สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

คลองรี : ถิ่นคนขึ้นตาลที่ไม่ใช้พะอง

by kai @14 ธ.ค. 50 00:00 ( IP : 222...169 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 860x1147 pixel , 333,473 bytes.

จาย  พ้นภัย เบ่งกล้ามแขนโชว์ความฟิต  แทบไม่น่าเชื่อว่า นี่คือเฒ่าวัย 71 ปี  ผู้ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิต  เดินทำมุมฉากกับพื้นดินสู่ปลายตาลโตนดวันละไม่ต่ำกว่า 120 เที่ยว

หลายคนมานั่งคุยกับเราบนแคร่ ในโรงเคี่ยวน้ำผึ้งโหนด บ้านเลขที่ 8 หมู่ 6 บ้านคลองหนัง ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

แดง คงสงฆ์  เพื่อนร่วมอาชีพขึ้นตาล

ประพันธ์ ทองบริบูรณ์ ผู้ใหญ่บ้านคลองหนัง

ประภาส ขำมาก หัวหน้าสถานีอนามัยตำบลคลองรี<br />

ต่างยกให้ "ลุงจาย" เป็นพระเอกของเรื่องนี้ ด้วยอาชีพขึ้นตาลโตนด แกสามารถส่งลูกเรียนจบได้ทั้ง 6 คน ล้วนแล้วแต่ทำงานดี มีหน้ามีตาในสังคมทั้งนั้น&nbsp; ลุงจายจึงได้รับการยกย่องเป็นคนดีศรีลูกโหนด ของอำเภอสทิงพระเมื่อปี พ.ศ.2546<br />

ทุกวันนี้ ลูก ๆ ต่างขอร้องให้พ่อหยุดพักงาน แต่ตัวแกเองนั้นไม่ยอม

คนขึ้นตาลที่นี่ ไม่ใช้ไม้ไผ่พาดปีนหรือที่เรียกว่า พะอง แต่ใช้กำลังแขน ขา ในการทำมาหากินล้วนๆ เหตุผลการปีนแบบนี้&nbsp; สืบเนื่อง เพราะถิ่นแถบนี้ หาไม้ไผ่ยาก<br />

ลุงจายเป็นชาวบ้านคลองรีโดยกำเนิด มาอยู่บ้านคลองหนัง เพราะ ช่วงนั้นภัยโจรชุกชุม ตอนออกจากบ้านเกิดใหม่ ๆ ไปอยู่ขนำ กับพี่น้องหลายคน  แกเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว

"บ้านคลองรีหมู่ 5 มาอยู่ บ้านคลองหนัง หมู่ 6 จนปัจจุบัน  ราว 40 ปีกว่าแล้ว  ผมช่วยพ่อขึ้นตาล เริ่มอายุ 15ปี ก็ขึ้นพ่อไม่ไห้ขึ้นก็ขึ้น"ลุงจาบเล่า คนที่นี่ วิถีชีวิตผูกพันกับ โหนด นา เล  อาชีพทำเงินสำหรับครอบครัวลุงจายอย่างแท้จริงคือโหนด หรือตาลโตนด เขาเรียนรู้วิชาขึ้นตาลตั้งแต่เล็ก

"รู้ว่าตาลผู้คาบกี่วัน ต้องเอาโคลนใส่บอก เอาไปแช่ไว้ 2 วัน 2คืน  ถ้าคาบหนักแช่เบา คืนหนึ่งกับ 2 วัน  ไม่งั้นตาย  ตาลเมียก็คาบไปอีกแบบ"

ชีวิตคนขึ้นตาล ไม่มีวันหยุด ยกเว้นฝนตกหรือหน้าโหนดวาย  ตื่นนอน ตีห้า เริ่มทำงาน  ตั้งแต่ยังไม่ได้แตะข้าวมื้อแรก  เดินลัดทุ่งไปพร้อมหาบกระบอกไม้ไผ่ว่างเปล่า  เมื่อถึงโคนโหนด เอากระบอกเปล่าเท่าจำนวนที่จะขึ้นไปเปลี่ยนกระบอกที่รองน้ำตาลห้อยเอว พร้อมมีดปาดตาล

ก่อนปีนต้นโหนดลุงจายมีความเชื่ออย่างหนึ่งต้องเอาฝ่ามือตบต้นแล้วกระแอมหนึ่งครั้ง เชื่อว่าปีศาจอยู่ข้างบน เขาจะได้รับรู้ จะได้หลีกเราไป เคยมีคนตกลงมาตายเพราะไม่เชื่อเรื่องนี้

งานบนยอดตาล  คือการปาดงวงตาล เปลี่ยนกระบอกรองรับใหม่  เอากระบอกบรรจุน้ำตาลสดลงมาข้างล่าง แต่ละต้นใช้10 กว่านาที    ต้องทำอย่างนี้ต้นละ 2 รอบ เช้า -บ่าย  วันละ 30 ต้น
สายหน่อยแม่บ้านจะเอาข้าวมาส่ง กินมื้อเช้าที่โคนต้นโหนด กลางวันอาจได้พักราว 2 ชั่วโมง เสร็จงานรอบบ่าย  ต้องกลับมานั่งเคี่ยว ลวกกระบอกน้ำตาลอีก  งานมีตลอด จึงได้เข้านอนราว 3 ทุ่ม เพื่อจะตื่นตี 5 เริ่มงานใหม่
" ไม่หยุดเลยทำแต่งาน กินเวลาเข้าไปกลางคืน เริ่มหัวรุ่งอยู่อย่างนั้น ได้พักเที่ยงนิดเดียว ตื่นขึ้นมา ลับมีดเสร็จอาจจะเริ่มที่โอวัลติน 1 แก้ว  ขึ้น 9-10 ต้นจึงได้กินข้าวเช้า ที่แม่บ้านนำไปส่ง แล้วขึ้นต่อ  กินมื้อเที่ยงที่บ้าน กินเข้าวเที่ยงเสร็จก็กลับไปขึ้นตาล ตอนนั้นจะกินแต่น้ำ กลับมากินข้าวอีกทีก็ตอนเย็นตอนราวทุ่มครึ่ง" ลุงจายเล่าว่าคนขึ้นโหนดใช้พลกำลังมากแต่กับข้าวไม่มีอะไรพิเศษ มีน้ำเคย ก็กินน้ำเคย ใช่ว่าต้องได้กินต้ม กระดูกหมู วัว บางที ไข่ต้ม 1-2 ฟอง

กระนั้นวันนี้ ลุงจายยังบ่นว่าสู้เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้แล้ว เพราะพวกเขาทำงานได้มากกว่า

"ร่างกายแข็งแรง เพราะเหมือนออกกำลังกายอยู่ตลอด" ประภาส ขำมาก หัวหน้าสถานีอนามัยคลองรี ว่า

"ถ้าสุขภาพไม่ดีขึ้นโหนดไม่ได้ เกิดไปเวียนหัวอยู่บนต้นโหนดจะลำบาก อาจจตก  ต้องดูว่าทนได้หรือไม่ ถ้าทนได้ก็ขึ้นไปเลย" ลุงจายเล่าต่อ แกบอกว่าอายุ 70กว่านี่ยังทนได้  อาศัยว่าเลือดลมดี อยู่เป็นพื้นฐาน กินปกติ ในชีวิตเจ็บไข้มีบ้าง ไปหาหมอ พอหายกลับมาขึ้นโหนดต่อทันที
มีอยู่ปีหนึ่ง หน้าที่โหนดวายแล้ว นอนโรงพยาบาลด้วยอาการน้ำท่วมปอด
"ตอนนั้นแบกบอกน้ำตาลหนัก  ขึ้นลูกโหนดสุกให้วัว พอยกบอกเสียงลั่นก็อักเสบ พอหายจากโรงพยาบาลพอหายก็ขึ้นต่อ พรรคพวกบอกให้หยุด บอกว่าหยุดทำไม ที่ไม่บาย นึกถึงตายเหมือนกัน นึกว่าทำอย่างไรให้ลูกได้เรียน ลูก 6 คน  พอดีคนพี่มันได้ทำงาน  ก็ได้ช่วยน้องเรียนจบ เท่านั้นแหละชีวิต ที่เหลือก็ทำต่อมาๆ  ได้ทำงานแล้วสร้างบ้าน สร้างช่องก็ช่วยลูกอีก" ชายชราเล่าอย่างภาคภูมิใจ

การปีนแบบไม่ใช้พะองโดยท่าปีนต้นไม้ทั่วไป อย่างที่เรียกกันว่าการ "ปรับ" โดยปลายเท้าจะสวมปลอกยึดโยงเท้าทั้งสองข้าง  เป็นการผ่อนแรง ส่วนมือทั้งสองประสานโอบต้นเอาไว้ให้แน่นเหนียว

"มือหลวมไม่ได้  ร่างกายกับจิตใจต้องพร้อม สำหรับอาชีพนี้ พลาดไม่ได้ ผมพลัด(ตก) มา 2-3 หน ตอนเด็ก หยาบ ไม่กลัว สูง ราว 3-4 เมตร  พอมือขาดตีนหลุดก็ตก รู้สึกแค้น ร้องไม่ออกตอนนั้นเด็กอยู่เลย เอาข้างลงไปบนหัวนา  แต่ ฟื้นเอง กลับหนำ ไม่บอกพ่อ"

ครั้งหลัง ลุงจายบอกว่าเกิดขึ้นเมื่อขึ้นโหนดเป็นอาชีพแล้ว จังหวะฉวยพลาด ตกลงมาพร้อมกระบอกน้ำตาลแขวนเอว 4-5 กระบอก จากความสูงราว 2 เมตร พอฉวยไม่อยู่ พยายามเอาตีนถีบให้พ้นโคนต้น เพราะข้างล่างมีต้นโหนดที่โค่นเอาไม้เรียงท่อนอยู่ ถ้าลงบนนั้นหัวปูดเป็นแน่
"นี่คือน่าเวทนา ยังดีที่รักษาไม่ให้แขนขาหัก เกิดขึ้น"

อย่างไรก็ตามยังเห็นว่าขึ้นแบบนี้ ยังดีกว่าพะอง แกเล่าว่าคนตายกับพะองมาก กว่าเพราะไปไว้ใจพะอง อาจจะเกิดอุบัติเหตุพะองหัก เชือกมัดพะองขาด ขึ้นกับมือ บางที่คนที่ร่างกายไม่พร้อมก็ขึ้นกับพะองได้  แต่พอขึ้นไปข้างบนเกิดหน้ามืดตาลายพาลให้ร่วงตกลงมา แต่ขึ้นด้วยมือเปล่า พลาดน้อยกว่าเพราะเป็นการพึ่งร่างกายตัวเอง ย่อมรู้มือตัวเอง แม้ใช้กำลังมากกว่า แต่ขึ้นได้เร็วกว่า

"เรากอดแน่น" ลุงจายว่า

สำหรับคนขึ้นตาล เมื่อสองมือมาประสานเพื่อโอบต้น มือจะเหนียวยิ่งกว่าตังเม  ต้นโหนดบางต้นเกินโอบ  ต้องปีนตะบปลง มือต้องแข็งและเหนียวเหมือนมือลิง ชนิดคนทั่วไป ทำไม่ได้  ทั้งมือตีนต้องแน่นหนา มือปล่อยได้บางครั้ง  แต่เท้าปล่อยไม่ได้เลยเวลาลงง่ายหน่อย ปล่อย "หลูด" ลง อาศัยแรงโน้มถ่วงโลกพาลงมาโดยไม่ต้องออกแรงปีน  แต่ต้องรับน้ำหนักน้ำตาลในกระบอก

ด้วยอาชีพน้ำ ทำให้มือพวกเขา "ขึ้นปอม"  หนังสาก แข็ง  กร้านหนา  บริเวณร่างกายส่วนรับน้ำหนัก เสียดสีกับต้นตาล บริเวณ ฝ่ามือ ต้นแขน ต้นขา หน้าอก  ฝ่าเท้า

"เด็กเห็นกล้ามขอจับ จึงรู้ว่าแข็งแพ็ก  แต่ตอนนี้ แก่แล้ว บางทีก็รู้ตัวว่ากอดไม่อยู่ ลื่นไปหมด"

ผู้ใหญ่ประพันธ์เล่าเสริมว่า  ทุกวันนี้ลุงจายปีนอยู่ 30 ต้น  ทำได้ตลอด  คนแต่ก่อนถึงฤดูนา ทิ้งโหนดไปทำนา ทุกวันนี้ ทำนาทำไม่มาก ทำแต่พอกินเท่านั้น จ้างเขาส่วนใหญ่  ไม่ต้องดูแลมากเหมือนแต่ก่อน และไม่ออกเลแล้ว  จึงขึ้นตาลได้ตลอด

การเดินทางขึ้นสู่ที่สูง จึงมีเวลามากขึ้นอีก  โดยทั่วไปต้นโหนดมีความสูงเฉลี่ยราว หลังคาบ้าน 2 ชั้น  แต่คนขึ้นโหนดต้องแบกน้ำหนักกระบอกใส่น้ำตาลด้วย  เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี ทุกวันนี้ทางสถานีอนามัยคลองรี ออกคำแนะนำว่าไม่ควรพากระบอกตาลเกิน 10 ลิตร

อีกขั้นตอนหนึ่งของงาน  รวบรวมกระบอกน้ำตาลทั้งหมด ที่แขวนไว้ที่ "ไม้ทาม"  รอการหาบกลับมายังโรงเคี่ยวน้ำผึ้งโหนดที่บ้าน คนขึ้นโหนดต้องใช้ไม้หาบ หาบกระบอกทั้งหมดขึ้นบ่า รับน้ำหนักข้างละราว 20 ลิตร  หรือมากกว่า จากทุ่งมาบ้าน ระยะทาง ครึ่งกิโลเมตร -กิโลเมตรครึ่ง  แม้ถนนหนทางจะทำให้สะดวกกว่าสมัยก่อน สามารถใส่รถเข็นในบางช่วงของระยะทาง แต่ยังถือว่าเป็นงานหนักอยู่

"แต่ก่อนขนมาเป็น 10 เที่ยวต่อรอบ  ช่วงเช้า น้ำตาลมาก รอบหลัง ระยะเวลารองบอกไม่มาก" ผู้ใหญ่ประพันธ์ เล่าการขึ้นโหนดแต่ละต้น การปาดงวงตาลไม่เท่ากันซึ่งสัมพันธ์กับการแขวนกระบอกรองรับน้ำตาล ของลุงจาย เฉลี่ยอยู่ทีต้นละ 4 กระบอก ต้นไหนที่มีกระบอกน้อย มักจะ ไม่ขึ้น เพราะไม่คุ้ม ต้อง 4-5  กระบอกขึ้นไป แต่ช่วงปลายฤดู อาจเก็บหมด

ที่บ้านคลองหนังทุกวันนี้มีคนขึ้นโหนด 28 คนมีการตรวจสุขภาพให้คนขึ้นตาล และทำประกันราคาน้ำผึ้งโหนดในนามกลุ่มผู้ประกอบการคนขึ้นตาล  และกลุ่มรับซื้อน้ำผึ้ง ตำบลคลองรี

"ถ้าไม่แข็งแรงทำงานไม่ได้" ประภาส หัวหน้าสถานีอนามัยคลองรี สรุปอีกครั้งเขาว่า คนขึ้นตาล จะคล้ายกันหมด  กล้ามเนื้อแข็งแรง ไม่เจ็บไข้  ดูจากกรณีลุงจายการเจ็บป่วยมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ร่างกายแข็งแรง
"อย่างลุงจาย อายุ 70 กว่าแล้ว เห็นกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ  คนไม่ขึ้นตาลถ้าวัยนี้ ดูอ่อนแอ อ้วน  เดินไม่ไหว ทำอะไรนิดอาจหอบ"

เป็นลักษณะความแข็งแรงโดยอาชีพ เพราะงานที่ทำอยู่เป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง และเป็นการออกทุกส่วนของร่างกาย ทั้งมือ ปอด เท้า เอ็นทุกเส้นสาย  และยังทำแบบต่อเนื่อง

การกระชับกล้ามเนื้อเป็นองค์ประกอบสำคัญ การกอดต้นโหนดแน่นไม่แน่น อยู่ตรงนั้น เขาทำจนร่างกายชิน กล้ามเนื้อชิน ขึ้นได้หลายต้นแต่ละวัน เป็นลักษณะการออกกำลังกายทุกวันจนกล้ามเนื้อแข็งแรงมีสมรรถภาพ ที่จะทำงานต่อได้อีก

"ผมมองว่าเป็นการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่างกายแข็งแรง"

ประภาสเล่าว่า จากข้อมูลที่พบ โรคที่พบคนขึ้นตาลอยู่บ้าง คือโรคกระเพาะเพราะมักกินข้าวไม่เป็นเวลา โรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เพราะใช้เกินกำลังทำให้เมื่อยล้า กล้ามเนื้อยอก แต่ส่วนมากพวกเขาขึ้นโหนดมานาน เขาจะรู้  พอกลับไปทำงาน เข้าที่ แล้วจะกลับไปคงที่ไม่เจ็บเมื่อยอีก

"ช่วงแรกอาจจะมีที่ให้แฟนไปเอายาแก้ปวดที่อนามัยมากินบ้างอย่างนี้มี  พออยู่ตัวก็สบาย"  ประภาสว่า ไม่ต้องอิบายอะไรมาก แค่การปีนตั้งแต่โคนถึงยอดโหนด ถือว่าผ่านการทดสอบสมรรถภาพทางกายอยู่ในตัวแล้ว

"หน้ามืดข้างบนไม่มี เพราะหน้ามืดตาลายขึ้นไม่ได้" ลุงจายตอบคำถามเราเลยเล่าไปถึงเรื่องของเพื่อนคนหนึ่งขึ้นแล้วลงไม่ได้ เพราะหน้ามืดบนปลาย  ถึงขนาดการเตรียมการช่วย โดยเอาเข่งใส่หมูโยงขึ้นไป  ดีว่ามีเหตุอัศจรรย์ที่แกไม่ต้องลงชุดหมูนั้น ไม่เช่นนั้นคงถูกเพื่อนหัวเราะตามหลัง

"ที่ผ่านมาแล้วไม่มี แต่ต่อไปข้างหน้าไม่รู้ เพราะ แก่แล้ว อนาคตไม่แน่นอน" ลุงจายต่อด้วยเสียงหัวเราะ  ปกติอาชีพขึ้นโหนดทำไปได้ไปจน 60 ปี แต่สำหรับลุงจาย 71 ปี ในบ้านคลองหนังยังมีคนขึ้นโหนดอายุ ปาเข้า73 ปีอีกคน

" ถ้าเลิกไปจะขึ้นไม่ไหว ถ้าเลิกจะหนักตัว อ้วน น้ำหนักเกิน จึงทิ้งไม่ได้ ถ้าหยุดสักเดือนจะขึ้นใหม่ไม่ได้"

ลุงจาย แสดงเหตุผลที่ไม่หยุดขึ้นตาลที่ลูกๆต้องยอมรับฟัง  เพราะหยุดเมื่อไร ร่างกายทรุด คล้ายคนเล่นกล้าม เมื่อหยุด ต้องเข็ดเมื่อย

คนแก่บางคนอาจได้รับคำแนะนำให้เดินออกกำลังกาย  สำหรับแก บอกว่าไม่ต้องเพราะการขึ้นโหนดทั้งออกกำลังกายและได้เงินด้วย  ขึ้น 2-3ต้น ก็ได้ซื้อกับข้าวพอ  ยิ่งราคาน้ำผึ้งโหนดปิ๊บละ 700บาท อย่างทุกวันนี้ ถือว่าน่าพอใจ อาจมีปัญหาอยู่บ้างก็แต่เรื่องไม้ฟืนที่จะใช้มาเคี่ยวน้ำผึ้งที่หายากขึ้นทุกวันเท่านั้น.

Relate topics

Comment #1
บูรณ์พิภพ (Not Member)
Posted @30 มี.ค. 51 15:07 ip : 117...142
Photo :  , 487x320 pixel 49,791 bytes

ประวัติความเป็นมาของกลุ่มกลึงไม้ตาล

จุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์&nbsp; ไม้ตาล    ผลิตขึ้นแห่งแรกในประเทศไทยที่หมู่ 1 ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดยเริ่มขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2515 โดยมีพ่อค้างานกลึงไม้ ชื่อ นายสุจินต์ ศรีสวัสดิ์ ชาวจังหวัดสมุทรสงคราม (มีภูมิลำเนาเดิมอยู่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี) ได้มาเช่าบ้านอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้มาริเริ่มงานกลึงไม้เป็นรูปแบบต่างๆ เช่น ครก กำไรข้อมือ โดยใช้ไม้พุด ไม้มะเกตุ ไม้ประดู่ เมื่อมีงานเข้ามามากก็เริ่มขยายงานมายังตำบลหนองปรง ซึ่งมีช่างไม้เป็นชาวไทยทรงดำ มีฝีมืออยู่หลายคน ได้แก่ นายช้อย ทองสัมฤทธิ์ นายปี จำปาทอง นายมก ร่าเริง นายต๊อก ร่าเริง นายเที่ยง ร่าเริง นายสมหมาย ร่าเริง นายหัน อ่อนยิ่ง และนางอนงค์ อ่อนยิ่ง และจ้างให้กลุ่มคนเหล่านี้กลึงไม้โดยทำแท่นกลึง และแนะนำวิธีการกลึงไม้ ซึ่งไม้ที่ใช้เริ่มแรกคือ ไม้ประดู่ ไม้พุด ไม้มะเกตุ กลึงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยมีนายสุจินต์ เป็นผู้ออกแบบ และร้านค้าที่ต้องการผลิตภัณฑ์ช่วยออกแบบให้ ต่อมาไม้เหล่านั้นเป็นไม้หายาก และป่าไม้ประกาศเป็นไม้หวงห้าม<br />
แนวคิดซึ่งได้มาในตัวผลิตภัณฑ์   กลุ่มช่างกลึงไม้ จึงปรึกษาหารือกันว่าจะนำไม้ที่ไหนมากลึง ก็เห็นว่าไม้ตาลซึ่งเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่อย่างมากมายตามท้องทุ่ง หัวไร่ปลายนา ถ้าเป็นต้นที่อายุเก่าแก่ 80-100 ปี จะถูกโค่นทิ้ง เพราะไม่สามารถให้ผลผลิตได้ จึงได้นำมาใช้ประโยชน์ โดยนำมาทดลองกลึงเป็นรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆซึ่งต้องอาศัยภูมิปัญญาและเทคนิคในการกลึงเป็นอย่างมาก ต้องตีใบมีดที่ใช้กลึงกันเอง เพราะไม้ตาลเป็นไม้ที่มีเสี้ยน ต้องใช้เทคนิคในการกลึงสูงมาก ผลิตภัณฑ์เริ่มแรกที่ใช้กลึง ได้แก่ ครก หม้อดิน กำไรข้อมือ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีมาก และต่อมาได้กลึงเป็นกระโถน ส่งขายที่หน้าเขาวัง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ชาวต่างประเทศคือ ญี่ปุ่นได้มาเห็นก็สั่งซื้อเป็นจำนวนมาก และได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า และคิดประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆจำหน่าย เพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิตเป็นจำนวนมาก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในนามผลิตภัณฑ์ กลึงไม้ตาลตำบลหนองปรง

            การสั่งสม สืบสานผลิตภัณฑ์ ต่อมาได้นำภูมิปัญญาเหล่านี้ถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจสร้างเป็นอาชีพเสริม เนื่องจากประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก เมื่อมีเวลาว่างหลังฤดูเก็บเกี่ยว ก็มากลึงไม้ตาลเป็นอาชีพเสริม แต่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ภาครัฐจึงได้เข้ามาช่วยในการรวมกลุ่ม โดยมีคณะกรรมการรับผิดชอบ 1 คณะ มี นางอนงค์ อ่อนยิ่ง เป็นประธานกลุ่ม ใช้บ้านเลขที่ 44/1 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ทำการ  กลุ่มกลึงไม้ตาลตำบลหนองปรง ปัจจุบันมีผู้กลึงไม้ตาลในตำบลหนองปรง จำนวน 150 หลังคาเรือน เป็นที่รู้จักในผลิตภัณฑ์กลึงไม้ตาลตำบลหนองปรง ทั้งในและต่างประเทศ ติดต่อ 089-740-7218 ประธานกลุ่มกลึงไม้ตาล

Comment #2
ออ (Not Member)
Posted @19 พ.ค. 51 18:59 ip : 222...167

อ่านเรื่องราวของลุงจายแล้วสนุกจังเลยค่ะ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว