เหตุผลที่พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืน
ในปัจจุบันเรามีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ทำงานปั่นไฟฟ้าอยู่ประมาณ 400 กว่าเตากระจายอยู่ตามโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลก คิดเป็นปริมาณไฟฟ้า 375 gigawatts (GW) ในขณะที่ปริมาณการบริโภคไฟฟ้าของทั้งโลกในปัจจุบันอยู่ที่ 15 terawatts (TW)
Derek Abbott แห่ง University of Adelaide มีความเห็นว่าถ้าระดับปริมาณบริโภคและประสิทธิภาพของเตาปฏิกรณ์ยังคงอยู่เป็นเช่นนี้ โลกอนาคตที่ไฟฟ้าทุกวัตต์มาจากพลังงานนิวเคลียร์และมีให้ใช้ไปตลอดกาลไม่มีทางเป็นไปได้จริงแน่ เหตุผลของเขามีดังนี้
พื้นที่ในการตั้งโรงไฟฟ้า - โดยเฉลี่ยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หนึ่งโรงต้องการใช้พื้นที่บนโลก 20.5 ตารางกิโลเมตร อันนี้นับรวมหมดเลยตั้งแต่พื้นที่ของตัวโรงไฟฟ้า, พื้นที่อพยพ, เหมืองแร่นิวเคลียร์, การวางระบบสาธารณูปโภค ถ้าดูเอาจากปริมาณการบริโภคไฟฟ้า 15 terawatts เราต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 15,000 โรงเป็นอย่างต่ำ ซึ่งการที่จะจับยัดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวนนี้ลงไปในผังเมืองทั่วโลกคงจะสร้างสีสันให้ม็อบได้อีกหลายม็อบเลยแหละ
อายุของโรงไฟฟ้า - โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปมีอายุขัยอยู่เพียง 40-60 ปีเท่านั้น ถ้าเรานับต่อเนื่องจากข้อ 1 โลกที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 15,000 โรงจะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันใหม่เกือบทุกวัน นี่ถ้านับระยะเวลาการสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละโรงที่กินเวลา 6-12 ปีเข้าไปด้วย ก็แปลว่าต้องสร้างกันเป็นวันละร้อยๆ โรงเลยทีเดียว
กากนิวเคลียร์ - การกำจัดกากนิวเคลียร์ที่เป็นของเหลือของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้ไม่ได้แล้วนั้นยุ่งยากพอๆ กับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่เลย ดีไม่ดีจะยากกว่าด้วยซ้ำไป
อุบัติเหตุ - แม้อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นเรื่องที่เกิดได้น้อยมาก แต่กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 15,000 โรงที่ต้องทุบทิ้งๆ สร้างใหม่ๆ ทุกวัน อัตราเพียงน้อยนิดก็อาจจะหมายถึงการมีเรื่องตื่นเต้นให้ลุ้นกันทุกเดือนก็ได้
การดูแล - ทรัพยากรที่ต้องใช้ในการดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พร้อมกัน 15,000 โรงเป็นเรื่องที่เราหาไม่ได้ในตอนนี้และก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตก็จะยังคงหาไม่ได้ โดยเฉพาะทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ
ปริมาณแร่ยูเรเนียมบนโลก - โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 15,000 โรงจะต้องใช้แร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงอย่างมหาศาล ถ้าเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยังคงมีประสิทธิภาพเท่าปัจจุบัน ภายใน 5 ปีแร่ยูเรเนียมในเปลือกโลกจะหายากเกินกว่าที่จะคุ้มทุนในทำเหมือง แม้จะสกัดแร่ยูเรเนียมจากมหาสมุทรได้ ภายใน 30 ปี แร่ยูเรเนียมในน้ำทะเลก็จะเจือจางเกินกว่าจะมีประโยชน์อะไร
ปริมาณแร่โลหะหายาก - การสร้างเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ไม่ใช่แค่เอายูเรเนียมมาปั้นเป็นก้อนๆ แล้วห่อใบตองจัดวางไว้ในตะกร้า แต่การหลอมแท่งเชื้อเพลิงขึ้นมาสักอันต้องใช้โลหะหายากอีกหลายชนิด เช่น hafnium ที่ทำหน้าที่ดูดซับนิวตรอน, beryllium ที่ทำหน้าที่สะท้อนนิวตรอน, zirconium ทำแท่งหุ้ม, niobium ที่ไว้ผสมให้แท่งหุ้มทนทานยิ่งขึ้น เป็นต้น ในเมื่อชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า "หายาก" ดังนั้นเรื่องที่จะมีโลหะพวกนี้พอสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พร้อมกัน 15,000 โรงจึงเป็นการฝันเฟื่องที่ไร้เหตุผลสิ้นดี
Derek Abbott ยังบอกอีกว่าแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืนนัก ปัญหาทั่วไปอย่างเช่นเรื่องพื้นที่หรือการดูแลก็ไม่ได้ต่างจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ทางเลือกที่ดูแล้วดีที่สุดสำหรับมนุษย์คงเลี่ยงไม่พ้นการเก็บเกี่ยวพลังงานจากแสงอาทิตย์โดยตรง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในปัจจุบันทางเลือกนี้คงต้องรอกันอีกนาน
แต่อย่างว่าแหละ พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เราทนใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็สร้างมลภาวะเสียเหลือเกิน ไม่ลดก็ไม่ได้ หรือครั้นจะให้กลับเข้าไปอยู่ถ้ำมืดๆ ก็คงไม่มีใครยอม สุดท้ายเราก็คงต้องพึ่งพระรองอย่างพลังงานนิวเคลียร์ไปก่อนจนกว่าจะมีนารีขี่ม้าขาวมาช่วยสินะ
Relate topics
- การแยกขยะ มาตรวัดกึ๋นท้องถิ่นบ้านเรา/คอลัมน์...ได้อย่าง ไม่เสียอย่าง
- 'บุหรี่' เลิกไม่ยาก
- "ใช้เน็ตแบบปลอดภัย" โดย Security-in-a-Box
- ขนมบรรจุซอง ภัยร้ายใกล้ตัวเด็ก
- ปากคำ"แพทย์"เหยื่อพริตตี้ กลยุทธ์ขายยาล้ำ"จริยธรรม"
- เปิดโลกการอ่าน ตอนโลกการ์ตูน
- ระวัง ‘พริกน้ำปลา’ ภัยร้ายผู้สูงวัย มีโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด
- กระบวนการสอนสร้างอนาคตร่วมกัน - Future Search Conference (F.S.C.)
- เด็กไทยเห็นแก่ตัว “ให้” ไม่เป็น
- สสจ.สงขลา เตือนประชาชนระมัดระวัง “โรคชิคุนกุนยา”