สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สธ.หนุน 'จิตอาสาหมอพื้นบ้าน-สมุนไพร' ร่วมดูแลสุขภาพชาวบ้าน

สธ.หนุน 'จิตอาสาหมอพื้นบ้าน-สมุนไพร' ร่วมดูแลสุขภาพชาวบ้าน

รมว.สาธารณสุข ให้ สสจ.ทั่วประเทศ กระตุ้นประชาชนนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ ชื่นชมชุมชนบ้านคำพอก ท่าอุเทน นครพนม ใช้หมอพื้นบ้านสมุนไพรส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ในรูปแบบจิตอาสา บริการฟรีทุกวันพระ ได้ผลดี


บ่ายวันนี้ (2 กันยายน 2550) นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง พบปะเยี่ยมเยียนเครือข่ายการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร และกิจกรรมรณรงค์วัดความดันโลหิต ที่วัดศรีชมชื่น บ้านคำพอก ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

นพ.มงคล ให้สัมภาษณ์ว่า ขอชื่นชมความเข้มแข็งของชุมชนบ้านคำพอก ซึ่งมีพระครูธรรมศาส-วิลาสเจ้าอาวาสวัดศรีชมชื่น รองเจ้าคณะอำเภอท่าอุเทน เป็นที่ปรึกษาและให้การสนับสนุนด้านต่างๆ แก่ชาวบ้านที่มีจิตอาสา นำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร มาใช้ในการดูแลสุขภาพกันเอง ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากหน่วยงานใด อาทิ การอบสมุนไพร การประคบสมุนไพร การนวดไทย การเดินนวดฝ่าเท้าด้วยกะลา และการใช้ยาต้มสมุนไพรที่ปลูกเองภายในบริเวณวัด ตามละแวกบ้าน และป่าชุมชน มาเสริมกับยาแผนปัจจุบัน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานที่มาทำบุญที่วัดทุกวันพระ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ การดูแลด้วยการแพทย์แผนไทยนี้มีจุดเด่นคือ ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน ซึ่งในทางการแพทย์หากทุกคนมีสุขภาพจิตดี จะทำให้สุขภาพกายดีตามไปด้วย

นพ.มงคลกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการพัฒนาสุขภาพอนามัยประชาชน ตามแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งใช้ตั้งแต่พ.ศ. 2550 ถึงพ.ศ. 2554 ที่เน้นการพัฒนาระบบสุขภาพภาคประชาชน ให้ประชาชนทุกคนมีความตระหนัก และมีบทบาทในการดูแลสุขภาพของตนเองให้มากขึ้น โดยมีนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแพทย์ เช่น หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทยและสมุนไพรต่างๆ ที่มีในพื้นที่ในแต่ละชุมชน นำมาดูแลสุขภาพและใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งหมอแผนปัจจุบันอย่างเดียว

ด้านนพ.เด่นชัย ศรกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า เครือข่ายการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ที่วัดศรีชมชื่น เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2537 และได้รับการยอมรับจากชาวบ้านในชุมชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้มีแกนนำเครือข่าย ซึ่งเป็นแพทย์แผนไทยที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากผู้อาวุโส และอบรมเพิ่มเติมกับกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 5 คน และมีสมาชิกที่เป็นชาวบ้านในชุมชนอีกกว่า 20 คนให้บริการ โดยมีห้องอบสมุนไพร 2 ห้อง เตียงนวดตัว 2 - 3 เตียง โดยนำค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ได้จากการบริจาคของชาวบ้านมาใช้ในการให้บริการ ผู้ที่มาทำบุญที่วัดในทุกวันพระและงานบุญต่าง เริ่มตั้งแต่ 07.00 น. - 21.00 น. โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน มียาต้มสมุนไพรให้ดื่มควบคู่กับกินยาแผนปัจจุบัน ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด ที่ปลูกเองที่วัด ตามบ้าน และในป่าชุมชนเนื้อที่กว่า 70 ไร่ ไม่ต้องซื้อหา โดยมีสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยส่งเสริมสุขภาพบำรุงร่างกาย ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ปลาไหลเผือก เพกา กฤษณา ชุมเห็ดเทศ เตยหอม ข้าวเย็นเหนือ เครือตาปลา ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาพบว่าได้ผลดี ผู้ป่วยที่ดื่มน้ำต้มสมุนไพรควบคู่กับกินยาแผนปัจจุบัน และปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำ ส่วนใหญ่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ค่อนข้างคงที่ ซึ่งจะป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆได้ดี

Relate topics

Comment #1
ซาร์ซี่ (Not Member)
Posted @17 ธ.ค. 50 18:00 ip : 222...17
Photo :  , 113x96 pixel 43,371 bytes

Comment #2
ซาร์ซี่ (Not Member)
Posted @17 ธ.ค. 50 18:03 ip : 222...17
Photo :  , 113x96 pixel 43,371 bytes

ม่ายข้าวจาย

Comment #3
นา (Not Member)
Posted @6 มี.ค. 51 04:56 ip : 125...254

บทความนี้ดีมากค่ะ ทุกวันนี้ส่วนมากเรามองว่าจิตอาสาด้านสุขภาพมีแต่คนอาสามาทำงานใน รพ. เราลืมไปว่าจิตอาสาในชุมชนมีมานานแล้ว "แพทย์พื้นบ้าน" นั้นไง แต่ยังขาดการมองเห็นคุณค่าที่ดีงาม

Comment #4
สมุนไพร (Not Member)
Posted @3 มี.ค. 52 22:02 ip : 124...51

ขอบคุณสำหรับข้อมูลสมุนไพร

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว