สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ตลาดนัดสร้างสุขคนสงขลา 50

by Momo @11 ต.ค. 50 12:43 ( IP : 61...29 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

ถนอม ขุนเพ็ชร รายงาน

5-6 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา ผู้คนทั่วสงขลาเดินทางมาร่วมงาน ตลาดนัดสร้างสุข คนสงขลา 50 จัดขึ้น ณ โรงแรมราชมังคลา พาวีเลี่ยน บีชรีสอร์ท ต่อเนื่องถึงลานวัฒนธรรม ถนนชลาทัศน์

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาประจำปี 2549 -2550 โดยมีการรวมตัวครั้งสำคัญของประเด็นแผนสุขภาพและเครือข่ายสุขภาพทุกมิติ


กิจกรรมประกอบด้วย ปาฐกถา เสวนา การประชุมกลุ่มย่อย รายรอบด้วยขบวนนิทรรศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากทุกภาคส่วน บริการสุขภาพ การออกร้าน การสาธิต ของสินค้าสุขภาพและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากกลุ่มต่างๆ การแข่งขันปรุงอาหารสุขภาพ การออกกำลังกายแบบโนราบิค พื้นที่กิจกรรมใต้เงาต้นสนริมหาดทอดยาวไปถึงการแสดงวัฒนธรรม ณ ลานวัฒนธรรม ท่ามบรรยากาศสอดประสานกันอย่างคึกคัก

เป็นอีกวันที่ทุกคนพร้อมใจแต่งชุดเหลืองกันมาอย่างพร้อมเพรียง หลังจากลงทะเบียน และฉายวีซีดี เรื่องแผนสุขภาพสงขลา "บทเรียนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม" งานในห้องประชุมใหญ่ก็เริ่มต้นด้วยการแสดงชุดโนราตัวอ่อนจากเครือข่ายวัฒนธรรมโซนคาบสมุทรสทิงพระ แล้วเป็นการกล่าวต้อนรับโดยนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวรายงานของจัดโครงการ โดยชี้ให้เห็นว่าการรวมตัวเป็นประชาคมสุขภาพสงขลา เกิดจากการเชื่อมร้อยของประชาคมทุกภาคส่วน ที่เกิดขึ้นได้เพราะสงขลามีจุดแข็งด้านต่างๆ เป็นทุนทางสังคม

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ เดินทางมาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษเรื่องนโยบายสาธารณะกับการสร้างสุขภาวะ

"ผมขอชื่นชมการผนึกกำลังเพื่อสร้างสุขภาพของคนสงขลา จะเป็นประโยชน์ เป็นตัวอย่างให้กับที่อื่นเพื่อเรียนรู้ นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป"

นพ.พลเดชกล่าว และว่า ถ้าพูดถึงเรื่องสุขภาพย่อมไม่ได้หมายความเพียงแค่เรื่องการแพทย์ โรคภัยไข้เจ็บ แต่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของความสุข ต้องอาศัยการบูรณาการด้านต่างๆ เข้ามา ปัญหาทุกวันนี้คือคนไม่เข้าใจภาวะความสุขว่าเป็นอย่างไร เพราะสนใจแต่เรื่องบริโภคนิยม กระแสแห่งความต้องการไม่สิ้นสุด

ในการปาฐกถาพิเศษนพ.พลเดช กล่าวว่า นโยบายสุขภาวะนับเป็น 1 ในนวัตกรรมของประเทศไทย จังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่มีทุนทางสังคม ทุนทางปัญญาส่งต่อกันมานานที่เห็นได้ชัดและนับเป็นนวัตตกรรมชิ้นโบว์แดง คือ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ที่มีผู้นำ คนสำคัญ ไม่ว่า ครูชบ น้าลัภย์ ลุงอัมพร เป็นต้น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ที่ริเริ่มมาจากจุดเล็กๆเหล่านี้ขยายตัวไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว มองว่าชุมชนสัจจะออมทรัพย์เป็นชุมชนเชิงยุทธศาสตร์ ถ้าสังคมไทยต้องการให้ชุมชนเข้มแข็ง ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วต้องเริ่มที่เรื่องนี้

สำหรับสุขภาวะ เป็นนวัตกรรมอีกขั้นหนึ่ง ถ้ามองกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เป็นหน่วยย่อยระดับชุมชน แต่สุขภาวะเป็นการร่วมกันทำของสังคมขนาดใหญ่ เป็นเรื่องที่ยาก แต่ที่ยากนั้นคนสงขลาแสดงให้เห็นว่าทำได้

"ผมจึงจะจับตามองแผนสุขภาวะนี้ ว่าสำเร็จแค่ไหน เหมือนกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่ทำสำเร็จแล้ว"

นพ.พลเดชยังได้กล่าวถึงการพัฒนาของสังคมไทย 4 ยุค อันประกอบด้วย

1.ยุคที่เชื่อว่า ประชาชน จน โง่ เจ็บ แนวคิดจึงอยู่ที่การเข้าไปช่วยเหลือประชาชน การพัฒนาจึงผูกอยู่กับการสังคมสงเคราะห์ การประชาสงเคราะห์

2.ยุคที่ยังมองประชาชน จน โง่ เจ็บ แต่แทนที่จะให้อย่างเดียวยังสอนวิธีการทำ อย่างเช่น สอนการจับปลา สอนการปลูกข้าว เป็นต้น

3.ยุคที่พบว่าแท้จริงประชาชน ไม่จน ไม่โง่ ไม่เจ็บ เพียงแต่ขาดโอกาส ถ้ามีโอกาสจะไปแก้ปัญหาต่างๆได้เอง จึงเป็นยุคที่หันมาเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ ให้ประชาชนจัดการเรียนรู้

4.ยุคที่เชื่อว่าประชาชน ไม่จน ไม่โง่ ไม่เจ็บ และขาดโอกาส แต่การจัดการเรียนรู้เพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยนโยบายสาธารณะหนุนเสริมด้วย

"ท่านทั้งหลายกำลังบุกเบิกอยู่ในยุคที่ 4 เพื่อทำให้เป็นความจริง ในระดับชาติพูดถึงนโยบายสาธารณะมากมาย มีแต่ประเด็น แต่ไม่มีพื้นที่ทดลอง แต่ชาวสงขลากำลังนำเอาเรื่องนี้มาโลดแล่นสู่ชีวิตจริง ผมจึงอยากให้กำลังใจ" นพ.พลเดชกล่าวถึงการเกิดขึ้นของสงขลาสร้างสุข และยังกล่าวถึงกระบวนการที่ทำให้สังคมเข้มแข็งว่า นโยบายสาธารณะเป็นส่วนที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะแนวคิดประชาธิปไตยแบบใหม่ที่มีการพูดกันในประเทศอเมริกาโดยสถาบันแห่งหนึ่ง ที่เน้นความสมดุลสองประการระหว่าง แผนงานโครงการสาธารณะกับการเสวนาสาธารณะ ซึ่งเป็นลักษณะที่สร้างการปรึกษาหารือระหว่างประชาชน เป็นประชาธิปไตยเชิงปรึกษาหารือ ซึ่งสำคัญกว่าแบบเลือกตัวแทน

องค์ประกอบของชุมชนเข้มแข็ง มี 3 องค์ประกอบ ในความเห็นของ นพ.พลเดช กล่าวคือ 1. ต้องมีพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ บอกได้ว่าปัญหาของตัวเองคืออะไร จะแก้แบบไหน 2. ต้องมีชุมชนรับผิดชอบ รวมตัวกันเป็นกลุ่มชุมชน และ 3. ต้องมีสถาบันที่ผูกพันกับปัญหาของสังคม รู้ร้อนรู้หนาวในปัญหาของสังคม

"พ.ร.บ.สุขภาพ เป็นตัวอย่างที่ดีของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ" นพ.พลเดชกล่าว และว่า การลงมือทำสำคัญกว่าการมีแผน การเคลื่อนไหวด้วยพหุภาคีทำให้มีพลัง โดยหน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบผูกพันตัวเข้ามา

หลังการปาฐกถา นพ.พลเดช ร่วมเป็นสักขีพยานกับตัวแทนภาคประชาชน ในฐานะประธานกรรมการแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา คือ นายลัภย์ หนูประดิษย์ และ ภาควิชาการคือ ผศ.ดร.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ในการ ร่วมลงนาม ข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แผนสุขภาพตำบล 9 ตำบล(จากทั้งหมด 16 ตำบล) ได้แก่ 1. ต.บ้านใหม่ อ.ระโนด 2.ต.คลองรี อ.สทิงพระ 3.ต.คูขุด อ.สทิงพระ 4.ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร 5.ต.กระแสสินธ์ อ.กระแสสินธุ์ 6.ต.แม่ทอม อ.บางกล่ำ 7.ต.รัตภูมิ อ.ควนเนียง 8.ต.พิจิตร อ.นาหม่อม 9.ต.คลองทราย อ.นาทวี

การลงนาม MOU ครั้งนี้นับว่า เป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งของงานนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนแผนสุขภาพระดับตำบล สู่การเป็นตำบลสร้างสุข โดยใช้ตำบลที่มีความเข้มแข็งในเรื่องนี้แล้วมาเป็นตัวนำร่อง มุ่งหวังที่จะผลักดันให้แผนสุขภาพระดับตำบล มีกองทุนสุขภาพระดับตำบล และทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งมีแผนที่จะขยายพื้นที่ออกไป แต่เน้นคุณภาพเป็นหลัก

นายลัภย์ หนูประดิษฐ์กล่าวว่า ตอนนี้ตนเอง อายุ 71 ปี คงเป็นตัวอย่างทางสุขภาพได้บ้าง และยกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าที่สอนว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งบอกชัดอยู่แล้วว่าความสุข หรือลาภของคนนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินทอง

ในการเสวนา เรื่อง นโยบายสาธารณะในการสร้างสุขภาพประชาชนระดับจังหวัด นายนวพล บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา(อบจ.สงขลา) ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่สนับสนุนแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา กล่าวว่าสิ่งที่อยากเห็นคือสุขภาพพี่น้องประชาชนดีขึ้น อยากเห็นสุขภาวะของประชาชน โดยการเป็นโรคภัยต่างๆ ต้องลดลงไม่อยากเห็นประชาชน เดินเข้าออกโรงพยาบาลหรือคลินิก ไม่ต้องการเห็นรถพยาบาลฉุกเฉิน ของ อบจ.ต้องวิ่งออกไปรับคนไข้ ตามตำบลต่างๆ

"ทำไป 2-3 ปี มีการประเมิน ถ้าผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต้องทบทวนกัน" นายนวพลกล่าว อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของ อบจ.สงขลา ได้วางแนวทางเอาไว้อย่างยั่งยืน ผ่าน MOU โดยไม่ผูกติดอยู่กับนักการเมืองท้องถิ่นคนใดคนหนึ่ง หากมีการเปลี่ยนผู้นำในอนาคต

นพ.สุเทพ วัชระปิยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา(สสจ.สงขลา) กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า สสจ.สงขลา พร้อมจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เพื่อไปสู่เป้าหมาย สสจ. สงขลาพัฒนา ประชามีสุข ประเด็นหนึ่งที่ สสจ.สงขลาหยิบมาให้ความสำคัญคือเรื่อง อาหาร สะอาดปลอดภัย ซึ่งมีกิจกรรมที่มาสนับสนุนหลายกิจกรรมอยู่ในขณะนี้

นายอัมพร ด้วงปาน ผู้นำกลุ่มออมทรัพย์คลองเปียะ อำเภอจะนะ ออกมาแสดงความเห็นว่า ประเด็นสำคัญเชิงสุขภาพ อยู่ข้างในตัวคน คือจะต้องละ ความโลภ โกรธ หลง จะมีแผนสวยหรูอย่างไร ถ้ายังตกอยู่ในอำนาจสิ่งเหล่านี้ สุขภาพก็ไม่อาจดีได้ และยังไม่เข้าถึงหลักการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงได้

"ถ้าอยากสุขภาพดี จิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาก"นายอัมพรกล่าว

ในการเสวนา หัวข้อธรรมชาติบำบัด นำโดยอาจารย์ภานุ พิทักษ์เผ่า จากเครือข่ายเกษตรวิถีธรรมวิถีไท สู่อาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพชุมชน ได้มีกรณีศึกษาของคนที่เปลี่ยนวิถีชีวิต มาสู่วิถีธรรมชาติบำบัด จนหายจากโรคเรื้อรังประจำตัวอย่างเช่นกรณีของ คุณอาบทิพย์ ตันติมา คุณเสาวพันธ์ ชูรังสฤษฎิ์ และคุณแสง ธรรมดา ศิลปินเพื่อชีวิตชื่อดัง ที่เพิ่งพบว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจต้องส่งเข้ารักษาตัวในห้อง ไอซียู มาแล้ว และพบว่าการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันโดยใช้ยานั้น ทำให้ระบบความคิดทำงานไม่เหมือนเดิม จึงหันมารักษาโดยวิธีธรรมชาติบำบัด ซึ่งเขามาในวันนั้นพร้อมกับร้องเพลงธรรมชาติบำบัดที่แต่งขึ้นสำหรับงานนี้

เวทีเกียรติยศคนทำงานสร้างสุขภาพจังหวัดสงขลา ได้มีการมอบเกียรติบัตร แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นกิจกรรมที่เชื่อมต่อมาถึงงานในวันถัดมา

ช่วงท้ายของงานในวันสุดท้าย หลังการแสดงสีละของเยาวชนจากบ้านสุเหร่า ต.ป่าชิง อ.จะนะ ศิลปะการแสดงพื้นบ้านในมิติทางสุขภาพที่กำลังสูญหาย ถึงเวลาที่นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ทีมกลางของแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ได้นำเสนอผลการขับเคลื่อนแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาปี 2550 และข้อเสนอในเชิงนโยบาย โดยสรุปการประชุมกลุ่มย่อยของประเด็นต่างๆ

นพ.สุภัทร เห็นว่าแผนสุขภาพ ต้องร่วมคิดร่วมทำใน 4 ภาคส่วน คือ ราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาคม และนักวิชาการ ซึ่งยอมรับว่ายังไปไม่ถึงเป้าหมาย โดย ส่วนของประชาคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ความร่วมมือพอควร แต่ส่วนอื่นยังต้องใช้ความพยายามโดยเฉพาะภาคราชการ


"ปัญหาหลักยังเป็นเรื่องการขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐ โดย สสจ.เป็นแกน ระยะยาว น่าจะมีการพัฒนาองค์กรกลางในการเชื่อมร้อยประสานการขับเคลื่อน ในปี พ.ศ.2551 เราตั้งเป้าให้เป็นปีแห่งการบูรณาการ และประสานพลังขับเคลื่อน 4 ภาคส่วนดังกล่าว"

การวิพากษ์แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา โดย นพ.บัญชา พงษ์พาณิช จาก สสส. ได้กล่าวถึงหลักโลกเรื่องการสร้างสุขว่าองค์ประกอบสำคัญ อยู่ที่การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ การสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อกับสุขภาพ การสร้างเสริมความเข้มแข็งในชุมชน การพัฒนาทักษะส่วนบุคคลทางสุขภาพ และ การปรับเปลี่ยนบริการด้านสุขภาพ

"ในแผนสุขภาพจังหวัด ส่วนตัวผมนับถือที่คนสงขลาทำเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ถือว่านำร่องไปแล้ว"

นพ.บัญชายังได้นำคำกล่าวของพระอาจารย์พุทธทาสภิกขุมากล่าวว่า มนุษย์กำลังเข้าใจผิดเรื่องสุขภาพ เพราะไปสนใจแต่เรื่องทางกาย ..ขณะที่ตัวเขาเองก็เห็นสอดคล้องกันว่า ความสุขอยู่ที่ กาย ใจ สังคม ปัญญา ซึ่ง ทั้ง 4 อย่างนี้จะต้องมีความสมดุลกัน

"ในความเป็นผม หัวใจของมันน่าจะอยู่ที่รู้ถูกต้อง ขอเสนอว่าการขับเคลื่อนทางสุขภาพ ต้องขับเคลื่อนเรื่องใจ และสติปัญญาให้มาก ไม่เช่นนั้นจะเปลี่ยนไม่ได้เลย การใฝ่ฝันให้มีความสุข กรณีการหันไปพึ่งจาตุคามรามเทพ เป็นกรณีหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของความเข้าใจผิด ผมเห็นว่ามุสลิมยังมีความเข้มแข็งตามหลักศาสนา แต่ชาวพุทธค่อนข้างมีปัญหา ละเลยคำสอน"

นายชัยพร จันทร์หอม จากจังหวัดตรัง ที่ได้มาร่วมสังเกตการณ์งานครั้งนี้เห็นว่า ถ้าภาครัฐและประชาชนมาเป็นหุ้นส่วนของโครงสร้างนี้ จะทำให้มีชีวิตมากขึ้น อยากมองว่าแผนสุขภาพสงขลาเป็นสีคราม เป็นสีแห่งความหวัง หลังจากสีกากีพยายามทำมานานแต่ไม่สำเร็จ

นายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวปิดท้ายงานเห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาวะของประชาชน และพร้อมจะประสานกับหน่วยราชการส่วนต่างๆ ยังมองถึงประชาคมว่าคือจุดเริ่มต้นในการสร้างความแข็งแกร่งของประชาธิปไตย หมายถึงการรับฟังความคิดเห็น ไม่เอาความคิดของตนเองมาเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว นั่นคือจิตวิญญาณประชาธิปไตยที่แท้จริง มีความหวังในชีวิตได้จริง

"การทำแผนสุขภาพสงขลานี้ถือว่า เป็นการลงมือปฏิบัติจริง ในชีวิตราชการผมมีแต่การทดลอง สาธิต นำร่อง อันนี้คือทำจริงเสียที ผมมีความหวังมาก ถ้าทำได้อย่างนี้อย่าว่าแต่จังหวัดสงขลา ระดับประเทศก็ไปได้ เวลาที่ผ่านมาไม่สูญเปล่าแน่นอน สังคมจะขับเคลื่อนไป ถ้าคนคิดและทำอย่างนี้มากขึ้น"

ทุกคนช่วยกันเก็บข้าวของ แยกย้ายกันในเย็นของ 6 ตุลาคม เพื่อกลับมาพบกันอีกในโอกาสต่อไป ข้อความบนบอร์ดแสดงความคิดเห็น ยังทิ้งความเห็นหลากหลาย หนึ่งในนั้นบอกว่า

"อยากเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในประเทศ ทำ MOU (ข้อตกลงร่วมมือ) แบบนี้บ้าง ...ขอให้จง "ร่วมมือยั่งยืน" ลงชื่อ นิมิตร สมบูรณ์วิทย์ สุพรรณบุรี

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว