สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สสจ.สงขลา เตือนประชาชนระมัดระวัง “โรคชิคุนกุนยา”

by punyha @13 ก.พ. 52 15:20 ( IP : 118...189 ) | Tags : สาระน่ารู้

สสจ.สงขลา เตือนประชาชนระมัดระวัง “โรคชิคุนกุนยา” หลังพบระบาดหนักในจังหวัดสงขลา

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เตือนประชาชนให้ระมัดระวัง “โรคชิคุนกุนยา” หลังพบระบาดหนักในจังหวัดสงขลา น.พ. สุเทพ วัชรปิยานันทน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า พบการแพร่ระบาดของ โรคชิคุนกุนยาในจังหวัดสงขลา ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประชาชนที่ประกอบอาชีพสวนยางพารา เพราะโรคนี้มีพาหะนำโรคคือ ยุงลาย โดยจังหวัดสงขลาเริ่มพบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา รายแรก เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 ในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย และพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ในอำเภอจะนะ,อำเภอสะเดา ปี 2551 รวมทั้งสิ้น 655 ราย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคชิคุนกุนยา ในจังหวัดสงขลาสูงเป็นอันดับสองรองจาก จังหวัดนราธิวาส  ระบาดใน พื้นที่อ.ยี่งอ อ.แว้ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งพบผู้ป่วยแล้ว 150 ราย นอกจากนั้นยังพบว่ามีการระบาดในพื้นหลายพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย เขตรอยต่อกับประเทศไทย และมีผู้ป่วยแล้วมากกว่า 2 พันรายนั้น ล่าสุดมีรายงานว่า ในพื้นที่ หมู่ 1 บ.อาเหอูโต๊ะ ต.ยะต๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา พบผู้ป่วยต้องสงสัยที่มีอาการคล้ายโรคชิคุนกุนยา จำนวนหลายราย

ส่วนในจังหวัดสงขลาอำเภอที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคืออำเภอสะบ้าย้อย 1,100 ราย รองลงมาคืออำเภอเทพา 97 ราย อำเภอสะเดา 33 ราย อำเภอจะนะ 7 ราย อำเภอนาทวี 6 ราย รวมถึงอำเภอหาดใหญ่ตามลำดับ และผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาสูงสุด รองลงมาคือ นักเรียน

โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง คล้ายกันกับโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ มีรายงานการระบาดครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศแทนซาเนียในทวีปแอฟริกา ในปี พ.ศ.2495 เกิดจากเชื้อไวรัส alphavirus ในสกุล Togaviridae ชื่อ ‘chikungunya’ มาจากภาษาท้องถิ่นของแอฟริกา (ภาษา Kimakonde) ซึ่งอธิบายถึงลักษณะบูดเบี้ยวหรือบิดงอตัว (contorted) จากอาการปวดข้ออย่างรุนแรง ในประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ.2501 ที่กรุงเทพมหานคร แยกเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาได้จากผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเด็ก

ต่อมายังพบผู้ป่วยเด็กบ้างบางราย และไม่พบอีกเลยตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา หลังจากนั้นมีรายงานผู้ป่วยในบางปี คือ ที่จังหวัดปราจีนบุรี (พ.ศ.2519) สุรินทร์ (พ.ศ.2531) ขอนแก่น (พ.ศ.2534) เลยและพะเยา (พ.ศ.2536) นครศรีธรรมราชและหนองคาย (พ.ศ.2538) ซึ่งพบผู้ป่วย 576 ราย และ 94 ราย ตามลำดับ จนถึงการระบาดที่พบครั้งล่าสุด ในเดือนกันยายน พ.ศ.2551 ที่ จ.นราธิวาสและปัตตานี (ณ ปัจจุบัน 15 ต.ค.51 การระบาดลดลง แต่ยังไม่มีสิ้นสุด) ซึ่งทิ้งช่วงห่าง 13 ปี จากการระบาดครั้งก่อน

อาการของโรค : ไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดงอักเสบและเจ็บ เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อของแขนขา อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย หลังจากนั้นจะเกิดผื่นบริเวณลำตัวและแขนขา มักไม่คัน หรืออาจมีผื่นขึ้นที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก ไข้อาจจะหายในระยะนี้ (ระยะ 2-3 วันหลังเริ่มป่วย) ผื่นนี้จะลอกเป็นขุยและหายได้เองภายใน 7-10 วัน พบต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตได้บ่อย แต่อาการชาหรือเจ็บบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้าพบได้ไม่มาก อาการปวดข้อจะหายภายใน 2-3 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ และบางรายอาจเป็นเรื้อรังอยู่หลายเดือนหรือเป็นปี อาจพบอาการแทรกซ้อนไม่รุนแรงที่ตา ระบบประสาท หัวใจ และทางเดินอาหาร ผู้ติดเชื้อบางส่วนมีอาการอ่อนๆ ซึ่งอาจไม่ได้ถูกวินิจฉัยโรค หรือวินิจฉัยเป็นไข้เด็งกี่ แต่ในผู้สูงอายุอาการอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ระยะฟักตัวของโรค : 2-12 วัน (โดยทั่วไป 4-8 วัน)

การรักษา : ไม่มีการรักษาจำเพาะ ใช้การรักษาตามอาการ โดยเฉพาะอาการปวดข้อ กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ (ห้ามกินยาแอสไพรินลดไข้เป็นอันขาด เนื่องจะทำให้เกิดเลือดออกได้ง่ายขึ้น) และเช็ดตัวด้วยน้ำสะอาดเป็นระยะเพื่อช่วยลดไข้ รวมทั้งให้ผู้ป่วยดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง

การแพร่ติดต่อโรค : ติดต่อจากคนสู่คนโดยถูกยุงกัด ในเขตร้อนชื้นมักเกิดจากจากยุงลายบ้าน Aedes aegypti ซึ่งมักเป็นสาเหตุการระบาดในเขตเมือง ส่วนในเขตอบอุ่นและเขตหนาวมักเกิดจากยุงลายสวน Aedes albopictus ซึ่งมักเป็นสาเหตุของโรคในเขตชนบท ยุงลายทั้ง 2 ชนิดมีนิสัยชอบกัดในเวลากลางวัน (โดยเฉพาะช่วงเช้า ๆ และบ่ายแก่ ๆ) ยุงลายสวนชอบหากินบริเวณนอกบ้าน แต่ยุงลายบ้านชอบกัดดูดเลือดภายในอาคารบ้านเรือน

มาตรการป้องกันโรค : ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคชิคุนกุนยา (รวมทั้งโรคอื่น ๆ ที่มียุงนี้เป็นพาหะ) เป็นมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการ ดังนี้

  1. สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และให้สุขศึกษาแก่ชุมชน เพื่อให้เกิดความตระหนักและร่วมมือกันกำจัดหรือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ ยุงลายให้อยู่ในระดับต่ำอยู่เสมอ (ซึ่งต้องเร่งรัดมากขึ้น ทั้งก่อนและในช่วงฤดูฝน และในช่วงที่เกิดการระบาด) ประชาชนรู้วิธีป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยต้องนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดแม้เป็นเวลากลางวัน จุดยากันยุง ทายากันยุง หรือสวมใส่เสื้อผ้าแขนยาว ขายาว เป็นต้น ซึ่งหากใช้มุ้ง ผ้าม่าน มู่ลี่ ฯลฯ ที่ชุบสารเคมีกำจัดแมลง ก็จะยิ่งป้องกันยุงได้ดียิ่งขึ้น
  2. สำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน เพื่อประเมินความชุกชุมของยุงพาหะ จำแนกชนิดของแหล่งเพาะพันธุ์ (ยุงลายชอบเพาะพันธุ์ตามภาชนะน้ำขังที่อยู่ในบ้านหรือบริเวณรอบบ้าน เช่น จานรองขาตู้กับข้าว แจกัน จานรองกระถางต้นไม้ โอ่งน้ำ ยางรถยนต์เก่า เป็นต้น) และเพื่อแนะนำวิธีการควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลายแก่ประชาชน เช่น ปิดฝาโอ่ง เปลี่ยนน้ำในจานรองขาตู้ แจกัน ฯลฯ ทุก ๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ขัดด้านในภาชนะที่อาจมีไข่ยุงติดอยู่ คว่ำกะลา กวาดเก็บใบไม้ (ตามพื้น หลังคาบ้าน ท่อน้ำฝน ฯลฯ) กำจัดยางรถยนต์เก่า หรือนำไปแปรสภาพและใช้ประโยชน์ ฯลฯ

มาตรการควบคุมการระบาด

  1. สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงในบ้านและบริเวณรอบบ้าน โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ร่วมกันตามความเหมาะสม เช่น การปกปิดภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด การหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำ (เช่น ทุก ๆ 7 วัน) การใส่ปลากินลูกน้ำ การใส่สารเคมีฆ่าลูกน้ำ เป็นต้น
  2. ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงแบบพ่นหมอกควันหรือพ่นฝอยละออง เพื่อช่วยลดความชุกชุมของยุง โดยต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
  3. แนะนำประชาชนให้ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด แนะนำประชาชนในครัวเรือนที่มีผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาในบ้าน ต้องให้ผู้ป่วยนอนในมุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายไปกัดและแพร่เชื้อได้ ซึ่งเชื้อโรคนี้จะแพร่ขณะที่มีไข้สูง (ในระยะ 2-3 วันหลังเริ่มป่วย)

ขณะนี้จังหวัดสงขลาได้เร่งรัดการดำเนินการควบคุมและสกัดการแพร่ระบาดโรค ในพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีมาตรการที่สำคัญคือ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมป้องกันโรคระบาด หรือ วอร์ รูม และได้สั่งการเตรียมพร้อมในพื้นที่ทุกอำเภอ โดยเฉพาะ 6 อำเภอที่มีรายงานผู้ป่วย ที่มีอาการสงสัยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ทราบภายใน 24 ชั่วโมง จะมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วที่ มีความพร้อมในการเฝ้าระวัง และการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการป้องกันโรคชิคุนกุนย่า

ที่มาของข้อมูล: โรคชิคุนกุนยา , สถานการณ์โรคชิคุนกุนยา

Comment #1
Posted @15 ก.พ. 52 10:34 ip : 61...54

เป็นโรคที่น่ากลัวอีกโรคหนี่ง ที่เพิ่งเข้ามาถึงเมืองไทย และก็คงควบควบคุมยากอีกด้วย

มันมากับยุงลาย!!!

Comment #2
Posted @15 ก.พ. 52 14:02 ip : 118...114

บ้านผมยุงเยอะเลยครับ(ห้องแถวในหาดใหญ่) บ้านก็ไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ แต่ยุงก็เยอะ ไม่แน่ใจจากที่ระบายหลังบ้านหรือเปล่า ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาได้ครับ

Comment #3
Posted @10 มี.ค. 52 22:40 ip : 113...82

เกาะยอ มียุงมากเลยครับ

Comment #4ยาแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
เด็กบ้านๆ (Not Member)
Posted @28 เม.ย. 52 19:06 ip : 118...172

การกินสมุนไพรที่มีรสฝาดหรือขม จะทำให้มีอาการดีขึ้น โดยการกินสมุนไพรดังนี้     -นำยาเขียวไปต้มกับย่านนางและนำน้ำที่ต้มได้มาดื่ม ก็จะช่วยทุเลาของอาการจากโรคชิคุนกุนยา                   จากเด็กหาดใหญ่

Comment #5
ชาวบ้าน (Not Member)
Posted @12 พ.ค. 52 10:56 ip : 58...190

ทำไมไม่สถานีอนามัยแต่ละแห่งถึงไม่ช่วยเหลือชาวบ้านบ้างเลย

Comment #6
ชาวบ้าน (Not Member)
Posted @12 พ.ค. 52 10:57 ip : 58...190

กรุณาช่วยเหลือชาวบ้านด้วยสงสารเด็กๆ

Comment #7----------------------
ชาวนาม่วง แค่ป้อมตำรวจ (Not Member)
Posted @12 พ.ค. 52 17:29 ip : 118...105

เคยเป็นโรคนี้มาก่อนค่ะ จะบอกให้นะคะเราจะต้องกินใบย่านางซึ่งเป็นไม้เถาเลื้อยอยู่ตามต้อนไม้คล้ายกาฝาก ให้นำใบมาต้อมกินจนให้ใบเปลี่ยนสี  จากที่มีสีเขียวให้ต้มเป็นใบสีเหลือง รสชาติคล้ายกับน้ำเปล่าแต่ว่าจะมีกลิ่นแปลกๆนิดนึง    และก็กินยาเขียวด้วยนะเพื่อเอาพิษของไข้นั้นเอาออกให้หมด

Comment #8ไวรัส ชิคุนกุนยา ไข้ปวดข้อยุงลาย แนะนำยาหม่องสมุนไพรช่วยบรรเทาอา
ชิคุนกุนยา (Not Member)
Posted @26 พ.ค. 52 02:42 ip : 118...34

“  ชิคุนกุนยา  ” Chikungunya virus โรคปวดข้อยุงลาย สมุนไพรบรรเทาอาการแมลงสัตว์กัดต่อย ลดอาการ ชาตามมือเท้า ลดอาการปวดเมื่อย วิธีใช้ ทาถู นวด บริเวณที่เกิดอาการ โครงการอบรมการผลิตย่าหม่องสมุนไพร ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา ราคา  85  บาท สมุนไพรทุกชนิดสด/สะอาด ปลอดสารพิษ จากสวนสมุนไพร ปูแดงไคโตซาน ขอแนะนำหลอดไฟไล่ยุงเปลี่ยนแทนหลอดเดิมง่ายๆ ให้แสงสีเหลืองนวล ยุงไม่ชอบ โทร 08-6478-9469 / 08-0711-1510 http://chikungunyavirus.igetweb.com Email:chikungunya-virus@hotmail.com

Comment #9ยาเขียว
น้องสาว (Not Member)
Posted @11 มิ.ย. 52 11:37 ip : 124...40

ยาเขียวรู้จักมาตั้งแต่เด็ก  มีไข้ตัวร้อนออกหัดแม่ก็ให้กินยาเขียว  เป็นลมพิษแก่ก็ใช้น้ำยาเขียวทาตามตัว  และอีกสาระพัด  และเมื่อไม่กี่วันพี่สาวไม่สบายเป็น "ชิคุณกุนยา" ไปหาหมอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในหาดใหญ่  ก็ได้ยาคลายกล้ามเนื้อและยาพารามากิน  พี่สาวสังเกตุเห็นว่าจะมีการปิดประกาศไว้ว่าไม่ให้กินยาเขียว  ใครรู้บางว่าเพราะอะไร  "ยาเขียว" ไม่ดีตรงไหน  ใครทราบและมีความรู้ช่วยตอบด้วยค่ะ

Comment #10
ธรรมนูญ (Not Member)
Posted @5 ก.ย. 52 17:14 ip : 118...17

เทศบาลน่าจะมาฉีดฆ่ายุงบ่อยๆนะ


เกมส์ , ดูทีวีออนไลน์

Comment #11โรคชิคุนกุนยา
Posted @20 ธ.ค. 53 09:20 ip : 118...66

เคยเป็นมาแล้ว  ทรมานกับการปวดข้อเกือบ 4 เดือน  ยาอะไรที่ว่าดีซื้อหรือทำกินมาหมดแล้ว แม้กระทั่งยาผีบอก ก็ไม่หาย แต่รักษาตัวเองมาเรื่อยตอนนี้หายแล้วไม่ทราบว่าหาย กับยาขนานใด บอกไม่ถูกจริงครับ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว