สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

จากขี้เหล็กสู่บาราคอล...ยาระบายเพื่อคนท้องผูก

เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยคงประสบกับปัญหา "ท้องผูก" ที่สร้างความรำคาญให้เกิดขึ้นในหัวอกหัวใจกันบ้าง และหากปล่อยให้อาการท้องผูกดำเนินไปแบบเรื้อรัง ก็จะนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ริดสีดวง" ดังนั้น จึงพยายามขวนขวายหายาระบายสารพัดมาเป็น "ผู้ช่วย" ในการขับถ่าย

  อย่างไรก็ตาม สำหรับภูมิปัญญาเกี่ยวกับสมุนไพรไทยแล้ว คนโบร่ำโบราณต่างรู้ดีกว่า หนึ่งในสมุนไพรที่ใช้ได้ผลก็คือ "ขี้เหล็ก" โดยสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลายชนิด แต่ที่รู้จักกันดีก็เห็นจะเป็นแกงขี้เหล็ก

      ทว่า ด้วยรสชาติที่ค่อนข้างจะ "ขม" หลายคนจึงอาจไม่ค่อยนิยมชมชอบเท่าใดนัก ซึ่งบรรดานักวิจัยก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี จึงได้ทำการวิจัยสกัด "สารบาราคอล" จากขี้เหล็กเพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้
ผศ.ดร.ฉัตรศรี เดชะปัญญา หัวหน้าภาคสรีระวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เจ้าของผลงานวิจัยเรื่อง ฤทธิ์และกลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากขี้เหล็กในการแก้ไขและป้องกันความผิดปกติของทางเดินอาหาร ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในโครงการ นักพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ ให้ข้อมูลว่าในยุคที่สมุนไพรกำลังเฟื่องฟู จึงได้พยายามทำงานวิจัย ค้นคว้าเรื่องที่จะตรงกับความต้องการของคนในสังคม ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของประเทศด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงคิดถึงสารสมุนไพรที่ชาวบ้านรู้จักกันดีคือ ขี้เหล็ก ในใบอ่อนและดอกมีสารชนิดหนึ่งชื่อว่า บาราคอล ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยแก้ไขความเครียด และยังมีผลในการเปลี่ยนแปลงการหลั่งในกลุ่มสารสื่อประสาท หรือเปลี่ยนแปลงระบบประสาทในสมอง
"ตรงนี้ ทำให้คิดต่อว่าในระบบทางเดินอาหารก็มีระบบประสาทอยู่เช่นเดียวกัน จึงพยายามประยุกต์องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสารบาราคอลที่มีผลต่อระบบประสาทในสมองมาปรับเข้ากับระบบทางเดินอาหาร ในขณะที่กระบวนการทำงานของระบบทางเดินอาหารเกี่ยวข้องกับการระบาย และยังเกี่ยวข้องกับการบีบและเคลื่อนตัวของทางเดินอาหาร เพื่อที่จะขับไล่กากอาหารออกนอกร่างกาย นอกจากนี้ยังพบว่าสารบาราคอล เป็นสารสำคัญในการเพิ่มการหลั่งของสารน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้กากอาหารมีความนุ่ม ยุ่ย เป็นการเพิ่มปริมาตรทำให้เกิดแรงดันในการบีบตัว จนทำให้กากอาหารถูกกำจัดออกไปเป็นของเสีย ทำให้ถ่ายง่ายและสะดวกมากขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงทำการศึกษา กลไกหลักในการบ่งบอกว่าสารที่อยู่ในใบและดอก เหมาะที่จะนำมาเป็นยาระบายหรือไม่"

(ผศ.ดร.ฉัตรศรี อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเริ่มศึกษาฤทธิ์และกลไกการออกฤทธิ์ของบาราคอล พบว่า คุณสมบัติของบาราคอลที่น่าสนใจมี 2 ประการคือ 1.สามารถเพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนอาหารได้ดี 2.การเพิ่มการหลั่งสารน้ำและเกลือแร่ โดยทำการทดลองในหลอดทดลอง ด้วยการนำชิ้นเนื้อบริเวณลำไส้ในส่วนที่เรียกว่าไอเลี่ยมมาทดลอง และวัดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบและการเพิ่มการหลั่งของสารน้ำและเกลือแร่ พบว่าสารบาราคอล มีคุณสมบัติและกลไกการออกฤทธิ์นำมาใช้เป็นยาระบายได้จริง ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ ผลงานชิ้นนี้ยังได้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารทางวิชาการของประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 2 ครั้ง

    ผศ.ดร.ฉัตรศรี กล่าวอีกว่าผลงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เบื้องต้น ที่จะนำไปสู่การป้องกัน รักษาและบรรเทาคนที่มีอาการท้องผูก ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำผลงานไปต่อยอดต่อไป แม้ว่าใบและดอกขี้เหล็กชาวบ้านจะใช้เป็นยาระบายมายาวนานแล้วก็ตาม แต่ก็ถือเป็นภูมิปัญญาที่ยังไม่ได้พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นหลักฐานและยืนยันได้ว่าขี้เหล็กมีคุณสมบัติเป็นยาระบายได้จริง และมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือและเกิดการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
            "ผลจากงานวิจัยถือเป็นองค์ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อว่าในอนาคตหากต้องนำขี้เหล็กไปใช้ จะได้รู้ว่าการออกฤทธิ์จะออกฤทธิ์ที่บริเวณอวัยวะใด แต่การนำสมุนไพรแต่ละชนิดไปใช้นั้นก็ต้องดูหลายๆ อย่างเป็นองค์ประกอบด้วย ไม่ใช่แค่ดูแต่ประโยชน์ ต้องดูถึงความเป็นพิษของสมุนไพรชนิดนั้นๆ ด้วย เพราะอย่าลืมว่าสารบางอย่างมีคุณประโยชน์ แต่หากใช้เป็นระยะเวลานานๆ จะให้โทษได้ด้วย จึงอยากฝากเตือนคนที่ชอบใช้ยาสมุนไพรควรจะใช้ในช่วงระยะสั้นๆ อย่าใช้ติดต่อกันนานมากเกินไป เนื่องจากความรู้ทางสมุนไพรในเชิงพิษวิทยา เมืองไทยยังมีการศึกษาไม่มากนัก ส่วนใหญ่องค์ความรู้ด้านสมุนไพรจะเป็นความรู้ในลักษณะภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่บอกต่อกันว่าสมุนไพรชนิดนั้นดี แต่ก็ควรระวังถ้าใช้นานๆ จะเกิดโทษได้"


ที่มาและภาพประกอบ

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2548

Comment #1จากขี้เหล็ก สู่ บาราคอล
Posted @8 ธ.ค. 53 12:52 ip : 118...108

ขี้เหล็ก เป็นพืชสารพัดประโยชน์  ใบอ่อนและดอกอ่อน แกงกินเป็นอาหาร  รากใช้ทำยาถ่าย (ผสมกับสมุนไพรอีกหลายชนิด)ส่วนไม้ (แก่น) ใชทำเฟอร์นิเจอร์ ลายสวยงามมาก แต่ถ้าใช้ทำบานประตูต้องใช้ในที่ร่มไม่ถูกแดดถูกฝนจะทนทานสวยงามดีมากครับ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว