ชาวทวิตเตอร์ไม่แฮปปี้ถูกคิดค่าบริการ GPRS แพงขึ้นปัดวินาทีเป็นนาที
ชาวทวิตเตอร์ไม่แฮปปี้ถูกคิดค่าบริการ GPRS แพงขึ้นปัดวินาทีเป็นนาที
ชาว ทวิตเตอร์ร้องไม่แฮปปี้ หลังถูกปรับค่าบริการ GPRS ปัดเศษวินาทีเป็นนาที โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า สบท. ชี้ค่าบริการควรคิดตามจริง และเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ควรรู้การปรับราคาค่าบริการ
จากข้อมูลกระแสความไม่พอใจของผู้บริโภคตามเว็บไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะเว็บไซต์พันทิพย์ เกี่ยวกับการปรับอัตราค่าบริการ GPRS หรือใช้มือถือต่อเน็ตของผู้ให้บริการรายหนึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่า บริการจากการคิดเป็นวินาทีมาเป็นนาที โดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้บริการรับทราบล่วงหน้า เรื่องดังกล่าวมีผลกระทบกับผู้ที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการตรวจสอบข้อมูล หรือส่งข้อความสั้นเพียงระยะเวลาไม่กี่วินาทีที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากถูกปัดเศษของวินาทีเป็นนาที เช่นที่เว็บพันทิพย์ ผู้โพสกระทู้รายหนึ่งชื่อว่า Zanuker ระบุว่า สมัครใช้แพคเกจเพื่อใช้เล่นทวิตเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งการ tweet แต่ละครั้งมักใช้เวลาแค่ 15-20 วินาทีเท่านั้น แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถ tweet ได้เท่ากับจำนวนนาทีที่มีอยู่เท่านั้น
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 มกราคมถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา Happy Internet ได้มีการปรับเปลี่ยนการคิดค่าบริการจากการคิดเป็นวินาทีมาเป็นนาทีแทน หากใช้งานไม่ครบนาที ระบบก็จะปัดเศษให้เต็มนาทีและคิดเงินตามนั้น การปรับราคาดังกล่าวทำให้ผู้ใช้บริการที่ใช้โปรโมชั่น GPRS แบบเหมาจ่ายรายเดือนหรือรายชั่วโมง มีเวลาการใช้งานลดน้อยลงหลายเท่าตัวทันที เนื่องจากเศษของวินาทีถูกปัดเป็นนาที ขณะที่ผู้ที่ใช้แบบไม่ซื้อแพคเกจก็ต้องจ่ายแพงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เข้าอินเทอร์เน็ตเพียงสั้นๆ แต่บ่อยครั้ง เช่น การเล่นทวิตเตอร์ การเข้าไปเช็กข้อมูลเพื่อทันสถานการณ์ต่างๆ เช่น หุ้น ราคาทองคำ ราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น
“ผู้ใช้บริการที่เล่น twitter เป็นตัวอย่างคนที่ได้รับผลกระทบชัดเจน เพราะส่งข้อความ 10 ครั้งก็คือเสียเวลาและค่าบริการเท่ากับ 10 นาทีแล้ว ทั้งที่การ tweet แต่ละครั้งทำได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษร ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที หากคิดในภาพรวมของผู้บริโภค จำนวนผู้ใช้ที่มีเป็นแสนคนเป็นล้านคน จะเป็นเงินเท่าไรที่ผู้บริโภคต้องเสียไป สบท. เห็นว่าการคิดอัตราค่าบริการนั้นควรมีหลักเกณฑ์ว่า หากผู้ใช้บริการใช้บริการเกิน 30 วินาทีต้องคิดค่าบริการตามจริง อนุญาตให้ปัดเศษเฉพาะกรณีใช้บริการน้อยกว่า 30 วินาทีขั้นต่ำที่ 30 วินาที”
ผอ. สบท. ย้ำว่าหลักการคิดค่าบริการดังกล่าวเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของธุรกิจโทรคมนาคมใน ต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีการคิดค่าบริการเป็นรอบ เช่น ในระบบรายเดือนคิดค่าโทรเป็นรอบละ 30 วินาที และเป็นนาทีตามแต่ละแพ็คเกจ แต่ในระบบเติมเงิน คิดค่าโทรเป็นรอบละ 6 วินาทีเท่านั้น หรือที่ประเทศมาเลเซียก็คิดเป็นรอบละ ๓๐ วินาทีเช่นกัน ส่วนประเทศลาวนั้นคิดตามตรงเป็นวินาทีด้วยซ้ำ
นายประวิทย์กล่าวว่า อีกประเด็นสำคัญในกรณีที่ผู้บริโภคกำลังบ่นกันในขณะนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยว กับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและสิทธิการเลือกของผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีการปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการ ทางบริษัทผู้ให้บริการควรแจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบ เนื่องจากเป็นสิทธิที่ผู้ใช้บริการควรจะรู้ เพราะตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ระบุว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละ บริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน และสัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน กรณีที่เงื่อนไขค่าบริการแตกต่างออกไปจากเดิม ผู้บริโภคย่อมต้องได้รับทราบเพื่อตัดสินใจใหม่ได้ นอกจากนี้ตามประกาศ กทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทร คมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 12 ก็ระบุชัดเจนว่า หากผู้รับใบอนุญาตใดประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการ ต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการทราบก่อนการเปลี่ยนแปลง พร้อมยื่นเอกสารและหลักฐาน ให้พิจารณาด้วย
ที่มา มติชนออนไลน์
Relate topics
- จดหมายเปิดผนึกจากผู้บริโภคถึง 3BB
- ปรากฏการณ์ BB ... ผลกระทบที่ไม่มีใครนึกถึง
- ขอเชิญร่วมพูดคุยเพื่อยกระดับมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะจังหวัดสงขลา
- กฎหมายผู้บริโภคอยู่ในมือคุณ
- การเสวนา "ท้องถิ่นห่วงใย ใส่ใจผู้บริโภค"
- บ.อาหารออสซี่ตกลงไม่เข็นโฆษณาอาหารขยะล่อใจเด็ก
- 7 คำถามก่อนซื้อ ฉันอยากซื้อมันจริงหรือ ?
- อย. แนะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ใส่เครื่องปรุงครึ่งเดียวพอ
- จับสัญญาณร้าย บริษัทประกันภัย ไร้คุณภาพ แฉเล่ห์ร้ายประกันภัยลวง เบี้ยถูก-อู่เมิน-ลูกค้ารับกรรม
- "หมอมงคล"อัดหนัก แฉออสซี่วิจัยมั่วล้มซีแอลไทย