สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ฟื้นนาร้างเป็นนาดีบ้านโมยสิ่งที่ได้กลับคืนมากกว่าข้าว

by kai @4 พ.ย. 50 20:52 ( IP : 117...244 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 1280x960 pixel , 539,772 bytes.

"ฝนพะ" ปลายตุลาคมปีนี้ท้องทุ่งนาหลายแห่งในภาคใต้ยังรกร้างอยู่ใต้ละอองฝน  สภาพอันดำเนินมาเกินทศวรรษแล้ว พร้อมความเปลี่ยนแปลงปริบททางสังคมหลายเหตุปัจจัย

ฤดูนี้เองที่ชาวหมู่ 7 บ้านโมยตก ตำบลนาหมอศรี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ร่วมกันพลิกนาร้างกลับมามีชีวิตอีกครั้ง  ท้องทุ่งนาเคยเงียบเหงากลับมาคึกคัก  เสียงรถไถนาดังแว่ว  ท้องทุ่งเคยรกด้วยต้นกกหญ้าสูงมานาน  ถูกพลิกดินเตรียมปักดำ  บางบิ้งดำข้าวกล้าเสร็จแล้ว  กลิ่นดินโคลนอันคุ้นเคยลอยมาตามลมพร้อมเสียงเขียดร้อง

นางรอบีอ๊ะ ไกรสุวรรณ  เป็นผู้นำชาวบ้านโมยตกฟื้นวิถีทำนากลับมาอีกครั้ง  เธอเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาหากความคิดกลับไม่ธรรมดา  วันนี้ชาวบ้านสนับสนุนแนวคิดของเธอร่วม "พลิกนาร้างเป็นนาดี" ทำให้การทำงานเป็นรูปเป็นร่าง  มีการตั้งกรรมการทำงานขึ้นโดยเฉพาะมี นายมุฮามะสุกรี นิสนิ นางลักขณา หมัดมา นายเจะโส้ เด็นโท  ยังได้คนหนุ่มเพิ่งจบปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยี การเกษตร  อย่างไกรสอน แหละแห ที่เลือกจะกลับมาทำงานพัฒนาหมู่บ้านเป็นแกนนำคนสำคัญอีกด้วย

"เด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะคนได้เรียนสูงๆ ทำงานที่อื่นกันหมด"

ไกรสอนมาร่วมนั่งเล่าถึงสิ่งดีๆ ที่จะกลับคืนมายังหมู่บ้านร่วมกับรอบีอ๊ะ

เรื่องเริ่มต้นจากกองทุนหมู่บ้าน เข้ามายังหมู่บ้านตามนโยบายของรัฐบาลสมัยหนึ่ง พวกเขามองว่าไม่ได้เกิดผลในการพัฒนามากนัก  คนที่กู้เงินไปแล้ว  ไม่ค่อยจ่ายเงินคืนกัน ขนาดต้องกระตุ้นกันอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะเห็นการเพิ่มพูนศักยภาพของชาวบ้านกลายเป็นภาพแง่ลบซึ่งคงเหมือนกับชุมชนแห่งอื่นจำนวนมาก  นั่นเป็นที่มาให้เกิดความคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง  ในที่สุดต่างได้ความคิดว่าจะเอาเงินกองทุนฯ จำนวนหนึ่งและให้ชาวบ้านออกอีกครึ่งหนึ่งเหมารถบัส พากันเดินทางไปดูงาน ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อปี พ.ศ.2548

"คราวนั้นใครเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน  ถ้าอยากไป ก็ไปได้เลย ยังชวนฝ่ายราชการจากอำเภอนาทวีร่วมด้วย เราได้ไปศูนย์การพัฒนาของสมเด็จพระราชินี ที่พัทลุง  ซึ่งนำเสนอแนวของชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงอย่าง การทำนา เลี้ยงปลา  เลี้ยงเป็ด เลี้ยงแพะ ครบวงจร "รอบีอ๊ะเล่า
กลับจากดูงาน  ชาวบ้านได้ความคิดกลับมาทำเองบ้างตามที่เห็นมา  แล้วแต่ครอบครัวไหนจะสนใจทำอะไร  อันไหนทำไม่ได้ ทางกองทุนฯ ก็พยายามไปหาวิทยากรมาช่วยสอน หลายคนกลับมาขุดบ่อปูแผ่นพลาสติคเลี้ยงปลาดุก  ปลูกผัก  แต่บางคนก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอันใดเกิดขึ้นกับชีวิตก็มีบ้างเป็นธรรมดา

"ในอำเภอนาทวี เราเด่น ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว  เราคิดเองทำเองมาก่อน ทำให้มีรายได้แต่ละครัวเรือนอยู่ เพียงแต่อาจจะมองไม่เห็นกัน" ไกรสอนพูดเสริม

รอบีอ๊ะ เล่าต่อว่าได้มีนักวิชาการ หลายคนเข้ามาอย่าง อาจารย์สุภาคย์ อินทองคง  มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ช่วยดึงความคิดของชุมชนออกมาหลายเรื่อง แนวคิดหนึ่งในนั้นที่เหล่านักวิชาการยกนิ้วให้เธอคือความคิดในการฟื้นฟูการทำนากลับมาอีกครั้ง

"ที่อยากทำนา เราไม่ได้คิดอะไร นอกจากจะได้มีข้าวเอาไว้กินเองไม่ต้องไปซื้อกิน" รอบีอ๊ะว่า คนบ้านโมยตก หรือคนภาคใต้ส่วนใหญ่จะยกเว้นบางแห่งเท่านั้น  มักทำนาเอาไว้กินเองในครัวเรือน ที่เหลือจึงจะขาย  คนทำสวนยางพอถึงหน้าฝนกรีดยางไม่ได้ ก็ลงนา เป็นจังหวะชีวิตที่สอดคล้อง

"นาเริ่มร้างมาราว 10 ปี  หลังจากโรงงานยางเกิดขึ้นที่ตำบลคลองทราย บริเวณต้นน้ำ แล้วปล่อยน้ำเสียลงมา ทำให้น้ำเสีย ดำคล้ำไปหมด  ใครโดนน้ำก็เป็นผื่นคัน  ไม่มีใครกล้าลงไปในนา สัตว์ที่ได้รับผลกระทบพิกลพิการ  ปลาในนาเป็นแผลเปื่อยเป็นวงๆ  วัวไม่มีตับ" ไกรสอนเล่า ขณะเดียวกันรอบีอ๊ะ ก็ช่วยเล่าเรื่องแปลกประหลาดอย่างหนึ่ง ที่บ้านโมย กรณีวัวไม่มีมีตับ ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง  พ่อค้าวัวไม่นิยมมาซื้อวัวที่นี่ เพราะเมื่อนำไปชำแหละแล้วเสียราคาเมื่อพบว่า ไม่มีอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งคือตับ ทำให้ไม่สามารถขายเครื่องในส่วนนี้

"มีคนมาซื้อวัวเหมือนกัน แต่หักค่าตับออก" ใครคนหนึ่งที่มานั่งฟังอยู่ด้วยแสดงความเห็นตามด้วยเสียงหัวเราะ

ไกรสอนและรอบีอ๊ะ พยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน  ทั้งคู่เชื่อตรงกันว่าวัวคงได้รับสารพิษที่ปะปนกับน้ำเสียจากโรงงานจึงเกิดปรากฏการณ์ประหลาดดังกล่าว  ยังน่าแปลกว่าถ้าเลี้ยงวัวตัวนั้นอยู่ที่เดิม จะยังมีชีวิตรอดอยู่ได้ แม้จะไม่ค่อยซูบลง  แต่วันใดย้ายที่เลี้ยงจะตายทันที  เข้าใจว่าคงอยู่กับสารพิษจนปรับสภาพเองได้  แต่ถ้าผิดไปจากนั้นมันจะตาย

หลังจากชาวบ้านไม่ลงไปยังทุ่งนาทุกอย่างจึงเปลี่ยนไปหมด ความรกร้างขนาดที่งูพิษมาอาศัยและกัดวัวที่ชาวบ้านนำลงไปปล่อยเลี้ยงตามทุ่งตายหลายตัว

มาถึงยุคที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณโครงการตำบลละหนึ่งล้านบาทไม่มานานมานี้  ชวบ้านบางคนยังไปขุดที่นาเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ขึ้นมา เพื่อหวังว่าจะได้งบประมาณสนับสนุน  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไร้สาระสำหรับชาวบ้านบางคน ถูกนักการเมืองท้องถิ่นหลอกตุ๋น  เพราะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย  และยังสร้างปัญหาเกี่ยวกับทางเดินน้ำติดตามมาในภายหลังอีก บางคนหันไปปลูกยางพาราในที่นา ซึ่งไม่ค่อยได้ผลมากนัก

ภูมิปัญญา และทุกสิ่งที่เกี่ยวกับการทำนาแห่งบ้านโมยกำลังขาดช่วง และสูญหาย  หากเมื่อต้นปี 2550 ที่ผ่านมา รอบีอ๊ะไม่คิดจะชักชวนชาวบ้านกลับมาทำนากันอีกครั้งหนึ่งหลังตั้งคำถามกับตัวเองมาระยะหนึ่ง  จนได้พื้นฐานความคิดอันชัดเจนว่า

  • ต้องการศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชนบ้านโมยตก

  • ศึกษาการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนที่ผ่านมา และผลกระทบที่มีต่อวิถีชีวิต

-  พัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านโมยตก

  • ให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการทำนากินเอง

  • ขยายผลความสำเร็จไปสู่ขบวนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง

  • แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืน

  • พัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นสุข พออยู่ พอกิน พอใช้

"โบยตกเป็นชุมชนเก่าแก่ เป็นแหล่งปลูกข้าวอันอุดมสมบูรณ์ คนในหมู่บ้านนี้ มีที่นา เคยทำนากันทุกบ้าน มากบ้างน้อยบ้าง  ไม่เฉพาะที่บ้านโมยตก อย่างบ้านยางควาย อีกหย่อมบ้านที่นับเป็นหมู่ 7 นั่นก็ทำ ในผืนนาที่ติดกัน เขาก็อยากทำนาเหมือนกัน พอเราคิดเขาก็เห็นด้วย"

กลุ่มคนที่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และมีความสุขมาก กับแนวคิดนี้คือคนเฒ่าคนแก่ของชุมชน มันเหมือนกับการนำวิถีชีวิตดั้งเดิมกลับมาอีกครั้ง  แต่การปล่อยนาทิ้งร้างไว้นานหลายปี การกลับจะมาเริ่มต้นกันใหม่กลับไม่ได้ง่ายดายนัก

รอบีอ๊ะเล่าภารกิจสำคัญแรกอันลำบากสุดคือการหาแหล่งน้ำ ปัญหาสายน้ำเดิมเปลี่ยนสภาพไปมาก  คูคลองที่เคยมี บางแห่งถูกรุกล้ำ ถมในการทำสวน  เธอกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ลงสำรวจ จนไปพบคลองป่า และฝายน้ำแห่งหนึ่งที่เชิงเขา สำหรับรองรับน้ำจากภูเขา ฝายก่อสร้างมานานและชาวบ้านแทบจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่ามีอยู่

ชาวบ้านช่วยกันออกเงิน จ้างรถแบ็คโฮมาขุดลอกคลองได้เงินราว 10,000 บาท  เพื่อให้น้ำไหลกลับสู่ทุ่งนาอีกครั้ง แม้ยังทำไม่ทะลุปลอดโปร่งตลอด ก็ทำให้ทุกคนมีหวังรอลงไปโลดแล่นในท้องทุ่งอย่างใจจดจ่อ

การทำนามีมิติมากกว่าเรื่องปากท้อง มันคือชีวิต  ในแง่เศรษฐกิจคนสมัยก่อนใครมีที่นามากถือว่าเป็นคนมีฐานะ ใครเรินข้าว (ฉางข้าว) ใหญ่ถือว่ารวย สำหรับคนมีไม่มากมายแต่ถ้าทำนาก็ถือว่าจะไม่อดอย่างแน่นอน  ใครไม่มีข้าวกินเป็นเรื่องน่ากังวลตลอดปี

"คนสมัยก่อน เขาไม่คิดเรื่องเงินทองกันหรอก ถ้ามีข้าวกินถือว่าพึ่งตนเองได้"

คนสมัยนั้นถือว่าการทำนาเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ ที่สุดเพราะข้าวเป็นสิ่งสำคัญ เงินทองยังไม่สำคัญเท่า มีข้าวแล้วก็อุ่นใจ ส่วนกับข้าวก็หาผักหญ้าเอาตามท้องถิ่นได้อยู่แล้ว  ใครไม่มีข้าวเหลืออยู่ในยุ้งฉางจึงต้องบ่นงึมงำ ร้อนใจ

มีแต่คนยุคใหม่ ที่ทำนาไม่เป็น หันหน้าไปทำงานในโรงงาน ซื้อข้าวสารกิน จึงมองไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้  มองการทำนาเป็นเรื่องน่าอาย ยิ่งคิดเรื่องตัวเงินว่าไม่คุ้ม

ในทางสังคมเดิมการทำนามีความหมายถึงการถ่ายทอดภูมิปัญญา ความร่วมมือร่วมใจของคนในครอบครัว ที่จำเป็นต้องอาศัยทุกคน พ่อแม่ทำนาลูกหลานต้องช่วย  สำหรับชาวบ้านโมย เมื่อนอกจากงานบุญของพี่น้องมุสลิม ถึงฤดูทำนาใครจะไปอยู่ไกลที่ไหนก็ตามจะต้องกลับบ้านมาช่วยทำนาอย่างเห็นเป็นเรื่องสนุกสนานกันทุกคน สร้างความสามัคคีในชุมชน  ยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง

แม้แต่การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ยังใช้ข้าวเป็นตัวสื่อ  สมัยก่อนคนตำบลสะกอม ที่มีอาชีพทางประมง จะเดินทางขึ้นมาทางบ้านโมย นำเคอย (กะปิ) มาแลกข้าว  คนจากริมทะเลมาอยู่ที่บ้านโมยคราวละ 1-2 คืน ก่อนจะกลับ พอรู้จักกันเกิดความสนิทสนมไปส่งถึงบ้าน เกิดการไปมาหาสู่อย่างมีความสุข    การแลกสินค้าไม่ได้เฉพาะสินค้าแต่ทำให้เกิดการนับญาติ พี่น้อง  อย่างแนบแน่นต่อมา แต่วัฒนธรรมเหล่านี้สูญหายไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่เฉพาะการเลิกทำนา รวมไปถึงการที่สามารถซื้อข้าวสารได้อย่างสะดวกกว่าเก่า  ชาวสะกอมเองขายสินค้าที่ไหนก็ได้

"การทำนายังถือเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาอีกครั้ง  ปู ปลา หอย เห็นได้ชัดว่าพอเริ่มทำนา เราได้เห็นสัตว์น้ำพวกนี้อีก หลังจากหายไปนาน" ไกรสอนว่า

"อ้อ สู ยังอยู่เหลยเหรอะ นึกว่าตายเสียแล้ว  เราแหลงกับปูในนาพันนี้แหละ" รอบีอ๊ะเล่า อย่างขันๆในประเด็นเดียวกัน และว่าพอกลับไปทำนา สิ่งแรกที่ได้เลย คือ "ความสนุก"  ไม่เคยคิดหวังผลเชิงธุรกิจอยู่แล้ว  แม้จะมีการลงทุนบ้างเรื่องจ้างรถไถ และซื้อปุ๋ยส่วนอื่นเป็นการลงแรง

"พอเริ่มทำนาก็เห็นแล้วว่า ทุกคนสนุก โดยเฉพาะคนแก่ เรียกว่าซื้อใจคนแก่ได้ 100 % เลย เขามีความสุขกันมาก  ได้ภูมิปัญญาชาวบ้านกลับมา  ความร่วมมือ ของชาวบ้าน  เหมืองน้ำกลับมา  เริ่มเห็นธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์"

ที่บ้านโมยตก โรงนวด โรงสี&nbsp; ฉางข้าว พร้อมจะถูกปัดฝุ่นกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มันอาจจะเป็นต้นแบบสำหรับชุมชนแห่งอื่น ที่มองทุ่งนาร้างอย่างเศร้าใจมานเนิ่นนานเต็มที<br />

สำหรับรอบีอ๊ะ เธอมองว่า จุดเริ่มต้นสำคัญและเป็นหัวใจของเรื่องนี้ สำหรับชุมชนไหนก็ตามที่อยากพลิกฟืนที่นา คือการตั้งคำถามเบื้องต้นให้ได้ก่อนว่าอยากกลับไปทำนากันจริงหรือเปล่า?

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว