รายงานฉบับสมบูรณ์
สานฝันปันน้ำใจ เพื่อรอยยิ้มที่สดใสของเด็กกลุ่มพิเศษ เพียงหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษา เพื่อพวกเขาได้มีอนาคตที่ดี และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
การดำเนินโครงการสานฝันปันน้ำใจ เพื่อเด็กกลุ่มพิเศษ (เด็กออทิสติก ดาวน์ซินโดรมและสมองพิการ) เป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความรัก ความเข้าใจ และที่สำคัญคือการได้รับความร่วมมือจากสามฝ่ายคือ ครู หมอและพ่อแม่ เพื่อจุดมุ่งหมายคือพัฒนาการที่ดีของเด็กกลุ่มพิเศษ ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย การเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาเด็กกลุ่มพิเศษ ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนี้ที่เห็นชัดเจนคือเกิดโรงเรียนที่สนใจในการพัฒนาเด็กกลุ่มพิเศษกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นรวมถึงครูมีทัศนคติที่ดีขึ้นมาก ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ ส่วนผลโดยตรงต่อเด็กคือทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนและผลการเรียนพัฒนามากขึ้น
ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องคือโรงเรียนควรมีครูการศึกษาพิเศษด้วย โดยอาจพัฒนาจากครูประจำชั้น/ ประจำวิชา และที่สำคัญคือผู้ปกครองต้องมีการพูดคุยกับครูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เด็กกลุ่มพิเศษสามารถพัฒนาศักยภาพได้ด้วยตนเองและในระยะยาวควรมีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษ โดยควรปรับให้มีความยืดหยุ่นของรูปแบบ รวมถึงการปรับเกณฑ์การประเมินผลการเรียนให้เหมาะสม
กิตติกรรมประกาศ
การจัดโครงการสานฝันปันน้ำใจเพื่อเด็กกลุ่มพิเศษนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยความร่วมมือจาก
ฝ่ายการศึกษา
o สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในการเชิญวิทยากรจากโรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษ ในเขตกรุงเทพมหานครและปทุมธานี
o สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลาเขต 2 ในการประสานโรงเรียนในจังหวัดสงขลาเข้าร่วม
o ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 3 จังหวัดสงขลา ในการให้ข้อมูลการดูแลเด็กกลุ่มพิเศษ
o ศูนย์การศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ในการให้ข้อเสนอแนะเรื่องหลักสูตรการดูแลเด็กกลุ่มพิเศษ
o โรงเรียนอนุบาลกุลจินต์ โรงเรียนศรีนครและโรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ ในการให้ความร่วมมือประสานกับเด็กกลุ่มพิเศษและผู้ปกครอง การร่วมเป็นวิทยากรรวมถึงการให้ใช้สถานที่และบุคลากรในการจัดการอบรม
ฝ่ายผู้ปกครอง
o ชมรมสานฝันปันรัก และผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษอื่นๆ ในการให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อจัดทำแผนการเรียนการสอนรายบุคคล IEP
o คุณสุมาลี ตานุชนม์ ในฐานะผู้ปกครองเด็กดาวน์ที่ประสบความสำเร็จ ที่มาเป็นกำลังใจ
o คุณวรนพ ตานุชนม์ ในฐานะผู้ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมที่สามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีและยินดีมาร่วมเป็นวิทยากร
ฝ่ายการแพทย์
o โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสมิติเวช ในการให้ความอนุเคราะห์วิทยากรในการจัดอบรม
o คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการอนุญาตให้ใช้สถานที่ในการจัดการอบรมรวมถึงให้ความอนุเคราะห์ทันตแพทย์และเจ้าหน้าที่ช่วยจัดการอบรม
ทีมวิทยากร จากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ นครปฐม ศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษสวนเด็กนครปฐม โรงเรียนกาญจนาภิเษกสมโภชน์ และโรงเรียนมีนประสาทวิทยา
และสุดท้ายขอขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) และคณะ ทำงานระดับจังหวัดสงขลา (Node สสส) ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณและให้ข้อเสนอแนะในการจัดโครงการให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์
บทสรุปย่อการดำเนินงาน
โครงการสานฝันปันน้ำใจ เพื่อเด็กกลุ่มพิเศษ (เด็กออทิสติก ดาวน์ซินโดรม และสมองพิการ) เป็นโครงการที่ได้มีการริเริ่มโดยชมรมสานฝันปันรัก ซึ่งเป็นชมรมของผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มพิเศษผ่านการจัดการเรียนการสอน แต่เนื่องจากการพัฒนาศักยภาพดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการแพทย์ การทำโครงการนี้จึงมุ่งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการพัฒนาศักยภาพเด็กกลุ่มพิเศษให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเด็กกลุ่มพิเศษเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มออทิสติกกับกลุ่มดาวน์ซินโดรม ทำการฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเน้นด้านการจัดการศึกษาตามแนวทางการทำ IEP (Individual Educational Plan) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางกระทรวงศึกษาธิการกำหนด รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ในรูปสื่อต่างๆ เช่นวีซีดี เพื่อให้กับผู้ปกครอง โรงเรียนหรือโรงพยาบาลได้นำไปใช้ประโยชน์
เมื่อเริ่มดำเนินการ มีการจัดฝึกอบรมโดยได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานบางส่วนเนื่องจากต้องการให้สอดคล้องกับภาคการศึกษาของเด็กนักเรียน อีกทั้งได้มีข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมอบรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มครูที่มีความสนใจ จึงได้ปรับเนื้อหาโดยรวมเด็กกลุ่มพิเศษทั้ง 2 กลุ่มในการจัดอบรมพร้อมกันเพราะจำนวนเด็กมีการเปลี่ยนแปลง เนื้อหาการอบรมเน้นเรื่องการเขียนแผน IEP รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มพิเศษด้วยเทคนิคต่างๆ โดยมีการเชิญวิทยากรทางการศึกษา ทางการแพทย์รวมถึงผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ได้เห็นรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น แต่เป็นการปรับเปลี่ยนโดยที่ครูผู้สอนต้องประเมินวิธีการสอนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน และที่สำคัญที่สุดคือได้โรงเรียนที่มีความสนใจในการพัฒนาศักยภาพเด็กกลุ่มพิเศษมาเป็นโรงเรียนนำร่องได้ มีการพูดคุยระหว่างครูกับผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษมากขึ้นทำให้ปัญหาในด้านการเรียนของเด็กกลุ่มพิเศษได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที สำหรับเรื่องการจัดทำสื่อความรู้นั้น เนื่องจากมีข้อมูลสื่อ VCD ที่ได้รับมาจากชมรมผู้ปกครองเด็กดาวน์ศิริราช จึงได้ทำการเผยแพร่เฉพาะกลุ่มอาการดาวน์ก่อน โดยมีการแจกจ่ายให้กับผู้ปกครองและครูที่เข้าร่วมอบรมรวมถึงได้มอบให้กับกุมารแพทย์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เพื่อไว้ใช้ในการให้คำอธิบายแก่ผู้ปกครองที่มารับบริการ รวมถึงศูนย์การศึกษาพิเศษของจังหวัดยะลา ซึ่งจากการประเมินภาพรวมผู้จัดเห็นว่าโครงการนี้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ และมีผลกระทบเชิงบวกคือมีโรงเรียนที่เริ่มเปิดใจรับเด็กกลุ่มพิเศษเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเด็กกลุ่มพิเศษอื่นๆในอนาคต แต่ข้อเสนอแนะของผู้จัดโครงการคือในโรงเรียนที่มีการรับเด็กกลุ่มพิเศษควรจะต้องมีครูการศึกษาพิเศษที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กกลุ่มพิเศษให้ใกล้ชิดขึ้นเพื่อให้สามารถพัฒนาเด็กกลุ่มพิเศษอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้มีการเสนอแนะแนวทางของห้องเรียนคู่ขนาน หรือการสอนโดยใช้สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเพื่อพัฒนาเด็กกลุ่มพิเศษให้อยู่รอดได้ในสังคมอย่างมีคุณภาพชีวิต
ลักษณะโครงการโดยรวม
หลักการและเหตุผล เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรวมถึงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่เปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กทุกคน รวมถึงกลุ่มเด็กพิการทั้งพิการทางร่างกายและทางสติปัญญาทำให้เกิดความตื่นตัวของสังคมเพิ่มมากขึ้นในการให้ความสนใจดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาซึ่งได้แก่ เด็กดาวน์ซินโดรม เด็กพิการทางสมองหรือพิการซ้ำซ้อนรวมถึง เด็กออทิสติกด้วย แต่ในทางปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาแก่กลุ่มเด็กดังกล่าวมีน้อยมาก ซึ่งสาเหตุเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญเช่นครูการศึกษาพิเศษ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักอรรถบำบัด ทีมแพทย์พยาบาลที่มีความสนใจและชำนาญสาขาเฉพาะทาง (กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็ก แพทย์ทางระบบประสาท) และที่สำคัญคือการขาดความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครอง ทำให้เด็กกลุ่มดังกล่าวขาดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาทางการศึกษาและคุณภาพชีวิต ส่งผลให้ต้องตกเป็นภาระในการดูแลของครอบครัวและสังคมไปตลอดชีวิต สำหรับการทำงานของหน่วยงานราชการในปัจจุบันจะมีศูนย์การศึกษาพิเศษที่กระจายกันในแต่ละภูมิภาค แต่ยังขาดความเชื่อมโยงที่ดีกับผู้ปกครองรวมถึงการใช้แนวทางการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงคือไม่เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ปกครองสามารถนำไปปฏิบัติได้ ทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโอกาสพัฒนาของเด็กกลุ่มพิเศษรวมถึงกรอบแนวคิดที่ยึดติดกับระบบราชการ ทำให้ไม่สามารถเป็นที่พึ่งที่แท้จริงได้ ทางชมรมสานฝันปันรัก ซึ่งเป็นชมรมที่ประกอบด้วยผู้ปกครองของเด็กกลุ่มออทิสติก ดาวน์ซินโดรม พิการทางสมอง พิการซ้ำซ้อนรวมถึงโรคลมชัก ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดสงขลารวมถึงผู้สนใจและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ เช่นแพทย์ ทันตแพทย์ คณะครูจากสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐบาลและเอกชน รวมถึงผู้บริหารทางการศึกษาทั้งระดับจังหวัดและระดับเขต จึงได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มแล้วพัฒนาจนสามารถจดทะเบียนเป็นชมรมขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็กกลุ่มดังกล่าว โดยมีการสร้างความสัมพันธ์ทั้งทางความคิด การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การให้กำลังใจสำหรับสมาชิกใหม่ การแสวงหาแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ดีของเด็กกลุ่มพิเศษ รวมถึงการจัดอบรมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งการมีข้อจำกัดในการทำงานพอสมควรเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ สูงมาก ส่วนการช่วยเหลือจากทางภาครัฐบาลยังได้รับน้อยมากและมีปัญหาในการเบิกจ่ายมาตลอด
จากปัญหาดังกล่าวทางชมรมสานฝันปันรักและโรงเรียนอนุบาลกุลจินต์ จึงมีแนวความคิดที่จะพัฒนาโอกาสทางการศึกษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับเด็กกลุ่มพิเศษดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรวมถึงการฝึกอบรมครูและผู้ปกครองที่สม่ำเสมอเพื่อให้เด็กกลุ่มดังกล่าวสามารถช่วยเหลือตนเองได้ มีการพัฒนาโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับการศึกษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ซึ่งจะส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคมในอนาคต
วัตถุประสงค์ของโครงการ 1. เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการดูแลเด็กกลุ่มพิเศษให้กับผู้ปกครองและครูที่มีหน้าที่ดูแลเด็กกลุ่มพิเศษ 2. เพื่อสร้างสื่อและคู่มือที่จะเป็นแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษ 3. เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาเด็กกลุ่มพิเศษที่ครบวงจรทั้งการฝึกทักษะการดำรงชีวิต การดูแลรักษาทางการแพทย์ รวมถึงการเรียนรู้ในระบบการศึกษา 4. เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
การดำเนินงานที่ผ่านมา
ผลงานของกลุ่มหรือชมรมสานฝันปันรักเริ่มตั้งแต่ปี 2537 โดยมีการติดต่อประสานกับโรงเรียนอนุบาลกุลจินต์ เพื่อขอให้เป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานรวมถึงในด้านการจัดการเรียนการสอน โดยการดำเนินการในระยะแรกมีปัญหาและอุปสรรคเป็นระยะ เนื่องจากยังไม่มีผู้ที่มีความรู้ความชำนาญทางการศึกษาด้านการดูแลเด็กกลุ่มพิเศษดังกล่าว จึงมีการรวบรวมทุนทรัพย์ในการส่งครูและผู้ปกครองไปหาความรู้จากสถาบันต่างๆ รวมถึงการเชิญวิทยากรที่เกี่ยวข้องเช่น
- สถาบันราชภัฏ สวนดุสิต ดูด้านการจัดการเรียนการสอนเด็กกลุ่มพิเศษ เพื่อนำมาจัดการเรียนการสอน การปรับวิธีการให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ซึ่งปัจจุบันทางสถาบันยังให้คำปรึกษาทางการเรียนการสอนมาโดยตลอด
- โรงพยาบาลยุวประสาท ดูการฝึกและการปรับพฤติกรรมของเด็กออทิสติกและเด็กดาวน์ซินโดรม
- ดร.พัชรีวัลย์ เกตุแก่นจันทร์ ด้านการปรับพฤติกรรมเด็กออทิสติกและเด็กดาวน์ซินโดรม
- ดร.เบญจา ชลธาร์นนท์ ด้านการจัดทำแผนการเรียนการสอนรายบุคคลหรือ IEP
- การจัดการอบรมร่วมกับสถาบันราชภัฏ สงขลา ด้านครูการศึกษาพิเศษ เข้าร่วมทุกครั้ง
- การเข้าร่วมประชุมกับชมรมผู้ปกครองเด็กดาวน์ซินโดรม ในงานดาวน์สัญจรภาคใต้
- การเข้าร่วมประชุมกับชมรมผู้ปกครองเด็กออทิสติกแห่งประเทศไทย ที่จัดที่หาดใหญ่
ปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนร่วมไปกับเด็กปกติในชั้นเรียนอนุบาล ของโรงเรียนอนุบาลกุลจินต์และมีการสอนเสริม การปรับพฤติกรรม การฝึกกล้ามเนื้อ การฝึกพูด การฝึกทักษะในด้านการช่วยเหลือตนเองโดยมีการจัดทำแผนการเรียนการสอนรายบุคคล (IEP) และมีเด็กกลุ่มพิเศษของชมรมหลายคนทั้งเด็กออทิสติกและดาวน์ซินโดรม ที่ได้เข้าไปเรียนร่วมกับเด็กปกติในระดับชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนอื่นในเขตจังหวัดสงขลา และกรุงเทพมหานคร (รวมทั้งสิ้น 6 คน) แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้คือจำนวนของเด็กกลุ่มพิเศษที่มีมาสมัครเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทางโรงเรียนยังไม่สามารถรับเด็กกลุ่มดังกล่าวเพิ่มจากนี้ได้เพราะมีบุคลากรไม่เพียงพอและสถานที่เริ่มคับแคบ (ปัจจุบันในโรงเรียนมีเด็กออทิสติก 13 คน, เด็กบกพร่องทางสติปัญญา 8 คน, บกพร่องทางการเรียนรู้ 2 คนและพิการซ้ำซ้อน 1 คน แต่ยังมีเด็กที่รอรับการช่วยเหลืออีกประมาณ 80-100 คน) ซึ่งมีการปรับการทำงานโดยรับครูการศึกษาพิเศษ 3 คน และพัฒนาครูประจำชั้นที่มีอยู่ให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลและจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษดังกล่าว ซึ่งมีภาระงานที่หนักมากเพราะต้องจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน นอกจากนี้ยังขาดสื่อการเรียนรู้ชนิดต่างๆ และอุปกรณ์การฝึกกล้ามเนื้อชนิดต่างๆเพื่อช่วยเด็กที่มีความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อและเป็นการปรับพฤติกรรมด้วย รวมถึงการเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่ครูการศึกษาพิเศษที่ต้องทำการสอนเพิ่มในช่วงเย็นและค่ำเพราะต้องดูแลเด็กกลุ่มพิเศษอื่น ที่ยังไม่สามารถเข้าเรียนเต็มเวลาได้เนื่องจากข้อจำกัดดังกล่าว
กลวิธีดำเนินการ: แบ่งเป็น 2 กิจกรรมหลักคือ
1. การจัดฝึกอบรมผู้ปกครองและครูที่มีหน้าที่ดูแลเด็กกลุ่มพิเศษ
เป็นการจัดการฝึกอบรมการดูแลเด็กกลุ่มพิเศษทั้งการฝึกทักษะการดำรงชีวิต การดูแลรักษาทางการแพทย์ การฝึกกล้ามเนื้อ การฝึกพูดรวมถึงการเรียนการสอนทางวิชาการ โดยจะแบ่งการฝึกอบรมเป็นสองกลุ่มนำร่องคือกลุ่มเด็กออทิสติก 15 ครอบครัวและกลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม 15 ครอบครัว โดยคัดเลือกจากเด็กกลุ่มพิเศษที่อยู่ในชมรมสานฝันปันรักและสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยจะเป็นการจัดฝึกอบรมแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม แยกการจัดอบรมของเด็กกลุ่มออทิสติกและกลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรมออกจากกันเนื่องจากแนวทางการฝึกจะมีความแตกต่างกัน แล้วแบ่งการจัดอบรมของแต่ละกลุ่มเป็น 3 ระยะคือ
ระยะที่หนึ่ง เป็นระยะที่จะทำการประเมินพัฒนาการของเด็กแต่ละคน โดยเชิญทีมแพทย์/ ทันตแพทย์ นักอรรถบำบัด นักกายภาพบำบัด/ กิจกรรมบำบัด ครูการศึกษาพิเศษและผู้ปกครอง เพื่อทำการตรวจประเมินเด็กแต่ละคนให้ครอบคลุมทุกด้าน จากนั้นวางแผนการฝึกเด็กแต่ละคนตามผลการประเมิน โดยผู้ปกครองและครูที่ดูแลเข้าร่วมสังเกตการฝึกอย่างใกล้ชิดได้แก่
- การปรับพฤติกรรม
- การฝึกพัฒนาความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็ก
- การวางแผนแนวทางการรักษาทางการแพทย์และทางทันตกรรม
ระยะที่สอง เป็นการประเมินความก้าวหน้าและสอบถามความยากง่ายในการนำวิธีฝึกที่ได้จากการฝึกระยะที่หนึ่งจากผู้ปกครองและครูผู้ดูแลเด็ก โดยอาศัยทีมแพทย์/ ทันตแพทย์ นักอรรถบำบัด นักกายภาพบำบัด/ กิจกรรมบำบัด ครูการศึกษาพิเศษและผู้ปกครองร่วมประเมิน จะมีการปรับแนวทางการฝึกตามข้อมูลจากผู้ปกครองและครูผู้ดูแลเด็ก โดยประกอบด้วย
- การปรับพฤติกรรม
- การฝึกพัฒนาความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็ก
- การวางแผนแนวทางการรักษาทางการแพทย์และทางทันตกรรม
- การวางแผนแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสม
- การสอนความรู้การจัดทำแผนการเรียนการสอนรายบุคคล (IEP)
ระยะที่สาม เป็นการประเมินความก้าวหน้าและสอบถามความยากง่ายในการนำวิธีฝึกที่ได้จากการฝึกระยะที่สองและการใช้แผนการเรียนการสอนรายบุคคล(IEP) จากผู้ปกครองและครูผู้ดูแลเด็ก โดยอาศัยทีมแพทย์/ ทันตแพทย์ นักอรรถบำบัด นักกายภาพบำบัด/ กิจกรรมบำบัด ครูการศึกษาพิเศษและผู้ปกครองร่วมประเมิน จะมีการปรับแนวทางการฝึกตามข้อมูลจากผู้ปกครอง โดยประกอบด้วย
- การปรับพฤติกรรม
- การฝึกพัฒนาความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็ก
- การวางแผนแนวทางการรักษาทางการแพทย์และทางทันตกรรม
- การวางแผนแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสม
- การปรับแผนการเรียนการสอนรายบุคคล (IEP)
ในการฝึกของกลุ่มออทิสติกและกลุ่มดาวน์ซินโดรมจะทำการฝึกแยกกัน และระยะห่างของการจัดฝึกอบรมในแต่ละระยะจะเป็น
เดือนที่หนึ่ง ฝึกอบรมระยะที่หนึ่งของกลุ่มออทิสติก
เดือนที่สอง ฝึกอบรมระยะที่หนึ่งของกลุ่มดาวน์ซินโดรม
เดือนที่สาม ประเมินผลการจัดฝึกอบรมครั้งที่หนึ่งของทั้งสองกลุ่ม
เดือนที่สี่ ฝึกอบรมระยะที่สองของกลุ่มออทิสติก
เดือนที่ห้า ฝึกอบรมระยะที่สองของกลุ่มดาวน์ซินโดรม
เดือนที่หก ประเมินผลการจัดฝึกอบรมครั้งที่สองของทั้งสองกลุ่ม
เดือนที่เจ็ด ฝึกอบรมระยะที่สามของกลุ่มออทิสติก
เดือนที่แปด ฝึกอบรมระยะที่สามของกลุ่มดาวน์ซินโดรม
เดือนที่สิบ ประเมินผลการจัดโครงการเพื่อจัดทำแนวทางในการพัฒนาเด็กกลุ่มพิเศษ
หมายเหตุ : ในการจัดฝึกอบรมแต่ละครั้งจะมีการเชิญชาวบ้านในชุมชนเข้าร่วมสังเกตการณ์รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะ ในการทำแนวทางการปรับสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้
2. การจัดทำสื่อและคู่มือแนวการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษ[/i] เป็นการจัดทำสื่อเพื่อช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องรวมถึงการนำไปฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องที่บ้าน โดยมีการจัดทำสื่อใน 2 ลักษณะคือ 1. การจัดสื่อวีดีโอ หรือวีซีดี เรื่อง - การปรับพฤติกรรมเด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม - การฝึกพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสำหรับเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กสมองพิการ - การทำกายภาพบำบัด การนวดปากเพื่อช่วยการฝึกพูด 2. การจัดทำคู่มือแนวการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษ เนื้อหาประกอบด้วย - ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคหรืออาการของเด็กกลุ่มพิเศษ - ข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ - การดูแลแบบง่ายๆ ที่ผู้ปกครองสามารถนำไปฝึกปฏิบัติต่อที่บ้าน - การติดต่อกับชมรมหรือสมาคมที่เกี่ยวข้องกับเด็กกลุ่มพิเศษ โดยการจัดทำดังกล่าวจะเป็นการจัดทำเพื่อให้ผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษ โรงพยาบาลรวมถึงโรงเรียนที่มีเด็กกลุ่มพิเศษ สามารถนำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานและเป็นการสร้างเครือข่ายความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สังคม เป็นการทำให้เกิดการยอมรับและพัฒนาแนวทางการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้เด็กกลุ่มพิเศษมีการพัฒนาไปสู่เป้าหมายคือการสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคม โดยการจัดพิมพ์เบื้องต้นประมาณ 3,000 เล่ม
กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ
- ผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ ประมาณ 30 ครอบครัว (ระยะนำร่อง)
- ครูที่มีหน้าที่ดูแลเด็กกลุ่มพิเศษ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างประมาณ 50 คน (ระยะนำร่อง)
- โรงเรียนที่มีเด็กกลุ่มพิเศษ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ประมาณ 50 โรงเรียน (ระยะนำร่อง)
- โรงพยาบาล ในเขตพื้นที่ภาคใต้ ประมาณ 100 แห่ง (ระยะนำร่อง)
ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการ
มีการจัดอบรม/ ทำกิจกรรมตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงกรกฎาคม 2548 รวมทั้งสิ้น 6 กิจกรรมดังนี้คือ
- การฝึกอบรมครูและผู้ปกครองเด็กดาวน์ซินโดรม ครั้งที่ 1 วันที่ 22-23 มกราคม 2548 ณ ห้องสัมมนาชั้น 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การอบรมเชิงปฏิบัติการ มีการบรรยายและการสาธิตการฝึกปฏิบัติ รวมถึงมีการตรวจประเมินเด็กดาวน์โดยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จำนวนผู้เข้าร่วม ทั้งสิ้น 75 คน ครูจากโรงเรียนในจังหวัดสงขลาเข้าร่วมประมาณ 40 คน (15 โรงเรียน) ผู้ปกครองเด็กดาวน์และผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 30 คน สถาบันที่รับเชิญเป็นวิทยากร 7 แห่ง
การสร้างเครือข่าย: ทางการศึกษา: โรงเรียนอนุบาลกุลจินต์ โรงเรียนศรีนคร โรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ ศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 3 รวมถึงศูนย์การศึกษาพิเศษของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ทางการแพทย์: โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ และคณะทันตแพทย์ การประชาสัมพันธ์: สถานีวิทยุ มอ. และสถานีวิทยุ อสมท. ผู้ปกครอง: ชมรมสานฝันปันรัก ผู้ปกครองเด็กดาวน์ รวมถึงคุณสุมาลีและคุณวรนพ ตานุชนม์
องค์ความรู้ที่เกิด: ความรู้ในการดูแลเด็กดาวน์ซินโดรมของผู้ปกครอง การดูแลทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับเด็กดาวน์ซินโดรม แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กดาวน์ซินโดรม สื่อวีซีดีเกี่ยวกับเด็กดาวน์ซินโดรมจำนวน 4 เรื่อง (สำหรับแจกให้ผู้ปกครอง ครูและผู้สนใจ)
- การอบรมโครงการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตแก่เด็กกลุ่มพิเศษ วันที่ 5-6 มีนาคม 2548 ณ โรงแรมหาดแก้ว ปริ๊นเซส รีสอร์ท สงขลา การอบรมเชิงปฏิบัติการ มีการบรรยายและสาธิตการฝึกปฏิบัติเขียนแผน IEP โดยทีมแพทย์และครูผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลาง จำนวนผู้เข้าร่วม ทั้งสิ้น 48 คน ครูจากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสงขลาเข้าร่วมประมาณ 18 คน (3 โรงเรียน) ผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษและผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 30 คน สถาบันที่รับเชิญเป็นวิทยากร 4 แห่ง
การสร้างเครือข่าย: ทางการศึกษา: โรงเรียนอนุบาลกุลจินต์ โรงเรียนศรีนคร โรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิรวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษสวนเด็ก นครปฐม ทางการแพทย์: โรงพยาบาลสงขลานครินทร์และ โรงพยาบาลสมิติเวช ผู้ปกครอง: ชมรมสานฝันปันรักและผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษ
องค์ความรู้ที่เกิด: ความรู้ในการจัดทำ IEP ของผู้ปกครอง/ ครู การประเมินและดูแลทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษ แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ(IEP) แต่ละราย
- อบรมผู้นำเยาวชน ค่ายนกน้อยสีฟ้า วันที่ 5-6 มีนาคม 2548 ณ โรงแรมหาดแก้ว ปริ๊นเซส รีสอร์ท สงขลา การทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันระหว่างเด็กกลุ่มพิเศษและเด็กปกติในลักษณะค่ายเยาวชน โดยมีผู้ปกครองเข้าร่วมด้วยในภาคกลางคืน จำนวนผู้เข้าร่วม ทั้งสิ้น 55 คน เด็กกลุ่มพิเศษและเด็กปกติเข้าร่วมประมาณ 40 คน (3 โรงเรียน) ผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษและผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 15 คน สถาบันที่รับเชิญเป็นวิทยากร 1 แห่ง
การสร้างเครือข่าย: ทางการศึกษา: โรงเรียนอนุบาลกุลจินต์ โรงเรียนศรีนคร โรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิรวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ นครปฐม ผู้ปกครอง: ชมรมสานฝันปันรักและผู้ปกครองเด็กกลุ่มปกติ
องค์ความรู้ที่เกิด: การใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างเด็กกลุ่มพิเศษกับเด็กปกติ โดยไม่มีการรังเกียจ การพัฒนาในด้านทักษะการช่วยเหลือตนเองของเด็กกลุ่มพิเศษ การปรับทัศนคติที่ดีให้กับผู้ปกครองเด็กปกติที่เข้าร่วมกิจกรรมค่าย
- การประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ปกครองและครู
วันที่ 19 มิถุนายน 2548 ณ ร้านซูการ็อค หาดใหญ่
การพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติร่วมกันระหว่างผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษกับครูของโรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ
จำนวนผู้เข้าร่วม ทั้งสิ้น 13 คน
ครูโรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ 2 คน
ผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษและกรรมการของชมรมสานฝันปันรัก 8 คน เด็กกลุ่มพิเศษ 3 คน (ดาวน์ซินโดรม 2 คนและกลุ่มบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disability) 1 คน
องค์ความรู้ที่เกิด: ความรู้ความเข้าใจในการดูแลเด็กกลุ่มพิเศษที่ตรงกัน สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียน การนำ IEP มาสู่การปฏิบัติ(ผลจากการเขียน IEP ช่วงเดือนมีนาคม 2548) การหารูปแบบการจัดอบรมสำหรับครูของโรงเรียนที่มีการรับเด็กกลุ่มพิเศษเรียนรวม โดยเน้นโรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ โรงเรียนศรีนครและโรงเรียนอนุบาลกุลจินต์ เนื่องจากต้องการสร้างเครือข่ายโรงเรียนเพื่อรองรับการส่งต่อเด็กกลุ่มพิเศษที่เป็นระบบ
- การประชุมร่วมระหว่างครูและผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษของโรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ วันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ณ ห้องประชุม โรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ การพูดคุยถึงปัญหาที่พบในเด็กกลุ่มพิเศษ โดยเน้นด้านการเรียน รวมถึงการร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุและวิธีแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีลักษณะที่เข้าข่ายแต่ยังไม่เคยรับการตรวจรายอื่นๆ จำนวนผู้เข้าร่วม ทั้งสิ้น 35 คน ครูโรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ 32 คน ( อนุบาลถึงประถมศึกษา 6 ) ผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษ 3 คน
การสร้างเครือข่าย: ทางการศึกษา: โรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษาและโรงเรียนอนุบาลกุลจินต์ ผู้ปกครอง: ชมรมสานฝันปันรักและผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษของโรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษา
องค์ความรู้ที่เกิด: ความรู้ในการตรวจประเมินเบื้องต้น การสังเกต การประเมินและดูแลทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษ การปรับทัศนคติเชิงบวกต่อเด็กกลุ่มพิเศษให้แก่ครูที่ยังไม่เคยได้เข้ารับการอบรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษ (IEP) แต่ละราย การรับรู้ปัญหาร่วมกันระหว่างครูระดับ ชั้นประถมศึกษา 2 ซึ่งมีเด็กลุ่มพิเศษเรียนรวมอยู่ หมายเหตุ ผู้ปกครอง 1 รายเป็นแพทย์ ทำให้ได้มีการพูดคุยถึงการวินิจฉัยและแนวทางในการดูแลทางการแพทย์ด้วย
- การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน สำหรับเด็กกลุ่มพิเศษ วันที่ 30-31 กรกฎาคม 2548 ณ หอประชุมใหญ่ ของโรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ การจัดอบรมความรู้ การทำกิจกรรมกลุ่มย่อยรวมถึงการถามตอบปัญหาในการจัดการเรียนการสอน โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญในระดับประเทศ จำนวนผู้เข้าร่วม ทั้งสิ้น 100 คน ครูของโรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิประมาณ 72 คน ผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษและผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 15 คน สถาบันที่รับเชิญเป็นวิทยากร 4 แห่งรวมทั้งสิ้น 10 คน วิทยากรจากบ้านศิลปะ หาดใหญ่ 2 คน วิทยากรจากสปอร์ตคลับ 1 คน
การสร้างเครือข่าย: ทางการศึกษา: โรงเรียนอนุบาลกุลจินต์ โรงเรียนศรีนคร โรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ โรงเรียนกาญจนาภิเษกสมโภชน์ โรงเรียนมีนประสาทวิทยาและมหาวิทยาลัยราชภัฏ สงขลา ผู้ปกครอง: ชมรมสานฝันปันรักและผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษ
องค์ความรู้ที่เกิด:
หลักการจัดการเรียนการสอนในเด็กกลุ่มพิเศษแต่ละประเภท
รูปแบบการจัดการเรียนรวมของโรงเรียนอนุบาลกุลจินต์ โรงเรียนมีนประสาทวิทยาและโรงเรียนกาญจนาภิเษกสมโภชน์
การปรับทัศนคติเชิงบวกต่อเด็กกลุ่มพิเศษให้แก่ครูที่ยังไม่เคยได้เข้ารับการอบรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษ (IEP) แต่ละประเภท
แนวคิดการนำศิลปะและกีฬา มาประยุกต์เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มพิเศษ
การแลกเปลี่ยนแนวคิดร่วมกันระหว่างผู้ปกครองเด็กกลุ่มพิเศษกับครู โดยมีวิทยากรช่วยทำกิจกรรมกลุ่มย่อย ในการตอบคำถามต่างๆ
การประเมินผล
จำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด 326 คน (เฉลี่ย 55 คนต่อกิจกรรม)
จำนวนครูที่เข้าร่วม 164 คน (บางรายเข้าร่วมมากกว่า 1 ครั้ง)
จำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วม 23 โรงเรียน
จำนวนผู้ปกครองที่เข้าร่วม 101 คน (บางรายเข้าร่วมมากกว่า 1 ครั้ง)
จำนวนสถาบันที่เป็นวิทยากร 16 แห่ง
จำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วม 3 แห่ง
จำนวนเด็กที่เข้าร่วม 43 คน (ทั้งเด็กทั่วไปและเด็กกลุ่มพิเศษ)
สื่อวีดีโอที่เผยแพร่ 5 เรื่อง
โรงเรียนเอกชนที่ยินดีรับเด็กกลุ่มพิเศษ 3 โรงเรียน
การประเมินผลคุณภาพกิจกรรมอยู่ในระดับ 3-4 ทุกกิจกรรม (สูงสุดคือระดับ 4)
ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการ เมื่อเริ่มดำเนินโครงการ ทางผู้รับผิดชอบโครงการต้องมีการปรับรูปแบบการทำงานเนื่องจากช่วงเวลาการจัดโครงการไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการเปิดเทอมของโรงเรียน ซึ่งส่งผลให้ครูที่จะเป็นวิทยากรไม่สะดวก ขณะที่เด็กกลุ่มพิเศษเองก็เข้าร่วมได้น้อย โดยรวมกิจกรรมย่อยของเด็กออทิสติกและดาวน์ซินโดรมเพื่อจัดอบรมร่วมกัน จากการประเมินแบบสอบถามผู้เข้าอบรมพบว่าส่วนใหญ่เป็นครู โดยมีผู้ปกครองบางส่วน ซึ่งความต้องการจ