สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

รู้จัก....ยาจีน รู้จักภูมิปัญญาตะวันออก

ผู้จัดการ 12 มกราคม 2549 09:40 น.

              การแพทย์จีน กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในการแพทย์ปัจจุบัน ศาสตร์แห่งการรักษาของประเทศจีนนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้พลังของร่างกายเป็นตัวช่วยในการรักษาด้วย
      ร่างกายของมนุษย์นั้นมีพลังที่เรียกว่า หยิน - หยาง หากเปรียบเทียบ พลัง หยิน- หยาง อาจเปรียบได้เหมือนกับความร้อน ความเย็น ของร่างกาย ซึ่งหากเกิดอาการใดอาการหนึ่งขึ้นมานั่นอาจหมายถึงว่าหยิน หรือหยาง บกพร่อง จึง จำเป็นต้องหาตัวยาเข้าไปเสริมเพื่อให้ร่างกายเกิดความแข็งแรง
      นพ.บุญเกียรติ เบญจเลิศ ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนจีน พูดถึงการแพทย์จีนและยาสมุนไพรจีนว่า การแพทย์จีนเป็นการรักษาที่ละเอียดอ่อนมาก ที่จริงคนเราเวลาไปหาหมอจีนพอหมอจับปุ๊บรู้ปั๊บ ก็นึกว่าตรวจได้ละเอียดแล้ว รู้แล้วว่าเป็นโรคอะไร แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะหลักการพื้นฐานวินิฉัยต้องมี 4 ด้าน คือ "ต้องดู ต้องจับ ต้องดม ต้องถาม"
      ศาสตร์ในการรักษาจีน ที่เรียกว่าการแมะ เป็นการรักษาที่นิยมอีกวิธีหนึ่งเหมือนกันในปัจจุบัน คือ จะใช้นิ้วสัมผัสที่แขน ซึ่งจะรู้ถึงชีพจรเพื่อหาสมมติฐานของอาการ ยกตัวอย่างถ้าเราจับจุดชีพจรที่แขนขวาจุดนี้จะทำให้เรารับรู้เกี่ยวกับปอด ระบบย่อยอาหาร ซึ่งถ้าจับแขนซ้ายจะทำให้เรารับรู้เกี่ยวกับหัวใจ
      ทั้งนี้ รูปแบบการแมะในปัจจุบันนั้นมี 28 รูปแบบด้วยกันเลยทีเดียว
      ขณะที่ยาจีนนั้นถ้าจะให้รักษาให้ดีที่สุด คือ ยาต้ม เพราะว่าสามารถปรับให้ตัวยานั้นหนัก เบาได้ ตัวยาที่ต้มนั้นดูสะอาด ส่วนด้านรสชาตินั้นจะออกฝาด ๆ และจืด ทางการแพทย์จีนเชื่อว่ากินยาต้มจะทำให้ช่วยในการขับถ่ายได้ดีอีกด้วย
      สำหรับคุณสมบัติของสมุนไพรจีนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด แต่ละประเภท ยกตัวอย่างเช่น


              โสมคน เป็น ยาชนิดหนึ่งที่ช่วย บำรุงปอด หัวใจ ทางเดินอาหาร ถ้านอนไม่หลับก็สามารถทานโสมคนก็สามารถช่วยได้ แต่โสมคนนั้นมีราคาแพง โดยมีทั้งแบบมนุษย์ปลูกขึ้นมาเอง และโสมคนที่ขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งหากเป็นแบบขึ้นเองตามธรรมชาติราคาก็จะแพงกว่า
      การที่จะใช้โสมคนในการรักษานั้น แพทย์จะให้กินครั้งหนึ่ง 3-5 กรัม ถ้ามีเหตุฉุกเฉินก็อาจจะเพิ่มเป็น 30 กรัม โดยในสมัยโบราณเชื่อว่าการกินโสมคนนั้นจะช่วยยืดอายุได้
      ตังกุย จะมีลักษณะเป็นรากไม้ มีรส หวาน เผ็ด กินแล้วสามารถบำรุงเลือดสำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ และช่วยในการขับถ่ายสำหรับคนที่ท้องผูก โดยทั่วไปจะใช้ตังกุยมาผลิตเป็นยาแก้ร้อนใน ยาแก้ช้ำใน ยาแก้กระษัยทั้งหลาย โดยมีการเอาตังกุยไปใช้อีกแบบหนึ่ง คือ เอาตังกุยไปบดให้ละเอียด และนำไปโป๊ะแผลที่เป็นฝีก็จะช่วยดูดพิษ สำหรับปริมาณการใช้จะใช้ปริมาณ 8-9 กรัมต่อวัน
              STRONG>โต๋ต๋ง เป็นสมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ คล้าย ๆ หนังงูเวลาขายจะทุบเป็นแผ่นเล็กๆ เมื่อกินเข้าไปจะมีรสชาติหวานและร้อน สามารถรักษาโรคตับ โรคไต บำรุงครรภ์ ใช้กับคนที่อายุมาก มีอาการปัสสาวะบ่อย ปวดเมื่อยตามขา ข้อเท้า ปริมาณการใช้คือ 9-12 กรัม โดยทั่วไปนิยมเอาโต๋ต๋งมาต้มใส่เกลือ ใส่ซีอิ๋วรับประทาน
      กันเฉ่า เป็นพืชมีลักษณะคล้ายรากไม้ สามารถรับประทานได้ทั้งสดๆ หรือแช่ในน้ำผึ้งก็ได้มีรสชาติหวาน ช่วยในการรักษาโรคหัวใจ ทางเดินอาหาร แก้ร้อนใน ละลายเสมหะ แก้ไอ อีกทั้งเป็นตัวเสริมในการใช้กับยาตัวอื่น ๆ สามารถทำงานได้ดีขึ้น
      ปกติจะใช้ในปริมาณ 2-9 กรัม แต่ในกรณีที่เป็นไวรัสตับ เอ ต้องใช้ถึง 30 กรัม แต่กันเฉ่าก็มีข้อเสียเหมือนกันคือ กันเฉ่าจะมีกรดตัวหนึ่งที่คล้ายคล้ายโฮโมนที่ช่วยในการกักน้ำ ถ้าบริโภคในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจจะทำให้ตัวบวมได้
      ทั้งหมดนี้ที่ยกตัวอย่างมาคือยาที่มีคุณภาพดีทั้งหมดแต่ถ้านำมาผสมกันบางอย่างอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือตัวยาอาจจะเป็นพิษทำให้เกิดโอรสสารนั้นแย่ลง ร่างกายเราจะดูดซับสารพิษมากกว่าเดิม ดังนั้น เมื่อเราใช้ยาบางตัวควรจะปรึกษาแพทย์ดีที่สุด
      สำหรับยาสำเร็จรูปในปัจจุบันนั้นมีใช้กว่า 6000 ชนิด นพ.บุญเกียรติ ได้ยกตัวอย่างบางชนิดมาเพื่อเป็นความรู้ สำหรับผู้ใช้ยาประเภทดังกล่าวเริ่มจาก
      ลิ่วเห้ว เป็นยาอายุวัฒนะ เริ่มแรกมีใช้กับเด็ก ต่อมาในภายหลังทางการแพทย์จีนได้พัฒนาเอา ลิ่วเห้ว มาใช้แก้ร้อนใน บำรุงตับ โดยโรงพยาบาลในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนจะใช้ลิ่วเห้วรักษาไตอักเสบ วัณโรค ปกติจะใช้ในปริมาณ 9 กรัมต่อวัน รสชาติจะ หวาน เผ็ด

              ผงขาวยูนาน เป็นการค้นพบและประดิษฐ์ขึ้นมาของหมอชาวบ้านคนหนึ่งในตำบลยูนานประเทศจีน สรรพคุณของผงขาวยูนานคือ ใช้ห้ามเลือด ลดการอักเสบ แก้ปวด แก้แผลเป็น จะใช้ทาภายนอกหรือรับประทานก็ได้ แต่รับประทานมากไม่ได้ เพราะอาจจะมีพิษทำให้เกิดอาการหน้ามืด ตามัว ปวดหัว มือเท้าชา ถ้าอาการหนักก็อาจจะสลบไปเลย สำหรับปริมาณการใช้ก็ต้องระวัง ผู้ใหญ่ควรใช้ในปริมาณ 0.3-0.5 กรัม แต่ถ้าเป็นเด็กก็จะใช้ในปริมาณ 0.2-0.4 กรัม และควรรับประทานวันหนึ่งไม่เกิน 4 กรัม
      ซูจง ประกอบด้วยตัวยาทั้งหมด 6 ชนิด ยาชนิดนี้ใช้มาแล้ว 100 กว่าปี ใช้ในการแก้ปวดเมื่อย ปัจจุบันมีการเอาซูจงมาใช้ในการรักษาโรคงูสวัดและโรคหอบด้วย
      ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนจีน บอกด้วยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเซี่ยงไฮ้ได้ใช้ยาซูจงรักษาอาการเป็นลม มะเร็งในเลือด แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะยานี้จะกินเยอะไม่ได้ เนื่องจากมีพิษ ทำให้หน้ามืดตาลาย และถ้ารับประทานปริมาณมาก ๆ อาจจะทำให้สลบได้
      นอกจากนี้ยังมียาอีกชนิดหนึ่งที่มาในรูปของอาหารจีน ซึ่งนิยมบริโภคกันในปัจจุบัน โดยการนำเอาสมุนไพรบางอย่างมาผสมในการปรุงอาหารถือเป็นจุดเด่นของอาหารจีน
      นพ.บุญเกียรติ ได้ยกตัวอย่างอาหารบางชนิดที่เป็นตัวยาในการรักษาโรค เริ่มจาก แปะก๊วย เป็นเมล็ด ประกอบด้วยโอรสสารหลายอย่างด้วยกัน ในทางการแพทย์จีนใช้บำรุงไต บำรุงปอด ทำให้ถุงลมมีกำลังมากขึ้น รักษาไตให้แข็งแรง วิธีใช้คือเอาแปะก๊วย 12 กรัมเอาเปลือกออกต้มในน้ำร้อน ใส่น้ำผึ้ง รับประทาน หรือบางท่านจะเอาแปะก๊วยไปรับประทานกับน้ำเต้าหู้ก็ได้ แต่ควรใช้แปะก๊วยไม่เกิน 15 กรัมต่อวัน

              เห็ดหูหนู เป็นเห็ดราชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรืออาจจะเพาะเลี้ยงขึ้นมาเอง ในเห็ดหูหนูจะมีโปรตีนเยอะมาก ในทางการแพทย์จีน ใช้บำรุงเลือด สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนน้อยหรืออาจจะใช้กับผู้ที่มีอาการเวียนหัว ปวดเมื่อยตามต้นคอ ท้องผูก
      ปลิงทะเล เป็นที่นิยมนำมาประกอบอาหารจีน และมีหลายพันธุ์มาก แต่คุณภาพไม่แตกต่างกันนัก จุดสำคัญคือตัวปลิงทะเลมีสารเคมีตกค้างอยู่ เวลานำมาปรุงอาหารก็จะต้องทำความสะอาดให้ดี โดยเชื่อว่าการกินปลิงทะเลนั้น จะช่วยบำรุงลมปราณ ช่วยในการขับถ่าย บำรุงกระเพาะ ส่วนวิธีรับประทานปลิงทะเลนั้น เอาปลิงทะเล 1 เส้น ผ่าทำความสะอาดให้เรียบร้อย ใส่เนื้อหมู ไข่ไก่ ใส่น้ำผึ้งแล้วต้มในน้ำให้เดือด รับประทานตอนร้อนๆ จะช่วยในการบำรุงเลือดอีกด้วย
      "ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นวิธีการแพทย์จีนและยาสมุนไพรจีน การรักษาที่ดีตั้งทำควบคู่กันไปทั้งวิธีการรักษาและการรับประทานยา รวมทั้งเรื่องของการปรับความสมดุลทางร่ายกายซึ่งปัจจุบันแพทย์ในเมืองจีนต้องละเอียดมากในเรื่องวิธีการรักษา ความรู้ในเรื่องสมุนไพรจีน ต้องรู้ตัวยากว่า 500 ชนิดและต้องสั่งยาเป็นถึง 200 ตัว ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถได้ใบรับรองวิชาชีพได้" นายแพทย์บุญเกียรติสรุปทิ้งท้าย

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว