สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

นำร่อง175ร.ร.สอนเศรษฐกิจพอเพียง

นำร่อง175ร.ร.สอนเศรษฐกิจพอเพียง

สพฐ.บรรจุในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ตั้งเป้าน.ร.ใช้ดำรงชีพมีดุลยภาพ


เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเฟิร์ส กรุงเทพฯ ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา" ว่าจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายการสร้างสังคมคุณธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จึงได้มอบหมายให้สำนักงานปลัด ศธ.เป็นผู้ประสานงานกับองค์กรบริหารหลักใน ศธ.เพื่อดำเนินงานตามนโยบายเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาองค์ความรู้ และคัดเลือกสถานศึกษานำร่อง ตลอดจนจัดทำโครงการในภาพรวมเพื่อเสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า รูปแบบการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษานั้น จะแตกต่างกันตามระดับชั้นเรียนและสังกัดของสถานศึกษา โดยสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะนำความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสอดแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอน และกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างๆ ส่วนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะเน้นการพัฒนาทักษะอาชีพ การช่วยเหลือสังคม ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะเน้นพัฒนาความเป็นผู้นำ สร้างบัณฑิตคุณภาพ นอกจากนี้ ในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จะเน้นการนำชุมชนไปสู่หลักเศรษฐกิจพอเพียง และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะเน้นขับเคลื่อนองค์ความรู้

"ในส่วนของ สพฐ.ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบรรจุลงในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว โดยมีมาตรฐานการเรียนรู้อยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ว่า เมื่อเด็กจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วจะต้องเข้าใจและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในการผลิตและการบริโภค การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมทั้งเข้าใจหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ ดังนั้น จากนี้ไปจึงเป็นหน้าที่ของแต่ละโรงเรียนจะต้องจัดทำเนื้อหาสาระและกิจกรรมอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว" ดร.จรวยพรกล่าว

ปลัด ศธ.กล่าวด้วยว่า ในการนำร่องโครงการนี้จะคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบเขตพื้นที่การศึกษาละ 1 โรงเรียน รวมเป็น 175 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นนี้คัดเลือกได้แล้ว 80 โรงเรียน รวมโรงเรียนในสังกัด กทม. 5 โรงเรียน และจะขยายผลให้ได้ตามเป้าหมายภายใน 3 เดือน ขณะเดียวกันได้ประสานงานกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพื่อจัดทำตัวชี้วัดคุณภาพ รวมถึงประสานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อให้บรรจุเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการปฏิบัติราชการของ ศธ.ด้วย ทั้งนี้ หลังจากจัดทำรายละเอียดโครงการเสร็จแล้วจะนำเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก่อนนำเสนอ ครม.ต่อไป

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว