สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ยาสมุนไพรเพื่อรักษาอาการเคล็ด ขัดยอก

ยาสมุนไพรเพื่อรักษาอาการเคล็ด ขัดยอก


                  อาการเคล็ด ขัดยอก เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อและเอ็นมีการฟกช้ำหรือฉีกขาด เนื่องจากหกล้มหรือถูกบิดเบือนหรือกระแทกโดยแรง ทำให้เกิดอาการปวด บวมแดง ร้อนรอบ ๆ ข้อ หรือเคล็ดยอกบริเวณกล้ามเนื้อ มักพบบริเวณข้อเท้า ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อมือ มักมีอาการนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน สมุนไพรที่ใช้รักษาอาการเคล็ด ขัดยอก คือไพล

                            ไพล


ชื่อวิทยาศาสตร์          Zingiber cassumunar Roxb. วงศ์                          ZINGIBETACEAE ชื่อท้องถิ่น                  ปูลอย ปูเลย (ภาคเหนือ) ว่านไฟ (ภาคกลาง) มิ้นสะล่าง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ลักษณะทางพฤษศาสตร์                     ไพลเป็พืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า เหง้ามีขนาดใหญ่ มีเนื้อในสีเหลืองอมเขียวและมีกลิ่นหอมเฉพาะ ลำต้นเทียมแทงขึ้นมาจากดิน ลำต้นสีเขียว มีใบออกตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะยาวเรียว เนื้อในบางและปลายแหลม โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกเป็นช่อแทงจากดินโดยตรงมีกลีบประดับซ้อนกันแน่น มีดอกเหลืองอยู่ระหว่างกลีบประดับ ไพลชอบดินเหนียวปนทรายระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำขังแฉะเพราะจะทำให้รากเน่า แสงแดดพอควร ขยายพันธุ์โดยใช้เหง้า


ส่วนที่ใช้เป็นยา          เหง้าแก่จัด ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา                         เก็บเหง้าแก่จัด หลังจากต้นไพลลงหัวแล้ว เก็บเกี่ยวในช่วงที่ไพลอายุ 10 เดือนขึ้นไป ขุดด้วยความระมัดระวัง ล้างสะอาดและตากแดดให้แห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย                         สรรพคุณแก้ฟกบวมเคล็ดยอกขับลม ท้องเดิน และช่วยขับระดูประจำเดือนสตรี นิยมใช้เป็นยาหลังคลอดบุตร


ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
                            เหง้าไพลมีน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) 0.8% ปัจจุบันมีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และทราบสูตรโครงสร้างของสารประกอบในไพลกว่า 20 ชนิด การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่าสารประกอบ Terpene หลายชนิดจากไพลมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ (anti-inflamatory) และมีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวดด้วย เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาทาเฉพาะที่ ยาครีมไพลมีฤทธิ์ในการลดอาการบวมในสัตว์ทดลองเช่นกัน การศึกษาทางคลินิก ศศิธร วสุวัต และคณะ โดยความร่วมมือของนายแพทย์กรุงไกร เจนพาณิชย์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทดลองในผู้ป่วย 8 ราย อายุระหว่าง 21-77 ปี เป็นชาย 3 ราย หญิง 5 ราย มีอาการเจ็บปวดเมื่อยได้จริง และอาสาสมัคร ทดลองใช้ครีมไพลรักษาอาการเคล็ด ปวด บวม กล้ามเนื้อหัวเช่าและข้อแพลง ประมาณ 150 ราย แจ้งผลในการใช้ครีมไพลนี้ว่าเป็นที่พอใจ ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตผลิตภัณฑ์จากไพลภายใต้ชื่อครีมไพลจีซาล ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยและปวดบวม จากการศึกษาความเป็นพิษ พบว่าไพลเป็นสมุนไพรที่ไม่มีพิษเฉียบพลันและไม่มีผลระคายเคืองต่อผิวหนังในสัตว์ทดลอง


วิธีใช้                           เหง้าไพลใช้เป็นยารักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ โดยใช้เหง้า ประมาณ 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำทา ถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียดผสมเกลือเล็กน้อยคลุกเคล้า แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ อังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อยและฟกช้ำ เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย หรือทำเป็นน้ำมันไพลไว้ใช้ก็ได้ โดยเาอไพล หนัก 2 กิโลกรัม ทอดในน้ำมันพืชร้อน ๆ 1 กิโลกรัม ทอดจนเหลืองแล้วอาไพลออก ใส่กานพลูผงประมาณ 4 ช้อนชาทอดต่อด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 10 นาที กรองแล้วรอจนน้ำมันอุ่น ๆ ใส่การบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ในภาชนะปิดฝามิดชิดรอจนเย็นจึงเขย่าการบูรให้ละลาย น้ำมันไพลนี้ใช้ทาถูนวด 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลาปวด (สูตรนี้เป็นของนายวิบูลย์ เข็มเฉลิม อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา)

สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน, " ยาสมุนไพร สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน"

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว