สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

"สุขภาวะแบบพอเพียง" มุมมองใหม่นักเรียนวังตะกู

"เงินทองคือของมายา ข้าวปลาสิของจริง" วลีอมตะของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พระบิดาของการเกษตรสมัยใหม่ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย เพราะในวันนี้มีบทพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า ระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่เน้นเพื่อการค้านั้น แท้จริงแล้วนำความล่มสลายมาสู่ชีวิตเกษตรกรไทย

"หากขืนทำเกษตรเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีต่อไปเรื่อย ๆ สุขภาพก็ทรุดโทรมและชีวิตของลุงคงสั้นลงแน่ ๆ ซึ่งสวนทางกับภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจนชักหน้าไม่ถึงหลัง" นี่คือผลลัพธ์ที่ลุงณรงค์ แฉล้มวงศ์ หรือ 'ลุงต๋า' ปราชญ์ชาวบ้านวังตะกู อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ได้รับหลังจากเดินตามเกษตรกระแสหลักมาเกือบครึ่งค่อนชีวิต

วันนี้ชายชราคนนี้หลุดพ้นจากกับดักและก้าวสู่อิสรภาพ ด้วยการแปรพื้นที่ 50 ไร่ที่เคยรับใช้แนวคิดเดิมให้กลายเป็น "ไร่นาสวนผสม" สำหรับรองรับความรู้ใหม่ ๆ อันเกิดจากการฝึกฝนการทำปุ๋ยชีวภาพและสารป้องกันแมลง พร้อมกับปลูกข้าว กล้วย พุทรา มะม่วง มะนาว แน่นอนมีสระน้ำสำหรับเป็นแหล่งน้ำในยามจำเป็น

สวนแห่งนี้มิได้เป็นเพียงพื้นที่ทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพของลุงต๋าเท่านั้น แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับผู้สนใจทั่วไปด้วยลุงต๋าอุทิศแรงกายแรงใจและสติปัญญาที่มีอยู่ในตัวเองทั้งหมด คิดค้นเช่นนักวิจัยในห้องทดลอง สูตรปุ๋ยชีวภาพและสารไล่แมลงสูตรแล้วสูตรเล่า ถูกคิดค้นและผลิตขึ้นในสวนนี้ เพื่อนำไปเผยแพร่ให้กับคนในชุมชน รวมถึงการเดินทางไปเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้ผู้ที่ยังหลงวนในห้วงทุกข์ได้พบทางสว่างเช่นที่ตนเองได้พบจนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ปราชญ์ชาวบ้านผู้อุทิศตน"

นอกจากถ่ายทอดความรู้แล้ว ลุงต๋าและลุงบุญสืบ กลิ่นชาติ เพื่อนคู่คิดของลุงต๋าเองยังช่วยกันผลักดันให้เกิดการตั้ง "กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ" จนกลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ขึ้นชื่อของชาววังตะกู

รู้จริง เห็นจริง จากชีวิตจริง

"ผมอยากเห็นชาวบ้านปลอดหนี้สินและมีสุขภาพดี ผมขออนุญาตเข้าไปสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียนให้เขาได้รู้เรื่องเกษตรปลอดสารพิษ" ลุงต๋าปรารภกับนายสมควร ธูปพนม ผู้อำนวยการโรงเรียนวังตะกู ผู้สนใจในวิชาชีพเกษตรกรรมและเข้าเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสานในแปลงนาของลุงต๋าเสมอ ๆ โครงการสอนทักษะการทำเกษตรปลอดสารพิษให้กับนักเรียนโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศจึงเริ่มต้น ขึ้นในเทอมแรกของปีการศึกษา 2546 โดยมีอาจารย์สุทิน หลิมหงส์พิทักษ์ เป็นครูพี่เลี้ยงคอยดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพผ่านมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร

ช่วงแรกเป็นการปรับเปลี่ยนความคิดของนักเรียนโดยหมอชัยณรงค์จากสถานีอนามัยวังตะกูจะเข้ามาช่วยเป็นวิทยากรวิเคราะห์ถึงปัญหาสุขภาพของคนไทยที่เกิดจากการใช้สารเคมีในการเกษตร และร่วมกันวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ที่ทำให้ทุกคนต้องเหน็ดเหนื่อยแทบล้มประดาตายแต่ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เสียที

"หลังจากนั้นผมจะเล่าชีวิตที่ลำบากให้เด็ก ๆ ฟัง ผมว่ามันทำให้เด็กสนใจและเกิดแรงบันดาลใจต่อการก็สอนวิธีการทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อช่วยให้ครอบครัวของนักเรียนผ่อนคลายจากภาวะหนี้สินและหากปฏิบัติเช่นนี้ต่อเนื่องการปลดหนี้ ก็คงเป็นจริงได้ จากนั้นก็เป็นการลงมือฝึกทำปุ๋ยชีวภาพ ทำน้ำหมักชีวภาพ และสารไล่แมลง ซึ่งเด็ก ๆ สนใจกันมาก"

วินัยในฐานะหัวหน้ากลุ่ม นำเพื่อน ๆ รุ่นน้อง และเพื่อนจากต่างชั้นเรียนทั้งหญิงชายกว่า 10 คน ลงมือขุดดินทำแปลงใส่ปุ๋ยหมักที่ลงมือลงแรงทำกันเอง จากนั้นจึงหว่านเมล็ดพันธุ์ลงในแปลง รอวันเจริญเติบโตและดูแลรดน้ำ พรวนดิน เก็บวัชพืช โดยมีผู้อำนวยการ ลุงต๋า อาจารย์สุทิน คอยลุ้นเป็นกำลังใจอย่างใกล้ชิด

"บางทีเจอปัญหาว่าผักเหี่ยว ผักไม่งามบ้าง หรือจะลงแปลงใหม่บ้าง พวกเราจะไปถามลุงต๋าที่บ้าน ก็ได้รับความรู้ใหม่ ๆ มาทุกครั้ง ทั้งเองการดูแลแปลงผัก การทำปุ๋ยสูตรใหม่ ๆ" แปลงเกษตรปลอดสารพิษจึงเป็นเสมือนแหล่งเชื่อมการเรียนรู้ ของคนต่างวัยไปโดยปริยาย

"การเรียนรู้ของเด็กเป็นเรื่องที่สนุก ทำให้เด็กมีความรู้ หากเราสามารถส่งเสริมให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็นและได้ลงมือทำอย่างจริงจัง นี่แหละคือการเรียนรู้จากชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่เรียนกันในตำราเพียงอย่างเดียว" นี่คือหลักการที่ลุงต๋ายึดถือและใช้สอนให้กับเด็ก ๆ

ขยายผลจากโรงเรียนสู่บ้าน

"หนูอยากให้พ่อแม่ได้รู้เรื่องเกษตรปลอดสารพิษนี้บ้างจัง" เสียงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งดังขึ้นระหว่างการฝึกทำปุ๋ยชีวภาพ

หลังจากแปลงผักรุ่นแรกได้ผลดีแล้ว กลุ่มนักเรียนก็ลงมือทำแปลงรุ่นที่สองใหม่ แต่คราวนี้ความรู้ที่ได้จะขยายกลับสู่ครัวเรือนของพ่อหนู แม่หนูเหล่านี้ด้วย เพราะอาจารย์พี่เลี้ยงได้จ่ายโจทย์ให้นักเรียนเหล่านี้กลับไปทำแปลงผักปลอดสารพิษที่บ้านด้วย เพื่อเป็นการขยายผลแนวคิดนี้และการให้ปุ๋ยชีวภาพและสารไล่แมลง

"อาจารย์กำหนดให้ทำที่บ้านด้วย และให้พ่อแม่ช่วยทำด้วย โดยอาจารย์จะมาติดตามผลที่บ้าน และมีลุงต๋ามาเป็นผู้ตรวจสอบว่าไม่มีการใช้สารเคมีจริง ๆ" หนูน้อยบอกเสียงใส เพราะดีใจที่แนวคิดของตน ได้รับการยอมรับและนำสู่การปฏิบัติจริง

"หลายแปลงได้ผลดี บางแปลงยังไม่ดีนัก ทั้งนี้อาจมาจากเด็กบางคนเอาใจใส่น้อย หรือยังไม่มีความชำนาญเพียงพอ ผมก็ฝากให้พ่อแม่ช่วยกันดูแลมากขึ้น" อาจารย์สุทินอธิบายปัญหาพร้อมกับชี้ว่าครอบครัวนับเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก

อาหารปลอดภัย...เส้นทางที่รอการสนับสนุนจริงจัง

อีกกิจกรรมหนึ่งที่หนุนเสริมระบบเกษตรปลอดภัยของที่นี่ ก็คือ การจัดกิจกรรม อย.น้อย โดยได้รับสนับสนุนความรู้ ทักษะและกิจกรรม การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอย่างดีจากสถานีอนามัย งานนี้มีอาจารย์สมเพชร สิทธิน้อย เป็นผู้ประสานงานเพื่อให้นักเรียนและร้านค้าในโรงเรียนให้ความสำคัญกับการบริโภคและเลือกอาหารที่ปลอดภัย โดยเฉพาะผักปลอดสารพิษ

"ร้านค้าในโรงเรียน รวมถึงครอบครัวของเด็กเองยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้มากนัก หลังจากที่เด็กทดลองตรวจอาหารและผักที่ร้านค้านำมาประกอบอาหาร พบว่าผักที่นำมานั้นยังไม่ปลอดภัย จึงรณรงค์ให้ความรู้แก่นักเรียน แม่ค้าในโรงเรียนและร้านค้าในชุมชน และเชื่อมโยงองค์ความรู้ให้กับเด็ก 2 กลุ่มว่า เมื่อเราตรวจพบสารพิษแล้ว เราควรหันมาส่งเสริมให้ใช้ผักปลอดสารที่โรงเรียนส่งเสริมให้เด็กปลูก" ผู้อำนวยการสมควรบอกถึงแนวทางสร้างนโยบายที่จะส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของนักเรียน โดยใช้กิจกรรมของนักเรียนนั่นเองเป็นตัวผลักดัน

อยู่เย็นเป็นสุขด้วยเกษตรปลอดพิษ

ก่อนจะจบโครงงาน นักเรียนในโครงการอาจารย์พี่เลี้ยง ปราชญ์ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้มาสรุปบทเรียนร่วมกัน เพื่อหาทิศทางการทำงานในปีการศึกษาต่อไป

"การส่งเสริมเกษตรปลอดสารพิษ ไม่ใช่แค่เรื่องของการเกษตรโดด ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่การทำงานเพียงเพราะหน้าที่แต่เป็นการทำงานที่เกิดจากความเข้าใจระบบสุขภาพของคนและสังคม ที่เชื่อมโยงอยู่กับวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องอาศัย กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของคนหลากหลาย ที่มีความมุ่งมั่นและพร้อมจะอุทิศตนเองเพื่อความคิดและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพ ความสุขที่ได้จะยั่งยืนมากกว่าการทำเพราะเป็นเพียงหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ" ลุงต๋าสรุปความคิดของตนเองให้ทุกคนฟัง

"ดูเด็ก ๆ สนุกมากกับการเรียนรู้คราวนี้ เพราะเป็นการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมการทำงานจริง ลงแปลงปลูกผักจริง ๆ และยังถ่ายทอดยังครอบครัวอีกด้วย และดูเพื่อน ๆ จะรักกันมากขึ้นด้วย" อาจารย์สุทินพูดพร้อม ๆ กับเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ ดังขึ้นตามมาด้วย

สุขภาวะของคนในสังคมล้วนเกี่ยวเนื่องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์พึ่งพิง โดยเฉพาะระบบเกษตรกรรมที่ไสร้างอาหารเลี้ยงดูผู้คนในชุมชนและประเทศ

การจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาวะที่ดีจากอาหารและเกษตร จึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสำคัญ และเป็นประเด็นที่ภาคีสุขภาพหยิบยกมาเป็นหัวข้อในการจัดสมัชชาสุขภาพระดับพื้นที่ในปี 2546 ต่อเนื่องมาถึงปี 2547 อันนำมาสู่การเป็นหัวข้อหลักในการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2547 โดยมีคำขวัญเพื่อเป็นธงนำว่า "เกษตรปลอดภัย อาหารปลอดพิษ ชีวิตปลอดทุกข์" ซึ่งข้อเสนอจากเวทีนี้ประเด็น "อาหารและเกษตรเพื่อสุขภาพ" ที่ส่งมอบต่อทั้งภาคการเมืองเพื่อผลในระดับนโยบาย และภาคราชการรวมทั้งปัจเจกเพื่อผลในทางปฏิบัติ "อาหารและเกษตรเพื่อสุขภาพ" ที่ส่งมอบต่อทั้งภาคการเมืองเพื่อผลในระดับนโยบาย และภาคราชการ

รวมทั้งปัจเจกเพื่อผลในทางปฏิบัติ ได้ออกดอกออกผลให้คนหลากหลายกลุ่มที่ร่วมกันผลักดันชื่นใจ เมื่อมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ออกมาว่า "เห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพินิจ จารุสมบัติ) ประธาน คปรส. เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์สุขภาพประเด็น อาหารและเกษตรเพื่อสุขภาพตามข้อเสนอจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ คปรส. เห็นชอบแล้ว และให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป...."

"สนับสนุนให้เกิดการจัดการความรู้ในระบบเกษตรและอาหาร เกิดการไหลเวียนของข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ทันสมัยนับแต่การเรียนรู้หลักการ ระบบคิด วิธีการและเทคนิคเรื่องระบบเกษตรกรรมยั่งยืน จนถึงการเป็นผู้ผลิตแปรรูป จำหน่ายบริโภคที่ดีผ่านระบบการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียน และมีระบบการสื่อสารเพื่อสร้างการเรียนรู้ต่อสาธารณะ"

นี่คือหนึ่งใน 6 ข้อเสนอที่สะท้อนให้เห็นว่า การปฏิบัติจริงในพื้นที่ดังเช่นกิจกรรมโครงการสอนทักษะการทำเกษตรปลอดสารพิษให้กับนักเรียนโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศนี้ จะเป็นส่วนสำคัญของการสร้างระบบอาหารปลอดภัย ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้จริง

ที่มาเว็บไซด์สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ

Comment #1
วังตะกู (Not Member)
Posted @7 ก.ย. 50 16:17 ip : 203...149
Photo :  , 227x206 pixel 52,106 bytes

Comment #2
ดีจริงๆ (Not Member)
Posted @3 ต.ค. 50 17:40 ip : 124...249
Photo :  , 22x18 pixel 221 bytes

ทำไมมันดีแบบนี้นะ อิอิ

Comment #3
เตยเลงค่ะ (Not Member)
Posted @17 พ.ย. 50 13:47 ip : 117...242

โรงเรียนนี้มีกว่าโรงเรียนเตยอีก

Comment #4
จ๋า (Not Member)
Posted @23 ก.พ. 51 22:42 ip : 58...81

ศิษย์เก่า ร.ร วังตะกู

Comment #5เคยทำแปลงเกษตรโครงการผักกางมุ้ง
Unchalee Dangnoi (Not Member)
Posted @16 เม.ย. 52 17:13 ip : 58...217

เคยเป็นศิษย์ อ.สุทิน

Comment #6คิดถึงเพื่อนและคำว่าโรงเรียนจัง
เกศิณี (Not Member)
Posted @24 พ.ย. 52 14:10 ip : 202...12

คิดถึงอาจารย์ทุกคนจังเลยโดยเฉพาะ อาจารย์โอบบุญจังอื้มๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว