ระวัง ‘พริกน้ำปลา’ ภัยร้ายผู้สูงวัย มีโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด
นักวิจัย สสส. เตือนเรื่องใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม หลังพบคนไทยชอบความเค็มด้วยพริกน้ำปลาระหว่างรับประทานอาหาร เป็นตัวการเพิ่มโซเดียม เสี่ยงเส้นเลือดแตก อัมพาต อัมพฤกษ์
นางอรพินท์ บรรจง จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ในการทำโครงการพัฒนาตำรับอาหารท้องถิ่นสำหรับผู้สูงอายุ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ให้การสนับสนุนการวิจัย ซึ่งขั้นตอนของการทำโครงการจะต้องนำอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่ได้ทำขึ้นใหม่นี้ไปให้ผู้สูงอายุที่ ต.ดอนแฝก อ.นครชัยศรี และ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ได้รับประทานเพื่อประเมินผล แต่พบว่าทางกลุ่มผู้นำชุมชนได้วางถ้วยพริกน้ำปลาไว้บนโต๊ะให้ผู้สูงอายุที่มานั่งรับประทานด้วย ซึ่งถือว่าพริกน้ำปลานั้นไม่ได้จัดให้อยู่ในชุดอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุดังกล่าว และอาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุโดยไม่รู้ตัว
ตามข้อแนะนำการรับประทานอาหารสุขภาพ ปี 2546 ระบุไว้ว่าให้รับประทานทานอาหารที่มีโซเดียมได้ไม่เกินวัน 2,400 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบได้กับน้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะหรือเกลือประมาณครึ่งช้อนชา แต่ล่าสุดหลังจากการสำรวจพบว่า ประชากรทั่วโลกมีปัญหาเกี่ยวกับโรคความดันโลหิต โรคไต โรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จึงได้กำหนดเหลือเพียง 1,400 มิลิกรัมต่อวัน แต่จากการตรวจสอบโซเดียมในอาหารไทยที่ส่วนมากจะมีรสจัด พบว่ามีโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดอย่างมาก ซึ่งแต่ละมื้ออาหารก็จะมีโซเดียมเกินที่กำหนดอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเรารับประทานอาหารวันละ 3 มื้อแล้ว เท่ากับว่าเราได้รับโซเดียมจากการรับประทานอาหารเกินกว่าค่ากำหนดอย่างมากมายมหาศาล
“โซเดียมที่ใกล้ตัวมากที่สุดและคนมักมองข้าม คือ พริกน้ำปลา ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทย เพราะจะเห็นว่าคนที่จะรับประทานอาหารมักจะคลุกเคล้าข้าวกับพริกน้ำปลา และเติมพริกน้ำปลาในอาหาร นอกจากนี้ ก่อนที่จะกินก๋วยเตี๋ยวก็มักจะเติมน้ำปลา น้ำตาล น้ำส้มสายชู ลงในไปชามก๋วยเตี๋ยว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ชิมก่อนการปรุงเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่า ขอให้ได้ใส่ให้ได้ปรุง รสชาติเป็นอย่างไรค่อยแก้ทีหลัง”
นางอรพินท์ กล่าวอีกว่า การรับประทานอาหารรสเค็มมากๆ และบ่อยๆ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหัวใจ และไตวาย รวมทั้งโรคกระดูกพรุน ซึ่งผู้ที่เป็นโรคจะต้องระมัดระวังอาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในโรคที่เป็นอยู่ เพราะโรคดังกล่าวนี้เหมือนกับภัยเงียบที่ไม่บ่งบอกอาหารให้ผู้ป่วยได้รู้ คนที่เป็นก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นอะไร แต่เมื่อเป็นความดันสูงอยู่เรื่อยๆ เมื่ออายุสูงขึ้น ความยืดหยุ่นเส้นเลือดน้อยลง เส้นเลือดแข็งก็จะเปราะบาง เมื่อมีความดันสูงเรื่อยๆ ไม่สามารถคุมได้แล้วเกิดเส้นเลือดแตกตามจุดสำคัญต่างๆ แล้ว ก็จะทำให้เป็นอัมพาต อำพฤกษ์ กลายเป็นคนพิการ และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังไม่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวนี้ หรือคนวัยหนุ่มที่ยังแข็งแรงก็ต้องระมัดระวังและควบคุมการรับประทานอาหารรสเค็มเช่นกัน เพื่อเป็นการป้องกันและไม่ให้เกิดการสะสมโซเดียมไว้ในร่างกายจนมากเกินไป และเลือกใช้เกลือหรือน้ำปลาสโลว์โซเดียมที่มีจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ มาปรุงรสเค็มให้อาหารแทนน้ำปลาทั่วๆ ไป ซึ่งน้ำปลาโลว์โซเดียวนี้จะเป็นโซเดียมที่ได้จากพืชจากผลไม้ และมีปริมาณน้อยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด หรือจะงดคลุกข้าวกับพริกน้ำปลา แล้วใช้ความเค็มจากอาหารที่รับประทานควบคู่กันก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่จะลดโซเดียมได้ง่ายที่สุดอีกวิธีหนึ่ง
ที่มา : สสส.
Relate topics
- การแยกขยะ มาตรวัดกึ๋นท้องถิ่นบ้านเรา/คอลัมน์...ได้อย่าง ไม่เสียอย่าง
- 'บุหรี่' เลิกไม่ยาก
- "ใช้เน็ตแบบปลอดภัย" โดย Security-in-a-Box
- เหตุผลที่พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืน
- ขนมบรรจุซอง ภัยร้ายใกล้ตัวเด็ก
- ปากคำ"แพทย์"เหยื่อพริตตี้ กลยุทธ์ขายยาล้ำ"จริยธรรม"
- เปิดโลกการอ่าน ตอนโลกการ์ตูน
- กระบวนการสอนสร้างอนาคตร่วมกัน - Future Search Conference (F.S.C.)
- เด็กไทยเห็นแก่ตัว “ให้” ไม่เป็น
- สสจ.สงขลา เตือนประชาชนระมัดระวัง “โรคชิคุนกุนยา”