พบผู้สูงอายุในไทยแย่ทั้ง"จิตใจ-สุขภาพ"
พบผู้สูงอายุในไทยแย่ทั้ง"จิตใจ-สุขภาพ"
แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม ผู้วิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 3 พ.ศ.2546-2547 ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ของผู้สูงอายุในสังคมไทยกำลังเป็นที่น่าวิตก
จากข้อมูลสำรวจพบว่า จำนวนผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจากสัมมะโนประชากร ตั้งแต่ปี 2513 ผู้สูงอายุที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวมีเพียง 10% ของประชากรผู้สูงอายุ แต่ในปี 2547 พบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังเพิ่มเป็น 17%
"ที่น่าตกใจคือกว่า 12% ของผู้สูงอายุที่ว่างงานถูกปล่อยให้อยู่ในสถานสงเคราะห์ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปกลายเป็นกระแสทุนนิยม ทำให้โครงสร้างครอบครัวกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ความรักความผูกพันในครอบครัวน้อยลง ความตระหนักในคุณค่าของผู้สูงอายุจึงน้อยลงตามไปด้วย" แพทย์หญิงเยาวรัตน์กล่าว
แพทย์หญิงเยาวรัตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่ากว่า 80% ในกลุ่มอายุ 60-80 ปี ยังคงต้องทำงานทั้งเพื่อเลี้ยงตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัว ในลักษณะประกอบอาชีพส่วนตัว โดย 48% ของผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานกลุ่มนี้ ถือว่ามีความสามารถในการทำงานและเป็นที่พึ่งให้กับบุคคลอื่นในครอบครัวด้วย และจากการสอบถามผู้สูงอายุเหล่านี้ พบว่ากว่า 90% ยังอยากที่จะทำงาน เพราะต้องการรายได้ไว้ใช้จ่ายต่างๆ และยังอยากที่จะทำงานต่อไป แต่พบว่ากลุ่มนี้มีปัญหาสุขภาพที่อาจกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานและการดำเนินชีวิตอีกด้วย
สำหรับโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ แพทย์หญิงเยาวรัตน์กล่าวว่า พบว่าผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคประจำตัวสูงสุดถึง 8 โรคในคนเดียว โดยโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ หอบหืด มะเร็ง โลหิตจาง ระดับไขมันในเลือดสูง ไตวาย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้อเสื่อม โดยผู้หญิงจะเป็นโรคเหล่านี้สูงกว่าผู้ชาย ขณะเดียวกัน กลับพบว่าผู้สูงอายุยังต้องประสบปัญหาการเข้าถึงและได้รับบริการสุขภาพ แม้ว่าจะมีสิทธิได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 10 ปีย้อนหลัง และรวมถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
อาจเป็นเพราะโรคที่พบในผู้สูงอายุส่วนมากเป็นโรคที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายราคาสูง