ตะลึง! เยาวชนไทยติดยาอื้อ กทม.ครองแชมป์สูงสุด
ตะลึง! เยาวชนไทยติดยาอื้อ กทม.ครองแชมป์สูงสุด
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 กรกฎาคม 2550 17:47 น.
"จรวยพร" ตะลึง มีเยาวชนติดยาจำนวนมาก กรุงเทพฯครองแชมป์มากสุด รองมา กระบี่ ยะลา ภูเก็ต สตูล แพร่ พร้อมหวั่นมีเยาวชนหน้าใหม่เข้าสู่วงจรยาเสพติด เร่งหามาตรการป้องกันแบบครบวงจร
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยมี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งผลการประชุมมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนดังนี้ สถานการณ์ ปี 2550 ยาเสพติดที่แพร่ระบาดหนักในกลุ่มเยาวชนทั่วไปยังคงเป็นยาบ้า สารระเหย และกลุ่มกระท่อม/ยาแก้ไอ/สี่คูณร้อย กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่เข้าบำบัดรักษา 20,000 คน ร้อยละ 49.3 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยเป็นกลุ่มเยาวชนจากภาคใต้มากที่สุด ร้อยละ 54.3 รองลงมาภาคกลาง ร้อยละ 51 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 50 โดยมี 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่มีปัญหายาเสพติดสูงสุดในรอบ 5 ปี (2546-2550) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่แพร่ระบาดมากที่สุด กระบี่ ยะลา ภูเก็ต สตูล แพร่ ระนอง ปัตตานี สมุทรปราการ และนราธิวาส
ส่วนแนวโน้มของปี 2551 สถานการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด คาดการณ์ว่า กลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี จำนวน 6.4 ล้านคน เกี่ยวข้องกับยาเสพติดน้อยมาก สำหรับกลุ่มอายุ 8-12 ปี จำนวน 4.7 ล้านคน เกี่ยวข้องกับยาเสพติดน้อย แต่เป็นกลุ่มจะเข้าไปสู่ก่อนวัยเสี่ยงต่อยาเสพติด เพราะกำลังเป็นวัยเริ่มเรียนรู้และส่วนใหญ่กำลังเรียนในสถานศึกษา กลุ่มอายุ 13-18 ปี จำนวน 5.6 ล้านคน กำลังเรียนในระบบ 4.2 ล้านคน และอยู่นอกสถานศึกษา 1.4 ล้านคน เยาวชนกลุ่มนี้เป็นวัยเสี่ยงต่อยาเสพติด ซึ่งคาดคะเนว่า จะมี 560,000 คน จากจำนวน 5.6 ล้านคน โดยเยาวชนกลุ่มเสี่ยงจะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด หรือหลายอย่างใน 10 อย่าง ได้แก่ กลุ่มสังคมเพื่อนเกี่ยวข้องยาเสพติด กลุ่มดื่มสุรา/เสพบุหรี่เป็นประจำ กลุ่มครอบครัวติดยา/ค้ายาเสพติด กลุ่มครอบครัวว่างงาน กลุ่มเล่นการพนัน/ติดพนันบอล กลุ่มฐานะเศรษฐกิจตกต่ำ กลุ่มที่มีความเครียด กลุ่มเยาวชนในสถานพินิจ/พ้นโทษ กลุ่มเด็กเร่ร่อน
และกลุ่มแก๊งมอเตอร์ไซค์ซิ่ง
ทั้งนี้ ได้วางแผนป้องกันและแก้ไขในปี 2551 ก็คือ จะดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเยาวชนทั้งระบบ พร้อมกันนี้ จะสร้างเยาวชนแกนนำในสถานศึกษาให้ได้จำนวน 177,000 คน เพื่อให้เพื่อนช่วยเพื่อน และมีมาตรการเฝ้าระวังเยาวชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 560,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สุดการดำเนินงาน
นอกจากนี้ มีแผนจัดระเบียบสังคมในเขตเมืองทุกจังหวัดโดยเฉพาะการดูแลหอพัก ปัญหาเหล้าบุหรี่การพนัน สถานบริการ และการสร้างงานให้หารายได้ระหว่างเรียน อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาในพื้นที่เสี่ยง และให้สถานศึกษาจัดทำฐานข้อมูลสถานการณ์ พื้นที่เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และการติดตามประเมินผลโดยทำงานร่วมกับส่วนราชการอื่น และเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชน
ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการจะนำผลการวิเคราะห์ของสำนักงาน ป.ป.ส.ไปปรับการทำงานป้องกันและแก้ไขยาเสพติดในสถานศึกษาในปีงบประมาณ 2551 ต่อไป โดยจะได้นำเสนอให้เป็นแผนงานส่วนหนึ่งของคณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเยาวชน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน และเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อให้เกิดการแก้ไขแบบบูรณาการเป็นระบบโดยแก้ปัญหาเยาวชนทุกปัญหาร่วมกัน โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่เสี่ยง
Relate topics
- ให้นมลูกเกิน 6 เดือน อานิสงส์ส่งถึงตอนโต
- ชวนลูกชวนหลานลงนาเก็บข้าวใหม่
- รายงานจากงานวันเด็ก - "ครอบครัวสร้างสุข ร้อย รัด มัด ห่อ"
- วิกฤติเด็กไทยปี 51 ไอคิวตก อีคิวต่ำ
- ตะลึง!เด็กไทยเข้าสถานพินิจฯวันละ100คน -ติดโรค"สำลักเสรี"ตัวการปัญหาสังคม
- แพทย์ฟันธง!! ตะกั่วเกินมาตรฐานในของเล่น ทำให้ ปัญญาอ่อน
- กลุ่มธุรกิจรวมหัวคว่ำคุมโฆษณาขนมเด็ก อ้างรายการอยู่ไม่ได้
- พบเด็กไทยเส้นยึด-ตึง เหตุหิ้วกระเป๋าหนัก-นั่งหน้าคอมนาน
- สพฐ.ขยายแนวทางสอนเพศศึกษาครอบคลุม ร.ร.5 พันแห่งทั่วประเทศ
- ประกาศการสนับสนุนโครงการรายการวิทยุสำหรับเด็กและเยาวชน และครอบครัวปี 2550