สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

บุญคุณน้ำผึ้งโหนดต้นไม้ที่เป็นได้ทุกสิ่ง

by kai @11 เม.ย. 50 19:51 ( IP : 222...177 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 460x613 pixel , 111,743 bytes.

บุญคุณน้ำผึ้งโหนดต้นไม้ที่เป็นได้ทุกสิ่ง

วันนี้ ใครผ่านไปทางหมู่ 8 บ้านดอนคัน ตำบลคูขุด  อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา  คงมองเห็นบ้านทรงทันสมัยหลายหลังปลูกใหม่  หากกลมกลืนกับวิถีดั้งเดิมของโหนด-นา-เล  แห่งชุมชนริมทะเลสาบ ด้วยรั้วบ้านก้านใบตาลโตนด  ขณะมองลึกไปทางหลังบ้านแบบปูนทาสีใหม่เอี่ยม โรงและเตาเคี่ยวน้ำตาลโตนดที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคนยังคงกรุ่นควันอยู่

เพราะทุกชีวิตยังโลดแล่นในอ้อมกอดของทุ่งตาลโตนด  เฉพาะตำบลคูขุดมีต้นตาลโตนดเกือบ 30,000 ต้น หนาแน่นที่สุดของประเทศไทย  ลมหายใจชุมชนแยกจึงไม่ออกจากตาลโตนดหรือ  "ต้นโหนด"

นับแต่ โครงการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม(SAFE  Project) ลงมาใช้ที่นี่เป็นกรณีศึกษาข้อมูล จนมีการจัดตั้งกลุ่มรักษ์ธรรมชาติคูขุด พบว่าสิ่งที่ต้องเร่งอนุรักษ์คือต้นโหนด  ตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2547 เป็นต้นมา ชาวบ้านดอนคันจึงรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่ม "คนรักษ์โหนด"  กลุ่มหัตถกรรมแปรรูปตาลโตนดบ้านดอนคัน

"คนที่นี่มีรายได้จากต้นโหนด  บางคนมีเงินปลูกบ้านราคาแพงนับล้าน  ส่งลูกส่งหลานเรียนสูงๆจบปริญญา  ก็เพราะโหนดทั้งนั้น"  ปราณี  มณีดุลย์ ประธานกลุ่มคนรักษ์โหนดเล่า

ปราณี อดีตข้าราชการครู ผู้ผูกพันกับถิ่นเกิด เลือกเออลี่รีไทร์ออกมาจัดตั้งกลุ่มชาวบ้าน ด้วยมองเห็นศักยภาพของพื้นที่อันดำรงความหลากหลาย เธอร่วมทำกิจกรรมกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง มีองค์กรต่างๆ เข้ามาให้การสนับสนุน ทั้งเงินทุน เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ และการฝึกอบรมการทำหัตถกรรมจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นซึ่งก็คือต้นโหนด

เศรษฐกิจของบ้านดอนคันวันนี้ค่อนข้างมีความหวัง  น้ำผึ้งโหนด ซึ่งก็คือการนำน้ำตาลโตนดสดไปเคี่ยว ราคาขึ้นมาถึงปิ๊บละ 700 บาท แม้ความทรงจำของปราณีในวัยเด็กราคาปิ๊บละไม่เกิน 10 บาทเท่านั้น  ขณะต้นทุนอาชีพใช้เพียงมีดปาดตาลกับ กระบอกไม้ไผ่  และต้นโหนด ซึ่งผลการศึกษาชาวบ้านมีต้นโหนดเป็นของตัวเองคนละกว่า 70 ต้น  หากเป้าหมายชีวิต พวกเขาเลือกเดินไปสู่ความพอเพียง โดยมีต้นโหนดเกี่ยวข้องอย่างกลมกลืน

วงสนทนาเล็กๆ ณ ที่ทำการของกลุ่มคนรักษ์โหนด ในวันนั้นไม่เฉพาะปราณี มณีดุลย์ ในฐานะประธานกลุ่มฯ  ยังมีคณะกรรมการบริหารของกลุ่ม อย่างสุณีย์ พานิช และปราณี หนูสงค์  ต่างผลัดกันเล่า ถึงความผูกพันระหว่างต้นโหนดกับชีวิต อาจนับได้ว่าตั้งแต่ลืมตาดูโลกกระทั่งตาย

....ยามแบเบาะ  เมื่อพ่อแม่ออกไปทำนา จำเป็นพาลูกไปด้วย ต้องนำลูกอ่อนไปผูกเปลไว้กับระยะห่างของต้นโหนดริมคันนา  เด็กคนนั้นโตขึ้นในทุ่งที่เต็มไปด้วยต้นโหนด รู้จักกินลูกโหนดเป็นผลไม้ และขนมหวาน ด้วยยุคนั้นไม่มีถนนหนทางตัดผ่านการไปสู่โลกภายนอกต้องอาศัยนั่งเรือข้ามทะเลสาบไปยังเมืองสงขลา  ไม่มีขนมหวานของกินเล่นอื่นใดเล็ดลอดเข้ามาได้  เด็กกินลูกโหนดกันได้ทุกวันไม่มีเบื่อ มีวิธีกินทั้งอ่อนทั้งแก่  หาวิธีกินได้แม้ไม่มีมีด  หลังจากนั้นก็รู้ว่าโหนดเป็นอาหารหลายอย่าง  เปลือกหุ้มผลอ่อนของลูกโหนดเรียกว่าหัวโหนด นำมาเกียงเลียง แกงคั่ว ฯลฯ

อาหารบางอย่างประทับอยู่ในความทรงจำอันสวยงามแห่งวัยเด็ก  อย่างเช่นการเอาน้ำผึ้งโหนดเทใส่ข้าวสวย  หรือ การทำไข่หวานแบบง่ายๆ กลางทุ่งนา

....เมื่อจะออกไปยังกลางทุ่ง มักจะมีขันสำหรับกินน้ำติดตัว  ก็เพียงแต่เตรียมไข่เป็ดไปด้วยฟองสองฟอง  ยามที่ต้องการกิน ก็เพียงตอกไข่ลงในขัน กวนพอเป็นพิธีแล้วเดินไปยังเตาเคี่ยวน้ำตาล ที่มีอยู่ทั่วไป น้ำตาลจากงวงโหนด  รองรับโดยกระบอกไม้ไผ่ มาจากระดับความสูงเกือบ 30 เมตร  ชาวบ้านจะนำลงมาเคี่ยว กรองลงกระทะใบบัวที่ตั้งอยู่บนเตาขนาดใหญ่ก่อด้วยดิน  ใส่ไฟเคี่ยว ขณะเคี่ยวก็จะลวกกระบอก โดยตักน้ำตาลโหนดที่กำลังเดือดใส่กระบอกเขย่าแล้วเทผ่านภาชนะกรองกลับกระทะ  น้ำลวกกระบอกอันหอมหวานนี่เอง นำมาเทใส่ขันที่ตอกไข่เป็ดใส่มาเรียบร้อย  ทำให้ไข่สุก ได้รสหอมหวานของน้ำตาลเดือด

ปราณี มณีดุลย์ เล่าว่า อาหารการกินของคนที่ผูกพันกับต้นโหนดแต่ละครัวเรือนยังมีมากมายนับไม่ถ้วน อย่างการเคี่ยวน้ำผึ้งโหนดบนไฟ แบบที่เอารากของต้นลำพูมาทำไม้กวน ยีจนน้ำผึ้งแห้งเป็นผง  เอาน้ำผึ้งผงเหล่านี้มาผสมข้าวเลี้ยงเด็ก เรียกว่าผัดขี้ม้า

"คล้ายซีรีแล็กซ์นั่นแหละ ใช้เลี้ยงเด็กวัยแรกเกิดโดยเฉพาะ "  ปราณี หนูสงค์ หัวเราะ  ถามว่าเด็กจำนวนมากแห่คาบสมุทรสทิงพระเติบโตขึ้นมาด้วยอาหารง่ายๆแบบนี้ดอกหรือ ? และก็ แข็งแรงดีด้วย  ส่วนมื้อเย็นถ้าวันไหนไม่มีอะไรกิน  ก็กินข้าวราดน้ำผึ้งโหนด บางทีผสมเนื้อมะพร้าวอ่อนลงไปด้วย

"อย่างหนึ่งเป็นเพราะอาหารจากโหนด ปราศจากสารพิษทุกขั้นตอนการผลิตก็ว่าได้  นับตั้งแต่การปลูกโหนด ที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องใส่ปุ๋ย  หรือสารเคมีใดๆ  เป็นต้นไม้ที่เติบโตได้ดีในธรรมชาติ ไม่รบกวนแม้แต่นาข้าวเพราะ โดยดูดน้ำใต้ดินที่ลึกลงไปมาก  ขั้นตอนการผลิตมาเป็นอาหารก็ไม่มีความจำเป็นที่จะเติมสารเคมีชนิดใดลงไป อย่างน้ำผึ้งเหลว ก็ไม่มีอะไร  ถ้าจะมีบ้างก็คงจะเป็นเคี่ยม  ซึ่งก็คือไม้สมุนไพรชนิดหนึ่ง  ซึ่งมีสรรพคุณที่จะไม่ให้น้ำตาลเปรี้ยวเท่านั้น" ปราณี มณีดุลย์ประธานกลุ่มคนรักษ์โหนดเล่า และว่า หลังจากมีการรวมกลุ่มชาวบ้านได้ ก็เริ่มมาคิดและร่วมมือกันอย่างจริงจังในการผลิตอาหารจากต้นโหนดที่เอื้อต่อสุขภาพ  จนสร้างรายได้ เป็นสินค้าส่งออกระดับห้าดาวจากบ้านดอนคันอีกด้วย

อาหารจากโหนด ประเภทแกง ประกอบด้วย แกงเลียงหัวโหนด  แกงคั่วหัวโหนด  แกงส้มปลาช่อนหัวโหนด  ผัดเปรี้ยวหวานหัวโหนด และยำหัวโหนด เป็นต้น

ประเภทขนมหวาน มีขนมลูกโหนดนึ่ง  วุ้นลูกโหนดกรอบ  แยมลูกโหนดสด  ขนมปั้นขลิบใส่จาวโหนด จาวโหนดเชื่อม  ขนมลูกโหนดกะทิสด  ลูกโหนดลอยแก้ว  ข้าวเกรียบลูกโหนด

สินค้าที่ชุมชนส่งออกขาย ส่วนมากเป็นประเภทขนมหวาน  กระบวนการผลิตสะอาดปลอดภัย  ไม่เจือสารกันบูด  เก็บไว้ได้ในระยะเวลาไม่นานนัก ขายวันต่อวัน ไม่เก็บไว้นาน  ชาวบ้านเห็นร่วมกันว่าอาหารที่สดใหม่ จึงจะอร่อย และไม่มีผลเสียแก่ร่างกาย

"อย่างน้ำตาลสดที่จะนำมาเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาเยี่ยม จะสั่งคนขึ้นตาลเอาไว้ว่าอย่าเพิ่งเอาลงมาจากต้น จนกว่าแขกจะมา ลูกตาลสดก็จะเฉาะมาขายกันวันต่อวัน " ปราณี มณีดุลย์ เล่า และอธิบายถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับน้ำตาลสด บรรจุขวดขายในที่บางแห่งว่าไม่น่าจะเจือสารกันบูดอย่างที่พูดกัน แต่คงจะมีการนำไปตั้งไฟอุ่น เพราะระยะเวลาการเดินทางในการขายยาวนาน รสชาติก็คงไม่อร่อยเท่าลงมาจากต้นใหม่ๆ ส่วนกระบวนการผลิตในแต่ละแบบก็คงต่างกันออกไปตามรายละเอียด เช่น น้ำตาลสดพาสเจอร์ไรซ์ รสชาติ คุณค่าต่างกัน

น้ำตาลโหนดนับเป็นผลิตภัณฑ์หลักจากต้นโหนด ชาวบ้านเคี่ยวน้ำตาลโหนดเป็นน้ำผึ้งโหนด ที่จะนำส่งขายไปผลิตเป็นน้ำผึ้งแว่น น้ำผึ้งผง  น้ำตาลโหนดที่ไม่เคี่ยวปล่อยทิ้งไว้จะเป็นน้ำส้มสายชูสำหรับปรุงอาหาร
"คนเมื่อก่อนปลูกต้นโหนดมากแต่ใช้ประโยชน์น้อย แต่ทุกวันนี้เราปลูกมากและใช้ประโยชน์มาก"

โหนดเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล นับแต่รากโหนด ขุดขึ้นมานำไปตากแล้วต้ม เป็นยาสมุนไพรแก้โรคตานขโมยในเด็กและ โรคเบาหวาน ,ลำต้น ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป นำมาแปรรูป  เป็นเครื่องเรือนเครื่องใช้  เฟอร์นิเจอร์ ,เส้นใยจากกาบ นำมาผลิตเป็นงานหัตถกรรม และเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ,ทาง (ก้านใบ) นำมาทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ กระถางต้นไม้ เชื้อเพลิง รั้วบ้าน คอกสัตว์ , ใบแก่ใช้มุงหลังคา ,ใบอ่อน ใช้ในงานจักสาน ของเล่น ของใช้  และกำลังมีแนวความคิดทำเป็นดอกไม้จันทน์ ,งวง ให้น้ำตาล แล้วยังเป็นยาสมุนไพรแก้เบาหวาน  และนำมากินแทนหมาก , ผลอ่อน ใช้ทำน้ำหวาน  เป็นอาหารทั้งคนและสัตว์ ,ผลสุก เอามาทำขนม อาหาร หรือไม่ก็บีบเอาน้ำมาทำเป็นนำหมักชีวภาพ ,เมล็ดอ่อน เอามาทำเป็นขนมหวาน  ขายทั่วไปหรือส่งขายโรงงานผลไม้กระป๋อง  ,เมล็ดตาลสุก เอาไปทำจาวตาลเชื่อม หรือเพาะขยายพันธุ์  เพื่อปลูกแทน หรือส่งขายหรือถ้าขยายพันธุ์ไม่ได้ ยังเอาไปเผาถ่านได้อีกต่างหาก

" ต้นโหนดใช้ทุกส่วนจริงๆ  ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงอย่าง ที่เรียกว่ารก หรือกาบตาลตรงปลายก้านของใบที่โอบลำต้นยังใช้มาทำไม้กวาด" ปราณี เล่า คนสมัยก่อนยังนำส่วนที่เหนียวๆ คล้ายรังผึ้ง เรียกว่า "เจี้ย" ที่ติดอยู่ตามใบโหนดที่ห่อตัว มาใช้เป็นยาห้ามเลือด กรณีถูกหนามโหนดบาด หรือแกละ เกี่ยวข้าวบาดตอนลงไปทำนา

การเรียนรู้ การแปรรูปและใช้ต้นโหนดอย่างคุ้มค่าในยุคใหม่ของหมู่บ้านยังเกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้าน  ตั้งต้นจากคำถามง่าย ๆว่า แต่ละคนที่เป็นอยู่ได้อะไรจากต้นโหนดบ้าง แค่นี้ก็ได้ความรู้เพิ่มมาอีก กระบวนการต่อจากนั้นคือส่งคนไปดูงานเกี่ยวกับโหนดในหมู่บ้านใกล้เคียง เช่นกลุ่มคมโหนดที่ตำบลท่าหิน  ที่คลองฉนวน ใกล้วัดพะโค๊ะ    หรือที่อำเภอสิงหนคร แต่ละแห่งก็จะได้ความรู้ต่างๆกลับมา แล้วก็คิดว่าจะทำอะไรดี  แลกเปลี่ยนความรู้กันเอง  ระดมความเห็น เอาสิ่งที่ดูงานมาพัฒนา สอนกันต่อๆไป

"ที่ไหนเขาเปิดสอนอะไรที่เกี่ยวข้อง ถ้าเรารู้ก็ส่งคนไปเรียน เรียนแล้ว ก็กลับมาสอนคนอื่น สอนต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่มีการหวงวิชา แล้วทำสินค้าขายในนามกลุ่ม  จนทุกวันนี้ถือว่าหมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านตาลโตนดครบวงจร"ครูปราณีเล่า และสะท้อนว่าความเป็นกลุ่มอันเข้มแข็งมาจากสมาชิก ช่วยกันคนละไม้ละมืออย่างแท้จริง  อย่างการก่อสร้างที่ทำการของกลุ่ม ใครช่วยอะไรได้ก็อาสาช่วย มีตั้งแต่คนบริจาคที่ดิน บริจาคต้นโหนดมาขึ้นโครงสร้างอาคาร ออกเงินซื้อกระเบื้อง คนไม่มีอะไรก็ออกแรง  ทุกคนมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของ

"เดี๋ยวนี้ ทุกคนเกี่ยวข้องกับต้นโหนดหมด  ทั้งปาดโหนด เคี่ยวน้ำตาล  เฉาะลูกโหนด  นี่ก็เพิ่งมีปรากฏการณ์ใหม่ที่ต่อไม้ไผ่ เพื่อเกี่ยวลูกโหนดลงมาไม่ต้องปีน คนปีนก็แหงนคอตั้งบ่า จนบ่นว่าแหงนดูก็เห็นแต่ฟ้า พอมองพื้นดินพาลหน้ามืดไม่เห็นอะไร"

คณะกรรมการกลุ่มฯ เล่ามุกตลก แซวเพื่อนบ้านที่ขณะนั้นคงจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับต้นโหนดสักอย่างเป็นแน่ อาจจะเฉาะลูกโหนดอยู่ในทุ่ง นั่งหน้าเตาไฟ หรือจักสานอยู่กับบ้าน

ต้นโหนดทำให้ชุมชนมีอาชีพหลากหลาย ทำให้เกิดการค้าขายทั้งภายในและนอกชุมชน เกิดการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนทรัพยากร พึ่งพาตนเองได้ ไม่ขัดสน ไม่จำเป็นต้องอพยพไปขายแรงงาน  มีโอกาสอยู่กับครอบครัว พี่น้อง  มีโอกาสศึกษาหาความรู้และพัฒนาตนเอง มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ทำให้รักถิ่นฐาน มีความภาคภูมิใจในตนเอง ช่วยลดปัญหาสังคม  นับเป็นต้นไม้ที่มีบุญคุณล้นเหลือกับผู้คนที่นี่โดยแท้

……………………… ผู้สนใจผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เกี่ยวกับต้นโหนด แวะไป ที่กลุ่มคนรักษ์โหนด /กลุ่มหัตถกรรมแปรรูปตาลโตนดบ้านดอนคัน เครือข่ายแผนสุขภาพประเด็นเกษตรและอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ หมู่ 8 ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา  074-205062 ,074-250551, 074-205058 ,089-9774696

Relate topics

Comment #1
จิรโรจน์ จักษุอินทร (Not Member)
Posted @18 มี.ค. 51 12:16 ip : 117...43

ขอชื่นชมในภูมิปัญญาและการรวมกลุ่มกันทำมาหากินเจริญรอยตามบรรพบุรุษ มีโอกาสจะมาเยี่ยมเยือน  และมีโอกาสจะแนะนำผลิตภัณฑ์ให้กับคนรู้จัก ร้านค้าเพื่อนำผลิตภัณฑ์ของท่านไปขาย  ขอให้ทุกท่านและกิจการเจริญรุ่งเรืองตลอดไป.  จาก..จิรโรจน์  จักษุอินทร์  จ. เลย 083-3473535

Comment #2
pud (Not Member)
Posted @30 ม.ค. 52 14:51 ip : 124...28

ไม่เคยรู้ว่าหมู่บ้านดอนคันของเรามีโครงการแบบนี้ด้วย ดีนะที่เห็นหน้าครูปราณี เลยต้องอ่านดู ก็เลยได้รู้ ก็นับว่าเป็นโครงการที่ดีนะคะ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทำต่อไปนะคะครู +)  :d
pat  krammart

Comment #3
sukont (Not Member)
Posted @20 เม.ย. 52 21:03 ip : 124...250

ครูปราณี  คือคนดี และเป็นที่รักของทุกคนในดอนคัน

Comment #4ต้นโหนด
mongkol wattaro (Not Member)
Posted @18 มิ.ย. 52 17:20 ip : 203...61

รู้สึกภูมิใจแทนคนบ้านดอนคัน ที่มีกลุ่มผู้รักบ้านเกิด ต้นโหนดคือตัวตนของคนดอนคัน อยากให้ช่วยอนุรักษ์และปลูกเพิ่มเติมให้มากกว่าเดิม เพราะทุกวันนี้มีแต่การโค่นไปใช้โดยไม่ได้ปลูกทดแทน  ผมขอทำนายไว้วันนี้เลยว่าต่อไปต้นโหนดจะเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ขณะนี้ที่เพชรบุรีที่มีต้นโหนดเยอะๆ ได้หายไปเกือบหมดแล้ว ที่อื่น ๆ ก็ไม่มี ในจังหวัดภาคใต้ก็มีแต่ที่พัทยาและสงขลา แต่น่าใจหายเพราะพื้นที่ที่มีต้นโหนดเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะความเจริญเข้ามารุกคืบ บ้านเรือนมีมากขึ้น คนรุ่นหลังไม่เห็นคุณค่าของต้นโหนด อาจเป็นเพราะไม่ได้มีชีวิตผูกพันมาตั้งแต่เด็กเหมือนคนสมัยก่อน ประโยชน์ของต้นตาลมีตั้งแต่ใบยันราก จะหาต้นไม้ชนิดอื่นเสมอเหมือนไม่มีอีกแล้ว ชาวดอนคันควรดีใจและภาคภูมิใจที่บรรพบุรุษได้มอบสมบัติอันมีค่าชิ้นนี้ให้เรา  ผมในฐานะลูกหลานบ้านดอนคันขอสนับสนุนทุกอย่างที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ต้นโหนดให้อยู่คู่บ้านดอนคันตลอดไป  ขอบคุณครูปราณีและสมาชิกทุกคนครับ

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว