วก็เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงเมื่อครั้งนางนวลทองสำลีถูกลอยแพไปในทะเล ก็ได้อาศัยแชงเป็นเครื่องมุงแพเพื่อกันแดดมาโดยตลอด ชาวบ้านบางแห่งยังเชื่อว่าโรงพิธีจะมีผีนางโองกระแชงที่เรียกว่า "นางโอ กระแชงหกเสา" ทำหน้าที่รักษาเสาโรงโนรา และ "นางโอกระแชงสองตอน" ทำหน้าที่รักษา กระแชงที่มุงหลังคาโรงโนราทั้งด้านซ้ายขวา การมีกระแชงมุงหลังคาจึงถือเป็นสัญลักษณ์และเป็นไปตามความเชื่อเรื่องผีนางโองกระแชงด้วย ด้านหลังของโรงพิธีทำเป็นเพิงพักของคณะโนรา ด้านขวาหรือด้านซ้ายของโรง คาดเป็นร้านสูงระดับสายตา จากเสาโรงออกไปรับกับไม้ชายคาที่ยื่นลงมาเพื่อเป็นที่วางเครื่องบูชา เรียกว่า "ศาล" หรือ "พาไล" พื้นโรงปูด้วย "สาดคล้า" แล้วปูทับด้วยเสื่อกระจูด วางหมอน ปูผ้าขาวทับ เรียกว่า "สาดหมอน" บนหมอนวางไม้แตระและไม้กระดานติดเทียน เรียกว่า "เทียนครู" หรือ "เทียนกาศครู" โรงพิธีอาจตกแต่งด้วยผ้า กระดาษสี ธงราย และสิ่งของอื่น ๆ อีกก็ได้
<em>อุปกรณ์ประกอบพิธี </em>ที่สำคัญได้แก่ ผ้าเพดานบนศาลหรือพาไล ผ้าเพดานใหญ่ในโรงพิธี ที่วางเทริด เสื่อ หมอน เครื่องเชี่ยนพิธี หม้อน้ำมนต์ ไม้หวาย มีดหมอ บายศรีเล็ก หรือ บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่ หรือ บายศรีท้องโรง ดอกไม้ ธูป เทียน หอกแทงจระเข้ หยวกกล้วยทำรูปจระเข้ ใบชิงหรือกระแชง ขันลงหิน หน้าพรานชาย หน้าทาสี เทริด ย่าม ธนู เชือกคล้องหงส์ เครื่องแต่งตัวโนรา หญ้าคา หญ้าครุน ใบเฉียงพร้า ใบหมากผู้ เหรียญเงิน รวงข้าว มีดโกน หินลับมีด พระขรรค์ หนังเสือ หนังหมี สำหรับที่วางหม้อน้ำมนต์อาจทำด้วยไม้ไผ่สานเป็น ตะกร้าทรงสูงเรียกว่า "ตรอม"
<em>เครื่องบูชาประกอบพิธี </em> จะจัดเครื่องบูชาครูเป็น 2 ส่วน คือ เครื่องบูชาถวายครูบนพาไล กับเครื่องบูชาที่ท้องโรง เครื่องบูชาบนพาไลประกอบด้วย หมาก 9 คำ เทียน 9 เล่ม เครื่องเชี่ยน 1 สำรับ กล้วย 3 หวี อ้อย 3 ท่อน ขนมในพิธีวันสารทเดือน 10 ได้แก่ พอง ลา ขนมบ้า ขนมเบซำ ขนมเทียน 3 สำรับ ข้าวสารพร้อมหมากพลูเทียนจัดลงในภาชนะที่สานด้วยกระจูดหรือเตยขนาดเล็กเรียกว่า "สอบนั่ง" หรือ "สอบราด" 3 สำรับ มะพร้าว 3 ลูก เครื่องคาวหวานหรือที่ 12 จำนวน 12 สำรับ หรือ 12 ชนิด เสื่อ 1 ผืน หมอน 1 ใบ ผ้าขาว 1 ผืน ผ้านุ่งห่มชาย 1 ชุด ผ้านุ่งห่มหญิง 1 ชุด บายศรีปากชาม 1 ปาก หน้าพราน หน้าทาสี อย่างละหน้า เทริดตามจำนวนปีที่กำหนดว่าให้ทำพิธีครั้งหนึ่ง เช่น ถ้าทำพิธี 3 ปีต่อครั้ง ใช้เทริด 3 ยอด ผูกผ้าดาดเพดานพาไล ใส่หมากพลู 1 คำ ดอกไม้ 3 ดอก เทียน 1 เล่ม และข้าวตอก 3 เม็ด ใต้ดาดเพดานปูผ้าขาวบนหมอน วางหัวพราน หัวทาสี ปักเทียนไว้ที่หน้าพราน มีไม้แตระวางไว้หน้าเทียนวางเครื่องเชี่ยน หม้อน้ำมนต์ เทริด บายศรี และเครื่องสังเวยที่เป็นของแห้งใส่สำรับวางไว้ตลอด 3 วัน ส่วนอาหารคาวหวานและที่ 12 ต้องเปลี่ยนทุกวัน ทุกสำรับปักเทียนเอาไว้ นอกจากนี้ยังมี "ราด" คือเงินกำนลมี 3 บาท หรือ 12 บาท ส่วนเครื่องบูชาที่ท้องโรงประกอบด้วย ธูปเทียน 9 ชุด ตัดไม้เป็นแพวางบนหมอนซึ่งวางไว้กลางโรงและบายศรีท้องโรง 1 สำรับ
<em>เครื่องดนตรีและลูกคู่ </em>คือ ทับ 1 คู่ กลอง 1 ใบ ปี่ 1 เลา โหม่ง 1 คู่ ฉิ่ง 1 คู่ ที่ขาดไม่ได้ สำหรับครูคือ แตระ หรือ ไม้แตระ
<em>บทประกอบการร้อง</em> มีแตกต่างกันออกไปบ้างตามชนิดของโรงครู บทประกอบท่ารำ หมายถึง บทร้องกลอนของโนราที่มีท่ารำประกอบ และใช้ในพิธีกรรมโนราโรงครู เช่น บทครูสอน บทประถม บทพลายงามตามโขลง บทฝนตกข้างเหนือ เป็นต้น ส่วนบทร้องหมายถึง บทร้องกลอนของโนราที่ไม่มีท่ารำประกอบ เช่น บทกาศครู บทชุมนุมครู บทบูชาครูหมอ บทส่งครู เป็นต้น
<em>ผู้เข้าร่วมประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู</em> นอกจากโนราใหญ่และคณะโนราแล้วก็มีเจ้าภาพ ผู้มาแก้บน ครอบเทริด ตัดจุก ผูกผ้า เหยียบเสน และชาวบ้านโดยทั่วไป เป็นต้น
<strong>ความเชื่อเกี่ยวกับการรำโนราและการรำโนราโรงครู </strong>
ความเชื่อเกี่ยวกับโนราของชาวบ้าน คณะโนรา ลูกหลานตายายโนรา อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการประกอบพิธีกรรมโนราโรงครูกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
<u>ความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอโนรา</u> ครูหมอโนราคือบูรพาจารย์โนราและบรรพบุรุษของโนราที่ล่วงลับไปแล้ว บางแห่งเรียกว่า "ตายายโนรา" มี พระเทพสิงขร ขุนศรีศรัทธา พระม่วงทอง แม่ศรีมาลา แม่นวลทองสำลี เป็นต้น โนราเชื่อว่าครูหมอโนราหรือตายายโนราเหล่านี้ยังมีความผูกพันกับลูกหลานและผู้มีเชื้อสายโนรา หากลูกหลานเพิกเฉยไม่เคารพบูชา ไม่เซ่นไหว้ ก็จะได้รับการลงโทษจากครูหมอโนราด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทำให้เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ เรียกว่า "ครูหมอย่าง" หรือ "ตายย่าง" จะแก้ได้ด้วยการบนบานบวงสรวง อนึ่ง ถ้าจะให้ครูหมอโนราหรือตายายโนราช่วยเหลือในกิจบางอย่าง ก็ทำได้โดยการบนบานหรือบวงสรวงเช่นกัน จากความเชื่อนี้ ทำให้เกิดพิธีกรรมโนราโรงครู ซึ่งในพิธีนี้มีการเชิญครูหมอโนราหรือตายายโนราเข้าทรงรับเครื่องสังเวย และมีการรำถวายครู
<u>ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ </u> การรำโนราและการประกอบพิธีกรรมโนราโรงครูจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อไสยศาสตร์ เช่น เวทย์มนตร์คาถา การทำและป้องกันคุณไสย เชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อเรื่องโชคลาง เชื่อเรื่องอำนาจเร้นลับของโนราใหญ่ในขณะทำพิธีโนราโรงครู เช่น เชื่อว่าสามารถติดต่อควบคุมวิญญาณต่าง ๆ ได้ สามารถปราบผีเจ้าเสนได้ เป็นต้น
<u>ความเชื่อเรื่องแก้บน</u> ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า การบนและการแก้บนครูหมอโนราหรือตายายโนรา จะทำให้ตนเองได้รับความช่วยเหลือในสิ่งที่ปรารถนา และพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ การบนบานและการแก้บนมีทั้งเกิดจากความต้องการให้ครูหมอโนราหรือ ตายายโนราช่วยเหลือ เช่น บนให้มีงานทำ เข้าศึกษาต่อในระดับสูงได้ หายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น และบนเพราะถูกครูหมอโนราลงโทษด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ลูกหลานเพิกเฉยไม่เคารพ นับถือ ต้องการให้ลูกหลานรำโนราหรือเป็นร่างทรง เป็นต้น
<u>ความเชื่อเรื่องการผูกผ้าปล่อย</u> ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าผู้ที่เป็นโนราหรือเชื้อสายโนราหากมีความประสงค์จะเลิกรำโนราตัดขาดจากเชื้อสายโนรา โดยไม่ถูกครูหมอโนราหรือตายายโนราลงโทษ จะต้องมาให้โนราใหญ่ทำพิธีผูกผ้าปล่อยให้ในโรงพิธีโนราโรงครู จึงจะตัดขาดจากความเป็นโนราและเชื้อสายโนราได้
<u>ความเชื่อเรื่องการตัดจุก</u> ชาวบ้านบางส่วนยังนิยมให้บุตรหลานไว้จุก ไม่ว่าจะไว้ตามประเพณีหรือได้บนบานเอาไว้กับครูโนรา เมื่อเด็กย่างเข้าวัยหนุ่มสาว คือ ชายอายุ 13 ปี หญิงอายุ 11 ปี ก็จะนำบุตรหลานของตนมาให้โนราใหญ่ตัดจุกให้ในพิธีโนราโรงครู เพราะเชื่อว่าโนรา โรงครูเป็นพิธีกรรมที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์ และโนราใหญ่มีอำนาจเร้นลับ มีคาถาอาคมแก่กล้าจะเป็นสิริมงคลแก่เด็ก และตัดขาดจาก "เหมฺรฺย" หรือ ทานบน ที่ให้ไว้กับครูโนราได้
<u>ความเชื่อเรื่องการเหยียบเสน </u> ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าเสนเกิดจากการกระทำของ ผีเจ้าเสน ผีโอกระแชง หรือเพราะครูหมอโนรา หรือตายายโนรา ต้องการให้เด็กคนนั้นรำโนรา จึงทำเครื่องหมายเอาไว้ จะหายได้ก็ต่อเมื่อโนราใหญ่ทำพิธีเหยียบเสนให้ในพิธีกรรมโนราโรงครู
ความเชื่อเรื่องการตัดผมผีช่อ ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าผมผีช่อที่จับกันเป็นกระจุกหรือเหมือนผูกมัดไว้ตั้งแต่กำเนิด เป็นเพราะครูหมอโนราหรือตายายโนราต้องการให้คนหนึ่งคนใดเป็นโนราหรือคนทรง ครูหมอจึงผูกผมเป็นเครื่องหมายเอาไว้ จะแก้ได้โดยให้โนราใหญ่เป็นผู้ตัด ในพิธีกรรมโนราโรงครู เชื่อว่าผมที่ตัดออกจะเป็นของขลังสำหรับเจ้าของและผมที่งอกขึ้นใหม่จะไม่เป็นกระจุกอีก
<u>ความเชื่อเรื่องการรำถีบหัวควาย </u> เป็นวิธีการแก้บนของครูหมอโนราหรือตายายโนรา โดยใช้หัวควายหรือเนื้อควายที่ฆ่าแล้วเป็นเครื่องเซ่นไหว้ ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าครูหมอหรือ ตายายโนราที่ต้องแก้บนด้วยหัวควายคือ "ทวดเกาะ" และพวก "ผีแชง" การแก้บนทำได้ 3 วิธี คือ การรำถีบหัวควาย การรำฟันหัวควาย การรำบ่ายหัวควาย
<u>ความเชื่อเรื่องการรำสอดเครื่องสอดกำไล </u> ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า ผู้ที่ต้องการจะได้รับการยอมรับในการเป็นโนราจากครูโนรา จะต้องได้ผ่านพิธีการรำสอดเครื่องหรือที่เรียกว่า "จำผ้า" ส่วนผู้ที่ต้องการจะฝากตัวเป็นศิษย์ของโนรา ทั้งที่เคยหัดรำโนรามาแล้วหรือไม่เคยหัดรำมาก่อน จะต้องทำพิธีสอดกำไลหรือสอดไหมฺร เพื่อให้ครูรับไว้เป็นศิษย์นั่นเอง
ความเชื่อเรื่องการรักษาอาการป่วยไข้ ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าครูหมอและพิธีกรรมโนราโรงครูสามารถรักษาอาการป่วยไข้ที่มาจากความผิดปกติของร่างกาย โรคภัยหรือเกิดจากการกระทำของครูหมอโนรา ด้วยการบนบาน การรักษาทางยาหรือเวทย์มนตร์คาถาโดยผ่านโนราหรือคนทรงครูหมอโนรา
<u>ความเชื่อเรื่องการเข้าทรงหรือร่างทรง </u> ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า วิญญาณของผีบรรพบุรุษและครูต้นโนรา ที่เรียกว่าครูหมอโนราหรือตายายโนราสามารถติดต่อกับลูกหลานได้ โดยผ่านศิลปินคือโนราโดยเฉพาะโนราใหญ่และการเข้าทรงในร่างของครูหมอโนราองค์นั้น ๆ
ขั้นตอนการจัดพิธีกรรมโนราโรงครู โนราโรงครูมี 2 ชนิด คือ โนราโรงครูใหญ่กับโนราโรงครูเล็ก แต่รายละเอียดของพิธีกรรมบางอย่าง เช่น รำคล้องหงส์ รำแทงเข้(จระเข้) ครอบเทริด จะทำกันในโนราโรงครูใหญ่เท่านั้น นอกจากนี้โนราโรงครูแต่ละพื้นที่อาจจะมีข้อแตกต่างกันบ้าง พิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การตัดจุก เหยียบเสน ตัดผมผีช่อ การรำถีบหัวควาย จะมีหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ สำหรับโนราโรงครูใหญ่ จะต้องกระทำกัน 3 วัน มีขั้นตอนการจัดพิธีกรรม ดังนี้
<strong>พิธีกรรมในวันแรก</strong> ซึ่งเป็นวันพุธตอนเย็นเริ่มตั้งแต่พิธีไหว้ภูมิและตั้งศาลพระภูมิเช่นเดียวกับการตั้งศาลพระภูมิทั่วไป จากนั้นผู้เข้าร่วมจะประกอบพิธีทางศาสนา โดยนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 5 รูป มาสวดชัยมงคลคาถา ครั้นเวลาเย็นหรือย่ำค่ำที่ชาวบ้านปักษ์ใต้เรียกว่า "เวลานกชุมรัง" คณะโนราจะเข้าโรง โดยเจ้าภาพต้องนำหมากพลูไปรอรับที่หน้าบ้าน คณะโนราจะขนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องแต่งตัวโนรา เทริด หน้าพราน ฯลฯ เดินเข้าโรงพร้อมกับประโคมเครื่องดนตรี หัวหน้าคณะจะเป็นผู้นำเข้าโรงพร้อมกับบริกรรมคาถาว่า " ออนอ ออพ่อ ออแม่ อออา ออแอ เวียนแวะท้องโรง" นำเครื่องและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปวางไว้ที่กลางท้องโรงเรียกว่า "ตั้งเครื่อง" ได้เวลาจึงทำพิธี "เบิกโรง" เพื่อเชิญครูหมอโนราให้มาชุมนุมในโรงพิธี เริ่มจากเอาพานดอกไม้ธูปเทียน 2 พาน พานแรกวางไว้เป็นพานครู พานที่ 2 เอาเทียน 3 เล่ม หมาก 3 คำ ค่ากำนล 3 บาท หรือ 12 บาท เล็บสวมมือ 3 อัน กำไลมือ 3 วง จัดใส่พานจุดเทียน 3 เล่ม พร้อมกับเทียนใหญ่เรียกว่า "เทียนครู" นำเทียน 3 เล่มไปปักไว้ที่กลอง 1 เล่ม พร้อมกับหมากพลู 1 คำ อีก 2 เล่ม ปักไว้ที่ทับใบละ 1 เล่ม หมากพลูใบละ 1 คำ จุดเทียนที่เครื่องสังเวย บนหน้าพราน หน้าทาสี บนยอดเทริด โนราใหญ่ผู้ร่วมพิธียกพานหมากจุดเทียนอีก 1 เล่ม จับสายสิญจน์ที่ต่อจากเพดานหิ้งบูชาครูหมอโนราหรือตายายโนราบนบ้านเจ้าภาพมายังโรงโนรา ตั้งนะโม 3 จบ กล่าวชุมนุมเทวดา ทำพิธีซัดหมาก เอาหมากคำแรกวางไว้ที่กลองไปเหน็บหลังคาโรงเพื่อบูชาเทวดา หมากคำที่ 2 วางไว้ที่ทับใบแรกไปสอดไว้ใต้เสื่อเพื่อบูชานางธรณี หมากคำที่ 3 วางไว้ที่ทับใบที่ 2 พร้อมกับเทียน 1 เล่ม นำมาสอดเข้าไปในกำไลมือก่อน 3 รอบ แล้วจึงซัดเข้าไปในทับตีทับรัวลูกคู่จะตีเครื่องดนตรีอื่น ๆ ขึ้นพร้อมกันเป็นเสร็จพิธี
ต่อมาโนราจะ "ลงโรง" คือ ประโคมเครื่องดนตรีล้วน ๆ ประมาณ 12 เพลง จบแล้วทำ พิธีร้อง "กาศครู" กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่บทร้องที่เรียกว่า "บทขานเอ" "บทหน้าแตระ" "บทร่ายแตระ" "บทเพลงโทน" ดังตัวอย่าง เช่น
บทขานเอ รื่นเอยรื่นรื่น จะไหว้นางธรณีผึ่งแผน เอาหลังมาพิงเป็นแท่น รองตีนมนุษย์ทั้งหลาย ตีนซ้ายรองหญิง ยังเล่าตีนขวารองชาย นาคเจ้าฤาสาย ขานให้โนเนโนไน ฯลฯ
บทหน้าแตระ ฤกษ์งามยามดี ปานี้ชอบยามพระเวลา ชอบฤกษ์จึงเบิกโรง ดำเนินราชครูถ้วนหน้า ราชครูของน้อง ลอยแล้วให้ล่องเข้ามา
ราชครูของข้า มาแล้วพ่ออย่าพ้นไป
เชิญพ่อเข้ามานั่งนี้ ลูกหยายถ่ายที่ให้พ่อนั่งใน
มาแล้วพ่อย่าพ้นไป มาอยู่เหนือเกล้าเกษา
ฯลฯ
บทร่ายแตระ ลูกกาศราชครูเท่านั้นแล้ว ผ่องแผ้วเป็นเพลงพระคาถา ลูกไหว้นางหงส์กรงพาลี ไหว้นางธรณีเมขลา ไหว้บริถิวราชา ภูมาหาลาภมหาชัย ลูกไหว้แม่โภควดี ธรณีเนื้อเย็นได้เป็นใหญ่ ฯลฯ
บทเพลงโทน ยกหัตถ์ทั้งสองประคองตั้ง ยกขึ้นเหนือเศียรรัง ดังดอกปทุมมา หัตถ์ทั้งสองประคองเศียร นั่งไหว้เวียนแต่ซ้าย ย้ายไปหาขวา ไหว้มุนีนาถพระศาสดา พุทธังธัมมังสังฆา ไหว้อาจารย์ ฯลฯ
โนราบางคณะเมื่อกล่าวบทกาศครูจบแล้ว โนราใหญ่จะร้องบทหนึ่งที่ว่าด้วยประวัติความเป็นมาและขั้นตอนการจัดพิธีกรรมโนราโรงครูเรียกว่า "บทบาลีหน้าศาล" ดังตัวอย่างตอนหนึ่งว่า
บอกบาลีขานเอ ว่าโนเนโนไน
ลักเลงผู้ใด ถ้าพบในตำรา
หากแต่งชูเดิมได้ เหมือนพลายช้างงา
ชาติเชื้อโนรา เป็นเถรเมืองคนหนึ่ง
ตั้งพระไตรโลกแล้ว พระแก้วรำพึง
ยังขัดข้องขึง สิ่งหนึ่งไม่โถก
ไม่ได้ตั้งชาตรี ไว้เป็นที่ประโลมโลก
ระงับดับโศก สนุกสบาย
ฯลฯ
จากนั้นจึงกล่าวเชิญครูด้วยบทชุมนุมครูและบทเชิญครูโนราใหญ่และผู้เข้าร่วมพิธีจะพร้อมกัน กราบครู โดยกราบพร้อมกันจำนวน 9 ครั้ง เมื่อกราบครูแล้วโนราใหญ่จะรำ "ถวายครู" คือร่ายรำด้วยบทต่าง ๆ ของโนราเพื่อบูชาครู และ "จับบทตั้งเมือง" (โนราบางคณะจะจับบทตั้งเมืองในเช้าวันพฤหัสบดี อันเป็นวันที่สองของการรำโนราโรงครู) บทตั้งเมืองหมายถึง บทร้องเพื่อการจับจองพื้นที่โรงโนราเป็นกรรมสิทธิ์ของตนตามความเชื่อของโนราว่า เมื่อครั้งที่เจ้าชายน้อยหรือขุนศรีศรัทธา ได้รำโนราถวายพระยาสายฟ้าฟาดแล้ว พระองค์ได้ประทานเครื่องต้นของพระองค์ให้เป็นเครื่องแต่งตัวโนรา โดยเหตุดังกล่าวโนราไปตั้งตนที่ไหน โดยเฉพาะการตั้งโรงครูจะต้องมีบทตั้งเมืองด้วย พิธีตั้งเมืองจะใช้ขันทองเหลืองหรือขันลงหินใบใหญ่ที่เรียกว่า "แม่ขัน" โดยคว่ำขันลงแล้วเอา ผ้าขาวปูทับ ใต้ขันจะมีข้าว 3 รวง ใบเฉียงพร้า ใบหมากผู้ หญ้าคา หญ้าเข็ดมอน มัดเข้าด้วยกัน แล้วเอามีดโกน หินลับมีด เงินเหรียญ 1 อัน และเทียนชัยใส่รวมเอาไว้ โนราใหญ่จะใช้เท้าขวาเหยียบขันแล้วรำบทต่าง ๆ ตั้งแต่บทครูสอน สอนรำ และบทตั้งเมือง ดังตัวอย่างตอนหนึ่งว่า พ่อตั้งสิ้นตั้งสุด ตั้งพวกมนุษย์ไว้ใต้หล้า ตั้งหญิงคนชายคน ตั้งเป็นพืชเป็นผลสืบต่อมา ได้ตั้งนางเอื้อยเป็นเจ้าเท่ เสร็จแล้วตั้งนางเอ้เป็นเจ้านา พ่อตั้งนายคงเป็นเจ้าแดน ตั้งนายไกรพลแสนเฝ้ารักษา พ่อตั้งดวงอาทิตย์ดวงพระจันทร์ ตั้งปีตั้งเดือนตั้งคืนวันถัดกันมา ไหว้ท้าวอาทิตย์โคจร ได้ตั้งเมืองอุดรบิญจา เขอเมืองของพระองค์ นับได้ห้าพันวา ตรงนี้แปเมืองราชา นับไว้ได้ห้าโยชน์ปลาย พวกจีนไทยแขก จ่ายแจกไปทั่วพาวาย ตั้งร้านค้าขาย ร้องถวายพระพรแจ้วแจ้ว
หลังจากรำบทตั้งเมืองแล้วก็ถือว่าเป็นเสร็จพิธีในวันแรก คณะโนราจะช่วยกันยกเครื่องสังเวย เทริด หน้าพราน หน้าทาสี ฯลฯ ไปวางไว้บนศาลหรือพาไล เพื่อทำพิธีเซ่นไหว้ในวันรุ่งขึ้น จากนั้นจะเป็นการรำทั่วไปของคณะโนรา เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมพิธีและชาวบ้านโดยทั่วไป
พิธีกรรมวันที่สอง คือวันพฤหัสบดี ถือว่าเป็นวันครู เป็นวันประกอบพิธีใหญ่ ทั้งเพื่อการเซ่นไหว้ครู แก้บน และพิธีกรรมอื่น ๆ เริ่มตั้งแต่ลงโรง กาศครู เชิญครู เช่นเดียวกับวันแรกเพียงแต่วันนี้นอกจากจะเชิญครูให้มาชุมนุมแล้วจะมีการเซ่นไหว้และแก้บนด้วย บทเชิญครูจึงแตกต่างไปจากวันแรกบ้าง ดังตัวอย่างตอนหนึ่งว่า เชิญพ่อมาไวไว มารับเอาเครื่องบูชา ลูกแต่งที่เก้าแต่งที่สิบสอง ลูกแต่งรับรองไว้ท่า ลูกแต่งไม่ขัดไม่ข้อง พร้อมทั้งข้าวพองข้าวลา หมากพร้าวเล่าตาล ของคาวของหวานมีนานา ลูกแต่งไม่ข้องไม่ขัด ผ้าผลัดลูกแต่งเอาไว้ท่า ราชครูของข้า เชิญพ่อมากันให้พร้อม มาเถิดมาแหละ ราชครูอย่าแวะอย่าอ้อม เชิญมาให้พร้อม มาชุมนุมบนบรรณศาลา
ในขณะที่โนราร้องบทเชิญครู ครูหมอโนราหรือตายายโนราก็จะเข้าทรงในร่างทรง ซึ่ง คนทรงจะเตรียมตัวเข้าทรงอยู่บนบ้านเจ้าภาพหรือในโรงโนรา คนทรงจะต้องนุ่งผ้าโจงกระเบนใส่เสื้อสีขาวหรือสีอื่น ๆ มีผ้าสไบพาดเฉียงซึ่งส่วนใหญ่นิยมผ้าขาว และเตรียมเครื่องบูชาครูคือดอกไม้ธูปเทียนไปด้วย การเข้าทรงเรียกว่า "จับลง" จะเห็นได้จากอาการผิดปกติของคนทรง เช่น มือ แขน ขาสั่น ลำตัวโอนเอนไปมา เมื่อเข้าทรงเต็มตัวแล้ว คนทรงจะจุดเทียนลุกขึ้นร่ายรำตามเสียงเชิดของดนตรี ลงมาจากบ้านเจ้าภาพ หากคนทรงอยู่ในโรงโนราจะลุกขึ้นร่ายรำเช่นเดียวกัน ครูหมอโนราหรือตายายโนราบางองค์ก็จะขึ้นไปบนศาลหรือพาไล เพื่อตรวจดูเครื่องสังเวย ว่ามี สิ่งใดขาดหรือจัดไม่ถูกต้องก็จะทักท้วง เจ้าภาพต้องจัดหาหรือแก้ไขจนเป็นที่พอใจ ครั้นครูหมอโนราหรือตายายโนราลงมานั่งยังโรงพิธีแล้ว เจ้าภาพและลูกหลานก็จะเข้าไปกราบไหว้สอบถามเรื่องราวต่าง ๆ ขอลาภขอพร แล้วนัดแนะกับครูหมอโนรา ในเรื่องวันเวลาที่จะรำโรงครูในโอกาสต่อไป สำหรับการรับเครื่องสังเวย เมื่อทำพิธีเซ่นไหว้นั้น ครูหมอโนรา หรือตายายโนราในบางแห่งจะใช้เทียนจุดแล้วส่องวนไปตามเครื่องสังเวย แล้วจะเอาเทียนนั้นจ่อเข้าปาก หรืออมควันเทียน โดยทั่วไปเวลาครูหมอโนราหรือตายายโนราเข้าทรงในร่างทรงเต็มตัว ก็มักจะใช้เทียนจุดไฟแล้วจ่อเข้าปากเช่นกัน เรียกว่า "การเสวยดอกไม้ไฟ" เมื่อถึงเวลาจะออกจากร่างทรงดนตรีจะทำเพลงเชิดคนทรงจะสะบัดตัวอย่างแรงแล้วทุกอย่างกลับสู่อาการปกติเรียกว่า "บัดทรง" สำหรับวันนี้หากมีผู้มาขอทำพิธีครอบเทริด โนราใหญ่และผู้ช่วยอีกสองคนจะแต่งตัวเป็นพิเศษ เรียกว่า "แต่งพอก" เพื่อทำพิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ รวมทั้งผู้เข
Relate topics
- การแยกขยะ มาตรวัดกึ๋นท้องถิ่นบ้านเรา/คอลัมน์...ได้อย่าง ไม่เสียอย่าง
- 'บุหรี่' เลิกไม่ยาก
- "ใช้เน็ตแบบปลอดภัย" โดย Security-in-a-Box
- เหตุผลที่พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืน
- ขนมบรรจุซอง ภัยร้ายใกล้ตัวเด็ก
- ปากคำ"แพทย์"เหยื่อพริตตี้ กลยุทธ์ขายยาล้ำ"จริยธรรม"
- เปิดโลกการอ่าน ตอนโลกการ์ตูน
- ระวัง ‘พริกน้ำปลา’ ภัยร้ายผู้สูงวัย มีโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด
- กระบวนการสอนสร้างอนาคตร่วมกัน - Future Search Conference (F.S.C.)
- เด็กไทยเห็นแก่ตัว “ให้” ไม่เป็น















