สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

"หมอมงคล"อัดหนัก แฉออสซี่วิจัยมั่วล้มซีแอลไทย

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 กรกฎาคม 2550 10:11 น.

        "หมอมงคล" จวกนักวิจัยออสซี่ ทำวิจัยมั่วล้มซีแอลไทย แฉออสซี่ไม่เป็นมิตร ฉุนติงรัฐบาลไทยว่ามาจากทหาร ไม่ส่งคนไปร่วมงานเอดส์โลก ตีกลับจม.เชิญทันที จวกไม่ใช่พ่อแม่ไม่ส่งผลกระทบอะไร ด้านหมอวิชัยชี้รับจ้างยูเอสเอฟอร์อินโนเวชั่นมาโจมตี เปลี่ยนเวทีเล่นงานไทย
      วันนี้ (23 ก.ค.) นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มีนักวิจัยจากประเทศออสเตรเลียวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร(ซีแอล)ในไทยและประเทศบราซิล โดยงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า ปัญหาการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ของไทยไม่ได้อยู่ที่ยาราคาแพง แต่เป็นปัญหาคอร์รัปชันภายในประเทศ รวมถึงงบประมาณด้านการป้องกันและรักษาโรคเอดส์ก็ยังน้อยกว่าบประมาณด้านการทหาร ถูกใช้เป็นข้ออ้างมาโดยตลอด จึงไม่จำเป็นต้องสนใจ นักวิจัยมีหน้าที่ต้องทำเช่นนั้น เขาไม่พอใจก็พยายามทำให้ซีแอลไม่สำเร็จ
      "เดือนที่ผ่านมาอิตาลีประกาศซีแอลกับยา 4 รายการ และเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ประเทศราวันดาก็ประกาศซีแอลเหมือนกัน แต่ทำใมถึงมาจ้องกับประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ดำเนินการไปกับยาเพียง 1 รายการเท่านั้น ซึ่งมองได้ว่าอาจมีสาเหตุจากสิ่งอื่น"นพ.มงคล กล่าว
      นพ.มงคล กล่าวว่า ในการประชุมเอดส์นานาชาติที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 ก.ค.นี้ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ก็ไม่ส่งคนไปร่วมงานเนื่องจาก ก่อนหน้านี้ทูตออสเตรเลียส่งจดหมายมาเชิญไปร่วมงาน พร้อมกับแสดงความคิดเห็นว่าไม่ยินดีนักที่ประเทศไทยมีการปกครองภายใต้การนำของทหาร เท่ากับว่าเขาดูถูกคนไทย
      "ประเทศเขามีสิทธิอะไรมาดูถูกคนไทย ถ้าเป็นคนไทยด้วยกันตำหนิกันพอได้ แต่ประเทศเขาเป็นใครมาตำหนิไทยว่ามาจากรัฐบาลทหาร มาจากการปฏิวัติ เลยตอบกลับไปว่าเราไม่ทำให้เขาต้องไม่สบายใจ ดังนั้นจึงไม่ไปร่วมการประชุมระดับผู้บริหารแม้แต่คนเดียว แต่ฝ่ายวิชาการก็มีนักวิชาการไปร่วมบ้าง พร้อมกับให้ทูตนำจดหมายเชิญกลับไปด้วยเราไม่ต้องการ ซึ่งหากไม่ไปก็ไม่ส่งผลอะไร ไม่ใช่พ่อใช่แม่ของเราที่ไหน"นพ.มงคล กล่าว
      นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ กล่าวว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมดนั้นเป็นพวกแผ่นเสียงตกร่อง ซึ่งข้อมูลทั้งหลายเหมือนกับที่ยูเอสเอฟอร์อินโนเวชั่นกล่าวหาประเทศไทย สธ.คงไม่ไปตามฟ้องร้องเหมือนกับที่ฟ้องร้องยูเอสเอฟอร์อินโนเวชั่น เพราะยูเอสเอฯเข้ามาซื้อโฆษณาโจมตีถึงสื่อในประเทศ แต่ถ้านักวิจัยจะนำไปเสนอในการประชุมเอดส์นานาชาติที่ประเทศออสเตรเลียก็เป็นเรื่องที่ดีจะได้ทราบว่ามีหลักฐานอย่างไร เพราะมิฉะนั้นก็เป็นเพียงข้อกล่าวหาที่ไร้สาระ สธ.ไม่จำเป็นต้องไปใส่ใจทุกอย่าง อีกทั้งงานวิจัยบางชิ้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่ามีทั้งที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ
      ด้านนพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลที่นักวิจัยคนดังกล่าวนำมาอ้างอิงเป็นข้อมูลเดียวกันกับที่บริษัทล็อบบี้ยิสต์โจมตีประเทศไทย ภายหลังจากที่ดำเนินการประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตยาที่ติดสิทธิบัตร(ซีแอล)ก่อนหน้านี้ ที่ได้เงียบไป และช่วงนี้คงเป็นการเปลี่ยนเวทีเล่นงานไทยเท่านั้น
      "การกล่าวหาว่างบประมาณด้านการทหารเพิ่มขึ้นนั้น คงไม่เหมาะที่จะพูดเนื่องจากไม่ทราบงบประมาณทางทหาร แต่งบประมาณส่วนที่รับผิดชอบด้านการป้องกันและรักษาโรคเอดส์นั้นมีแต่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2549 ประมาณ 2พันกว่าล้านบาท และในปีนี้ 3.8 พันล้านบาท และในปี 2551 ต้องได้มากกว่า3.8 พันล้านบาทหรืออย่างน้อยก็ไม่ลดไปจากเดิม"นพ.ธวัช กล่าว
      ทั้งนี้ในวันที่ 24 ก.ค.นี้เวลา 11.00น. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ แถลงข่าว"เปิดโปงเล่ห์กลบริษัทยาในความพยายามล้มเลิกซีแอลในไทย" พร้อมสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขยืนหยัดในการใช้มาตรการซีแอลต่อไป โดยอย่าอ่อนข้อให้กับบริษัทยา ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซ.งามวงศ์วาน 31 อ.เมือง จ.นนทบุรี
      นอกจากนี้รายงานฉบับใหม่ขององค์การหมอไร้พรมแดน (MSF)"เรื่อง คลายปมปัญหาการลดราคายา" ชี้ให้เห็นถึงราคายาต้านไวรัส สูตรสำรองที่ลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา มาจากการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐบาลไทย ทั้งนี้แนวโน้มใหม่ที่น่าวิตก นั่นคือ การใช้ยาต้านไวรัส สูตรพื้นฐานชนิดรวมเม็ด ตัวใหม่ ที่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงน้อยกว่ากลุ่มยาตัวอื่น ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ในปัจจุบันนั้นกลับเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยสูงขึ้นถึง 500% หรือเพิ่มจาก 99 เหรียญสหรัฐเป็น 487 เหรียญสหรัฐ รายงานฉบับดังกล่าวนี้มีชื่อว่า ซึ่งทางองค์การหมอไร้พรมแดนได้ออกแถลงการณ์วันนี้ ณ การประชุมสมาคมเอดส์นานาชาติครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้น ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
      บทวิเคราะห์ขององค์การหมอฯกล่าวถึงความพยายามของบราซิลและไทยในการให้บริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัสผ่านระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศนั้น ชี้ให้เห็นว่า การประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิฯ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำให้ราคายาลดลง เรียกได้ว่าได้ผลดียิ่งกว่าการเจรจาต่อรองขอลดราคายากับบริษัทยา หรือการพึ่งพานโยบายการตั้งราคาแบบเป็นขั้นบันไดของบริษัทยา
      ภญ.คาเรน เดย์ (Karen Day) เภสัชกรประจำฝ่ายรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยาจำเป็น องค์การหมอไร้พรมแดน กล่าวว่า นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ราคายาต้านไวรัส สูตรสำรองเริ่มลดลงในที่สุด แต่กังวลกับปัญหาราคายาต้านไวรัส สูตรพื้นฐานตัวใหม่ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ ซึ่งมีราคาสูงมาก ทั้งยังไม่มีการแข่งขันกันมากนักในตลาดยา จะทำให้คนในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีขึ้นจากยาชนิดนี้ ในขณะที่ ยาใหม่ชนิดนี้สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในประเทศที่ร่ำรวยเป็นเวลาหลายปีแล้ว

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว