สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ตะลึง!เด็กไทยเข้าสถานพินิจฯวันละ100คน -ติดโรค"สำลักเสรี"ตัวการปัญหาสังคม

ตะลึง!เด็กไทยเข้าสถานพินิจฯวันละ100คน -ติดโรค"สำลักเสรี"ตัวการปัญหาสังคม

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 กันยายน 2550 15:25 น.


      วันนี้ (1 ก.ย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดสัมมนาจัดทำระบบเฝ้าระวังเตือนภัยทางสังคมประจำปี 2550 นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า จากการสำรวจพบปัญหาทางสังคมในปัจจุบันเริ่มสูงขึ้น ดูได้จากคดีอาชญากรรม และยอดการเข้าสถานพินิจของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เพิ่มสูง โดยปี 2549 ที่ผ่านมามีเยาวชนเข้าสถานพินิจถึง 40,000 คน เฉลี่ยถึงวันละประมาณ 100 คน ส่วนสภาวการณ์เรื่องเพศ พบหญิงอายุต่ำกว่า 19 ปี แนวโน้มทำคลอดสูงขึ้น ปีที่ผ่านมาสูงถึง 70,000 คน จากเดิม 50,000 คน แสดงให้เห็นว่ามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรมากขึ้น และเด็กในโรงเรียนประมาณร้อยละ 15 หรือ 800-900 คน มีปัญหาในครอบครัว พบด้วยว่าเด็กที่มีผลการเรียนเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.00 ล้มเหลวทางการเรียนมีพฤติกรรมกินเหล้าสูบบุหรี่มากกว่าเด็กอื่น 2-3 เท่า เนื่องจากขาดศักดิ์ศรีและการยอมรับในโรงเรียน จึงต้องสร้างการยอมรับ
      นายอมรวิชช์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจในกลุ่มเด็กระดับอุดมศึกษา พบว่าเป็นโรคสำลักเสรี กล่าวคือ การอยู่หอพักนอกสถานศึกษา ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ ยาเสพติดมากกว่า หอพักในสถานศึกษาซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาเห็นควรให้นำนโยบายการจัดระเบียบหอพักมาใช้อีกครั้ง และสนับสนุนให้รู้จักสร้างวินัยเรื่องเสรีภาพของตนเอง ด้วยการทำกิจกรรมภายในสถานศึกษา ฝึกความรับผิดชอบ และช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งนี้ จังหวัดที่พบปัญหาสังคมมากส่วนใหญ่ เป็นจังหวัดที่มีสถานศึกษาจำนวนมาก ทั้งระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา เพราะสิ่งทันสมัยและอำนวยความสะดวกมักตามเข้าไปด้วย แต่ขาดการควบคุม ทั้งร้านเหล้า โต๊ะสนุกเกอร์ ม่านรูด และร้านอินเทอร์เน็ต
      "ขณะนี้กลายเป็นว่าจังหวัดไหนมีสถานศึกษามาก จะกลายเป็นตัวทำลายสังคมและเยาวชนในพื้นที่ เด็กหอนอกกินเหล้าสูบบุหรี่มากกว่าหอใน 5-6 เท่า เหล้าตัวเดียวทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตรงนี้ต้องระวัง ต้องมีการคุมหอพัก ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเร่งควบคุมทั้งหอพักและพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ สร้างกติกาสังคม หากไม่จัดระเบียบเรื่องนี้แนวโน้มปัญหาเด็กต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน" นายอมรวิชช์ กล่าว
      ด้านนางกานดา วัชราภัย รองปลัด พม. กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาทางสังคมยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด และยังขาดความร่วมมือจากคนในพื้นที่เข้าร่วมแก้ไข ทั้งนี้ จะได้นำข้อมูลปัญหาทางสังคมจากสถาบันรามจิตติ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มารวบรวมจัดทำในรูปแบบของระบบคอมพิวเตอร์ (IT) ให้ครอบคลุมใน 75 จังหวัด เพื่อให้เกิดการแก้ไขเฝ้าระวังปัญหาทางสังคมแบบบูรณาการในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นเตือนภัยแก้ไขปัญหาเยาวชนเป็นหลัก รองลงมาคือการวางระบบรากฐานผู้สูงอายุ สร้างสังคมที่เข้มแข็ง

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว