สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

นักวิชาการเสนอรัฐเร่งพัฒนาสถานบริบาลสำหรับผู้สูงอายุ

นักวิชาการเสนอรัฐเร่งพัฒนาสถานบริบาลสำหรับผู้สูงอายุ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 มิถุนายน 2550 18:12 น.


      นักวิชาการเสนอภาครัฐพัฒนาสถานบริบาลผู้สูงอายุให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในระดับชุมชน และโรงพยาบาล มีแพทย์-พยาบาลเพียงพอ เผยอนาคตประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลเพิ่มขึ้น
      ผศ.ร.อ.หญิง ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์ อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาวิจัยโครงการทบทวนองค์ความรู้เรื่อง "ระบบสถานบริบาลผู้สูงอายุ" กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้สูงอายุในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 670,000 คน ซึ่งมีปริมาณสูงเป็นอันดับ 2 ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ ผู้สูงอายุร้อยละ 80 ต้องเผชิญปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสุขภาพที่ก่อให้เกิดความพิการ เช่น อัมพาต ปัญหาการได้ยิน ตาบอด รวมถึงปัญหาที่เกิดจากภาวะทุพพลภาพ เช่น ไม่สามารถออกนอกบ้านได้ตามลำพัง ภาวะผู้ป่วยที่นอนอยู่กับเตียง ภาวะสมองเสื่อม ในอนาคตนอกจากจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นแล้ว ประเทศไทยยังมีผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการการดูแลในสัดส่วนที่มากขึ้นด้วย
      ผศ.ร.อ.หญิง ดร.ศิริพันธุ์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังไม่มีสถานที่บริการที่ดูแลผู้สูงอายุในภาครัฐที่รับรองผู้ป่วยเหล่านี้ มีแต่สถานสงเคราะห์คนชรา รวมถึงสถานพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาล และสถานดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งมีอยู่ไม่มาก อีกทั้งแพทย์ผู้ดูแลผู้สูงอายุในสถานบริบาลผู้สูงอายุทั่วประเทศมีไม่เกิน 10 คน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานในการดูแลผู้สูงอายุ เมื่อเทียบกับมาตรฐานของต่างประเทศ โดยเฉพาะในสถานพยาบาลผู้ป่วยเรื้อรังและสถานรับดูแลผู้สูงอายุ
      ผู้วิจัยเสนอว่า ในส่วนของภาครัฐในการพัฒนาสถานบริบาลผู้สูงอายุ ควรมีการแบ่งประเภทการขึ้นทะเบียนของสถานพยาบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานบริบาลให้ชัดเจน เพื่อควบคุมการตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการของสถานประกอบการนั้นๆ มีการจัดการบริการให้กับผู้สูงอายุตามระดับความต้องการในการดูแล ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถานบริบาลที่เป็นของรัฐเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล เนื่องจากสถานสงเคราะห์ต่างๆ ได้มีการถ่ายโอนไปยังภูมิภาคมากขึ้น อปท.จะเข้ามามีบทบาทในการรับดูแลผู้สูงอายุที่ญาตไม่สามารถให้การดูแลได้อีกต่อไป

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว