กิจกรรมที่ 1เวทีสัมมนาปัญหาและสำรวจการเรียนรู้เพศศึกษาในเยาวชน
กิจกรรมที่ 1
การสำรวจเก็บข้อมูลการเรียนรู้เพศศึกษาของเยาวชน
เวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การปัญหาการเรียนรู้เพศศึกษาในเยาวชน
การสัมภาษณ์บุคคลที่มีแนวคิดทางสังคมต่อการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา
การสำรวจเก็บข้อมูลการเรียนรู้เพศศึกษาของเยาวชน
กรอบความคิดรวบยอดในการดำเนินงาน
เนื้อหากิจกรรมการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา โดยเฉพาะเยาวชนระดับประถมศึกษาตอนปลายนี้ จะต้องออกแบบและพัฒนามาให้สอดคล้องและเหมาะสมกับผู้เรียนรู้ตามความเป็นจริง หนทางที่จะทำให้แผนการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษานี้ได้ตอบสนองผู้เรียนในวัยดังกล่าว จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้เรียนได้มีส่วนในการกำหนดเนื้อหาที่อยากจะเรียนรู้ ทั้งในส่วนเนื้อที่อยู่ในความสนใจตามพัฒนาการแห่งวัย หรือส่วนที่เกินกว่าขอบเขตนั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาต้องอยู่บนมิติที่หลากและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม ของตัวเยาวชนเอง
การเก็บข้อมูลการเรียนรู้เพศศึกษาของเยาวชน จึงเป็นกิจกรรมเชิงสำรวจสภาพความเป็นจริงของลักษณะเยาวชนที่เป็นอยู่ ทั้งวิธีคิด ความเข้าใจพื้นฐาน ความเชื่อค่านิยม รวมถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเพศต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจให้รู้จักผู้เรียนรู้มากขึ้น ทั้งยังเป็นการประเมินผู้เรียนระดับเบื้องต้น ที่สำคัญคือ การนำผลการสำรวจมาสังเคราะห์เป็นข้อมูลประกอบนำเข้าสู่การออกแบบแผนกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่เด็กจะได้เรียนรู้ต่อไป
ในการการพูดคุยและการนำเสนอของเยาวชนถึงข้อมูลเกี่ยวกับเพศศึกษาที่โครงการต้องการนั้น ควรจะสร้างกลวิธีที่เหมาะสมเช่น และต้องออกแบบวิธีการให้สอดคล้องเช่นกัน และการทำความเข้าใจเบื้องต้นต่อการแสดงความเห็นและพูดคุยกับเยาวชนเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ กิจกรรมที่ใช้ในการสำรวจนี้จะต้องสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับเยาวชนในฐานะผู้เปิดเผยความคิดแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะไม่คุ้นเคยในการคุยเรื่องนี้นัก ฉะนั้นการใช้รูปแบบกิจกรรมการสำรวจที่อยู่บนพื้นฐานของความสนุกและจริงจังจริงใจในการนำเสนอข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การดำเนินงานเก็บข้อมูล
การเก็บข้อมูลครั้งนี้เพื่อมุ่งสำรวจลักษณะความเป็นจริงของประเด็นทางเพศที่ปรากฏในเยาวชน ในระดับประถมศึกษาตอนปลาย สำรวจถึงความรู้ความเข้าใจพื้นฐานและประเด็นเรื่องเพศที่เยาวชนกลุ่มตัวอย่างต้องการที่จะให้จัดการเรียนการสอน สำรวจทัศนคติ และพฤติกรรมที่เกี่ยวโยงกับประเด็นทางเพศของเยาวชน โดยใช้กิจกรรมกลุ่มที่ออกแบบเป็นลำดับขั้นตอน เป็นเครื่องมือในการสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลนำไปสู่การสังเคราะห์หาข้อสรุปตามโจทย์การสำรวจ โดยมีกระบวนการดำเนินงานบนพื้นฐานแนวคิดการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualitative Research)
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสำรวจความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมเกี่ยวโยงกับประเด็นทางเพศที่พบในเยาวชนกลุ่มตัวอย่าง
2. รวบรวมความคิดเห็นเนื้อหาเพศศึกษาส่วนที่เยาวชนสนใจอยากเรียนรู้
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
การกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงาน ได้อาศัยการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสงขลา โดยพื้นที่ที่กำหนดได้แก่ เขตพื้นที่การศึกษาสงขลาที่ 2 โดยการพิจารณาจากลักษณะภายในขอบเขตของพื้นที่มีความหลากหลาย ซึ่งประกอบด้วย 5 อำเภอ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ อ.คลองหอยโข่ง อ.บางกล่ำ อ.ควนเนียง และ อ.รัตภูมิ จากการสอบถามและรวบรวมข้อมูลจาก กลุ่มงานนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต 2 ได้รับคำแนะนำให้ทางคณะผู้ดำเนินการเก็บข้อมูล วางแผนกระจายการเก็บข้อมูลในทุกอำเภอของเขตพื้นที่เพื่อความครอบคลุม จากนั้นทางกลุ่มงานนิเทศติดตามฯ จะเลือกโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive sampling) มาอำเภอละหนึ่งโรงเรียน โดยเลือกโรงเรียนที่มีลักษณะการจัดการเรียนการสอนเพียงระดับประถมศึกษา รวมจำนวนโรงเรียนกลุ่มตัวอย่าง 10 โรงเรียน
เขตอำเภอหาดใหญ่ ได้แก่ โรงเรียนโรงเรียนวัดทุ่งลุงมิตรภาพที่ 198 และ โรงเรียนวัดควนลังมิตรภาพที่ 11
เขตอำเภอบางกล่ำ ได้แก่ โรงเรียนบ้านยางงาม และ โรงเรียนบ้านบางกล่ำ
เขตอำเภอควนเนียง ได้แก่ โรงเรียนบ้านควนเนียง และ โรงเรียนบ้านเกาะใหญ่
เขตอำเภอรัตภูมิ ได้แก่ โรงเรียนวัดคูหาใน และ โรงเรียนวัดเจริญภูผา
เขตอำเภอคลองหอยโข่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดโคกม่วง และโรงเรียนวัดเลียบ
และได้ดำเนินการเจาะจงประชากรสำหรับการเก็บข้อมูลเป็น นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของแต่ละโรงเรียนกลุ่มตัวอย่าง รวมทั้งหมดประมาณ 200 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเรื่องเพศศึกษาจากเยาวชนนี้ ได้กำหนดในรูปแบบกระบวนการกิจกรรม ซึ่งพัฒนาจากแนวคิดทางกระบวนการทางศิลปะที่มุ้งเน้นให้เยาวชนได้แสดงสะท้อนความรู้สึก ความเห็น ความคิด ต่อสิ่งที่กำหนดให้ โดยเลือกแนวทางการเกิดขึ้นของความคิดความรู้สึกเป็น 2 ลักษณะคือ การแสดงทัศนะความเข้าใจอย่างฉับพลันต่อสิ่งที่รับรู้ และ การแสดงความเข้าใจความคิดที่ผ่านการพิจารณาทบทวน
รูปแบบของกิจกรรมและขั้นตอน
การเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้น ได้พัฒนามาจากเกมเพื่อการเรียนรู้ โดยออกแบบกระตุ้นให้เยาวชนได้ตื่นตัวในการแสดงความคิด ภายใต้บรรยากาศความสนุกสนานผ่านการแสดงออกทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่ม โดยมีลำดับขั้นตอนกิจกรรมดังนี้
ขั้นแนะนำกิจกรรม
ผู้เก็บข้อมูลแนะนำที่มาที่ไปของการเก็บข้อมูล และอธิบายรูปแบบและรายละเอียดของกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยบอกกติกาการร่วมกิจกรรมดังนี้
1. ลงมือปฏิบัติอย่างเต็มที่ เมื่อต้องคิดก็คิดกันอย่างเต็มที่ เมื่อสนุกก็สนุกอย่างเต็มที่
2. เคารพกติกาในการเล่นแต่ละช่วงกิจกรรม
3. คำตอบที่ของทุกคน ไม่มีผิดไม่มีถูก หรือให้คะแนนใดๆ ฉะนั้นทุกคนควรจะแสดงออกทางความคิดความรู้สึกด้วยความจริงใจ ไม่โกหกหรือหลอกตัวเอง
ขั้นการอุ่นเครื่องสร้างบรรยากาศ
เริ่มกิจกรรมโดยการเล่นเกมเพื่อสร้างบรรยากาศ
และกระตุ้นความตื่นตัว
o เกมส์ ลมเพลมพัด
o เกมส์ ผึ้งแตกรัง
ขั้นนำเสนอและแสดงความคิดต่อโจทย์ที่กำหนด
ห้าคำในความรู้สึก
ให้แต่ละคนแสดงความรู้สึกต่อคำต่างๆเหล่านี้ ภายในเวลาที่จำกัด
o อวัยวะเพศชาย
o ครอบครัว
o ประจำเดือน
o น้ำเชื้อของผู้ชายหรืออสุจิ
o อวัยวะเพศหญิง
จากนั้นให้แต่ละคนวิ่งเอาความรู้สึกต่อแต่ละคำไปติดบนกระดาษให้ตรงกับคำนั้นๆ และผู้นำกิจกรรมสุ่มอ่านบางคำตอบของแต่ละคำ โดยไม่มีการแสดงความคิดและความรู้สึกต่อแต่ละคำตอบของนักเรียน
เขียนความคิด ลูกผู้หญิงลูกผู้ชาย
แบ่งกลุ่มแยกผู้หญิงผู้ชายกลุ่มละประมาณ 5-8 คน ผู้เก็บข้อมูลแจกกระดาษที่มี 2 ข้อความเขียนตรงกลงกระดาษว่า
o อะไรที่แสดงถึงความเป็นลูกผู้หญิง
o อะไรที่แสดงถึงความเป็นลูกผู้ชาย
โดยที่แต่ละกลุ่มจะได้กระดาษกลุ่มละ 1 ใบ และสีเมจิกกลุ่มละ 1 กล่อง ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดคำตอบภายในกลุ่มถึงคำที่เห็นในกระดาษ ภายในเวลา 15 นาทีจากนั้นให้แต่ละกลุ่มนำเสนอแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเพื่อน
ห้าคำถาม ท้าความคิด แบ่งกลุ่มๆละ 3 คน ร่วมกันคิดหาคำตอบต่อแต่ละคำถามต่อไปนี้ 1. ความรักเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง 2. ร่างกายของเราต้องเปลี่ยนแปลงเมื่อเป็นวัยรุ่น รู้สึกอย่างไร 3. ใครกันเป็นคนสร้างลูก ทำไม 4. เรามีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไร เพราะอะไร 5. เรามีสิทธิอะไรบ้างในร่างกายเราเอง
จากนั้นเก็บคำตอบของแต่ละกลุ่มนำไปรวบรวม
สนทนากลุ่มย่อย "เพศศึกษาที่อยากเรียนรู้"
แบ่ง 2 กลุ่มแยกหญิงแยกชาย
เพื่อที่จะพูดคุยแสดงความเห็นกันในเชิงลึกถึง
ประเด็นต่างๆในเรื่องเพศศึกษาที่เป็นข้อสงสัย
หรืออยู่ในความสนใจของเยาวชนและต้องการ
ให้มีการเรียนการสอนในประเด็นนั้นๆ
ขั้นปิดท้ายกิจกรรม
อธิบายถึง ผลของความคิดต่างๆที่ทุกคนแสดงออกจะนำไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อมูลเพื่อนำไปการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาต่อไป และเสริมแรงให้นักเรียนรู้ถึงความตั้งใจของทุกคนอันมีประโยชน์ต่อการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่ใช่เฉพาะตัวนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์กับเยาวชนคนอื่นด้วย
ขอบเขตการสังเคราะห์ข้อมูล
ข้อมูลเพศศึกษาของเยาวชนที่ได้นำเสนอแสดงออกต่อโจทย์ที่เกิดขึ้นในกิจกรรม จะถูกวิเคราะห์จัดหมวดหมู่ และนำไปสู่การสังเคราะห์ข้อมูล ซึ่งในการดำเนินการการสังเคราะห์ข้อมูล จะมีขอบเขตของเนื้อหาประกอบด้วย 4 ส่วนได้แก่
ความรู้ (Knowledge) ได้แก่ ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเพศศึกษา
ทัศนคติ (Attitude) ได้แก่ ความรู้สึก ความเห็นต่างๆ ต่อประเด็นทางเพศในมิติต่างๆ
พฤติกรรม (Behavior) ได้แก่ การแสดงออกต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเพศ
เนื้อหาเพศศึกษาที่อยากเรียนรู้ (Content) ได้แก่ ประเด็นทางเพศต่างๆที่เป็นข้อสงสัยหรืออยู่ในความสนใจของเยาวชน และต้องการให้มีการเรียนการสอนในประเด็นนั้นๆ
ผู้ดำเนินการศึกษา
ภาระหน้าที่ของผู้ดำเนินการศึกษา จะอยู่ในบทบาทผู้นำกิจกรรมขณะที่เก็บข้อมูลจากนักเรียน และเป็นผู้สังเคราะห์ผลจากการเก็บข้อมูลภายหลังจากที่เก็บข้อมูลได้ตามแผนการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้
ในบทบาทของผู้นำกิจกรรมขณะที่เก็บข้อมูลนั้น ต้องคอยกระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกต่อโจทย์ที่กำหนดให้โดยยึดตัวนักเรียนเป็นสำคัญในการแสดงความเห็น นั้นหมายถึงนักเรียนพร้อมที่จะร่วมกิจกรรมและแสดงความเห็นอย่างเต็มใจ ขณะเดียวกันต้องนำพากิจกรรมไปตามลำดับที่วางแผนไว้ ซึ่งอยู่ในขอบเขตของหน้าที่ในการเก็บข้อมูลไม่ใช้หน้าที่สอน ฉะนั้นขณะที่นำกิจกรรมแล้วมีการซักถามเพื่อทำความเข้าใจต่างๆต่อประเด็นเรื่องเพศของนักเรียน ผู้เก็บข้อมูลจะรวบรวมคำถามหรือข้อสงสัยนั้นไปสู่การหาคำตอบ และกลับมาจัดการเรียนรู้ภายหลังให้กับนักเรียนอีกครั้ง โดยในแต่ละครั้งของนำกิจกรรม มีข้อควรปฏิบัติข้อของการนำกิจกรรมในการผู้เก็บข้อมูล ดังนี้
1. ไม่ชี้นำคำตอบต่างๆให้กับนักเรียน
2. ไม่แสดงความเห็น หรือตีค่าของคำตอบที่เด็กแสดงออกมา เพราะจะมีผลต่อการแสดงคำตอบของกิจกรรมลำดับต่อไปที่นักเรียนพยายามตอบให้ตรงกับสิ่งที่ครูต้องการ
3. สื่อความรู้สึกสนุกสนานให้กับนักเรียน เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความคิดของนักเรียน
4. เสริมแรงให้กับนักเรียนเป็นระยะตามโอกาสที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการแสดงออกทางความคิด
ส่วนในบทบาทของผู้สังเคราะห์ข้อมูลของนักเรียนจากที่เก็บได้ ดำเนินการภายหลังจากที่รวบรวมได้ตามแผนปฏิบัติการ และคณะผู้เก็บข้อมูลดำเนินการวิเคราะห์และสังเคราะห์ร่วมกันตามแนวทางขอบเขตการสังเคราะห์ที่กำหนดไว้ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบแผนการสอนต่อไป
สำหรับในการเก็บข้อมูลครั้งนี้ คณะผู้เก็บข้อมูลประกอบด้วย 3 คน ได้แก่ โตมร อภิวันทนากร , รัตนสุดา ถาวรรัตน์ และ วรรณภา ยงค์สาโรจน์ ซึ่งเป็นทีมงานในกลุ่มมานีมานะทั้งหมด มีความถนัดในกิจกรรมพัฒนาเยาวชน โดยในการดำเนินการเก็บข้อมูลได้ยึดแนวคิดและข้อปฏิบัติตามที่การทำงานกำหนดไว้ และเตรียมการสนส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล
อภิปรายผลการสำรวจเชิงสังเคราะห์ข้อมูล
จากผลการศึกษา คณะผู้ทำการสำรวจได้อภิปรายผลการสำรวจตามขอบเขตการสังเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย 4 ส่วนที่ได้ตั้งไว้ในเบื้องต้นดังนี้
1. ความรู้ (Knowledge) ได้แก่ ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเพศศึกษา
จากการสังเกตเนื้อหาเพศศึกษาที่เยาวชนอยากเรียนรู้ พบว่าเยาวชนกลุ่มตัวอย่างสนใจ เนื้อหาในหัวข้อเกี่ยวกับสรีระเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเนื้อหาที่ต้องการจะเรียนรู้ ในมุมกลับการแสดงความสนใจในเนื้อหาดังกล่าว สามารถสะท้อนให้เห็นว่า เยาวชนยังมีความเข้าใจในเรื่องนี้เพียงบางส่วน เมื่อพิจารณาในแต่ละรายละเอียดเนื้อหาที่ต้องการเรียนรู้ เป็นความเข้าใจในเรื่องลักษณะและกลไกธรรมชาติของร่างกาย โดยเฉพาะมิติขององค์ประกอบ หน้าที่ การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติและการปฏิบัติดูแล ซึ่งขาดในมิติของกระบวนการทำงานของอวัยวะที่เชื่อมโยงสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ฉะนั้นระดับความรู้ความเข้าใจของเยาวชนกลุ่มตัวอย่างยังไม่ครอบคลุมความจริงในเชิงกระบวนการธรรมชาติของร่างกายทั้งหมด
ความรู้ที่มีอยู่ในเยาวชน บางส่วนเกิดจากการได้มีการเรียนการสอนมาบางเรื่องแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็เรียนรู้โดยตรงจากวิถีชีวิต ความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษาจึงขึ้นอยู่กับความสนใจและพัฒนาการทางด้านร่างกายของแต่ละคน วัยระดับประถมปลายกำลังอยู่ในช่วงที่ร่างกายเข้าสู่วัยรุ่น ความสนใจจึงอยู่กับเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายเสียมาก ฉะนั้นขอบเขตเนื้อหาความรู้เพศศึกษาที่เยาวชนมีอยู่แล้ว จึงสอดคล้องกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และพฤติกรรมทางเพศที่ได้เสพและเห็นในสภาพแวดล้อมรอบตัว เยาวชนจึงมีความรู้เดิมเรื่องเพศศึกษาในขอบเขตที่จำกัดไม่กว้างมากนัก เนื้อหาส่วนอื่นที่เยาวชนยังไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้ เช่น ความแตกต่างระหว่างเพศ การอยู่รวมกันในสังคมที่หลากหลายเพศ การเคารพซึ่งกันและกันระหว่างเพศ และอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะมิติทางสังคม วัฒนธรรม กฎหมาย และโรคติดต่อทางเพศต่างๆ
แนวโน้มการทำความเช้าใจต่อเนื้อหาเพศศึกษาที่สนใจ มีลักษณะแบบแยกส่วน ซึ่งขาดการทำความเข้าใจในแง่ความเชื่อมโยงเชิงระบบหรือความเกี่ยวพันธ์กับส่วนอื่น เช่น ระบบการทำงานของอวัยวะร่างกายที่สัมพันธ์กับจิตใจ สาเหตุและผลกระทบของพฤติกรรมทางเพศต่างๆชีวิต เป็นต้น
2. ทัศนคติ (Attitude) ได้แก่ ความรู้สึก ความเห็นต่างๆ ต่อประเด็นทางเพศในมิติต่างๆ
โดยภาพรวม ทัศนคติของเยาวชนกลุ่มตัวอย่างเพศชาย มีแนวโน้มความภาคภูมิใจต่อเพศตัวเองและมีความรู้สึกตื่นตัวอยากรู้ต่อเรื่องเพศ และได้มีมุมมองต่อเรื่องเพศเป็นเรื่องสนุกตื่นเต้น ส่วนทัศนคติทางเพศของเยาวชนกลุ่มตัวอย่างเพศหญิง จะมีแนวโน้มที่ไม่ค่อยดีเป็นกังวลขณะที่ร่างกายอยู่ในช่วงกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่นก่อนเพศชาย โดยเฉพาะทัศนคติต่อเรื่องการมีประจำเดือน ถึงแม้ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นเป็นปกติกับผู้หญิงทุกคน และส่งผลถึงทัศนคติต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ในเรื่องที่เกี่ยวกับภาวะความรู้สึกที่ปลอดภัยทางเพศ
เยาวชนชายจะมีทัศนคติต่อเพศหญิงว่า เป็นเพศที่ไม่แข็งแรงเท่าเพศตน ชอบใช้อารมณ์ รับผิดชอบและทำงานได้ดีกว่า ส่วนเยาวชนหญิงมีทัศนคติต่อเพศชายว่า เป็นเพศที่สบายกว่าเพศตน ไม่มีประจำเดือน ไม่ต้องตั้งครรภ์ ไม่ค่อยทำงานบ้าน ใช้ความระมัดระวังในชีวิตน้อยกว่า มีความกล้า เป็นผู้นำ เป็นต้น
ทัศนคติที่เป็นอยู่ของเยาวชน เกิดจากการเห็นพฤติกรรมที่แสดงออกทั้งคำพูด การกระทำ และความสามารถของทั้งเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งสังเกตได้จากชีวิตประจำวัน ทางบ้านและโรงเรียน
ทัศนคติของเยาวชนที่มีต่อเพศของตัวเอง เกิดจากการมองเทียบเคียงคนอื่น ทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม ซึ่งสะท้อนได้ว่าเยาวชนมีโอกาสน้อยในการทำความเข้าใจและรู้จักตัวเอง ฉะนั้นความภาคภูมิใจในความเป็นเพศของตัวเอง เกิดจาการพิจารณาถึงมาตรฐานทางสังคมเป็นหลัก
3. พฤติกรรม (Behavior) ได้แก่ การแสดงออกต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเพศ
เยาวชนโดยเฉพาะเพศชาย มีพฤติกรรมการเสพสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ 2 สื่อหลักได้แก่ หนังสือการ์ตูนและซีดีโป๊ ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทางเพศตามมา เช่น แอบจับหน้าอกแอบจูบเพื่อนหญิง ชวนกันรวมกลุ่มกันเสพสื่อกันมากขึ้น และมีผลต่อความเข้าใจเรื่องเพศไปในทางที่ผิด โดยที่เยาวชนผู้ที่เสพสื่อดังกล่าวไม่อาจเท่าทันเจตนาของผู้ผลิตผู้ขายสื่อนั้น และไม่ทันสภาวะเกิดขึ้นกับตัวเองที่เป็นผู้ถูกกระตุ้นจากสื่อ
กลุ่มเพื่อนมีบทบาทมากต่อพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศของเยาวชนทั้งหญิงและชาย ซึ่งมีผลและผลักดันให้เกิดพฤติกรรมทางเพศต่างๆได้ เช่น การให้เงินแก่แฟนใช้ประจำของเยาวชนหญิงซึ่งเห็นพฤติกรรมตัวอย่างจากเพื่อนสนิทแล้วเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ไม่ผิดปกติอะไร การแกล้งเปิดกระโปงผู้หญิง การเห็นตัวอย่างการแสดงของความชื่นชอบเพศตรงข้ามโดยการสัมผัสจับมือถือแขน
เยาวชนไม่กล้าที่จะเตือนเพื่อนต่อการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเห็นเป็นเรื่องสิทธิส่วนตัวของแต่ละคน
เยาวชนรู้สึกถึงการมีคุณค่าของตัวเองจากพฤติกรรมการแสดงออกของผู้อื่นต่อตนเอง เช่น การที่มีเพศตรงข้ามมาชื่นชมและแสดงความรัก การได้ทำตามพฤติกรรมเพื่อนแล้วได้รับการยอมรับ เป็นต้น
พฤติกรรมการแสดงออกของเยาวชนในเรื่องเพศนั้นได้รับอิทธิพล ตัวอย่างจากการแสดงออกของบุคคลอื่นในชีวิตประจำวัน ค่านิยมทางเพศที่ปรากฏอยู่วิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมในชุมชน ที่สำคัญคือ สื่อที่อยู่ในความสนใจและได้เสพในแต่ละวันของเยาวชน
พฤติกรรม บุคลิก และการแสดงของเยาวชนที่มีแนวโน้มชวนให้เพื่อนหรือผู้พบเห็นเข้าใจว่า เป็นเพศที่สาม เป็นปัญหากับตัวต่อเจ้าตัวเอง เนื่องจากส่วนใหญ่มองเห็นเป็นเรื่องตลกและแปลกแตกต่างจากปกติส่วนใหญ่ ส่งผลให้เกิดการแกล้ง หยอกล้อ ไม่ถูกยอมรับให้อยู่รวมกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระดับความคิดของเยาวชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มองเพื่อนที่มีบุคลิกดังกล่าวในฐานนะความเป็นมนุษย์ที่เหมือนๆกัน
เยาวชนมองไม่เห็นถึงผลที่อาจเกิดขึ้นตามจากพฤติกรรมที่เกี่ยวโยงทางเพศต่างๆ และตัวเยาวชนเองมีความต้องการที่จะอยากรู้จักมากขึ้น จึงไม่เกิดพฤติกรรมที่จะปฏิเสธการชักชวนให้ร่วมพฤติกรรมนั้นๆจากเพื่อนหรือคนสนิทใกล้ตัว
4. เนื้อหาเพศศึกษาที่อยากเรียนรู้ (Content) ได้แก่ ประเด็นทางเพศต่างๆที่เป็นข้อสงสัยหรืออยู่ในความสนใจของเยาวชน และต้องการให้มีการเรียนการสอนในประเด็นนั้นๆ
โดยภาพรวม เนื้อหาเพศศึกษาที่อยู่ในความสนใจใคร่เรียนรู้ของเยาวชนประดับประถมปลาย คือ เนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องสรีระ การทำงานทางด้านร่างกาย ของเพศตนเองและเพศตรงข้าม เนื้อหาที่เยาวชนเพศชายต้องการจะเรียนรู้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศตัวเอง เช่น เพศสัมพันธ์ พฤติกรรมทางเพศผู้ชาย อสุจิ และต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องเพศตรงข้าม เช่น ประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงร่างกายของเพศหญิงเมื่อเข้าวัยรุ่น ส่วนเนื้อหาเพศศึกษาที่เยาวชนเพศหญิงต้องการจะเรียนรู้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศตัวเอง เช่น ประจำเดือน การตั้งครรภ์ หน้าอก และยังสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงพฤติกรรมของความรู้สึก เช่น ความรัก การแสดงออกของความรัก พฤติกรรมต่างๆของเพศตรงข้าม เป็นต้น
ระดับความต้องการของเนื้อหาเรื่องเพศศึกษาที่เยาวชนต้องการจะเรียนรู้ อยู่ระดับที่ไม่ลึกซึ้งมาก ต้องการคำตอบหรือคำอธิบายต่างๆในลักษณะที่เข้าใจในหน้าที่ วิธีการ ให้ความหมายต่อสิ่งที่สงสัยได้ในเชิงรูปธรรมมากกว่านามธรรม โดยจะคิดเทียบเคียงกับพฤติกรรมและการกระทำที่ปรากฏในชีวิต
เนื้อหาเพศศึกษาที่เยาวชนสนใจ จะเป็นเรื่องราวที่ปรากฏในสื่อที่เยาวชนสนใจ พฤติกรรมที่ปรากฏในสังคมชีวิตประจำวัน และพัฒนาทางเพศของเยาวชนที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นภาวะแห่งวัย ฉะนั้นสิ่งที่ต้องการอยากเรียนรู้ ความเข้าใจในปรากฏการณ์ต่างๆที่เกี่ยวโยงกับประเด็นทางเพศ ที่พบเห็น
เวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การปัญหาการเรียนรู้เพศศึกษาในเยาวชน
ความคิดรวบยอดในการดำเนินกิจกรรม
กิจกรรมเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องปัญหากาเรียนรู้เพศศึกษาในเยาวชน เป็นการจัดโอกาสให้กับครู/อาจารย์ของแต่ละโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา 2 สงขลาได้เข้าร่วมโครงการ โดยการดำเนินงานตั้งอยู่บนสมมติฐานที่เชื่อว่า ครู/อาจารย์ทุกท่านได้มองเห็นถึงปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศของเยาวชนไว้ในใจ แต่ขาดโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นทางการ การจัดเวทีสัมมนานี้จึงเกิดขึ้น โดยใช้กระบวนการในเวทีที่เน้นการมีส่วนร่วม ผ่านการลงมือปฏิบัติการร่วมกันของผู้เข้าร่วมสัมมนาให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น มุมองต่อสถานการณ์ทางเพศที่เกิดขึ้นกับนักเรียนระดับประถมศึกษา ช่วยกันพินิจพิเคราะห์ลักษณะที่เยาวชนกำลังเป็นอยู่ วิเคราะห์สาเหตุของสถานการณ์ทางเพศที่เกิดขึ้นๆ และค้นหาความคาดหวังรวมทั้งแนวทางในการที่ช่วยกันทำให้กับเยาวชนโดยเฉพาะวัย 11-12 ปีที่กำลังเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัวเกิดความเข้มแข็งต่อสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุทางเพศในวิถีชีวิตปกติ
กิจกรรมเวทีสัมมนานี้ ได้ถูกให้ความสำคัญของกิจกรรมต่อโครงการ 2 อย่าง อย่างแรกเป็นกลวิธีที่กระตุ้นครูอาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมให้เกิดความตื่นตัวในการมองปัญหาทางเพศของเยาวชนร่วมกันและนำมาสู่การแลกเปลี่ยนความคิดมุมมองช่วยกันค้นหาทางออกของปัญหาที่เยาวชนเผชิญ ภายใต้บทบาทของความเป็นครูอาจารย์ อย่างที่สอง เป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของครูอาจารย์ต่อโครงการ ในการช่วยกันพัฒนาแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาในระดับประถมปลาย โดยการนำผลทางความคิดที่เกิดขึ้นจากการเวทีสัมมนานี้ เป็นข้อมูลประกอบในการออกแบบและทดลองการสอนกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินงานในส่วนกิจกรรมที่ 3 ของโครงการ
อีกมิติหนึ่งของการจัดกิจกรรมเวทีนี้ จะเป็นการสร้างฐานของการของการเชื่อมโยงครูในแต่ละโรงเรียนของพื้นที่เป้าหมายโครงการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ค่อยๆสานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนให้แน่นแฟ้นขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเป็นเครือข่ายครูในอนาคต ซึ่งเป็นความคาดหวังระยะยาวของการดำเนินงาน แต่การดำเนินงานในส่วนนี้ขึ้นอยู่บนการจัดกระบวนการโดยกำหนดให้ครูอาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการเป็นสำคัญ นั้นหมายถึงผลจะเกิดขึ้นในระยะยาวก็ขึ้นอยู่ความพร้อมและความตื่นตัวของกลุ่มครูอาจารย์นี้
รายละเอียดการดำเนินงาน
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ครูอาจารย์ที่ได้เกิดการวิเคราะห์สถานการณ์ทางเพศของเยาวชนร่วมกันและค้นหาแนวทางการสร้างเข็มแข็งให้เยาวชนต่อปัญหาเรื่องเพศ
กลุ่มเป้าหมาย
ครูอาจารย์ของเขตพื้นที่การศึกษาเขต 2 สงขลา จำนวน 27 คน จาก 19 โรงเรียน
วิธีดำเนินงาน
1. จัดกระบวนการที่เน้นครุอาจารย์ที่เข้าร่วม เป็นสำคัญ
2. ใช้กระบวนการเวทีแบบมีส่วนร่วมผ่านการอภิปรายกลุ่มย่อย / นำเสนอกลุ่มใหญ่ ตามประเด็นของกระบวนการเวที
3. กระตุ้นให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันในเวทีผ่านกิจกรรมสันทนาการและเกมส์
รายละเอียดการดำเนินงานการจัดเวที
รูปแบบเวที
การจัดเวทีเวทีระดมความเห็นและค้นคิดกิจกรรมด้านเอดส์ในครั้งนี้ ได้คำนึงถึงลักษณะพื้นฐานเดิมของครูอาจารย์ที่เข้าร่วมเป็นสำคัญ ทั้งในเรื่องประสบการณ์ ความสนใจ ศักยภาพความคิดและความสามารถ การจัดและเลือกรูปแบบของเวทีต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เข้าร่วม โดยได้เลือกรูปแบบของการประชุมเชิงปฏิบัติการ ที่มีการเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งจะมีวิทยากรกระบวนการ(Facilitator) เป็นผู้นำการสัมมนาไปตามลำดับขั้นของกระบวนการเวทีตั้งแต่ต้นจนจบ ผ่านรูปแบบการร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนในกลุ่มย่อยที่คละครูอาจารย์จากต่างโรงเรียนกัน เมื่อได้อภิปรายและหาข้อสรุปกันในแต่ละกลุ่มย่อยแล้ว มีการนำเสนอสู่กลุ่มใหญ่เพื่อให้เห็นภาพรวมและอภิปรายแลกเปลี่ยนกันเพิ่มเติมอีกครั้ง ดำเนินการกันไปตามแต่ละหัวข้อในแต่ละช่วงของเวที
การจัดกระบวนการของเวทีลักษณะนี้ ผู้เข้าร่วมเป็นหัวใจสำคัญเวที เพราะต้องใช้ข้อมูลที่เกิดจากความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวผู้เข้าร่วมเวทีแต่ละคนมาร่วมแลกเปลี่ยน ซึ่งผลของเนื้อหาสาระหลักที่ได้จากการประชุมจึงมาจากครูอาจารย์แต่ละท่าน ส่วนบทบาทของวิทยากรกระบวนการจะเป็นเพียงผู้นำพาและกำหนดภาพรวมของเวทีให้ไปตามแนวทางของกระบวนการที่วางไว้ โดยมีวิทยากรกลุ่มย่อยประจำแต่ละกลุ่มช่วยในการกระตุ้นให้ความคิดของเยาวชนแต่ละกลุ่มมีความชัดเจนและได้ตามแนวทางที่โจทย์แต่ละช่วงกำหนดไว้
เป้าหมายเวที
เป้าหมายของการจัดเวที คือ ให้เกิดการเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และความคิดที่หลากหลายของครูอาจารย์ที่มาจากต่างโรงเรียน ให้ได้มาซึ่งการประเมินวิเคราะห์ลักษณะและสถานการณ์ทางเพศของเยาวชน และแนวทางในการจัดการเรียนรู้สร้างให้เยาวชนเกิดความเข้มแข็งต่อปัญหาทางเพศ อันนำไปเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบแผนการสอนเรื่องเพศศึกษาในระดับประถมต่อไป
สถานที่
ห้องสัมมนา B โรงแรมไดอิชิ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ระยะเวลา
วันที่ 4 มีนาคม 2548
กระบวนการและผลของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเวที
เริ่มต้นของกิจกรรมเวทีเมื่อเวลา 09:00 น. ด้วยการกล่าวต้อนรับครูอาจารย์ผู้เข้าร่วม 27 คน จาก 19 โรงเรียน ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ 2 สงขลา จากนั้นได้ชี้แจงถึงที่มาที่ไปของโครงการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาในระดับประถมศึกษา และวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมเวทีครั้งนี้ คือ เพื่อให้ครูอาจารย์ที่ได้เกิดการวิเคราะห์สถานการณ์ทางเพศของเยาวชนร่วมกันและค้นหาแนวทางการสร้างเข็มแข็งให้เยาวชนต่อปัญหาเรื่องเพศ ผ่านการสัมมนาแบบมีส่วนร่วม และได้นำเสนอให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของแต่ละกิจกรรมต่างๆในโครงการ โดยมีกลุ่มมานีมานะผู้รับผิดชอบกระบวนการเวทีในครั้งนี้ และดำเนินงานเป็นคณะวิทยากรกระบวนการของเวที พร้อมทั้งแนะนำคณะทำงานแต่ละท่าน
จากนั้นทางกลุ่มมานีมานะได้เรียนเชิญ อ.ชโลม เกตุจินดา ตัวแทนคระกรรมการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา ให้ภาพการดำเนินงานของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และการสร้างเสริมสุขภาพในระดับจังหวัด เพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหวในเรื่องสุขภาพในมุมกว้างเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายในปี 2547 และทางกลุ่มมานีมานะได้ทำความเข้าใจถึงรูปแบบการสัมมนาแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเน้นการลงปฏิบัติอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกันระหว่างผู้เข้าเวที ผนวกกับกิจกรรมเกมส์สร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดี ตามกระบวนการเวทีที่ออกแบบไว้ เพื่อให้ครูอาจารย์ทั้งหมดที่เข้าร่วมเข้าใจตรงกัน
กิจกรรมเริ่มต้นของเวที
เป็นการสร้างความคุ้นเคยและละลายพฤติกรรมระหว่างครูอาจารย์ที่มาจากต่างโรงเรียน ด้วย 2 เกมส์ ได้แก่ เกมส์แนะนำชื่อและเกมส์ผึ้งแตกรัง เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกันมากขึ้นก่อน จากนั้นตามด้วย กิจกรรมการหาความหมายความเข้าใจเบื้องต้นต่อคำวาว่าเพศศึกษา โดยให้เขียนคำอธิบายตามความเข้าใจของแต่ละคน แล้วให้รวมกลุ่มกัน 5 กลุ่มและอภิปรายกันในกลุ่มเพื่อหาข้อสรุปของกลุ่มในโจทย์ที่ว่า "เพศศึกษา เป็นการศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องอะไรบ้าง"
<img src="/library/img//funny/b2.gif" alt="" />กลุ่มหนึ่ง
เพศศึกษาเป็นการศึกษาเรียนรู้ในเรื่อง การอยู่รวมกันในครอบครัว หมายถึงการครองตน การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในเรื่องเพศ วัย ซึ่งต้องสัมพันธ์กับการอยู่สังคม การมีเพศสัมพันธ์ การรู้จักตนเองในด้านอายุ เพศ วัย การรู้จักฝ่ายตรงข้ามเพศ วัย ลักษณะเฉพาะนิสัย เพศในสังคม การศึกษาถึงวิธีการอยู่ร่วมกันและรู้จักสิทธิและหน้าที่ของแต่ละคน
กลุ่มสอง
เพศศึกษา เป็นการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ การมีเพศสัมพันธ์ และการป้องกันที่ถูกต้อง วิธีการป้องกันโรคติดต่อ พัฒนาการของวัยรุ่น การปฏิสนธิ เพศ วัย ระบบการเจริญเติบโต ความเข้าใจระหว่างเพศตรงข้าม
กลุ่มสาม
เพศศึกษา หมายถึง การให้ความรู้กับนักเรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงและความเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมของคนในวัยต่างๆ เพื่อให้สารารถนำความรู้ไปใช้ในการป้องกัน แก้ไขปัญหาที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น วัยเรียน ซึ่งมักเป็นปัญหาที่พบบ่อยในสังคม ปัจจุบัน
กลุ่มสี่
เพศศึกษาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับสรีระ การเปลี่ยนแปลงของเพศหญิง เพศชาย การเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัย เป็นการศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องเพศและสุขภาพอนามัย การป้องกัน การคุมกำเนิด พฤติกรรมเสี่ยงกับเรื่องเพศ การป้องกัน เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับสรีระของคน รู้จักร่างกายของตน แยกแยะ
Relate topics
- บทละครหุ่นเงาจากผลการเรียนรู้นักเรียนโรงเรียนบ้านยางงาม
- แบบทดสอบกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษา
- รายชื่อครูเข้าร่วมโครงการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรทางการละคร
- กิจกรรม 4 การประชุมสัมมนา การพัฒนากิจกรรมเรียนรู้เพศศึกษา
- กิจกรรม 3 กระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาด้วยกิจกรรมทางการละคร
- กิจกรรม 2 การสัมมนาแนวทางการพัฒนาการสอนเพศศึกษา
- ผลการดำเนินโครงการ
- สรุปแผนงานและกิจกรรมโครงการ
- สรุปการดำเนินงานโครงการ
- แนวคิดในการทำโครงการ
