สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ปากคำ"แพทย์"เหยื่อพริตตี้ กลยุทธ์ขายยาล้ำ"จริยธรรม"

by Little Bear @29 ธ.ค. 52 20:33 ( IP : 61...246 ) | Tags : สาระน่ารู้

27 ธันวาคม พ.ศ. 2552 10:08:00

คำอธิบายภาพ : 18296_medicine11thumb3.gif"ปากกา กระดาษ กระดาษทิชชู " ติดป้ายยี่ห้อยาของบริษัทแห่งหนึ่งวางเรียงบนโต๊ะ ทำงานของแพทย์หนุ่ม ขณะที่ตัวเขาสาละวน เร่งรีบกับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย ตัวแทนบริษัทยาแห่งหนึ่ง ขอเข้าพบหลังทำงาน

ไม่นานหลังจากนั้นห้องทำงานของแพทย์หนุ่ม เริ่มมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่เอี่ยม ทีวี จอใหญ่ ดูทันสมัย รวมไปถึงอุปกรณ์การทำงานอื่นๆ ในห้องที่ล้วนมีที่มาจากการสนับสนุนของบริษัทยาแห่งหนึ่งทั้งสิ้น

"ผมปฏิเสธขนาดไม่ยอมรับแม้กระทั่งปากกาที่มาจากบริษัทยา" นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ แพทย์จากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ บอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ว่าจะไม่ตกเป็นเหยื่อกลยุทธ์การขายยา ของบริษัทยาด้วยการ ขายตรงพร้อมของรางวัลให้แก่แพทย์

รายงานโดย ดวงกมล สจิรวัฒนากุล

ปัญหาการส่งเสริมการขายยาที่หมิ่นเหม่กับจริยธรรมแพทย์ กลายเป็นปัญหาซับซ้อน ซึ่งกลายมาเป็นวาระของสมัชชาสุขภาพที่ต้องมาร่วมถกเถียงเพื่อวางกรอบที่เหมาะสมระหว่าง การให้ของบริษัทและการรับของแพทย์

นพ.ประเสริฐ เล่าถึงกลยุทธ์การขายยาที่เขามีเคยประสบการณ์ จนกลายเป็นคนหนึ่งที่ปฏิเสธรับของจากตัวแทนบริษัทยาทุกชนิดเพื่อไม่ให้รู้สุกติดค้าง และเป็นอิสระในการตัดสินเลือกใช้ยา

เขาเล่าว่า กลยุทธ์การขายยาของตัวแทนบริษัทยา มีตั้งแต่ของขวัญ ไม่ว่าจะปากกา กระดาษ กระดาษทิชชู อุปกรณ์คอมพิวเตอร์จนถึงทีวี และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในห้องพักแพทย์ต่างๆ มีการสนับสนุนจากบริษัทยาโดยตลอด แม้ว่า ตามหลักเกณฑ์ของขวัญที่ให้ไม่เกิน 3,000 บาท แต่ไม่มีความหมายเพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของ แต่เป็นการให้ต่อเนื่องตลอดเวลามากกว่า

แน่นอนการมอบของขวัญมักจะแฝงมากับผลประโยชน์การขาย และมีการบวกเพิ่มในราคายาที่จำหน่าย เช่นเดียวกับการสนับสนุนอาหารกลางวัน หากแพทย์ต้องการจัด luncheon การจัดหรือเชิญประชุมวิชาการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นในหรือต่างประเทศ บริษัทยาไม่เพียงแต่สนับสนุนงบประมาณเท่านั้น แต่ยังให้การดูแลแพทย์เป็นอย่างดี สร้างความเคยชิน แต่สิ่งที่น่าวิตกที่สุด คือ แพทย์รุ่นน้อง นักศึกษาแพทย์ ต่างคิดว่าเป็นเรื่องของน้ำใจและเยื่อใยที่มีต่อกัน

“ผมเคยไปประชุมวิชาการแพทย์ด้านโรคหัวใจที่กรุ งปราก ประเทศเชโกสโลวะเกีย ด้วยเงินทุนของผมเอง มีอาจารย์แพทย์เข้าร่วมจำนวนมาก และทุกคนต่างทักผมว่า มากับบริษัทยาอะไร ผมได้แต่ตอบว่าเปล่า” นพ.ประเสริฐ กล่าว

การให้จากบริษัทยา การสนับสนุนเงินทุนประชุมวิชาการให้กับแพทย์ กลายเป็น น้ำใจ ที่แสนธรรมดา ที่ก้าวล่วงเส้นแบ่งทางจริยธรรม ที่วงการแพทย์ต้องหันมาถกเถียงมากขึ้น ว่าเส้นบางๆ ที่เรียกว่า อะไรคือความเหมาะสม

นพ.ประเสริฐ บอกว่า ทางออกก็มีอยู่ โดยรัฐบาลและโรงพยาบาลต้องมีนโยบายการพัฒนาบุคลากรที่ชัดเจน และงบประมาณที่แพทย์พัฒนาวิชาชีพตนเองได้ ทั้งการจัดประชุมวิชาการแพทย์ และการให้งบเข้าร่วมประชุมทั้ง ในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์รุ่นน้องๆ ทำให้ไม่ต้องขวนขวายจากบริษัทยา เช่นเดียวกับงบประมาณดูแลแพทย์ ห้องพักแพทย์ ซึ่งใช้เงินไม่มาก ไม่จำเป็นต้องรับของจากบริษัทเหล่านี้

ไม่เพียงการจู่โจมแพทย์เท่านั้น หากกลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่บริษัทยายังรวมไปถึงการนำตัวอย่างยามาไว้ที่ห้องยา และให้ผู้ป่วยลองใช้ ซึ่งแพทย์ก็สั่งจ่ายด้วยความหวังดี แต่ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากตัวอย่างยาหมด และมักเป็นข้อโต้เถียงในคณะกรรมการยาของโรงพยาบาลถึงความจำเป็นในการสั่งยาที่เป็นตัวอย่างยา ด้วยเหตุผลว่าผู้ป่วยต้องใช้ยาเหล่านี้ ดังนั้นจึงต้องไม่ให้มีตัวอย่างยาเข้ามาในห้องยา

นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า มี 3 กรณีที่เขายอมไม่ได้และเคยมีประสบการณ์ คือ 1.การรับค่าตอบแทนเป็นเงินสดจากบริษัทยาเพื่อแลกกับยอดขายยาในโรงพยาบาลที่สูงขึ้น ซึ่งเคยมีผู้แทนยาบางบริษัทนำซองเงินมอบให้เขาเพื่อให้สั่งยามาไว้ในโรงพยาบาล 2.เภสัชกรทำหน้าที่เป็นเซลขายยา (พริตตี้ขายยา) เพราะเป็นวิชาชีพไม่ใช่อาชีพต้องมีจรรยาบรรณ

และ 3.อาจารย์แพทย์บางคนเป็นต้นแบบในการตอบรับน้ำใจจากบริษัทยา แถมยังสอนเทคนิคเพื่อให้ยอดสั่งยาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่วิตกมากที่สุด ความเสียหายที่ตามมาก็จะประเมินค่าไม่ได้เพราะแพทย์รุ่นน้องจะเห็นเป็นเรื่องปกติและทำตาม

นพ.ประเสริฐ ยืนยันว่าเรื่องเหล่านี้จะต้องถูกแก้ไข หากต้องการจัดประชุมวิชาการเรื่องยา และถือเป็นเรื่องการพัฒนาบุคลากร ซึ่งโรงพยาบาลต้องชัดเจนทั้งเป้าหมาย และงบประมาณ อย่าทำให้แพทย์รุ่นน้องที่ต้องการพัฒนาตนเอง ต้องขวนขวายหาทุนที่จะพัฒนากันเอง

"เราไม่อยากเห็นการอบรมเป็นเพียงแค่การพักร้อนกินกาแฟ แต่เราอยากได้วิชาการ ส่วนการประชุมใน จังหวัดท่องเที่ยว แค่ทำเรื่องประชุมให้ชัด ท่องเที่ยวให้ชัด แต่ทุกวันนี้มีการจัดประชุมแต่ไม่ค่อยเข้าร่วมประชุม แต่จะเห็นรถ บริษัทยาจะไปจอดอยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวมากกว่า"

นพ.ประเสริฐ บอกว่า ควรมีกองทุนให้แพทย์ไปประชุมวิชาการต่างประเทศ ไปนำเสนองานวิจัยต่างประเทศ จะได้ไม่เกิดปัญหาและข้อครหาว่าไปเพราะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยา เพราะปัจจุบันยอมรับว่า การเดินทางไปต่างประเทศของแพทย์ โดยบริษัทยามีหนักข้อขึ้นทุกวัน จึงควรทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน

ประสบการณ์ของ นพ.ประเสริฐไม่แตกต่างจาก นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์และหน่วยอณูพันธุศาสตร์ สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งเขาบอกว่า กลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทยา มีต้นแบบมาจากโรงเรียนแพทย์ เพราะฉะนั้น โรงเรียนแพทย์ควรเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาด้วย

"ที่ผ่านมาศิริราชพยายามแก้ไขปัญหาโดยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายยาให้กับแพทย์ว่า จะต้องสั่งจ่ายเฉพาะยาที่มีอยู่ในห้องยาเท่านั้น และการสั่งนำเข้าหรือถอดรายการยาออกห้องยานั้น จะมีคณะกรรมการยาโรงพยาบาลดูแลอยู่ เข้มงวดมาก"

ในส่วนของเภสัชกร หากบริษัทยาใดต้องการเสนอยาใหม่ ให้ส่งเอกสารข้อมูลเท่านั้น ไม่มีการเจอซึ่งหน้า ยกเว้นกรณีการจัดอบรมความรู้ด้านยาใหม่ๆ ซึ่งโรงพยาบาลเป็นผู้จัด โดยเชิญผู้แทนยาจากบริษัทยามาให้ความรู้ โดยจะจัดขึ้นในทุกเดือน

นพ.ชนินทร์ กล่าวว่า การควบคุมเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะสำหรับแพทย์นั้นยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะแพทย์มีเวลาไม่แน่นอน แต่ที่แน่นอนคือแพทย์จะต้องเจอผู้แทนยา ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกเวลาราชการ ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนไม่สามารถบอกได้ แต่ข้อมูลที่ผู้แทนยานำเสนอนั้นอาจทำให้เกิดความอคติในการสั่งจ่ายยาของแพทย์ ถ้าข้อมูลที่ได้รับมาไม่รอบด้านเพียงพอ

"ส่วนการเดินทางไปประชุมวิชาการในต่างประเทศของแพทย์นั้น อยากให้ศิริราชมีนโยบายเปิดเผยข้อมูลของอาจารย์แพทย์ว่า ในแต่ละปีเดินทางไปประเทศอะไรมาบ้าง ปีละกี่ครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่เรื่องนี้ถกในคณะกรรมการบริหารมา 5 ปีแล้ว ไม่มีใครทำได้ " นพ.ชนินทร์ บอก

นพ.ชนินทร์ เล่าแบบบ่นๆ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นก็กลุ้มใจไม่แพ้ อ.ประเสริฐ จึงอยากกระตุ้นให้ช่วยเหลือกัน เพราะ ยาไม่เพียงแต่เป็นสินค้าที่ทำกำไร ดังนั้นนโยบายยา เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้บริหาร

ขณะที่ ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ประเทศอื่นๆ ต่างประสบปัญหาเช่นกัน ดังนั้นก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกจึงได้พัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาเพื่อให้ประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติ ขณะที่ประเทศไทยในเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้มีกระบวนการจัดทำ “ยุทธศาสตร์เพื่อยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม” ขึ้นแล้ว

"ที่ประชุมได้มอบให้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง จัดตั้งคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วนที่ไม่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจยาทั้งในและต่างประเทศเพื่อทำหน้าที่จัดทำหลักเกณฑ์ควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม และพัฒนาเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ พร้อมทั้งให้มีการจัดทำระบบรายการส่งเสริมการขายของบริษัทยาผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ดังกล่าว"

ดังนั้น ถึงเวลาที่แพทย์ บริษัทจะต้องมียุทธศาสตร์ การส่งเสริมการขายยาที่ต้องมีเส้นแบ่งของจริยธรรม ซึ่งห้ามล่วงละเมิดซึ่งกันและกัน รวมไปถึง ปากกา ถ้วยกาแฟ บนโต๊ะทำงาน ต้องชัดเจนว่า กลยุทธ์การขายยา หรือ น้ำใจ ที่ให้กันและกัน

ไทยนำเข้ายา2แสนล้าน

ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านยาในประเทศที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ขึ้นมากในระยะหลายปีที่ผ่านมา ปี 2548 มีมูลค่ายาขายปลีกสูงถึง 1.86 แสนล้านบาท และปี 2552 นี้อาจมากกว่า 2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ กลับมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านยาเพียง 10-20% เท่านั้น และเมื่อมองย้อนกลับไปยังพบว่า อัตราการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านยายังสูงกว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ระหว่างปี 2543-2548 ค่าใช้จ่ายด้านยามีอัตราเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 13-20 ขณะที่การเจริญเติบโตเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 2.2-7.1 เท่านั้น

เมื่อดูค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ทั้งระบบสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง (หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) พบว่า ระบบสวัสดิการข้าราชการมีค่าใช้จ่าย มากที่สุด ปี 2551 สูงถึง 5.49 หมื่นล้านบาท ดูแลคนเพียง 5 ล้านคน ขณะที่อีก 2 ระบบนั้น รวมกันแล้วมีค่าใช้จ่าย 98,700 คน ดูแลคนถึง 57 ล้านคน ซึ่งค่าใช้จ่ายระบบสวัสดิการข้าราชการที่พุ่งขึ้นนั้น สาเหตุสำคัญมาจาก “ค่ายา” โดยเฉพาะผู้ป่วยนอก ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของการเบิกจ่าย

ด้วยเหตุนี้...ทาง “แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ติดตามวิเคราะห์หาสาเหตุการใช้ยาที่เพิ่มขึ้นของคนไทย สรุปได้ว่า

นอกจากการทุ่มโฆษณาทั้งทางตรงและการใช้โฆษณาแฝงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ยาแล้ว (เฉพาะโฆษณาที่สู่ผู้บริโภคในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2549-2551 มีมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท) ยังเกิดจาก “การส่งเสริมขายยาที่ขาดจริยธรรม” ส่งผลต่อการใช้ยาที่ฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็น

การส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมเป็นปัญหาซับซ้อน ใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อดึง “แพทย์” ซึ่งเป็นกลุ่มวิชาชีพช่วยเพิ่มยอดขายยา โดยตอบแทนด้วยผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ที่หมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมแพทย์ มี “ผู้แทนยา” ทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์กับแพทย์

อย่างเพื่อน อย่างพี่ อย่างน้อง ที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งผลการวิจัยในต่างประเทศสรุปชัดว่า หากผู้แทนยาบริษัทใดมีความสนิทสนมกับแพทย์มากกว่าผู้แทนยาจากบริษัทอื่น โอกาสที่แพทย์จะสั่งยาจากบริษัทของผู้แทนคนดังกล่าวย่อมมีมากตามไปด้วย

ที่ผ่านมาพบว่าค่าใช้จ่ายในการโฆษณายาของไทย มีมูลค่าสูงมาก โดยมีการโฆษณาจากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านอินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน รายการสุขภาพ คอลัมน์ตอบปัญหาสุขภาพ และการโฆษณาแฝง รวมไปถึง การโฆษณายาสู่ผู้ประกอบวิชาชีพ

จึงไม่น่าแปลกใจ หากเห็นผู้แทนยาเหล่านี้เข้าออกโรงพยาบาลเดินตามแพทย์เป็น ว่าเล่น บ้างถือถุงของขวัญ ของชำร่วย อาหารและขนมขบเคี้ยว นอกจากข้อมูลและตัวอย่างยา โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงเรียนแพทย์ที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน นั่นหมายถึงยอดในการสั่งจ่ายยาด้วย

การส่งเสริมการขายที่ขาดจริยธรรมในประเทศไทย ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการควบคุม โดยที่ผ่านมา หลายกรณีที่การขายส่อไปในทิศทางที่ขาดจริยธรรมคือการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างแพทย์ และตัวแทนขายยา หรือภาษาแพทย์เรียกว่า การยิงยา เพื่อแลกกับการสั่งยาบางกลุ่มที่ไม่จำเป็นหรือยาราคาแพง

รายงานจากองค์การอนามัยโลก ที่ว่าด้วยการติดตามความโปร่งใสของระบบยา 4 ประเทศ พบว่า ความโปร่งใสของการขึ้นทะเบียนยา การคัดเลือกยา และการจัดหายา ของไทยยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีนัก และมีการกำหนดการที่จะตรวจสอบการส่งเสริมการขายยาในประเทศไทยอีกด้วย

ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีกฎหมายการควบคุมการส่งเสริมการขายยาโดยตรง ส่วนกฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอ และไม่ทันเหตุการณ์ ส่วนสภาพวิชาชีพแพทย์แม้มีเกณฑ์จริยธรรมและจรรยาบรรณ แต่ไม่ครอบคลุมเรี่องการส่งเสริมการขายยา หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยา

นอกจากนี้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการโฆษณายาที่ไม่ทันสมัย บทลงโทษที่ไม่แข็งแรง จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์การขายยาที่เหมาะสม เพราะการขายยาที่ไม่เหมาะสมไม่ได้มีปัญหาเฉพาะยาราคาแพง แต่ท้าทายปัญหาทางจริยธรรม ความน่าเชื่อถือที่มีต่อแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรสาธารณสุข

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว