สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

กระบวนการสอนสร้างอนาคตร่วมกัน - Future Search Conference (F.S.C.)

by Little Bear @3 ก.ย. 52 17:31 ( IP : 61...234 ) | Tags : สาระน่ารู้
photo  , 300x400 pixel , 29,150 bytes.

เมื่อเดือนก่อนได้เข้าร่วมวงเสวนาที่จัดโดย สจรส. มอ. มี ผศ.ดร.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการ สจรส. มอ. เป็นผู้บรรยาย และมีการบรรยายเรื่อง Future Search Conference (F.S.C.) เพื่อเป็นความรู้ให้กับทีมงานในเครือข่ายแผนสุขภาพภาคใต้

รายละเอียดของเอกสาร Future Search Conference (F.S.C.) น่าสนใจ เลยเอามาเผยแพร่ไว้สำหรับคนที่สนใจนะครับ

Future Search Conference (F.S.C.)

F.S.C. เป็นกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้แทนกลุ่มหลายประเภท หลายระดับซึ่งต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆมาร่วมกันทำงานโดยนำ ประสบการณ์ของแต่ละคนมาสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันในเรื่องนั้นและได้แผนหรือ แนวทางในการปฏิบัติให้ไปถึงวิสัยทัศน์ของกลุ่ม เป็นกระบวนการที่ใช้อนาคตเป็นจุดประสงค์ในการทำงานแทนการใช้ปัญหาและการแก้ ปัญหาเป็นตัวตั้งในการทำงานซึ่งมักทำให้เกิดการขัดแย้ง F.S.C. ช่วยทำให้เป้าหมายและแนวทางของกลุ่มมีความชัดเจนมากขึ้น

วัตถุประสงค์

  1. ร่วมกันทำความเข้าใจสถานการณ์ในอดีตและปัจจุบันที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งจะมีผลกระทบในอนาคต
  2. เพื่อเสนอภาพรวมของสถานการณ์ปัจจุบัน
  3. เพื่อลงมติและสร้างพันธสัญญาในการมีวิสัยทัศน์ของอนาคตร่วมกัน
  4. เพื่อรวบรวมแนวคิด ความเข้าใจ ข้อมูลพื้นฐาน แผนปฏิบัติการ ที่จะใช้ในการสร้างอนาคตร่วมกัน

ข้อดี

  1. เข้าใจ ปัจจัย องค์ประกอบ เหตุการณ์ในอดีตที่มีผลต่อสภาพปัจจุบันและแนวโน้มที่มีผลต่ออนาคต
  2. ทุกคนเห็นภาพรวมเป็นภาพเดียวกันหมด เกิดวิสัยทัศน์ในอนาคตร่วมกัน เป็นการขยายเครือข่ายมี

สัมพันธภาพที่ดี เข้าใจและเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ความคิดทุกอย่างอยู่ในสมองของทุกคนและตระหนักว่าทุกคนลงเรือลำเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายปลาบทางร่วมกัน มีแผนงานที่ชัดเจนร่วมกัน

ปรัชญาของ F.S.C.

  1. นำระบบเปิดทั้งระบบ เข้าสู่ห้องประชุม คือคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของเรื่องที่จะประชุม (Staker holder) โดยคัดเลือกตัวแทนเข้าร่วมประชุม และต้องมีคนนอกเพื่อให้มีหลายมุมมอง หลายทัศนะ เปิดสายตาให้กว้างขึ้น ถ้าเราอยู่เฉพาะกลุ่มของเรา ความคิด มุมมองอาจไม่แตกออกไป
  2. ระดมแนวคิดมุ่งไปที่อนาคตร่วมกัน ไม่พูดถึงปัญหา F.S.C. ยอมรับว่ามีปัญหาอยู่จริง แต่ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาแต่จะมุ่งไปสู่อนาคตร่วมกัน
  3. เน้นเรื่องหาจุดร่วม ไม่สนใจจุดความขัดแย้ง ทำจุดร่วมให้แข็งแรง จุดต่างจะลดลงได้หรือหายไป มุ่งไปหาด้านบวกหรือด้านความหวัง
  4. มองโลกแบบองค์รวม มองตัวเราอย่างไร เกี่ยวข้องกับสังคม ต่อโลกอย่างไร โลกมีผลกระทบต่อตัวเรา ต่อสังคม ต้องวิเคราะห์ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน คาดการณ์อนาคต แล้วจึงสร้างวิสัยทัศน์ได้
  5. ทุกคนต้องทำงานกลุ่มอย่างอิสระ เป็นตัวของตัวเองเพื่อลดความคิดว่า ฉันไม่เกี่ยวเพราะไม่ใช่ความคิดของฉันและลดนิสัยการพึ่งพาผู้อื่น ทุกคนมีความสามารถ ทุกคนมีกรยอมรับซึ่งกันและกัน เป็นการประชุมซึ่งเป็นประชาธิปไตย
  6. ตกลงเรื่องเป้าหมายร่วมกัน เพื่อพูดถึงวิสัยทัศน์ลอยๆแล้วเริ่มต้นตรงไหน ทำอย่างไร ต้องมีจุดเริ่มต้น ต้องหาเป้าหมายร่วมกัน แล้วทำให้เกิดเป็นจริงโดยการวางมาตราการ แผนการปฏิบัติงาน เพื่อได้ฉันทามติเกี่ยวกับอนาคตร่วมกัน
  7. ใช้หลักจิตวิทยาของคนชื่อ Claesen ที่ว่า มนุษย์หากมีแรงบันดาลใจ ต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงในตัวเราเองก่อน หลักการ 4 ห้องของ Claesen มีดังนี้

Photo Description : fsc-01

ลักษณะการประชุม

การประชุม F.S.C. เต็มรูปแบบจะใช้เวลา 2-3 วัน จำนวนคนที่พอเหมาะประมาณ 50-60 คนถ้าน้อยเกินไป ความหลากหลายทางความคิดและประสบการณ์จะน้อย ถ้าคนมากเกินไปจะทำให้ใช้เวลามาก ควบคุมได้ยาก การบริหารจัดการประชุมไม่สะดวก วิทยากรดูแลกระบวนการได้ไม่ทั่วถึง

กระบวนการ ประชุมจะเริ่มจากการแบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละไม่เกิน 10 คน กลุ่มย่อยที่แบ่งมี 2 ลักษณะด้วยกันคือ 1) กลุ่มผสม สมาชิกในกลุ่มมีความหลากหลาย มีพื้นฐานและสถานะทางสังคมที่แตกต่างกัน 2)กลุ่มเฉพาะ สมาชิกในกลุ่มมีลักษณะเฉพาะบางประการร่วมกัน เช่นมีสถานะทางสังคมระดับเดียวกัน มีเพศเดียวกัน มีอาชีพเดียวกัน มีพื้นฐานความรู้ใกล้เคียวกัน เป็นต้น ในบางกิจกรรมจะใช้กลุ่มใหญ่ทั้งหมด กระบวนการสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมไดแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ข้อมูลในอดีตในประเด็นต่างๆ สรุป/ตรวจสอบสภาพเหตุการณ์ปัจจุบันให้ชัดเจนแล้วร่วมกันหาอนาคตที่กลุ่มพึง ปราถนาร่วมกัน สุดท้ายการประชุมจะมุ่งไปสู่แผนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี แผนปฏิบัติการสำหรับอนาคตขององค์กรหรือกลุ่ม ผู้เข้าร่วมประชุมควรมีความหลากหลาย คือจากทุกๆหน่วยงานหรือองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

บทบาทของผู้เข้าร่วมประชุม

  1. เป็นผู้ค้นหาข้อมูล ให้ข้อมูล ประสบการณ์ วิเคราะห์ข้อมูล
  2. ช่วยกันทำงานภายในกลุ่มตามที่ได้รับมอบหมายให้ทันเวลาที่กำหนด
  3. ช่วยกันสร้างภาพของอนาคตที่พึงปารถนา
  4. ค้นหา “ความคิดเห็นร่วม” ของกลุ่ม
  5. ช่วยกันกำหนดกิจกรรมที่จะนำ “ความคิดเห็นร่วม” ไปสู่การปฏิบัติ
  6. ในกลุ่มย่อยให้มีการแบ่งหน้าที่เป็นผู้นำสนทนา (พยายามกระตุ้นให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น)ผู้บันทึก ผู้ควบคุมเวลา ผู้ช่วย (ดูแล Flip Chart)

กระบวนการ F.S.C ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนได้แก่

  • การวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต เพื่อเชื่อมโยงกับสภาพการณ์และแนวโน้มในปัจจุบัน
  • การวิเคราะห์และสังเคราะห์สภาพการณ์ปัจจุบันเพื่อความเข้าใจในทิศทางและปัจจัยที่มีอิทธิพลในประเด็นหลักของการประชุม
  • การสร้างจินตนาการถึงอนาคตที่พึงปารถนาในประเด็นหลักของการประชุม เพื่อร่วมกันกำหนดความคิดเห็นร่วมและสร้างแผนปฏิบัติการไปสู่อนาคตร่วมกัน

Photo Description : fsc-02

อดีต

1. เส้นแบ่งเวลา (Timeline)

วัตถุประสงค์ : เพื่อให้ทุกคนได้สะท้อนข้อมูล (ประสบการณ์ในอดีตที่ตนเองมีอยู่) วิธีการ : ผู้เข้าร่วมประชุมจะนั่งรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มผสม แต่ละคนจะนั่งทบทวนข้อมูลหรือ เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต โดยมีประเด็นหลัก 4 ประเด็นด้วยกันคือ

  • การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก
  • สภาพเหตุการณ์ในประเทศไทยที่เกี่ยวกับหัวข้อของการประชุมครั้งนี้
  • การเปลี่ยนแปลงของชุมชน
  • การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิตแต่ละคน

แต่ละคนจะนำสิ่งที่ตนเองทบทวนได้ทั้ง 4 ประเด็น ไปเขียนบนแผ่นกระดาษที่ติดไว้บนฝาผนังห้องประชุม ข้อมูลนี้จะใช้เป็นฐานข้อมูลที่แต่ละคนจะนำไปใช้ในการทำงานในช่วงต่อไป

2. การวิเคราะห์ (เข้าใจ) อดีต

วัตถุประสงค์ เพื่อให้สมาชิกแต่ละกลุ่ม นำข้อมูลจากเส้นแบ่งเวลา (Timeline) มาวิเคราะห์ หาความสัมพันธ์เชื่อมโยงและตอบคำถาม ที่แต่ละกลุ่มได้รับมอบหมาย

วิธีการ ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนดูข้อมูลที่ได้จากการทำเส้นแบ่งเวลาแล้วร่วมกันวิเคราะห์ และตอบคำถามที่วิทยากรมอบให้ ซึ่งวิทยากรจะเป็นผู้เตรียมจำนวนคำถามเท่ากับจำนวนกลุ่มที่จัดไว้ ประเด็นคำถามจะสัมพันธ์กับหัวข้อหลักของการประชุมและประเด็นหลักของเส้นแบ่งเวลา

3. การหยั่งเห็น (การสะท้อน)

วัตถุประสงค์ ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนมีโอกาสเสนอความคิดเห็นและวิจารณ์ผลการวิเคราะห์ของกลุ่มต่างๆ รวมทั้งสะท้อนสิ่งที่ได้จากการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมา

วิธีการ วิทยากรเชิญชวนให้สมาชิกเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากการนำเสนอผลการวิเคระห์ของกลุ่มต่างๆ ในขั้นตอนการวิเคราะห์อดีต ปัจจุบัน

4. แผนที่ความคิด

วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างภาพรวม ทิศทางแนวโน้มและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อหัวข้อหลักของการประชุมในสถานการณ์ปัจจุบัน

วิธีการ ให้สมาชิกทุกคนเสนอความคิดที่ตั้งเอาไว้ อาจกำหนดกติกาให้เสนอเพียงคนละหัวข้อก่อนเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ทุกความคิดที่เสนอขึ้นมาวิทยากรจะจดบันทึกด้วยคำสั้นๆ เขียนตัวโตๆให้ทุกคนมองเห็น พร้อมทั้งโยงเส้นเข้ากับกิ่วต่างๆของผู้เสนอ วิธีนี้ทำให้ได้ความคิดทีที่หลากหลาย การมองเห็นความคิดของผู้อื่นที่ถูกบันทึกไว้ทำให้คนอื่นๆเกิดความคิดใหม่ต่อ ไปได้ เปรียบเสมือนการต่อภาพ Jigsaw นั่นเอง วิทยากรมีหน้าที่กระตุ้นให้สมาชิกอธิบายความคิดให้กลุ่มฟังจนเข้าใจความหมาย ที่สมาชิกอภิปรายเอาไว้ การจัดความสำคัญ ความสัมพันธ์ และความเป็นไปได้ตามความเห็นของสมาชิก กระทำได้โดยแจก Sticker สีให้คนละ 5-8 แต้มเท่าๆกันเพื่อให้สมาชิกนำไปติดข้างคำที่สมาชิกให้ความสนใจซึ่งอาจให้มาก กว่า 1 แต้ม ต่อ 1 คำได้

5. มุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้อง

วัตถุประสงค์ เพื่อให้สมาชิกแต่ละคนรับรู้ถึงมุมมองของกลุ่มเฉพาะที่มีต่อประเด็นของแผนที่ความคิด ทำให้มีการพิจารณาวิเคราะห์ได้ลึกซึ้งขึ้น

วิธีการ สมาชิกในกลุ่มเลือกประเด็นที่วิทยากรจัดลำดับ สรุปและนำเสนอไว้แล้วจากแผนที่ความคิด นำมาพิจารณาเพื่อจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่างๆเสียใหม่ แล้วนำมาเสนอในที่ประชุม

6. ความภูมิใจและเสียใจ

วัตถุประสงค์ เปิดโอกาสให้สมาชิกในแต่ละกลุ่มทบทวนผลงานที่ผ่านมาของตนเองทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทำให้แต่ละคนรับรู้เข้าใจถึงสภาวะ ความสามารถและขีดจำกัดซึ่งกัน

วิธีการ สมาชิกในกลุ่มร่วมกันระดมความคิดเห็น และร่วมกันคัดเลือกเอาหัวข้อที่สำคัญของข้อมูลที่ตนมีความภูมิใจและความเสียใจอย่างละ 3 ลำดับ นำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนในที่ประชุมร่วมกัน

7. การสังเคราะห์

วัตถุประสงค์ เพื่อให้สมาชิกได้สะท้อนความรู้สึกเมื่อได้รับรู้ขีดจำกัดและความเสียใจของกลุ่ม เป็นการเปิดใจและยอมรับซึ่งกันและกัน เพื่อเตรียมทุกคนเข้าสู่อนาคตร่วมกัน และเกิดกำลังใจเมื่อรับรู้ถึงความภูมิใจ

วิธีการ วิทยากรเปิดโอกาสให้สมาชิกแต่ละคนได้แสดงความรู้สึกหลังจากที่ได้รับรู้ความภูมิใจและเสียใจของกลุ่ม

อนาคต

8. การทำเป็นละคร

วัตถุประสงค์ เพื่อให้สมาชิกร่วมกันจินตนาการถึงอนาคตที่พึงปรารถนาในหัวข้อหลักของการ ประชุมโดยนำข้อมูลที่ได้เรียนรู้จากอดีตและปัจจุบันมาจินตนาการสร้างภาพ อนาคต

วิธีการ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันจินตนาการถึงอนาคตที่พึงปรารถนา โดยการระดมสมองหรือให้แต่ละคนวาดภาพจินตนาการของตน แล้วนำภาพจินตนาการของแต่ละคนมาร่วมกันเป็นภาพจินตนาการของกลุ่มจากนั้นจึง ถ่ายทอด ออกมาในรูปของการแสดงสั้นให้กลุ่มอื่นชม โดยใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที

9. การนำเสนอละคร

ขณะที่กลุ่มกำลังแสดงอยู่ ผู้ชมทุกคนต้องจับประเด็นความคิด และสาระต่าง ๆ ที่บทละครกล่าวถึงแล้วบันทึกเป็นข้อมูล ของตนเพื่อนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการทำงานกลุ่มช่วงต่อไป

10. ความคิดเห็นร่วม

วัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนและค้นหาแนวความคิดในอนาคตที่พึงปรารถนา

วีธีการ ผู้เข้าร่วมประชุมรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมกันพิจารณาค้นหา “ ความคิดเห็นร่วม “ และ “ ความคิดเห็นที่เป็นไปได้ “ จากประเด็นความคิดและสาระที่บทละครกล่าวถึง

ความคิดเห็นร่วมและความคิดเห็นที่เป็นไปได้ ที่รวบรวมได้จากสมาชิกทั้งห้องประชุมจะถูกเขียนไว้บนแผ่นพลิก สมาชิกทุกคนจะทำการลงคะแนนตามความคิดเห็นที่ตนเห็นว่าสำคัญ

11. แผนการปฏิบัติการส่วนบุคคล

จาก ความคิดเห็นร่วมและความคิดเห็นที่เป็นไปได้ ที่ผ่านการลงมติทั้งห้องประชุมแล้วสมาชิกแต่ละคนจะเลือกประเด็นที่ตนสนใจและ ให้ความสำคัญมากเพียงประเด็นเดียว โดยตอบคำถามว่า ตนและองค์กรที่สังกัดจะมีส่วนร่วมในการประสานงานต่อหัวข้อนั้นอย่างไร เพื่อเข้าร่วมพิจารณาและทำงานกับสมาชิกที่เลือกประเด็นเดียวกัน

12. แผนประปฏิบัติการกลุ่มสนใจ

วัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่ทำให้เกิดอนาคตที่พึงปรารถนา

วิธีการ ผู้สนใจประเด็นเดียวกันจากความคิดเห็นร่วม และความคิดเห็นที่เป็นไปได้ ร่วมกลุ่มเป็นกลุ่มสนใจในเรื่องนั้นเพื่อพิจารณาสภาพที่เป็นอยู่ กลยุทธ์หรือแนวทางและกิจกรรมหรือขั้นตอนพร้อมทั้งระบุปัญหา อุปสรรคข้อจำกัดที่มีอยู่ การนำเสนอในที่ประชุมรวมใช้เวลาประมาณกลุ่มละ 3 นาที

13. แผนปฏิบัติการกลุ่มเฉพาะ

วัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติงานเฉพาะภายใต้เงื่อนไงที่สมาชิกกลุ่มเฉพาะมีศักยภาพในการนำไปปฏิบัติ สนับสนุน

วิธีการ กลุ่มเฉพาะร่วมกันค้นหาและวางกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่วิสัยทัศน์ที่กลุ่มพึงปรารถนาในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับการประชุมนั้น โดยเน้นประเด็นที่สำคัญและมีโอกาสเป็นไปได้จริงเพียง 3 ประเด็น จากความคิดเห็นรวมและความคิดเห็นที่เป็นไปได้ พร้อมทั้งระบบปัจจัย สนับสนุน ปัญหา อุปสรรค และแนวทางข้อจำกัด

ที่มา : จตุพร วิศิษฎ์ โชติอังกูร , Future Search Conference (F.S.C.)

Online available : gotoknow.org และ www.dpc5.ddc.moph.go.th

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว