อบรมให้ความรู้ " แผนการศึกษาเฉพาะบุคคล"
คำถามที่มีผู้สอบถามเป็นประจำ คัดลอกจากหนังสือ ถาม-ตอบปัญหา การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
การจัดการศึกษา แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program: IEP) และแผนการสอนเฉพาะบุคคล (Individual Implementation Plan: IIP) ต่างกันอย่างไร แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) เป็นแผนการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเป็นรายบุคคล โดยมีแผนระยะยาวและระยะสั้น โดยปกติจะเป็นแผนระยะ 1 ปี และมีการทบทวนทุกภาคเรียน การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลนั้น ๆ ทุกฝ่ายจะมีส่วนร่วมพิจารณาในการจัดบริการทางการศึกษาให้สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการและความสามารถของเด็ก ทั้งการจัดการเรียนการสอน การวัดประเมินผล และบริการพิเศษ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา แผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) เป็นแผนการสอนจัดขึ้นเฉพาะเจาะจงสำหรับนักเรียนคนนั้นเพื่อช่วยให้นักเรียนบรรลุจุดประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน IEP
ในโรงเรียนหนึ่งควรรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมกี่คนจึงจะเหมาะสม จำนวนเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่จะเข้าไปเรียนรวมนั้น ไม่มีเกณฑ์กำหนดตายตัวแต่โดยทั่วไปในทางปฎิบัติการให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษขึ้นมาเรียนรวมในห้องเรียนปกติห้องเรียนหนึ่งไม่ควรเกิน 3 คน หรืออาจมากกว่านั้น โดยให้คำนึงถึงประเภทระดับความพิการ และความพร้อมของเด็กด้วย
หลักสูตรและการวัดประเมินผลเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะแตกต่างกับเด็กปกติหรือไม่ เด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกคนจะต้องมีแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP) สำหรับเด็กปกติจะมีเกณฑ์มาตรฐานซึ่งกรมวิชาการกำหนดไว้ เด็กที่มีความต้องพิเศษมีมาตรฐานเป็นรายบุคคลเพราะมาตรฐานของเด็กที่มีความต้องการพิเศษแต่ละคนไม่เท่ากัน การจัดหลักสูตรสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะใช้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเป็นศูนย์กลาง หลักสูตรต้องสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละคน สอนตามความต้องการของเด็ก สอนไปวัดผลไปการวัดผลเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะประเมินตามที่กำหนดไว้ใน IEP ประเมินความก้าวหน้าของเด็ก
การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ควรจัดอย่างไร การศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษควรจัดเป็นรายบุคคล เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การศึกษาจึงควรสนองความต้องการของเด็กเด็กที่มีความต้องการพิเศษแต่ละคนจึงต้องมีแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) แต่การสอนอาจรวมกลุ่มสอนเป็นกลุ่มเด็ก ๆ ได้ หากเด็กมีแผนการจัดการศึกษา เฉพาะบุคคลคล้ายกัน
หลักสำคัญในการจัดการเรียนการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่ครูพึงกระทำมีอะไรบ้าง หลักสำคัญมีดังนี้ ขอให้มีน้ำใจ โอบอ้อมอารี และอีกประการคือ ต้องรู้จักสังเกตพฤติกรรม เข้าใจเด็ก ค้นหาปัญหาของเด็กว่าอยู่ที่ไหน ความต้องการของเด็กอยู่ที่ไหน สิ่งไหนเด็กชอบ สิ่งไหนเด็กไม่ชอบ ทำอย่างไรเด็กจึงจะเรียนรู้ได้ดีขึ้น ครูปกติที่ไม่ได้รับการอบรมก็สามารถสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้ หากเป็นคนช่างสังเกตและใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม นั่นคือ หลักสำคัญในการสอน การสังเกตเป็นวิธีการวิทยาศาสตร์ ถ้าครูนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนก็จะสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้ทุกคน
จำเป็นหรือไม่ที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษจะต้องเรียนกับครูที่จบการศึกษาพิเศษโดยตรง โดยหลักการครูที่จบการศึกษาพิเศษจะมีความรู้ด้านการศึกษาพิเศษมากกว่าครูที่ไม่ได้เรียนมาด้านนี้ แต่การเป็นครูที่ดียังมีองค์ประกอบอื่นอีกหลายประการ เช่น การเอาใจใส่ ความช่างสังเกต ความมั่นใจ การตั้งใจสอน รู้จักสังเกตพฤติกรรม ครูที่สอนให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของเด็ก ครูที่เอาใจใส่เด็ก ครูที่ไม่ดุเด็ก ไม่ลงโทษเด็กโดยใช้วาจาหยาบคาย ด่าทอ เฆี่ยนตี ครูที่รู้จักให้กำลังใจให้แรงเสริมเด็ก ครูประเภทนี้จะสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ได้ พบว่า ครูบางคนไม่จบการศึกษาพิเศษ แต่สอนเด็กได้ดีกว่าครูที่จบการศึกษาพิเศษบางคนก็มี
การสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เป็นหน้าที่ของครูทางการศึกษาพิเศษเท่านั้นใช่หรือไม่ การให้การศึกษาแก่เด็กเป็นหน้าที่ของทุกคนในโรงเรียนควรถือเป็นหน้าที่โดยตรง สำหรับครูที่สอนเด็กปกติจะต้องสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนรวมในโรงเรียนเดียวกัน หากครูที่สอนเด็กปกติไม่มีความรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ควรเป็นหน้าที่ของครูคนนั้นที่จะต้องใฝ่หาความรู้จนสามารถสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้
เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา "เด็กดาวน์ซินโดรม" เรียนหนังสือในโรงเรียนปกติได้หรือไม่ ได้ แต่ต้องเลือกโรงเรียนที่มีนโยบายรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนร่วม การส่งเด็กดาวน์ซินโดรมเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในระดับก่อนประถมศึกษาเป็นเรื่องที่เหมาะสมเพราะเน้นพัฒนาการในหลาย ๆ ด้าน มิใช่แต่เน้นวิชาการเท่านั้น แต่เมื่อขึ้นระดับประถมศึกษาแล้ว เนื้อหาวิชามากขึ้น การประเมินผลแยกย่อยมากขึ้น ทำให้เด็กดาวน์ซินโดรมมักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ โรงเรียนที่เหมาะสมไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนใหญ่ หรือมีชื่อเสียง อาจจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ครูและผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่กว้าง เข้าใจ เสียสละ มีนักเรียนไม่มากนัก โรงเรียนที่มีการใช้ระบบการเรียนการสอนสำหรับเด็กกลุ่มนี้ควรใช้แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) มักเหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ แต่ต้องได้รับความสนใจจากครู วิธีการสอนต้องมีการเน้นย้ำและแยกย่อยจากง่ายไปยาก (Task Analysis) ที่สำคัญครูต้องมีความอดทน ผู้ปกครองและครูต้องช่วยกันเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการให้เหมาะสม
ก่อนนำ "เด็กดาวน์ซินโดรม" เข้าสู่ระบบโรงเรียนควรมีการเตรียมการอย่างไร
ผู้ปกครอง "เด็กดาวน์ซินโดรม" ควรเตรียมให้เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่แรกเริ่ม (Early Intervention) ซึ่งเด็กจะได้รับการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่
ด้านร่างกาย-ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก
ด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การรักษาความสะอาด และการขับถ่าย
ด้านสติปัญญา และภาษา - ควรฝึกให้เด็กฟังและปฏิบัติตามคำสั่ง และสอนคำศัพท์ที่ควรทราบ ถ้าเป็นไปได้ควรมีการสื่อสารกับผู้อื่นได้บ้างก่อนเข้าสู่ระบบโรงเรียน
ด้านอารมณ์และสังคม - ควรฝึกให้เด็กรู้จักมีปฎิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น เคารพกติกาสังคม รู้จักการรอคอย การแบ่งปัน และมีน้ำใจ
"เด็กดาวน์ซินโดรม" หรือ "เด็กปัญญาอ่อน" ควรเข้าเรียนเมื่ออายุเท่าไร ไม่มีข้อกำหนดขึ้นอยู่กับความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว และที่สำคัญคือ ควรให้เด็กมีความพร้อมพื้นฐาน เช่น เดินได้ รับประทานอาหารเองได้ ควบคุมการขับถ่ายได้ และมีความเข้าใจภาษาบ้างแม้ว่าจะพูดไม่ชัด แต่สื่อสารกับครูและเพื่อนได้เข้าใจ ถ้าเด็กมีความพร้อม พื้นฐานเหล่านี้แล้วสามารถนำนักเรียนเข้าเรียนในระดับอนุบาลได้ ในห้องเรียนที่มี "เด็กดาวน์ซินโดรม" และเด็กพิการประเภทอื่นอยู่ร่วมกัน ควรจัดการเรียนการสอนอย่างไรดี ที่จริงแล้วในห้องเรียนหนึ่งไม่ควรมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษหรือเด็กพิการมากกว่า 1-2 คน แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจัดการเรียนการสอนควรเป็นกลุ่มเล็ก (Small Group) จัดชั้นเรียนเป็นมุมให้นักเรียนมีอิสระในการเรียนรู้ ค้นคว้า ต้องสร้างความสนใจด้วยกิจกรรมและสื่อการสอน มีการเสริมแรงสม่ำเสมอ ครูต้องดูในจุดเด่นจุดด้อยของเด็กแต่ละคน แล้วส่งเสริมให้ถูกทาง ครูต้องมีความอดทน เสียสละ และหาความรู้ในอาการ ข้อจำกัดที่เด็กมีและความต้องการของเด็กแต่ละประเภทอยู่เสมอ ลูกเป็น "เด็กดาวน์ซินโดรม" เคยเรียนร่วมในโรงเรียนปกติมักได้รับปฎิกิริยาต่อต้านจากผู้ปกครองเด็กปกติ ควรทำอย่างไร เป็นเรื่องปกติที่จะพบประสบการณ์เช่นนี้ในสังคมไทย การที่มีผู้แสดงปฎิกิริยาดังกล่าวเนื่องจาก "ความไม่รู้จริง" ของผู้นั้นคิดว่าความพิการเป็นสิ่งน่าสังเวช น่ารังเกียจ และอาจติดต่อคล้ายโรคติดต่อ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับความพิการ หรือความผิดปกติต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทั้งการแพทย์ การสาธารณสุข และการศึกษาที่จะเปิดวิสัยทัศน์และทัศนคติเกี่ยวกับความพิการแก่คนในสังคมให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ และภาพพจน์ของผู้พิการที่สำแดงออกมาสู่สาธารณชนนั้น ควรก่อให้เกิดกำลังใจมากกว่าให้เกิดความสมเพชเวทนา และถ้าผู้ปกครอง "เด็กดาวน์ซินโดรม" จะนำเด็กเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติ ควรจะต้องศึกษาก่อนนำลูกเข้าเรียนว่า โรงเรียนนั้นมีนโยบายรับเด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติหรือไม่ ถ้าไม่มีนโยบายนั้นก็ควรเปลี่ยนโรงเรียนให้เหมาะสม แต่ถ้าโรงเรียนยืนยันว่ามีนโยบายเรียนร่วม ผู้บริหารก็ควรทำความเข้าใจกับเด็กปกติและผู้ปกครอง และขอความร่วมมือให้มีการปรับตัว เปิดวิสัยทัศน์ และทัศนคติที่มีต่อเด็กพิการให้ดีขึ้นอย่างไรก็ดี ผู้ปกครองเด็กดาวน์- ซินโดรมต้องมีความหนักแน่นไม่หวั่นไหวต่อปฎิกิริยาของคนรอบข้าง อีกทั้งควรจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอาการของลูกให้ชัดเจน เพื่อสามารถอธิบายให้เป็นวิทยาทานแก่ผู้ไม่เข้าใจได้ "เด็กดาวน์ซินโดรม" หรือ "เด็กปัญญาอ่อน" เรียนได้สูงสุดระดับใด ความจริงแล้ว ความสามารถทางด้านวิชาการของเด็กดาวน์ซินโดรมนั้นมีข้อจำกัด แต่ทั้งนี้ศักยภาพของเด็กและประสบการณ์ในการเลี้ยงดูไม่เหมือนกัน เป็นการยากที่จะกำหนดกฎเกณฑ์เป็นทฤษฎี ออกมาว่าเด็กดาวน์ซินโดรมเรียนได้สูงสุดแค่ไหน ทั้งนี้ต้องดูลึกในประเภทของอาการดาวน์ ความพิการซ้ำซ้อน การเลี้ยงดูของครอบครัว และเด็กได้รับการส่งเสริมการศึกษาแตกต่างกันไป โดยทั่วไปเด็กดาวน์ซินโดรมมักจะได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้น บางรายเรียนได้ระดับมัธยม หรืออาชีวศึกษา แต่ปัจจุบันมีการศึกษานอกระบบ และการส่งเสริมการศึกษาตามครอบครัว ชุมชน โฮมสกูล (Home School) เด็กอาจจะได้รับการศึกษาถึงระดับอุดมศึกษาได้แต่สถาบันนั้นต้องมีการปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น และเน้นทักษะวิชาให้เหมาะสมกับความถนัดของเด็กแต่ละบุคคล ถึงอย่างไรผู้ปกครองไม่ควรคาดหวังว่าลูกที่มีความพิการเรียนได้ระดับสูง เพราะค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับใบปริญญามากกว่าประสบการณ์ในการดำรงชีวิต การช่วยเหลือตนเอง ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น บำเพ็ญตนเป็นคนดี เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ และที่สำคัญคือผู้ปกครองควรยอมรับว่าแม้ว่ามีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมก็สามารถทำให้ครอบครัวมีความสุข มีความอบอุ่นได้ และทำประโยชน์ต่อสังคมได้
เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กหูตึงและปัญญาอ่อนคนหนึ่ง มีลักษณะของเสียงพูดที่ไม่ชัดเจน ลิ้นแข็งมาก มีวิธีการช่วยเหลือเด็กอย่างไรให้สามารถใช้ลิ้นในการพูดได้อย่างคล่องแคล่วขึ้น ควรให้เด็กได้รับการบริหารลิ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถปฏิบัติต่อไปนี้ 1. แลบลิ้นออกจากปากให้ยาว 2. แลบลิ้นให้ยาว แล้วตวัดหรือดึงลิ้นกลับ 3. ดุนลิ้นหรือตวัดลิ้นไปมาภายในปาก จากซ้ายไปขวาและขวาไปซ้ายสลับกัน 4. ใช้ปลายลิ้นแตะที่ริมฝีปากบนและริมฝีปากล่างสลับไปมา 5. ใช้ปลายลิ้นแตะอวัยวะต่าง ๆ ภายในปาก ได้แก่ ปุ่มเหงือก ฟันบน ฟันล่าง เพดานแข็งเพดานอ่อน กวาดลิ้นไปมาให้ทั่วปาก 6. ทำลิ้นให้แบนราบและห่อลิ้นสลับไปมา 7. ใช้ปลายลิ้นแตะที่ริมฝีปากซ้ายขวาสลับกันอย่างรวดเร็ว 8. ม้วนข้างลิ้นเข้าหาตรงกลางลิ้นและแลบลิ้นออกมา 9. รัวปลายลิ้นบริเวณปุ่มเหงือก ครูผู้สอนพิจารณาและสังเกตดูว่าเด็กน่าจะฝึกลิ้นในลักษณะใดเพิ่มอีกบ้างในการออกเสียงที่ไม่ชัด เช่น ถ้าเสียง ก ไม่ชัด ควรฝึกใช้ลิ้นส่วนหลังหรือโคนลิ้นแตะกับบริเวณเพดานอ่อน ซึ่งสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้กับนักแก้ไขการพูด
เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ควรมีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะสามารถเรียนรวมในห้องเรียนปกติได้ดี รู้จักตนเอง ยอมรับในสิ่งผิดปกติของตน - เชื่อมั่นในความสามารถของตน - ขยัน อดทน ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ - อารมณ์ดี ร่าเริงแจ่มใส - ฉลาด ปรับตัวเข้ากับสังคมเพื่อนฝูงได้ แก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี - มีมนุษย์สัมพันธ์ดี เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติ ใช้หลักสูตรและวิธีสอนเหมือนหรือต่างกับเด็กปกติอย่างไรบ้าง ในโรงเรียนปกติที่มีเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมในโรงเรียนจะใช้หลักสูตรเดียวกับเด็กปกติแต่ใช้เทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก และอาจเปลี่ยนแปลงจุดประสงค์วิธีการประเมินผลบางอย่าง เช่น ให้อ่านหนังสือ เว้นวรรคตอนแทนการอ่านทำนองเสนาะ เคาะจังหวะแทนการร้องเพลง เป็นต้น
หลักการที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีความเหมือนหรือต่างกับเด็กปกติอย่างไร ถ้าเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินประเภทหูหนวกที่เรียนในโรงเรียนพิเศษเฉพาะทางจะมีหลักสูตรที่ต่างจากหลักสูตรของเด็กปกติ โดยอิงหลักสูตรปกติ มีการเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมกับเด็กสามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ต้องการพัฒนาเด็กได้ แต่ถ้าเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินประเภทหูตึงที่เรียนร่วมในโรงเรียนปกติจะใช้หลักสูตรเช่นเดียวกับเด็กปกติ แต่มีการดัดแปลงเนื้อหาและการประเมินผลในบางจุด ตลอดจนการใช้เทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมตามสภาพของเด็ก
เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นจะเรียนในชั้นเรียนปกติได้หรือไม่ ได้ เพราะเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นใช้ประสาทสัมผัสที่เหลืออยู่ในการรับรู้ เพื่อเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เช่น ประสาทสัมผัสในด้านการฟัง การรับรส กลิ่น และผิวสัมผัสที่ใช้มือ ที่สำคัญคือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นสามารถสื่อสารพูดคุยได้เช่นคนทั่วไป การเรียนการสอนของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นจะเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ครูจะบรรยาย อธิบาย ประกอบสื่อการสอน ถ้าเรื่องใดปฎิบัติจริงได้ หรือมีส่วนร่วมก็ควรให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นทำ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นสามารถจดบันทึกตอบคำถามในห้อง ทำงานกลุ่ม ทำการบ้านส่งครูได้ โดยฝึกให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นใช้พิมพ์ดีดทั่วไปที่ใช้การพิมพ์สัมผัส
ครูจะตรวจการบ้านของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นได้อย่างไร ครูต้องเรียนอักษรเบรลล์หรือไม่ ถ้าครูยังไม่มีความสามารถในการอ่านอักษรเบรลล์ก็ให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นอ่านการบ้านให้ครูฟัง หรือฝึกให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นทำการบ้านด้วยพิมพ์ดีดสัมผัส การเรียนอักษรเบรลล์ของครูเป็นความรู้ความสามารถพิเศษที่ครูสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นพึงมี โดยเฉพาะครูที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นในระดับประถมที่ต้องเริ่มต้นทุกอย่างให้แก่เด็กและถ้าไม่มีครูสอนเสริมวิชาการ (Resource Teacher) ช่วยก็มีความจำเป็นที่ครูจะต้องเรียนรู้อักษรเบรลล์ด้วย
จะทำอย่างไรให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นทราบว่าครูเขียนอะไรบนกระดาน ขณะที่ครูเขียนไปก็อ่านออกเสียงดัง ๆ ให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นได้ยินด้วย หรือมอบหมายให้เด็กที่นั่งเรียนคู่กับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นเป็นผู้อ่านสิ่งต่าง ๆ ที่ครูเขียนบนกระดาน ถ้าเป็นเด็กที่เห็นเลือนลางควรนั่งใกล้กระดานดำ นอกจากนั้นใช้เครื่องช่วยสายตาประเภทกล้องส่องทางไกล
จริงหรือไม่ที่เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นมีสัมผัสพิเศษและมีสัมผัสอื่น ๆ ดีกว่าคนทั่วไป
ไม่จริงเลย เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นไม่มีสัมผัสพิเศษหรือสัมผัสอื่น ๆ ดีกว่าคนทั่วไป เช่น การได้ยิน ด้วยความจำเป็นตามธรรมชาติที่ต้องการใช้การฟังมาก ดังนั้นการฝึกฝนการฟังจึงเกิดเป็นทักษะ มิได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ถ้าคนทั่วไปฝึกฝนการฟังให้ดีก็จะเกิดทักษะเช่นกัน
ควรมีเทคนิคการสอนวิชาต่าง ๆ ให้แก่เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นได้อย่างไร
โดยทั่วไปการสอนวิชาพื้นฐานก็ใช้เทคนิคเดียวกับเด็กทั่วไปเพียงแต่จัดหาสื่อเฉพาะให้ เช่น สื่อภาพนูนที่สามารถใช้ประกอบการเรียนได้ทุกวิชา สื่อคณิตศาสตร์ ส่วนวิชาที่ต้องใช้เทคนิคการสอนเฉพาะ เช่น วิชาพละ วิชางานบ้าน วิชานาฎศิลป์ วิชาศิลปะ ที่ต้องปรับเทคนิคการสอนโดยใช้วิธีวิเคราะห์งาน ให้เลียนแบบจากการสัมผัส ให้เรียนจากตัวอย่างที่ทำไว้แต่ละขั้นตอนจนสำเร็จรูปหรือ/และดัดแปลงสื่อให้เหมาะสม เช่น การตีปิงปองลูกเลียดใส่กรวดในลูกปิงปองให้เกิดเสียงดัง
ควรให้ความสำคัญและดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นในด้านใดมาก ดูแลด้านความปลอดภัย การให้ความรัก และความอบอุ่นแก่เด็กด้วยการพูดคุย การสัมผัสด้วยเจตนาดี เพราะเด็กไม่สามารถสังเกตสายตาที่เมตตาของครูหรือหน้าตาที่เป็นมิตรของผู้คนได้
การสื่อความหมายกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นและเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจะทำอย่างไร
ต้องสื่อสารให้เหมาะสมกับระดับการเห็นและการได้ยิน โดยใช้วิธีดังนี้
- ภาษามือ (Sign Language) การสะกดนิ้วมือ (Finger Spelling)
- การสัมผัส การใช้วัตถุสิ่งของ การใช้ภาพที่เป็นสัญลักษณ์ (Tactile/Object/Picture Symbol)
- อักษรเบรลล์หรืออักษรปกติตัวโต (Braille of Large Print)
ครูที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นจะเรียนรู้อักษรเบรลล์ได้อย่างไร จากตำรา จากผู้รู้ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ศูนย์การศึกษาพิเศษ หรือจัดอบรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ เด็กสมองพิการจะสามารถเรียนหนังสือได้หรือไม่ เด็กสมองพิการ มีระดับความพิการที่แตกต่างกัน บางคนเป็นไม่มากก็สามารถเรียนหนังสือได้ไม่แตกต่างจากผู้อื่น แต่ถ้าบางคนที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวหรือเกร็งมาก หรือไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ ก็สามารถเรียนรู้ได้ดีเพียงแต่ต้องปรับกิจกรรม จัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องกับสภาพความพิการของเด็ก สมองพิการแต่ละคนให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม
ทำไมต้องให้การศึกษาแก่เด็กสมองพิการ เพราะเรียนแล้วเด็กก็เอาไปใช้ไม่ได้ ทำงานไม่ได้ เพราะเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ไม่ว่าเด็กจะมีความพิการหรือไม่ก็ตาม และเป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่จะต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเด็กพิการยิ่งต้องได้รับการส่งเสริมให้ได้รับการเรียนรู้และพัฒนาเต็มตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน โดยจะต้องหาวิธีการเรียนรู้หรือสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนที่จะช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดี
การรับเด็กสมองพิการ หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางกายเข้าเรียนในโรงเรียนจะปลอดภัยหรือเป็นผลดีกับเด็กหรือไม่เพราะอะไร ครูส่วนใหญ่มักกังวลว่าเด็กจะเกิดอันตรายได้ง่ายและดูแลยากซึ่งเด็กสมองพิการหรือเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายส่วนใหญ่จะระมัดระวังตนเองได้ ยกเว้นกรณีที่เด็กมีความบกพร่องทางร่างกายมาก อย่างไรก็ดี ครูควรจัดสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตราย เช่น ไม่มีสิ่งกีดขวาง มีทางลาด การจัดที่นั่งสอดคล้องสภาพความพิการของเด็กแต่ละคน
ครูจะจัดกิจกรรมอย่างไรเมื่อมีเด็กสมองพิการในชั้นเรียนรวม ครูควรจัดให้เด็กสามารถเข้าออกห้องเรียนได้ง่าย มีการจัดโต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะสมกับเด็ก กิจกรรมการเรียนการสอนก็สามารถจัดให้เหมือนกับเด็กในชั้นเรียน แต่ถ้าเด็กมีอาการเกร็งมากก็จะต้องปรับให้ช้าลง หรือจัดหาสื่อ-อุปกรณ์ช่วยสอน และควรจัดให้มีระบบเพื่อนช่วยเพื่อนในชั้นเรียน กิจกรรมต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กด้วย ต้องส่งเสริมให้เด็กสามารถได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน
เมื่อมีเพื่อนในชั้นเรียนล้อเลียนหรือเรียกเด็กสมองพิการว่าไอ้เป๋ ไอ้พิการ ฯลฯ ครูจะทำอย่างไร ครูควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กสมองพิการ และเด็กที่มีความบกพร่องทางการร่างกายให้เพื่อน ๆ ในชั้นเรียนได้รู้จัก ควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ช่วยให้เด็กได้ทำกิจกรรมด้วยกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือครูอาจจะใช้เป็นสถานการณ์จำลองให้เด็กทดลองเป็นเด็กพิการและทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้วถามความรู้สึกของเด็ก ๆ เหล่านี้ว่ารู้สึกอย่างไรซึ่งจะช่วยให้เด็กได้เข้าใจเด็กพิการมากขึ้น
เด็กสมองพิการต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพความพิการร่วมกับการเรียนหนังสือด้วยหรือไม่
เด็กสมองพิการจำเป็นที่จะต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องร่วมกับการพัฒนาทางด้านการศึกษาด้วย ซึ่งโรงเรียนอาจจะขอความช่วยเหลือหรือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เช่น กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด หรือการฝึกพูด หรือขอคำแนะนำด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับความพิการเพื่อให้เด็กสมองพิการหรือเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพของเด็กแต่ละคน
เด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพ หมายถึงเด็กกลุ่มใด เด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพ ได้แก่ เด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรังต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน หรือต้องรับการตรวจรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เช่น เป็นโรคลมชัก วัณโรค โรคหัวใจ โรคไต โรคภูมิแพ้ โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น
ครูควรให้การช่วยเหลือแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพอย่างไรบ้าง การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงสภาพความเจ็บป่วย เช่น ไม่ให้เด็กออกกำลังกายจนเหน็ดเหนื่อยมากเกินไป หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ไม่เร่งรัดเด็ก ต้องให้เวลาที่เหมาะสม และครูต้องเตือนเด็กในการดูแลตัวเอง และปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น การรับประทานยาและอาหารและการไปพบแพทย์ตามนัด เป็นต้น นอกจากนั้นยังต้องจัดสอนเสริมให้แก่เด็กเพื่อทดแทนเวลาที่เด็กสูญเสียไปกับการรักษาตัว
เด็กออทิสติก การจัดการศึกษาสำหรับเด็ก/บุคคลออทิสติก จะมีวิธีการอย่างไร การจัดการศึกษาสำหรับเด็ก/บุคคลออทิสติกนั้น เพื่อที่เด็กจะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เหมือนปกติทั่วไปในสังคมมนุษย์ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลควรใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กปกติ เพียงแต่ปรับให้เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละคน มีการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) และแผนการสอนรายบุคคล (IIP) มีเกณฑ์การวัดและประเมินผลตาม IEP มีจิตวิทยาในการเรียนการสอน และรู้ธรรมชาติของเด็กออทิสติก ก็จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนรู้ได้
การฝึกอาชีพ การประกอบอาชีพสำหรับเด็กและบุคคลเหล่านี้กระทำได้หรือไม่ ทำได้ เด็กบางคนมีความสามารถพิเศษในบางเรื่อง ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองและครูควรพยายามสังเกตเด็กว่ามีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องใดและทำกิจกรรมใดได้ดีตามศักยภาพของเด็กและบุคคลออทิสติกที่มีอยู่ มีอาชีพหลายอย่างที่คนเหล่านี้ทำได้ ยกตัวอย่างเช่น จิตรกร นักดนตรี นักเขียนโปรแกรม คอมพิวเตอร์ ผู้ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นักเขียน งานฝีมือต่าง ๆ เป็นต้น
เด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้ (LD) เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้เป็นกลุ่มเดียวกัน Learning Disabilities (LD) หรือไม่ เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ในห้องเรียนอาจเกิดจากการละเลยใส่ใจ ความเบื่อหน่าย ความไม่เข้าใจ การถูกเร่งเรียนจนเด็กเบื่อ หรือเป็นโรคสมาธิสั้นก็ได้ส่งผลทำให้ติดตามการเรียนในห้องเรียนไม่ทัน แต่ภาวะ Learning Disabilities (LD) เป็นความพิการเช่นเดียวกับเด็กตาบอด หูหนวก ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษทางด้านการแพทย์และการศึกษา ในการให้วินิจฉัยและปรับรายละเอียดการเรียนการสอนที่เฉพาะตัว
เมื่อไรจึงจะเรียกเด็กว่าเป็น Learning Disabilities (LD) แพทย์จะวินิจฉัยว่าเด็กเป็น Learning Disabilities (LD) ต่อเมื่อมีความสามารถในการอ่านหนังสือและ/หรือเขียนหนังสือและ/หรือคำนวณต่ำกว่าชั้นที่เด็กเรียน 2 ชั้นเรียน โดยที่มีระดับเชาน์ปัญญาปกติ และทำให้เด็กติดตามการเรียนตามปกติไม่ได้ มิได้เกิดจากภาวะอวัยวะพิการ ขาดโอกาสในการเรียน ปัญญาอ่อนหรือถูกละทิ้ง ไม่อยากเรียน หรือเป็นโรคทางจิตเวชอื่น เช่น ออทิสติก เป็นต้น
ครูจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเป็น Learning Disabilities (LD) ถ้าคุณครูศึกษาถึงระดับความสามารถของเด็กในการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือและดูที่การคำนวณเฉพาะตัวเลขที่ไม่มีโจทย์ จะทำให้เกิดความสงสัยว่าอาจเป็น Learning Disabilities (LD) และถ้าได้พูดคุยหรือสังเกตความสามารถนอกห้องเรียนก็จะเห็นแววของความฉลาดซึ่งจะแตกต่างจากเด็กปัญญาอ่อนชัดเจน ที่ทักษะการเรียนอาจเสียหายแบบเดียวกันแต่กลุ่มปัญญาอ่อนจะมีความลำบากในการช่วยตัวเอง และแก้ปัญหาต่าง ๆ ควรส่งเด็กที่สงสัยพบแพทย์ พร้อมข้อมูลของระดับการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และดูที่การคำนวณเฉพาะตัวเลขที่ไม่มีโจทย์ ตรวจเชาวน์ปัญญา ถ้า I.Q. ปกติร่วมกับซักประวัติไม่พบ ถ้าไม่พบภาวะอวัยวะพิการ การขาดโอกาสในการเรียน ปัญญาอ่อน หรือถูกละทิ้ง ไม่อยากเรียน หรือเป็นโรคทางจิตเวชอื่น เช่น ออทิสติก เป็นต้น แพทย์จะออกใบรับรองความพิการตามกฎหมายให้ เพื่อรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ และการศึกษาให้
ทำไมจึงไม่แยกเด็ก LD ออกจากเด็กปกติ เพราะจะทำให้ครูสอนง่ายขึ้น การแยกเด็ก LD ออกจากเด็กปกติจะทำในกรณีเพื่อการศึกษา แนววิธีการสอนและการจัดสอบเพื่อวัดความรู้ การสอนเด็กปกติรวมกับเด็ก LD จะทำได้ง่ายถ้าปรับระบบการสอนมาเน้นการทดลอง การดู และการฟังเพิ่มขึ้น และการ IEP สำหรับเด็กจะช่วยทำให้คุณครูในห้องรู้ว่าจะสอนให้ในระดับใด คุณครูจะได้ไม่ต้องกังวลกับรายละเอียดข้อมูลที่ต้องสอนทั้งหมดเท่าเด็กปกติ ยกตัวอย่างเช่น เด็ก LD อาจจะอ่านกาพย์ โคลง กลอน ฉันท์ ไม่ได้แต่ถ้ามีคนอ่านให้ฟังก็จะจำได้เท่าคนอื่น เป็นต้น การมีห้องเสริมวิชาการ หรือ Sound Lab หรือ Audiovisual Room จะช่วยทำให้เด็กกลุ่มนี้พัฒนาความรู้ต่อไปได้ เด็กที่เขียนหนังสือเองแล้วอ่านไม่รู้เรื่องหรือเขียนผิดพลาด แต่พอลอกงานคนอื่นกลับทำได้ดี อย่างนี้จะเรียกว่าเป็น LD หรือไม่ จะวินิจฉัยว่าเป็น LD ด้านการเขียนหรือไม่จะต้องดูที่ความสามารถในการเขียนหนังสือเองว่าสามารถเขียนเองได้ดีในระดับการศึกษาชั้นไหน ถ้าความสามารถในการเขียนหนังสือต่ำกว่าชั้นที่เด็กเรียน 2 ชั้นเรียน โดยที่มีความระดับเชาวน์ปัญญาปกติ และทำให้เด็กติดตามการเรียนตามปกติไม่ได้ จึงจะเรียกว่ามีปัญหาในการเรียนรู้ โดยที่ความสามารถนั้นมิได้เกิดจากภาวะอวัยวะพิการ ขาดโอกาสในการเรียน ปัญญาอ่อนหรือถูกละทิ้ง ไม่อยากเรียน หรือเป็นโรคทางจิตเวชอื่น เช่น ออทิสติก เป็นต้น แต่ความสามารถในการเขียนหนังสือโดยการลอกตามแบบไม่เสียหาย ซึ่งใช้เพียงตาและมือทำงานประสานกันเท่านั้น เด็กจึงลอกงานเพื่อได้เร็วเท่ากับเด็กอื่น แต่ความสามารถในการเขียนหนังสือเองต้องใช้สมองส่วนที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวหนังสือซึ่งมีความเสียหาย บกพร่องทำให้การสะกด การเรียงตัวอักษร การสื่อความหมายผิดพลาด
การให้ความช่วยเหลือเด็ก LD จะมีแต่เฉพาะด้านการศึกษาเท่านั้นหรือ การให้ความช่วยเหลือเด็ก LD ทำได้หลายระดับ ขอให้ทำความเข้าใจว่าสภาพภายนอกของเด็กจะเหมือนเด็กปกติทุกอย่างพูดคุยได้ดีจนทำให้ไม่มีใครจะคิดว่าเด็กมีความพิการซ่อนเร้น ดังนั้นเมื่อผลการเรียนมีปัญหา พ่อแม่และครูจึงไปเพ่งเล็งว่า เป็นผลจากความขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบของเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากการวัดผลทางการศึกษามิได้วัดคุณภาพการอ่านหนังสือ การเขียนและการคำนวณ กลุ่มนี้จึงโดนดุว่าจากพ่อแม่และครูมากมายและตัวของเด็กเองก็บอกไม่ได้ว่าพวกเขามีความพิการซ่อนเร้นอยู่ ดังนั้นการค้นพบและวินิจฉัยโรคจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจข้อจำกัดของเด็ก ปรับความคาดหวัง รวมทั้งปรับแนวทางการสอนเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้สูงสุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ และมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเพื่อน ๆ ซึ่งแต่เดิมเด็กกลุ่มนี้จะถูกคัดออกจากโรงเรียนไปใช้ชีวิตที่ลำบากตั้งแต่เด็ก เนื่องด้วยปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เป็นเหตุทำให้คุณครูสอนต่อไปไม่ได้อย่างน้อยให้เด็กได้รับรู้ถึงจุดที่เป็นปัญหาว่าที่พวกเขามีผลการเรียนไม่ดีเป็นเพราะผู้ที่อยู่รอบข้างไม่เข้าใจ และเอามาตรฐานเด็กปกติมาวัดคว