กลุ่มธุรกิจรวมหัวคว่ำคุมโฆษณาขนมเด็ก อ้างรายการอยู่ไม่ได้
กลุ่มธุรกิจรวมหัวคว่ำคุมโฆษณาขนมเด็ก อ้างรายการอยู่ไม่ได้
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 3 สิงหาคม 2550 18:44 น.
กลุ่มธุรกิจรวมหัวค้าน คว่ำข้อเสนออนุฯ กทช.คุมโฆษณาขนมเด็ก โฆษณาได้ไม่เกิน 8 นาที ห้ามตัวการ์ตูน เด็ก เป็นพรีเซ็นเตอร์ งดแจก แถมของเล่น อ้างรายการอยู่ไม่ได้แน่ เสนอขอความร่วมมือสถานีทำโฆษณาให้ความรู้แบ่ง 4 นาที เป็นโฆษณาให้ความรู้ โฆษณาได้ 8 นาทีตามเดิม หรือให้ตัวการ์ตูนที่เด็กชอบมาให้ความรู้ เพื่อให้เด็กเลียนแบบสิ่งดี อย.เสียงอ่อยรับอำนาจคุมไม่ถึง
วันนี้ (3 ส.ค.) ที่กรมประชาสัมพันธ์ คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องการควบคุมการโฆษณาขนม สำนักงานกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กทช.) มีการระดมความคิดเห็นเรื่องการควบคุมการโฆษณาขนม หลักเกณฑ์การโฆษณาที่มีผลต่อเด็กและเยาวชน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยมีนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ตัวแทนจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกช่อง และตัวแทนจากบริษัทเอเยนซีโฆษณาชื่อดังหลายแห่งมาเข้าร่วมกว่า 100 คน
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องการควบคุมการโฆษณาขนม สำนักงานกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า คณะอนุกรรมการได้ยกร่างข้อเสนอควบคุมโฆษณาขนมเด็ก เพื่อเปิดรับความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มีรายละเอียด คือ 1.มาตรการควบคุมระยะเวลา และความถี่ในการออกอากาศ ซึ่งรายการสำหรับเด็ก รายการประเภท ป.สำหรับเด็กปฐมวัย และ ด.สำหรับเด็ก 1 ชั่วโมง โฆษณาได้ไม่เกิน 8 นาที โดยนับรวมเวลาที่ใช้ในการโฆษณาแฝงด้วย และในรายการสำหรับเด็ก (รายการประเภท ป.และ ด.) ห้ามข้อความทางการค้าเดียวกันหรือต่างกันของสินค้าชนิดเดียวกัน ออกอากาศเกิน 2 ครั้งต่อชั่วโมง
2.มาตรการควบคุมการจูงใจเด็กให้บริโภค งดการใช้เด็ก ตัวการ์ตูน ดารา นักร้อง ศิลปิน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นผู้นำเสนอสินค้า, งดการส่งเสริมการขาย และการโฆษณาขนมเด็กโดยใช้ของแถม ของแจก ของเล่น และการชิงรางวัลการโฆษณาจะต้องไม่มีเนื้อหาเชิญชวนให้เด็กบริโภค แต่ต้องเสนอเนื้อหาในเชิงวิชาการที่ให้ความรู้ในการบริโภคขนมเด็ก พร้อมทั้งการโฆษณาจะต้องแสดงคำเตือนในการบริโภคขนมเด็ก และ 3.มาตรการติดตามและประเมินผลให้มีคณะกรรมการภาคประชาชนตรวจสอบโฆษณาขนมเด็ก และให้คณะกรรมการศึกษาและติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการ
"ในหลายประเทศที่มีระเบียบการโฆษณาขนมเด็ก ไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องใดที่ล้มละลาย สังคมต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น ไม่ใช่ยึดติดกับการกระทำแบบเดิม โดยในประเทศไทย ต้องทำในหลายๆ ด้านพร้อมกัน เพื่อสุขภาพของเด็ก ทั้งการให้ความรู้ การร้องเรียน อย่างไรก็ตาม จะนำข้อสรุปของการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้หารือในคณะอนุกรรมการอีกครั้งในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ระหว่างนี้จะเจรจากับผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน" นพ.ยงยุทธ กล่าว
ดร.นิวัต วงศ์พรหมปรีดา เลขาธิการสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยทุกกรณี เพราะรัฐมีหน้าที่แค่กำกับดูแล แต่ร่างดังกล่าวกลับเป็นการควบคุม ซึ่งสมาคมวิชาชีพมีการกำกับดูแลภายในวิชาชีพอยู่แล้ว โดยได้ประกาศระเบียบการกำกับดูแลและมีจรรยาบรรณวิชาชีพที่มีบริษัทโฆษณาประมาณ 80% จากทั้งหมดต้องปฏิบัติตาม ส่วนบริษัทที่ไม่ได้เป็นสมาชิก หากร้องเรียนมายังสมาคมเมื่อตรวจสอบพบว่าผิด จะเสนอเรื่องไปยังสถานีโทรทัศน์เพื่อระงับโฆษณา จึงเสนอให้รัฐสนับสนุนให้เพิ่มความเข้มแข็งให้ดูแลกันเองมากกว่าการควบคุม
"ผมไม่เห็นด้วยจะทำไม เพราะไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าวแม้แต่นิดเดียว ร่างฉบับนี้ออกมาเป็นการควบคุมบังคับ และคงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะหากคุมให้โฆษณาในรายการเด็กมีเพียง 8 นาที จากเดิม 12 นาที รายการคงอยู่ไม่ได้ ถ้าเราหันกลับไปใช้การบังคับเหมือนกับการใช้ไม้เรียวก็คงเดินไปข้างหน้าลำบาก ส่วนการโฆษณาที่ต้องห้ามเชิญชวนให้บริโภค ก็ไม่ต้องมีโฆษณาไปเลย เพราะโฆษณาคือการเชิญชวนให้ซื้อสินค้าอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากร่างดังกล่าวมีผลบังคับใช้ รายการสำหรับเด็กประเภท ป.และ ด.ก็จะหาหนทางในการทำให้รายการอยู่รอด ด้วยการเปลี่ยนรายการเป็นประเภทท.ทั่วไปแทน เพราะจะได้สามารถโฆษณาจากสปอนเซอร์ที่ไม่มีการจำกัด" ดร.นิวัต กล่าว
ด้านนายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า รายการเด็กเป็นรายการที่มีสปอนเซอร์น้อยราย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำหรับเด็ก หากบังคับให้โฆษณาในรายการเด็กเหลือ 8 นาที จะดำเนินการได้ยาก อีกทั้งอาจทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตสินค้าเด็กจะเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาสินค้าที่อาจเพิ่มขึ้นด้วย โดยปกติทางสถานีโทรทัศน์มีการควบคุมโฆษณาอยู่แล้ว
นายสรรเสริญ กาญจนเกียรติกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท แอคเซสแอนด์แอคโซซิเอด จำกัด กล่าวว่า แทนที่รัฐจะมีมาตรการในการควบคุม แต่อยากเสนอให้ไม่ต้องยุ่งกับการโฆษณา แต่ควรไปเน้นการให้ความรู้กับเด็ก โดยนำตัวการ์ตูนที่เด็กสนใจมาให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง ก่อนรายการเด็กและการ์ตูนเริ่มประมาณ 10-15 วินาที เพราะเชื่อมั่นในพฤติกรรมการเลียนแบบว่าเด็กชอบเชื่อในตัวการ์ตูน อาจแนะนำว่า ให้กินอาหารให้อิ่มก่อนกินขนม, อย่ากินน้ำตาลเยอะ
นายไพโรจน์ แก้วมณี นิติกร 8 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.อาหาร แบ่งอาหารเป็น 4 ประเภท คือ 1.อาหารที่ควบคุมเฉพาะ 2. อาหารที่กำหนดคุณภาพมาตรฐาน 3.อาหารที่ต้องมีฉลากตามที่รัฐมนตรีประกาศ และ 4. อาหารทั่วไป ซึ่งประเภทที่ 3 และ 4 อย.ไม่ต้องควบคุมมาตรฐาน ทั้งนี้ ขนมเด็กจัดอยู่ในอาหารประเภทที่ 3 อย.จึงไม่มีอำนาจหน้าที่คุมปริมาณการทาน ส่วนการขออนุญาตการโฆษณานั้นหากเป็นโฆษณาที่ไม่อ้างคุณภาพหรือสรรพคุณ คุณประโยชน์ไม่ต้องการผ่านการขออนุญาตจาก อย.ก่อนเผยแพร่ ข้อจำกัดตรงนี้จึงไม่สามารถดูแลได้ทั่วไป
ขณะที่นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ใน 10 ปี ที่ผ่านมาเด็กไทยมีภาวะอ้วนขึ้น 3 เท่า มีเด็กที่อ้วนจนเสียชีวิตบนเตียงนอน เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีเด็กอ้วนมารักษาที่สถาบันจนเครื่องช่วยหายใจที่ต้องให้เด็กอ้วนไม่พอใช้ ต้องหมุนเวียนกัน ด้วยการปลุกเด็กให้ตื่นแล้วให้เด็กอีกคนมาต่อคิวใช้ หากใครได้เห็นเชื่อว่าจะต้องร้องไห้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคอ้วนเป็นโรคระบาด ที่ไม่ต้องมีพาหะแต่เกิดจากกระแส และทุกอย่างมีการศึกษาพิสูจน์ชัดว่า การบริโภคขนม น้ำอัดลม น้ำตาล คือ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เด็กอ้วน โดยทุก 1 ชม.ที่เด็กดูโทรทัศน์เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน 1-2%
Relate topics
- ให้นมลูกเกิน 6 เดือน อานิสงส์ส่งถึงตอนโต
- ชวนลูกชวนหลานลงนาเก็บข้าวใหม่
- รายงานจากงานวันเด็ก - "ครอบครัวสร้างสุข ร้อย รัด มัด ห่อ"
- วิกฤติเด็กไทยปี 51 ไอคิวตก อีคิวต่ำ
- ตะลึง!เด็กไทยเข้าสถานพินิจฯวันละ100คน -ติดโรค"สำลักเสรี"ตัวการปัญหาสังคม
- แพทย์ฟันธง!! ตะกั่วเกินมาตรฐานในของเล่น ทำให้ ปัญญาอ่อน
- ตะลึง! เยาวชนไทยติดยาอื้อ กทม.ครองแชมป์สูงสุด
- พบเด็กไทยเส้นยึด-ตึง เหตุหิ้วกระเป๋าหนัก-นั่งหน้าคอมนาน
- สพฐ.ขยายแนวทางสอนเพศศึกษาครอบคลุม ร.ร.5 พันแห่งทั่วประเทศ
- ประกาศการสนับสนุนโครงการรายการวิทยุสำหรับเด็กและเยาวชน และครอบครัวปี 2550