รายงานจากเวทีเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป(ภาคใต้) “ศิลปะ” สร้างสรรค์ประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคม
“ศิลปะ” สร้างสรรค์ประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคม
สัญจรผ่านมาแล้ว 2 ภาคทั้งภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คราวนี้ถึงคิวเมืองด้ามขวานอย่างภาคใต้บ้างสำหรับการสัมมนาของเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป เมื่อวันที่ 22-23 ม.ค. ที่ผ่านมา ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษาที่เกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยมีศิลปินสาขาต่างๆ ในจังหวัดภาคใต้เข้าร่วมอย่าง สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม ปฏิมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์)/สาขาวรรณกรรม(กวี-นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์)/และสาขาศิลปะการแสดง (ร่วมสมัย และพื้นบ้านพื้นเมือง) กว่า 120 คน ที่มารวมกันเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่อง "ศิลปะจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมไทยได้อย่างไร?"
เกี่ยวกับเรื่องนี้นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ รองประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป บอกว่า สังคมไทยในปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำกันมาก การนำศิลปะและศิลปินมามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ประเทศจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะมนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์อื่นเพราะมีลำตัวตั้งตรง สองแขนเป็นอิสระและยังมีมือที่วิเศษที่สุด โดยนิ้วหัวแม่มือสามารถจับกับทุกนิ้วได้ อีกทั้งยังมีสมองที่เลอเลิศ มีคุณภาพสูงสุด ทำให้มนุษย์สามารถประดิษฐ์คิดค้นอะไรออกมาได้มากมาย ซึ่งสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นจะแบ่งได้ 3 ส่วนโดย 1.ผ่านวิชาวิทยาศาสตร์ (ที่ว่าด้วยความจริง) 2.ผ่านวิชาสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ (ที่ว่าด้วยความดี) และ 3.สุนทรียศาสตร์ (ที่ว่าด้วยความงาม) นี่จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ทำให้มนุษย์สามารถใช้งานศิลปะมาเปลี่ยนแปลงสังคมได้
“อีกทั้งนำยุทธศาสตร์ 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา อย่างยุทธศาสตร์ความรู้ ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวสังคม และยุทธศาสตร์ผลักดันในเชิงนโยบาย มาใช้ควบคู่กันไปจะทำให้ปัญหาที่ยากๆ สามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้นแล้วการปฏิรูปจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมขึ้นมากขึ้นได้” รองประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปบอก
ด้านนายสถาพร ศรีสัจจัง ประธานอนุกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป ภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาของชาติที่เผชิญหน้าอยู่มันหนักเกินไปที่คนคนเดียวหรือคนเพียงกลุ่มเดียวจะรับภาระหรือขับเคลื่อนมัน เชื่อว่าการเกิดมิติการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนน่าจะเป็นตัวชี้ขาดและเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนได้ ซึ่งศิลปินไม่ว่าจะเป็นสาขาไหนก็ตาม น่าจะเป็นกลุ่มพลังที่สำคัญกลุ่มหนึ่งของสังคมที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างที่จับต้องและเห็นจริงได้ การรวมตัวกันในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นเพราะความเจตนา ความเชื่อ และแนวคิด นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของภาคใต้ที่กลุ่มศิลปินมาพบปะพูดคุยกันอย่างออกรส จริงจัง จริงใจ และเปี่ยมเต็มไปด้วยความคาดหวังที่จะร่วมรับรู้ และแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีศิลปินที่เด่นๆ อีกมากมายร่วมในการระดมความคิดเห็น อาทิ รศ.นิคอและห์ ระเด่นอาหมัด จากม.ราชภัฏยะลา / รศ.พิเชษฐ์ เปียกลิ่น คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จากม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี / ท่าน "ดอกเข็มป่า" จากสำนักสงฆ์บ้านไร่ / อ.ชิโนรส รุ่งสกุลคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณสงขลา และศิลปินจากตรัง ภูเก็ต สุราษฎร์ฯ และที่อื่นๆ อีกไม่น้อย สาขาวรรณศิลป์ นำโดย "มือเรื่องสั้น"จำลอง ฝั่งชลจิตร / อ.สาทร ดิษฐ์สุวรรณ / อ.เพ็ญณภัทร ธรรมโชติ / กานติ ณ ศรัทธา / รมณา โรชา / ดวงแก้ว กัลยา / พนม นันทพฤกษ์ / มนตรี ศรียงค์ / วรภ วรภา / ไพชัฎภูวเชษฐ์ / ภิญโญ เวชโช และแวอาซีซะห์ดาหะยี เป็นต้น
สาขาศิลปะการแสดง หนัง อ.ณรงค์ ตะลุงบัณฑิตจาก จังหวัดตรัง / หนัง ผวน สำนวนทอง หรือ อ.ผวนเส้งนนท์ จากพัทลุง / หนัง อ.บุญธรรม เทิดเกียรติชาติ จาก"มหาวิชชาลัย" นครศรีธรรมราช / หนังประเสริฐ รักษ์ทอง ฯลฯ โนรานกน้อย ชำนาญศิลป์ / โนราละไมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ / โนราวราภรณ์ นุ่นแก้ว ลูกสาว "โนราเติม-วิน-วาด" / โนราอ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ เป็นต้น ฝ่ายดีเกร์ฮูลูนั้นมี เจ๊ะปอ สะแม จากปัตตานี มาเป็นตัวแทน นอกนั้นก็มีเพลงบอกและศิลปินอื่นๆ อีกมากมาย ฝ่ายคีตศิลป์-หรือนักร้องนักดนตรีนั้นนำทีมโดยแสง ธรรมดา / หนุ่ยหยาดน้ำค้าง / "แม็ค" จากวงรองแง็ง / อ.ดุสิต ศิริรักษ์ จากวง "กอและห์" มีตัวแทนวงจากยะลา-ภูเก็ตสุราษฎร์ฯ-ตรัง-กระบี่ และนักร้องนักดนตรีอิสระมากมาย
ซึ่งที่น่าจับตามองของการสัมมนาของเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป ภาคใต้อีกเรื่องคือมีเยาวชนที่มีแววจะสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพในอนาคตเข้าร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นด้วยกว่า 20 คน โดย 5 คนในจำนวนนั้นเป็นเยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สนใจการปฏิรูปครั้งนี้เพียงเพื่อหวังจะใช้งานศิลปะที่ชอบสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นด้วย...
นายมูฮัมมัด ยือโร๊ะ เยาวชนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่ทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนที่มีสื่อการสอนอยู่อย่างไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เด็กและเยาวชนในชนบทขาดโอกาสในการใช้สื่อการเรียนที่ดีทำให้ชีวิตขาดสุนทรียะในบางเรื่องไปโดยเฉพาะเรื่องของ ”ศิลปะ”ซึ่งเป็นเรื่องที่จรรโลงใจ หากสร้างบรรทัดฐานให้เด็กและเยาวชนได้รับสื่อที่เท่าเทียมกัน เชื่อว่าประเทศจะมีการพัฒนาและสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
“ผมได้อ่านวรรณกรรมเรื่องแรกตอนเรียนอยู่ปี 2 ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะช้าไปสำหรับการเริ่มอ่านหนังสือดีๆ ซึ่งผมคิดว่าเยาวชนหลายๆ คนในชนบทก็คงเป็นเช่นเดียวกัน ...แต่ก็เป็นเรื่องดีเพราะนั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมใจเย็นขึ้น มีสมาธิ มีจิตใจจดจ่ออยู่กับการอ่านอะไรยาวๆ ได้นานขึ้น ซึ่งที่สำคัญที่เป็นการจุดประกายให้ผมสามารถสร้างสรรค์ผลงานในด้านวรรณกรรมในหลายๆ ชิ้นออกมาได้” นายมูฮัมมัด ยือโร๊ะ เล่าอย่างภาคภูมิใจ
ไม่ว่าข้อสรุปที่จะนำไปเสนอต่อสมัชชาเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เดือนมี.ค.54 จะออกมาเช่นไร? สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของศิลปินครั้งนี้และเป็นเสมือนเครื่องช่วยต่อลมหายใจในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ สู่สังคมนั่นคือ “พลังแห่งความหวัง” ...หวังให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ และสามารถลดความเหลื่อมล้ำลงได้อย่างแท้จริงนั่นเอง...
ฤทัยรัตน์ ไกรรอด
เจ้าหน้าที่แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์