สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สร้างกติกาสุขภาพทางอาชีพ ศูนย์ข้อมูลแรงงานนอกระบบคลองรี

by punyha @21 ม.ค. 53 09:14 ( IP : 222...123 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

สร้างกติกาสุขภาพทางอาชีพ ศูนย์ข้อมูลแรงงานนอกระบบคลองรี

เพราะขึ้นตาลเสี่ยงเท่ากับขึ้นเครื่องบิน พลาดพลั้งถึงพิการหรือตายเอาได้ง่ายๆ คนปาดตาล ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา จึงสร้างและรับข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย 15 ข้อ ตั้งแต่เมาไม่ขึ้น จนรู้จักห้ามเลือดกลางอากาศ เป็นผลจากการขับเคลื่อนประเด็นแรงงานนอกระบบ ในแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา คำอธิบายภาพ : pic4b57b8e616c16

ประภาส ขำมาก หัวหน้าสถานีอนามัยตำบลคลองรี และ สมพงศ์ พะยัติ เหรัญญิก กรรมการศูนย์ข้อมูลแรงงานนอกระบบตำบลคลองรี ช่วยกันเล่าถึงความเป็นมาในเรื่องนี้ว่า ตำบลคลองรีประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน จากประชากร 3,700 กว่าคน มีแรงงานนอกระบบอยู่ถึง 70 %

ในปี 2547 ที่ตำบลคลองรีเริ่มมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแรงงานนอกระบบโดยแน่งน้อย อนะสุวรรณ์ ผู้นำกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านคลองรี ขณะเดียวกับ พันธ์ วรรณบริบูรณ์ นักพัฒนาแรงงานนอกระบบ เข้ามาเลือกที่นี่เป็นพื้นที่นำร่อง

“กิจกรรมที่น้องพันธ์เข้ามาประสานต้องการให้คลองรีนำร่องกิจกรรรมดูแลสุขภาพประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่อยู่ในกลุ่มโรงงาน” ประภาสเล่า สำหรับพันธ์ วรรณบริบูรณ์ ภายหลังเป็นผู้ประสานงานประเด็นแรงงานนอกระบบในแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาอีกบทบาทหนึ่ง

คนทำงานในโรงงานมีระบบดูแลเรื่องความปลอดภัย แต่กลุ่มทำงานตามบ้านหรือกลุ่มผลิตในชุมชนหรือแรงงานนอกระบบยังมีอีกหลายกลุ่ม ที่คลองรีมีคนรับจ้างเย็บผ้าโหล อยู่ราว 20 กว่าคน รับงานมาทำที่บ้าน ภายหลังได้รับงบประมาณอุดหนุนจาก SIF และ ส.ส.ในพื้นที่ มีการรวมกลุ่ม ทำเป็นสำนักงานและโรงเรือนสำหรับการผลิตรวมอยู่ในหมู่ที่ 4

“ที่ทำการกลุ่มอยู่ที่บ้านพี่แน่งน้อย นับเป็นกลุ่มใหญ่พอควร ทุกวันนี้ยังดำเนินการอยู่”

ประภาสเล่าว่าเมื่อได้เป็นพื้นที่นำร่องแรงงานนอกระบบ คนทำงานเบื้องต้นมาพูดคุยตั้งคณะทำงาน เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องราว 20 คนมาเลือกคณะทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ

คำอธิบายภาพ : dsc07098

การเรียกประชุมคราวนั้นกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการโดยให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) คลองรี เป็นประธานศูนย์ปฏิบัติการแรงงานนอกระบบโดยตำแหน่ง และเลือกอาสาสมัครตัวแทนจากหลากหลายกลุ่ม มาเพื่อดำเนินงานรวม 15 คน

“ผมได้เป็นเลขานุการ”ประภาสเล่าเมื่อได้คณะทำงานจึงสู่การคิดแผนดำเนินการ เริ่มจากแผนทำฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบและแผนพัฒนาศักยภาพของคณะทำงาน

จากแผนพัฒนาศักยภาพของคณะทำงาน ทำให้คณะทำงานได้รับอบรมความรู้ใหม่อยู่หลายเรื่องตลอดปี2548 เช่น การรู้จักการประเมินความเสี่ยงในการทำงาน กฎหมายแรงงาน การดูแลสุขภาพของกลุ่มผลิตที่ไปทำงานที่บ้าน ความรู้เกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพ และการสร้างสุขภาพให้แข็งแรง

ฐานความรู้ใหม่ส่วนการประเมินความเสี่ยงนั่นเอง ประภาสเห็นว่าสำคัญมากเพราะนำมาสู่สิ่งใหม่ๆ ในการดูแลแรงงานนอกระบบของคลองรีในเวลาต่อมา

“อย่างกลุ่มเย็บผ้า คณะทำงานสามารถประเมินได้ว่าแต่ละขั้นตอนมันเสี่ยงอะไรบ้าง จนเกิดเป็นเอกสารคู่มือการทำงานให้กลุ่มเย็บผ้าเวลาต่อมา”

ปัญหาของกลุ่มเย็บผ้าที่คลองรีมีตั้งแต่ ท่าทาง ความปวดเมื่อย แสงสว่าง สายตา เข็มตำ ฝุ่นเข่าจมูกปาก “เราร่วมคิดกับพี่แน่งน้อยเพราะเขาจะรู้ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ขณะที่ ทางน้องพันธ์ ได้เชิญนักวิชาการ มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)ที่เกี่ยวข้องกับอาชีวะอนามัย เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ร่วมให้ความรู้ และมาตรฐานการทำงาน จนต่อมาจึงได้ทำโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมในการทำงานของกลุ่มเย็บผ้า เพื่อปรับปรุงพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดโรค”

ประภาสเล่าถึงการดำเนินงาน ว่าหลังประเมินปัญหาของกลุ่ม สามารถตั้งเป็นกติกาทำงาน 12 ข้อ เอาไปติด เอาไว้ ณ ที่ทำการ กลายข้อปฏิบัติที่เกิดจากคนทำงานเอง และคณะทำงานแรงงานจากศูนย์ปฏิบัติการแรงงานนอกระบบ ช่วยกันคิดขึ้น เช่น

คำอธิบายภาพ : dsc07105

แสงสว่างต้องใช้หลอดไฟขนาด 40 วัตต์ หลอดยาว /โต๊ะกับตัวจักร นั่งแล้ว มือต้องอยู่ระดับข้อศอก ไม่สูงหรือต่ำเกินไป /อุปกรณ์ต่างๆ ให้จัดแยกเป็นชั้น เพราะถ้าปนกันอาจร่วงมาตำมือ /ตัวจักรเย็บผ้าต้องซ่อมบำรุงให้ใช้การได้ ถ้าสภาพไม่เหมาะต้องซ่อมก่อนทำ /ตัวจักรเย็บผ้าก่อน และหลังทำงาน ต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อย /ให้มีหน้ากากปิดกันฝุ่น เวลาทำงาน เพื่อกันฝุ่นเข้าจมูก / เตารีดจะต้องมีปลั๊ก แยกต่างหาก สายเตารีดให้ผูกกับยางยืด เอาไว้ผ่อนสายไฟไม่ให้ตึง /ให้พักทุก 2 ชม. (ครั้งละ10-15 นาที) /เพื่อกันไฟฟ้าดูด ปุ่มเหยียบ มอเตอร์จะให้เอาเศษผ้าหรือหมอนมารอง และแนะนำให้เดินสายดินให้ที่กลุ่ม /จัดให้มีถังขยะ

“เพื่อให้คนในกลุ่มได้รับรู้ตรงกัน ว่าข้อปฏิบัติทั้งหมดนี้ เราช่วยกันคิดขึ้นมา จะทำอย่างไร ที่จะปรับเปลี่ยนทั้งสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรม”ประภาสเล่าพอได้วิธีปฏิบัติแล้ว คณะทำงานมีหน้าที่ในการติดตามผลในการปฏิบัติจริง แต่การตามไปตรวจรอบแรก ๆ ก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสักเท่าใด

“อาจอยู่ที่ว่าการขาดการกระตุ้น” ประภาสตั้งข้อสังเกต คณะทำงานจึงคิดว่าน่าจะมีการติดตามประเมินผลโดยใช้หลัก 12 ข้อที่ร่วมกำหนดเป็นตัวตั้ง เป็นการประเมินรายคนทุกวัน พบว่าเริ่มเปลี่ยนแปลงดีขึ้น

การประเมินนั่นเองมาเป็นเครื่องมือกระตุ้นที่ได้ผล

“เราต้องการให้เขาฝึก เพราะนี่เป็นเรื่องจุกจิก บางคนไม่ได้อ่านที่ติดเอาไว้ แต่พอมาประเมินเป็นคู่มือแต่ละคนเขาก็ต้องมาดูของเขาเอง เราพยายามย้ำว่าทำบ่อยจะจำได้เอง เมื่อประเมินรอบใหญ่ 3 เดือน ก็พบว่าผลที่ได้ชัดเจน ผลสรุปสิ่งแวดล้อม ปรับได้เกือบทั้งหมด อย่างการเปลี่ยนหลอดไฟให้ได้มาตรฐานแสงสว่าง ในส่วนพฤติกรรมนับว่าดีขึ้นที่ยังเป็นปัญหาข้อเดียวคือการสวมแมส(หน้ากาก)”

ธรรมชาติส่วนใหญ่ของคนที่ไม่อยากใส่หน้ากากปิดปากและจมูก เพราะไม่ชิน อึดอัด ประภาสมองว่าอนุโลมให้ได้และกรณีทำงานที่บ้านโดยมีจักรเย็บผ้าตัวเดียว จะไม่มีฝุ่นมากเหมือนในโรงงาน บางจังหวะการทำงานเท่านั้นที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งในกลุ่มเย็บผ้าคลองรี คือการพักงานเป็นระยะ เดิมทำงานเย็บผ้านั่งทำยาว เพ่งสายตาทั้งวัน พอกำหนดพัก 10-15นาที เพื่อออกมาเดินยืดเส้น ทำให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด สดชื่นขึ้น

หลังจากประสบผลสำเร็จกับกลุ่มเย็บผ้า ศูนย์ปฏิบัติการแรงงานนอกระบบคลองรีหันมาทำกับกลุ่มผู้มีอาชีพขึ้นตาลโตนดซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพหลักอย่างหนึ่งของท้องถิ่น ใช้กระบวนการเหมือนทำกับกลุ่มเย็บผ้า โดยเอาคนขึ้นตาล กับคณะทำงานมานั่งคุยดูว่ากระวนการทำงานขึ้นตาลตั้งแต่เริ่ม จนกระทั่งเอาน้ำตาลลงมา มีอะไรเสี่ยงจนได้ข้อตกลง 15 ข้อ

ต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแร อยู่เสมอ /ถ้าเจ็บป่วยต้องรักษาให้หายเป็นปกติ ก่อนทำงาน /ก่อนขึ้นตาล ควรสำรวจ มด ต่อ แตน ผึ้ง ว่ามีอยู่ข้างบนต้นตาลหรือไม่ทุกครั้ง /ตกแต่งต้นตาลให้อยู่สภาพที่ดี ทำลายเปลือก กาบ ที่ชำรุด ออกให้หมด /ปลอกเท้าที่ใช้ปีน ควรตรวจสอบให้อยู่สภาพที่พร้อม และทน (คนคลองรีขึ้นตาลโดยปีนเท้าเปล่าไม่ใช้พะองปลอกเท้าที่ว่าใช้สายพานรถเก่ามาทำ จากที่สมัยก่อนใช้หูโหนด พวกเส้นใย จากด้านหลังก้านใบ) /ดปาดตาลควรมีปลอก เก็บอย่างมิดชิด /การแต่งกายกระชับไม่หลวม หรือคับจนเกินไป /ไม่ขึ้นขณะเมา /ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และพัก เป็นระยะ/กินอาหารให้เป็นเวลา ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ( เนื่องจากคนขึ้นตาลส่วนมากกินไม่เป็นเวลาจนเป็นโรคกระเพาะ / ฝนฟ้าคะนองไม่ควรขึ้นตาล อาจตกลงมาได้ /ถ้าเกิดบาดแผล ต้องรู้จักวิธีห้ามเลือดได้ /ขณะขึ้นตาล ถ้ามีอาการวิงเวียน อ่อนเพลียต้องหยุด /ก่อนขึ้นตาลทุกครั้ง ต้องตรวจสอบสภาพ ร่างกายทุกครั้งว่า สภาพ ร่างกาย สภาพต้นตาล พร้อม /ควรตรวจร่างกายปีละครั้ง

สมพงศ์ เล่าบ้างว่าการดำเนินงานกับคนปาดตาลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพวกเขาส่วนมากไม่มีเวลาว่าง รอบการทำงานกลางวันทั้งวัน ไม่สามารถนัดมาประชุมร่วมกัน ต้องนัดประชุมในกลางคืน แต่คนสนใจมีผู้มาร่วมครั้งแรก 122 คน คนขึ้นตาลอายุ 80 กว่าปีก็มี อาศัยการประชุมต่อเนื่องพูดคุยชี้แจงว่า 7-8 ครั้ง จึงจะเกิดความเคลื่อนไหวรูปธรรม

“ข้อกำหนด 15 ข้อถอดมาจากคนเย็บผ้า แต่สำหรับคนขึ้นตาลมีวิธีแตกต่างกัน เมื่อตั้งกติกา แล้วเหมือนข้อปฏิบัติว่าต้องทำให้ได้ 15 ข้อ เราจะใช้แบบการประเมิน ทุก 2 เดือน มีกรรมการไปติดตามประเมิน”ประภาสเล่า

และพบว่าในกลุ่มคนขึ้นตาลไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะเป็นอาชีพที่ต้องระวังอย่างสูงอยู่แล้ว ตกต้นตาล หมายถึงบาดเจ็บและเสียชีวิต วิถีอาชีพเป็นแบบนั้นเขาจึงปฏิบัติตัวเคร่งครัด มีเพียงบางประเด็นมาย้ำ อย่างการไม่ขึ้นตาลขณะมึนเมา ปลอกมีดต้องแข็งแรง ปลอกเท้าแข็งแรง เป็นต้น

“บางข้ออย่างการแต่งกายรัดกุม บางคนไม่ชอบใส่เสื้อ สวมแค่กางเกงหรือผ้าถุง เขาบอกว่าร้อน อันนี้เราปล่อยผ่านเพราะว่าจะมีผลต่อร่างกายที่ไปสัมผัสกับต้นตาล ที่ชาวบ้านเรียกว่าเป็นปอม ลักษณะแผลเป็นขึ้นมาผิวหนังจะหนาผิดปกติขึ้นมาเท่านั้น แต่ไม่มีปัญหาอะไรกับสุขภาพ”สมพงศ์เสริม

ประภาส บอกว่ากรณีคนขึ้นตาลไม่ใส่เสื้อ เพราะเขาถนัดแบบนั้นเป็นวิถีส่วนตัว ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ภาพรวมทำให้คนขึ้นตาลตระหนักถึงความปลอดภัยและสุขภาพมากขึ้น หลังประเมินพบว่า เกิน 80 % ปฏิบัติถึงระดับมาตรฐาน 15 ข้อ

คำอธิบายภาพ : dsc07211

การขับเคลื่อนของศูนย์ปฏิบัติการแรงงานนอกระบบ เข้าไปชัดเจนใน 2 กลุ่มอาชีพ ทำให้มีการจัดองค์กรของกลุ่มขึ้นมาเอง สามารถต่อยอดไปเรื่องอื่นได้เรื่อยๆ

อย่างกลุ่มคนขึ้นตาล ทำให้เกิดกลุ่มสวัสดิการ และกลุ่มรับซื้อน้ำผึ้ง (น้ำตาลโตนด) โดยกองทุนสวัสดิการ ทางอบต.คลองรี เข้ามาเริ่มตั้งกองทุนให้ด้วยเงิน 200,000 บาท

กลุ่มสวัสดิการคนขึ้นตาลคลองรี ปัจจุบันเข้าปีที่ 4 มีสมาชิก 554 คน ผู้เป็นสมาชิกจ่ายเงินเข้ากองทุนปีละ 300 บาท สวัสดิการ ตอบแทนกลับมา 20,000 บาทสำหรับคนที่ตกต้นตาลพิการหรือทุพพลภาพ กรณีป่วยนอนรักษาพยาบาล ได้คืนละ 300 บาทครั้งละไม่เกิน 5 คืน ปีหนึ่งเข้าได้ 2 ครั้ง เสียชีวิตในช่วงรอบ 5ปี แรกได้ 5,000 บาท

“สำหรับกลุ่มขึ้นโหนด อบต. สนับสนุน กำหนดให้จ่าย 20,000 คิดว่าเป็นนโยบายทางการเมือง เพราะเป็นฐานเสียงใหญ่อยู่ ”

การรวมกลุ่มยังมีผลดี ในแง่สุขภาพ จากเดิมคนขึ้นตาลจะไม่มีการตรวจสุขภาพ แต่พอมีความเป็นกลุ่มสถานีอนามัย สามารถนัดตรวจสุขภาพ ให้เป็นรายปี

เมื่อแผนสุขภาพจังหวัด ประเด็นแรงงานนอกระบบ เลือกพื้นที่คลองรี กับคลองเปียะนำร่อง ได้มีความชัดเจนในการจัดทำศูนย์ข้อมูลแรงงานนอกระบบตำบลคลองรี

“เราคิดว่าข้อมูลเป็นตัวสำคัญจากเคยสำรวจปลายปี2548 พอตั้งศูนย์ ฯ เราใช้ฐานข้อมูลเดิมแต่สำรวจใหม่ ให้ทันสมัย เน้นข้อมูลอาชีพ กับข้อมูลสถานภาพทางสุขภาพของกลุ่มแรงงานนอกระบบ”

การจัดทำศูนย์ข้อมูลซึ่งใช้สถานีอนามัยคลองรี เป็นสำนักงาน ได้คิด แบบสอบถามเพื่อจัดทำข้อมูล แบบมีส่วนร่วม โดยมีการประชุมคณะทำงาน ชวน อบต.มาเข้า ร่วม ด้วยข้อมูลแรงงานนอกระบบ นอกจากมีฐานเดิมจากที่ มอ.เคยสำรวจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และการสำรวจกลุ่มอาชีพ ยังมีข้อมูลของ อบต.เกี่ยวกับ พื้นที่ รายรับ รายจ่าย ข้อมูลพื้นฐานนำมาผนวกเพื่อออกแบบสอบถาม 2 ชุด ชุดแรกสำรวจอาชีพ ชุดที่สองเป็นการสำรวจข้อมูลสถานภาพ สุขภาพของแรงงานนอกระบบ

การทำงานเลือกตัวแทนชาวบ้านมาหมู่ละ 2 สำรวจข้อมูลโดยคณะทำงานกลางช่วยกันเลือก

งานสำรวจเป็นรายครอบครัวลงลึกรายละเอียดเป็นรายคนเกี่ยวกับอาชีพ ผลสำรวจแล้วมาแยกอาชีพ ต่างๆ เพื่อทำทะเบียน ในเบื้องต้น พบว่าแรงงานนอกระบบในพื้นที่มีอยู่ 5 กลุ่ม คือ มีขึ้นตาล เย็บผ้า ประมง ทำนา-เลี้ยงสัตว์ และรับจ้าง

“สิ่งที่ได้มาเป็นข้อมูลเบื้องต้นเรื่องอาชีพทั้งหมด ใครอยากรู้ข้อมูลส่วนนี้ ก็มาดูได้ และต่อไปการเคลื่อนเรื่องแรงงานนอกระบบ สามารถใช้ตัวนี้ทำข้อมูล อย่างเราเคลื่อนมาแล้วในกลุ่มเย็บผ้า และขึ้นตาล ต่อไปหากทำในกลุ่มอื่นๆ เช่นประมง เลี้ยงวัว สามารถเอาข้อมูลนี้ไปขับเคลื่อนในกระบวนการดูแลเหมือนกับที่เคยทำกับกลุ่ม เย็บผ้า และขึ้นตาล”

ภาระของคณะทำงานต้องมาคิดว่าจะทำอะไรต่อ ที่จะขยายไปสู่กลุ่มอาชีพอื่น ใช้ทุนบทเรียนจาก 2 กลุ่มเดิม

“ถ้ามีงบมาเสริมผมว่าขยายไปกลุ่มประมงได้เลย ใช้กระบวนการเหมือนที่เราทำมาแล้วมาจับเพื่อสร้างข้อตกลงในการทำอาชีพ เอาขั้นตอนของเขาทุกขั้นตอนมาประมวลดูว่า แต่ละขั้นตอน มันมีความสี่ยงตรงไหนบ้าง”

ความหวังของศูนย์ข้อมูลแรงงานคือเป็นฐานในการขยับไปสู่กลุ่มอาชีพแรงงานนอกระบบที่เหลือ สร้างกระบวนการดูแลทุกกลุ่ม แต่ขณะยังไม่ถึงตรงนั้นยังดำเนินการต่อเนื่องอยู่กับการประเมิน 2 กลุ่มเดิม

หากกล่าวโดยสรุปประเด็นแรงงานนอกระบบ ในแผนสุขภาพจึงดำเนินการแล้วใน 3 เรื่องหลัก

  1. ตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงานนอกระบบ

  2. พัฒนาศักยภาพของคณะทำงาน

  3. หลังจากเคลื่อน 2 กลุ่ม(เย็บผ้า และขึ้นตาล) แล้วมีการติดตามประเมิน เยี่ยม ให้ชาวบ้านตระหนัก เพื่อ ความเข้มแข็ง ชัดเจนยั่งยืน

ประภาสเล่าถึงบทเรียนของการทำงานว่า คณะทำงานต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง

“เราทำทุกเดือนในรอบ 1-2 ปีแรก เพื่อมองปัญหาคิดกิจกรรมต่อ หลายอย่างเกิดจากการประชุมถ้าหยุดก็จบ กรณีเราไปทำกลับกลุ่มคนขึ้นตาลแล้วเกิดกลุ่มน้ำผึ้งและกลุ่มสวัสดิการตามมาเพราะการประชุม ทำให้ความคิดต่อยอด ทำให้กลุ่มเข้มแข็ง ดึงศักยภาพของชุมชนตำบลขึ้นมา ผมว่าถ้ายังเกาะกลุ่มประชุมเรื่องอื่นจะมีเยอะขึ้น”

ทุกวันนี้ ในตำบลคลองรี มีความเคลื่อนไหวของคณะทำงานทางสังคม หลายเรื่องโดดเด่นเป็นต้นแบบอย่างเช่นกลุ่มแก๊ส กลุ่มน้ำผึ้ง กลุ่มจัดการขยะ ประภาสบอกว่าเริ่มต้นมาจากคณะทำงานแรงงานนอกระบบแล้ว แตกไปสู่เรื่องอื่น และภายหลังก็กระจายให้มีเจ้าภาพคนรับผิดชอบเฉพาะเรื่องขึ้นมา เพื่อทำให้กลุ่มเข้มแข็ง แต่ต้องอาศัยการมาพูดคุยอยู่ตลอด

“งานพวกนี้ ถ้าจับแล้วให้เกิดผลต้องผ่าน 3-4 ปี ถ้าเราหยุดเสียก่อน ก็ไม่ได้อะไร พอผ่านวิกฤติหลายหน กรรมการจะเริ่มรู้ เริ่มคิดว่าปัญหา ว่า ทุกตัวมีปัญหาทั้งนั้นไม่ใช่ว่าทำแล้วสำเร็จเลย แต่ถ้าแก้สำเร็จความมั่นคงในสิ่งที่เราทำ จะทวีขึ้นเรื่อยๆ เข้มแข็งขึ้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ มานั่งทำ คิดกันเรื่อยๆ มีปัญหาก็ช่วยกันแก้ไป”

กรณีแรงงานนอกระบบปัญหาคือการเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งพบว่าระยะแรกแรกๆ แทบไม่กระดิก แม้กลุ่มเป้าหมายอาจคิดจริงแต่เลือกจะทำแบบเดิมๆ จนมาปีหลังพบเครื่องมือทุกอย่างจึงเริ่มเปลี่ยน

“คณะกรรมการต้องปรับอยู่เรื่อยไม่ยึดติดกับคนโน้นคนนี้ เราพูดเรื่องนี้ให้เข้าใจก่อน บางคนมีภารกิจ ต้องหาคนมาแทน ที่งานแบบนี้ไม่มีค่าตอบแทนอะไร แต่กลัวเสียน้ำใจเท่านั้น ถ้าเขาไม่มีเวลามาทำ กรรมการจะขับเคลื่อนไม่ได้ ส่งผลให้ทีมใหญ่ มีปัญหา ทุกคนต้องมีการร่วมคิดร่วมแสดงถ้ากรรมการเข้มแข็งการคิดจะไม่หยุดนิ่งกับที่จะมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆถ้าทำไปถึง 8-9 ปีความเข้มแข็งของกลุ่มจะเกิดขึ้น”

ประภาสมองว่างานลักษณะนี้ส่วน ที่สะดุด มักจากเกิดไปเจอปัญหาแล้วไม่เดินต่อถ้ากรรมการไม่ให้ความร่วมมือมันจะท้อถอย ถ้าไม่เข้มแข็ง กรรมการเองและ คนตั้งใจจริงจะเบื่อ สำคัญอย่างหนึ่งต้องทำให้ทุกคนมีหน้าที่ .


ห้ามเลือดกลางอากาศ

ประภาส มองว่าปัญหาแรงงานนอกระบบคือ เรื่องสวัสดิการที่ชาวบ้านมักมองไม่เห็นและรับรู้ในเรื่องความปลอดภัยของการทำงาน

“เย็บผ้าเขาไม่รู้ว่าแสงสว่างเป็นปัญหา นั่งทำงานยาว เข็ดเมื่อย ตามองไม่เห็นเพราะทำงานในแสงไม่พอ แต่พอทำมาเป็นวิถีก็ทำอยู่อย่างนั้นมาตลอด จนมาเข้าใจเรื่องนี้จึงรู้ว่านั่นมันเป็นต้นเหตุปัญหา”

พอกลุ่มอาชีพได้มีความรู้ ในกระบวนการทำงานที่ถูกต้อง ได้รับการปฏิบัติการที่ถูกต้องทั้งพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ประภาสหวังว่าทุกคนจะปลอดภัยในอาชีพ

“คนขึ้นตาลน่าเป็นห่วงมาก ตกมาจากต้นระยะ 3-4 เมตรก็อาจถึงจุดจบชีวิต” ประภาสเล่า รายล่าสุดของปี 2552 คนขึ้นตาลอายุราว 60ปีตกลงมา กระดูกคอเคลื่อน ทำให้อวัยวะร่างกายท่อนล่างเคลื่อนไหวไม่ได้ พูดไม่ได้ รับรู้ด้วยการพยักหน้า

“แกขึ้นช่วงหัวค่ำต้นตาลของแกมีทาง(ก้านใบ)หนึ่งห้อยอยู่ แกดึงซึ่งปกติดึงอยู่ทุกวันไม่เป็นไร แต่วันนั้นหลุด และหล่นลงมาบนพื้นนาแห้ง กว่าคนจะไปพบใช้เวลา หนึ่งหรือสองชั่วโมงผ่านไปแล้ว แกเที่ยวก่ายดินจนบริเวณนั้นต้นข้าวเตียน

นั่นขนาดปีนตาลทุกวันยังพลาด ดีว่ามีดมีปลอก ถ้าเหน็บมีดไม่มีปลอด มีดอาจแทงตัวเองอีก คิดดูว่ามีดปาดตาลเล่มใหญ่และคมกริบ”

สมพงศ์ช่วยเสริม ขณะที่ประภาสเล่าต่อว่าชายคนนี้เคยพลาดตกมาแล้วหลายครั้ง แต่ระยะไม่สูงมาก หนนี้หนักสุดเพราะตกจากส่วนปลายยอด

“อาชีพนี้เสี่ยงมากเหมือนขึ้นเครื่องบินนั่นแหละ”

สถิติคนตกต้นตาลแม้ไม่มากแต่พบว่ามีอยู่ประจำ แม้จะไม่ใช่ตำบลคลองรี ก็เป็นพื้นที่อื่น ประภาสเล่าว่ารายก่อนหน้านี้ ขึ้นไปปาดตาลแล้วมีดบาด ตัวเขาเองเป็นคนเมาเลือด พอมีดบาดก็เป็นลมตกลงมาจากต้นตาล

คนหนึ่ง เฉพาะปีนี้ปีเดียวตกมา 2ครั้งจนไม่กล้าขึ้น ดีว่าตกในระยะไม่สูงนัก ถ้าอาการหนักส่วนมากต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล อาการที่เจอคือข้อเคลื่อน สันหลังหัก บางรายถึงเสียชีวิต

“ต้องตั้งสติกันตลอด พลาดตายอย่างเดียว” ประภาสว่า ที่เกิดขึ้นน้อย เพราะระวัง รู้ว่าพลาดไม่ได้ เขามักได้ยินคนขึ้นตาลมานั่งเล่ากันว่า ที่เขาตกมักจะเป็นเพราะมีตัวผึ้งหรือตัวต่อ อยู่ข้างบนต้น บางคนว่าทาง(ก้านใบ)หลวม ดึงมันก็หล่นลงมาเลย บางคนว่าเมาเลือดจนเวียนหัว ซึ่งคนขึ้นตาลจะโดนมีดบาดกันบ่อย

“เมื่อเป็นอย่างนั้นเราบอกว่าต้องรู้วิธีห้ามเลือด ทำอย่างไรให้เลือดหยุดเร็ว อย่าให้เลือดไหลออกมามาก เพราะถ้าเลือดไหลออกมาบางคนกลัวทันที อยู่ข้างบนยิ่งเห็นว่าไหลโกรกลงมายิ่งใจเสีย บางคนเวียนหัวเป็นลมอาจตกลงมา ทางผมจึงจัดอบรมการห้ามเลือดให้ อย่างคำแนะนำว่าให้ใช้มือบีบ หรือถ้าแผลใหญ่ให้เอาผ้าขันชะเนาะ ที่จริงผมอยากอบรมพิเศษสำหรับคนกลุ่มเสี่ยงคือพวกเมาเลือด คงมีอยู่กลุ่มหนึ่ง”

ประภาสเล่าและว่า แม้แต่การสอนว่าการที่เลือดไหลออกมามากปริมาณ 1 ถ้วยก็ยังไม่อันตราย เพราะเลือดคนมีราว 5 ลิตร ก็ช่วยลดความหวาดกลัวในคนพวกนี้เอาไว้ก่อนได้ อย่างน้อยจนกว่าเขาจะเอาตัวเองลงมาจากยอดตาลลงมา

“อาชีพขึ้นตาลเด็กรุ่นใหม่ไม่ทำ ไปทำอย่างอื่นยกเว้นที่ทำกันมาก่อน หรือปีไหนน้ำผึ้งราคาดี อย่างปีนี้ปิ๊บละ 1,000 บาทก็ขึ้นกันมาก หน้าฝนยังปีนอยู่เลย”สมพงศ์ตั้งข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งและเล่าส่งท้ายต่อไปว่าเขาเป็นชาวบ้าน ธรรมดา อาชีพช่างไฟฟ้า ส่วนตัวมีจิตใจรักเพื่อนฝูง ช่วยเหลือสังคม ชอบทำบุญ ดีใจที่ได้มีส่วนทำงานนี้ เพราะได้มีโอกาสช่วยเหลือคนอื่น ที่ผ่านมาสังคมที่คลองรีได้เปลี่ยนไปมาก ชาวบ้านตื่นตัว จากที่ไม่เคยรู้ ต่างๆ อย่างเช่น กฏหมายก็ได้รู้ขึ้นอีกระดับ .

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว