สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ซีละเพื่อสุขภาพฟื้นวัฒนธรรม ฟื้นวิถีชีวิต

by kai @26 ต.ค. 50 22:16 ( IP : 222...245 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 1160x1547 pixel , 587,102 bytes.

ลานหน้าเสาธง โรงเรียนบ้านสุเหร่า ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ยามสายที่แดดกลับมาสดใสอีกครั้งหลังถูกปิดด้วยม่านฝนติดต่อมาหลายวัน

ปี่ชวากรีดเสียงนำ ตามด้วยกลอง ฆ้อง เสียงดนตรีแห่งซีละเหมือนปลุกวิญญาณท้องถิ่นกลับมา ชาวบ้านค่อยโผล่มาห้อมล้อมยืนชื่นชมดูลูกหลานร่ายรำซีละ ท่วงท่าสวยงาม ทรงพลัง ตามแบบศิลปะการต่อสู้ของชาวมลายู

ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นดินแดนตำนานซีละ หากศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้เกือบจะเลือนหายหากทุกฝ่ายไม่มาร่วมมือฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง โดยการนำของ อาจารย์เอกจิตรา จันทร์จิตจริงใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสุเหร่า ตามโครงการซีละเพื่อสุขภาพ

อาจารย์เอกจิตราใช้ความพยายามหลายปีเพื่อนำเสนอเรื่องนี้ จนชุมชนสุเหร่า 4 หมู่บ้าน ให้การขานรับ สังคมภายนอกสนใจ หลังจากเด็กๆ ที่ฝึกซีละได้ไปแสดงในงานตลาดนัดคนสร้างสุขคนสงขลา 50 เมื่อต้นเดือนตุลาคม มาถึงปลายเดือนเดียวกันรายการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมจากโทรทัศน์ช่อง 7 ขอมาถ่ายทำเรื่องราว ในวันที่แดดสดใส...

" จากการศึกษา ที่นี่เป็นชุมชนดั้งเดิม จะนะเคยเป็นหัวเมืองหลักใน 7 หัวเมืองสำคัญของภาคใต้ คนที่นี่มาจากปัตตานี ถ้ามองในเชิงศิลปวัฒนธรรม ที่นี่เคยมีดีเกฮูลูที่ดังมาก คนรุ่นก่อนอาจเคยเห็นการแสดงพวกนี้อยู่ แต่ตอนหลังเงียบหายไป" อาจารย์เอกจิตราเล่า ไม่เฉพาะซีละ เท่านั้นวัฒนธรรมชุมชนหลายอย่างเลือนหายไปด้วยยกตัวอย่างการผูกขวัญข้าว ที่ทำกันทั้งชาวพุทธและมุสลิม

การฟื้นฟูกลับมาไม่ใช่เรื่องง่ายดาย "การต่อสู้ทางความคิดยากยากที่สุด" อาจารย์เอกจิตรา เล่า เธอมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสุเหร่า 20 มกราคม 2548 เริ่มพูดถึงเรื่องนี้ แต่พบว่ามีความละเอียดอ่อน เกี่ยวกับความเชื่อ ศาสนา ที่เห็นไม่ตรงกันอยู่บ้าง ทำให้ไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้เลย แต่การพยายามทำความเข้าใจ อย่างไม่ย่อท้อกับทุกฝ่าย ทำให้เกิดการเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อมิถุนายน 2550 ภายใต้การสนับสนุนของแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา

" ถ้าเราทำงานด้านการศึกษาที่แท้จริงแล้ว ต้องตอบคำถามหลายอย่าง ที่โรงเรียนบ้านสุเหร่า ปรากฏว่าเด็กมีความสามารถทางด้านกีฬา โดยเฉพาะตะกร้อนี่เก่งมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดคือสีสัน เรื่องของศิลปวัฒนธรรม เราต้องการเพิ่มตรงนี้"

อาจารย์เอกจิตราเล่าว่า ประกอบกับปัญหาครอบครัว เยาวชนในชุมชนอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงจากปัญหารุมเร้าหลายมิติ จำเป็นต้องดึงเขากลับมาสู่กิจกรรมอะไรสักอย่าง โดยไม่อาจทนเพิกเฉย

"เราไม่ได้ดื้อนะ ที่ผลักดันให้ฟื้นฟูซีละ แต่ต้องการสืบทอดสิ่งดีๆ ในชุมชน เมื่อไปพูดคุยในชุมชน มีคนเห็นด้วยมากขึ้นๆ "

ซีละกลับมาอีกครั้ง ไม่เฉพาะชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เห็นด้วย อาจารย์เอกจิตราได้แรงสนับสนุนจากเส็น เหลาะหมาน ที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาช่วยฝึกสอน

เส็นเป็นอดีตแชมป์ซีละ ครองตำแหน่งทั้งประเทศไทยและมาเลเซียมาแล้ว

วันหนึ่งเสียงปี่ชวา กลอง ฆ้อง ของซีละ จึงดังขึ้นที่โรงเรียน ปรากฏว่ามีคนอายุ 70 กว่าปีร่ายรำซีละเข้ามาบอกว่า "เข้ามาต่อคู่" อีกวันหนึ่ง เด็กผู้ชายวัย 16 ปี เดินเข้ามาร่ายรำท่าซีละ ก่อนจะล้มหงายหลัง แล้วเดินออกไปหน้าตาเฉย เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น จนทำให้ผู้เกี่ยวข้องอดคิดไม่ได้ว่าศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นบางอย่างอาจสืบทอดทางจิตวิญญาณบรรพบุรุษคล้ายกับโนราโรงครูของชาวไทยพุทธ ทางภาคใต้

เส็น เหลาะหมาน กล่าวอย่างเต็มปากในเวลานี้ว่านอนตายตาหลับ เพราะเห็นการสืบทอดสีละ ไปสู่รุ่นลูกหลานแล้ว เขาเล่าว่า ท่าร่ายรำของซีละ เป็นท่ามาตรฐาน ที่รวมเอาท่าการต่อสู้แบบต่างๆ ที่สอนเด็กจะมี 28 ท่า โดยมีดนตรีประกอบ เครื่องดนตรีทั้งหมด 4 ชิ้น ประกอบด้วย ปี่ชวา กลองตัวผู้ กลองตัวเมีย (กลองตัวเมียจะใหญ่กว่าตัวผู้ )และฆ้อง ท่วงทำนองดนตรี จะขึ้นอยู่กับท่าร่ายรำ จะเห็นว่าจังหวะการต่อสู้จะเล่นเร้าใจ

การแต่งกายมีรูปแบบเฉพาะ เคยแต่งตัวด้วยเสื้อคอกลม ใส่กางเกงขายาว นุ่งโสร่งทับ มีผ้ารัดเอว โพกผม ไม่สวมรองเท้า ต่อมาก็ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากฝ่ายการเมืองและราชการ มาจำนวนหนึ่งก่อนหน้านี้

"ซีละ มีต้นกำเนิดมาราว 400 ปี จากประเทศอินโดนีเซีย หรือบางส่วนจากซาอุดิอาระเบีย เข้ามาทางมาเลเซีย แล้วก็ไทยเรา เป็นสมบัติของแผ่นดินอย่างหนึ่ง" เส็นเล่า

การรำคนเดียว ใช้ในการออกกำลังกาย หรือแสดงในการต้อนรับ แต่หากมีการจับคู่แข่งขันจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เน้นให้เห็นศิลปะการต่อสู้สวยงาม ถึงระดับเอาแพ้เอาชนะ อย่างที่เส็นเคยตระเวนแข่งสร้างชื่อมาแล้วระหว่างปี 2522-2530

เส็นเล่าว่า สมัยก่อนใช้ซีละในการแสดงตามงานต่างๆในหมู่บ้าน มีคณะซีละอยู่แทบทุกหมู่บ้าน แต่ทุกวันนี้ไม่เหลืออยู่อีกเลย เมื่อเขาได้ถ่ายทอดก็เห็นว่าเด็กสนใจ

"ทีแรกผมนึกว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ดีที่มีการฟื้นฟูขึ้นมาอีก" เส็นว่า เขาเป็นหัวหน้าคณะซีละ เส็น การิม คำว่าการิมสร้อยต่อท้ายมาจากชื่ออาจารย์สุโก การิม มี ศักดิ์ศิลป์ มะขะเหล็ม ศิษย์รุ่นใกล้กันเป็นเลขาฯ คณะ ถือเป็นซีละคณะสุดท้ายของ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ศักดิ์ศิลป์ มะขะเหร็ม เล่าว่า ซีละสร้างเด็กดีได้ เพราะซีละเป็นการสร้างอำนาจให้กับตัวเอง เริ่มจากสรีระที่แข็งแรง จิตใจ สมาธิมั่นคง สติปัญญาหลักแหลม "ในการต่อสู้ต้องอาศัยสรีระร่างกาย และประสาทสัมผัสทั้ง6" ศักดิ์ศิลป์เล่า ประสาทสัมผัสทั้ง 6 นั้นหมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

"ตา" ต้องมองเพื่อค้นหารูปแบบการต่อสู้และรับมือคู่ต่อสู้ได้ทันควัน "หู" ต้องฟังจังหวะการย่างก้าว และการที่ปัจจุบันซีละเป็นการแสดงจึงมีดนตรีมาผสม จึงต้องฟังจังหวะของดนตรีและเอามาประกอบการแสดงให้ได้จังหวะ "จมูก" ต้องหายใจกำหนดสมาธิที่จะทำให้มีความนิ่งแล้วรับมือคู่ต่อสู้ "ลิ้น" บริกรรมคาถาสรรเสริญวิญญาณแห่งบรรพชนและครู "กาย" ต้องเข้มแข็งและแคล่วคล่องว่องไว "ใจ" ต้องนิ่ง มั่นคง มีความภาคภูมิใจที่ได้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษ แก่นแกนของศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ที่แม้จะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยก็ยังมีหัวใจอยู่ที่ประสาทสัมผัสทั้ง 6 ดังกล่าว

ผลในแง่สุขภาพสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ยังมีปริบทแห่งชีวิตอยู่อย่างครบถ้วนในซีละ

ศักดิ์ศิลป์เล่าว่า เมื่อก่อนที่ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ ถิ่นของเขามี 9 หมู่บ้าน มุสลิม 5 หมู่บ้าน ทั้ง 5 หมู่บ้านจะมีซีละของตัวเอง เวลาจัดงานอะไร เพื่อนต่างหมู่บ้านจะชวนกัน แล้วจะมีขบวนแห่พืชผักข้าวปลาอาหารต่างๆ แกะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เอาของใส่เรือตั้งขบวนมาที่บริเวณงาน บางบ้านก็เอาข้าวสาร ขนม ของหวานมาร่วม ของกินจะมาก่อนงาน 1 วัน โดยจะเอาซีละนำขบวนมา ในวันงานก็จะมีการต่อสู้กันในทุ่งนาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกัน ..ภาพเหล่านี้ค่อยหายไป

ภาพเหล่านั้นอาจกลับมาอีก ขณะที่เสียงดนตรีซีละดังขึ้นมาอีกครั้ง และเด็กรุ่นใหม่ออกท่าร่ายรำ มันจะไม่เป็นแค่การสาธิตให้สื่อมวลชนดูเท่านั้น เพราะซีละได้ถูกบรรจุอยู่ในกิจกรรมตอนเช้าของโรงเรียน และบูรณาการอยู่ในหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านสุเหร่า เพื่อเป็นหลักประกันว่าประเด็นนี้จะไม่หายไปอย่างแน่นอน

ต่อไปนี้ เด็กโรงเรียนบ้านสุเหร่าทุกคนจะได้ร่ายรำซีละทุกเช้า

เด็กที่ถูกฝึกให้เป็นผู้นำหน้าแถวมีอยู่ราว 10 คน แต่เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม บางคนติดตามพ่อแม่ไปทำงานในมาเลเซียจึงไม่ได้มาร่วมงานวันนั้น

ด.ช.วีระพงษ์ กาเซ็ง ชั้น ป.4 ด.ช.นิติพงษ์ กาเซ็ง ชั้น ป.5 ด.ช. มูฮัมหมัด หนิสอ ชั้น ป.4 และด.ช.ยูโส๊ะ ดอเล๊าะ ชั้น ป.5 ผู้นำหน้าแถวที่มาร่วมช่วยกันนั่งเล่าให้ฟัง

"ยาก ก็ตรงจังหวะหมุน" ใครคนหนึ่งตอบคำถาม แต่พวกเขาบอกว่าพยายามจดจำท่าทั้ง 28 ท่าเอาไว้ มีการซ้อมในทุกเย็นวันละ 1 ชั่วโมง และทำต่อเนื่องมาแล้วเดือนครึ่ง

"สนุกครับ ชอบ ทำให้ร่างกายแข็งแรง" พวกเขาแย่งกันแสดงความเห็น นอกจากจะเป็นแบบให้เด็กนักเรียนคนอื่นได้ทำตามแล้ว ยังเคยไปแสดงในงานตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา 50 ซึ่งเป็นงานใหญ่มาแล้ว พอถามถึงจังหวะการต่อสู้ อันตื่นเต้นเร้าใจ ที่โชว์โดยสองศรีพี่น้อง วีระพงษ์ กับนิติพงษ์ ทั้งคู่หัวเราะบอกว่า "ไม่เจ็บหรอก แกล้งทำ"

หลังการถ่ายทำรายการโทรทัศน์จบ ทุกคนแยกย้ายกลับ เหลือแต่อาจารย์เอกจิตราและคณะครู ที่คอยส่งแขกชุดสุดท้าย

"คนที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ถ้าเพียงรอทำตามคำสั่งจะตอบคำถามสังคมไม่ได้ แต่ต้องทำงานตอบสนองสังคมให้สังคมได้ประโยชน์ เป็นภาระอย่างหนึ่งของครูที่จะสืบทอดวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิต คนที่ทำงานทางด้านวัฒนธรรม และงานด้านการศึกษาจะแยกกันไม่ได้ เพราะเป็นวิถีชีวิตนี่เอง ถ้าสองอย่างไม่สอดคล้องกันถือว่าทำงานผิดพลาด" อาจารย์เอกจิตรา กล่าวทิ้งท้ายก่อนจากกัน

กิจกรรมเช้าหน้าเสาธงของนักเรียนที่โรงเรียนบ้านสุเหร่านับจากนี้ จะใช้ซีละซึ่งเป็นการออกกำลังกาย ที่ไม่หนักเกินไป ใช้เวลาไม่มากนัก ยังสอดคล้องกับวัฒนธรรมแห่งชุมชนอีกด้วย.

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว