สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

แกนนำกองทุนใต้ชี้เลื่อนตีทะเบียน-เลิกพ.ร.บ.ทำลายสถาบันการเงินชุมชน

แกนนำกองทุนใต้ชี้เลื่อนตีทะเบียน-เลิกพ.ร.บ.ทำลายสถาบันการเงินชุมชน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 มกราคม 2550 14:55 น.

  ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แกนนำเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองภาคใต้โต้ความเห็นอัยการแม่สะเรียง ชี้หากให้ชะลอการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านถือเป็นการถอยหลังลงคลอง ระบุคงขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการ และไม่ทราบความก้าวหน้าของพัฒนาการของกองทุน จี้ให้ คมช.และรัฐบาลเดินหน้าตามที่เคยให้การยืนยันไว้ เมื่อครั้งปฏิวัติยึดอำนาจใหม่ๆ
      นายสมบัติ แก้วสองเมือง หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับภาคใต้ และประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองสงขลา ได้ออกมา ตอกกลับ นายโกวิทย์ ศรีไพโรจน์ รักษาการอัยการจังหวัดแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่ ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อ เรื่องให้ชะลอการจดทะเบียนนิติบุคคลของกองทุนหมู่ บ้านและชุมชนเมืองออกไปก่อน รวมทั้งเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งทำให้เกิด ความสับสนและสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน และเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชน เมืองทั้งประเทศ
      นายสมบัติ ระบุว่า กฎหมายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งประกาศใช้ใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2547 เป็นประโยชน์ต่อกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้กองทุนสามารถดำเนินงานตามกรอบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ โดยมีระเบียบข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน เพื่อให้คณะกรรมการและสมาชิกกองทุนได้มีโอกาสเรียนรู้และบูรณาการร่วมกันในการทำงานระหว่างกองทุนกับกองทุน และกองทุนกับภาคีอื่นๆ รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กองทุนและชุมชน
      ขณะเดียวกันกองทุนที่มีความพร้อมแล้ว ก็สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นธนาคารกองทุน และสถาบันการเงินชุมชนต่อไป ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในหมู่บ้านและชุมชน ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ที่สำคัญของที่มีความพร้อมแล้วต้องการที่จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อที่จะได้มีกฎหมายบังคับและช่วยให้กองทุนมีสภาพคล่องในการทำงานมากขึ้น
      อีกทั้งพ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านปี 2547 ได้ระบุชัดเจนถึงคุณสมบัติของกองทุนหมู่บ้าน ที่จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เช่น มีการบริหารจัดการที่ดี สามารถขยายโอกาสและเติบโตโดยการพึ่งพาตนเอง และมีความเข้มแข็งยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นฐานของเศรษฐกิจในหมู่บ้านและชุมชนต่อไป
      "นโยบายกองทุนหมู่บ้านยังเป็นนโยบายต่อเนื่องที่ คมช.ได้ประกาศกับประชาชน ในช่วงยึดอำนาจว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์กับประชาชน จึงให้มีการดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การที่อัยการท่านนี้ออกมาแสดงความคิดเห็นให้ชะลอการจดทะเบียนเป็นนิติบุคล และให้ยกเลิกพ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้รู้ลึกถึงโครงสร้างและหลักการบริหารงาน รวมทั้งความก้าวหน้าของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่แท้จริง" นายสมบัติกล่าวและว่า
      ไม่ทราบว่าอัยการท่านนี้มีนัยทางการเมืองแอบแฝงหรือไม่ เพราะการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และกระทบกับความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ และควรที่จะสอบถามในรายละเอียดไปยังสำนักงานกองทุนและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งจะได้ระละเอียดที่ชัดเจน
      นายสมบัติ กล่าวว่า เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วทุกภาค ต่างไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของอัยการท่านนี้ เพราะการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศ พัฒนารูปแบบไปไกลเกินกว่าที่จะกลับไปเริ่มต้นใหม่ เพราะจะมีการจะทะเบียนเป็นนิติบุคคล ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2550 ซึ่งสิทธิพิเศษต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้น
      อย่างที่ผ่านมา ชาวบ้านจะเป็นเพียงผู้กู้ยืมเงินจากรัฐบาล แต่เมื่อมีการจดทะเบียนแล้วเงินทั้งหมดจะตกเป็นของชาวบ้านโดยตรง และ กองทุนจะมีอำนาจในการบริหารจัดการเต็มรูปแบบ และอาจจะได้รับการยกเว้นเรื่องภาษี รวมทั้งสมาชิกสมารถกู้เงินโดยที่ไม่ต้องถูกจำกัดจำนวน เป็นต้น
      "หากยังคงมีการแสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้อีก เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วทุกภาคของประเทศก็พร้อมที่จะออกมาคัดค้านพร้อมๆ กัน" นายสมบัติ กล่าวก่อนเสริมว่า
      สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดถึงความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง คือ การที่สามารถพัฒนาระบบการบริหารจัดการ จนตั้งเป็นธนาคารชุมชนได้สำเร็จ เช่น กองทุนชุมชนเมืองบางหัก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งได้ตั้งก่อตั้งเป็นธนาคารกองทุนชุมชนเมืองบางหัก และเป็นธนาคารชุมชนเมืองแห่งแรกของประเทศไทย ที่การดำเนินการทุกอย่างเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
      ขณะเดียวกันในเดือนมีนาคม จะมีการก่อตั้งธนาคารกองทุน ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาขึ้นมาอีก 1 แห่ง และจะขยายออกไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของการสร้างความเข้มแข็งในชุมชนได้เป็นอย่างดี แต่หากมีการชะลอ หรือยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตามที่อัยการท่านนี้เสนอ สิ่งที่ดำเนินการมาทั้งหมดก็จะล่มสลายไปในทันที

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว