สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

นักจัดการชุมชน ก้าวถัดมาของนักวิจัยชุมชน

by punyha @8 ม.ค. 53 12:33 ( IP : 222...39 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

เป็นอีกวันหนึ่ง สุภาคย์ อินทองคง  อรัญ จิตตะเสโน และ ธนกร เกื้อกูล สลัดคราบนักวิชาการห้องบรรยายประจำสถานศึกษาลงไปนั่งในชุมชน  เปลี่ยนตัวผู้เรียนจากนักศึกษาใส่เครื่องแบบหน้าใส มาเปิดกว้างเพื่อชาวบ้านกร้านไอแดด

13-14 สิงหาคม 2552 เวทีเรียนรู้หลักสูตรการจัดการชุมชนนัดหมายกันที่ศาลาศูนย์เรียนรู้หมู่5 บ้านบางเหรียงใต้ ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา

“กิจกรรมนี้เราจะทำเป็นโซน ๆละ 4 อำเภอ ตรงนี้เป็นที่รวมของอำเภอควนเนียง บางกล่ำ รัตภูมิ และอำเภอเมือง แต่ละโซนจะมีจุดรวมลักษณะนี้ ตั้งเป้าหมายคนมารวมกันครั้งละราว 30 คน แต่วันนี้คนมาน้อยเพราะเดือนสิงหาคมคนที่ร่วมโครงการ ถูกดึงไปทำงานองค์กรอื่นเสียเยอะ” อาจารย์สุภาคย์เล่าและว่า

คำอธิบายภาพ : dsc07785

กิจกรรมหลักสูตรการจัดการชุมชน เป็นเรื่องต่อเนื่องเชื่อมโยงจากโครงการวิจัยและพัฒนาคนและชุมชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สุขภาวะองค์รวม ซึ่งนักวิชาการในมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งลงมาคลุกวงในงานพัฒนาการเกิดการขับเคลื่อน“หลักสูตรนักวิจัยชุมชนคนเดินตามรอยพ่อ” สามารถสร้างชาวบ้านเป็นนักวิจัยชุมชนทั่วทุกอำเภอของจังหวัดสงขลาได้ราว 80 คน

พื้นฐานโครงการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สุขภาวะองค์รวม มี องค์ประกอบสำคัญในการวิจัยสร้างกระบวนการเรียนรู้ชุมชนตัวเองให้รู้จักตัวเอง คน สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีอยู่ในชุมชนตนเอง

คำอธิบายภาพ : pic4b46c453f2ef6 “หลักสูตรการจัดการชุมชน ใช้ฐานคนจากหลักสูตรนักวิจัยชุมชนคนเดินตามรอยพ่อโดยเลือกคนมาเป็นตัวแทนจุดละ 5 คนรวมทั้งผู้นำ ผู้ผ่านหลักสูตรการวิจัย ที่สอนทฤษฎี 1-2 วัน แล้วใช้เวลาประมาณ 3 - 6 เดือนให้เขาลองปฏิบัติ”

เวทีเรียนรู้หลักสูตรการจัดการชุมชน เป็นขั้นการพัฒนาจากการวิจัย เน้นการนำเอาความรู้ ที่ได้จากการวิจัยมาพิจารณาต่อว่าสามารถนำผลจากกระบวนการวิจัยไปจัดการชุมชนอย่างไร

อาจารย์สุภาคย์เห็นว่าคำ “พัฒนา”มีความหมายกว้าง แต่ “การจัดการ”ความหมายลึกกว่า มีศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการกระจายอยู่ในสาขาวิชาชีพอื่นเยอะแต่โอกาสที่ชุมชนจะรับรู้ศาสตร์เหล่านี้มีน้อย ขณะที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนจะต้องมีการจัดการ มันจึงจะไปรอด

“อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) ต้องจัดการ กลุ่มต่างๆ ต้องมีการจัดการ ไม่ว่า คน เงิน เวลา ทรัพยากร  อะไรเหล่านี้ แต่ว่ามันยังมีข้อจำกัดว่าคนที่เป็นผู้นำในชุมชน ยังไม่ข้าใจตัวเอง ทรัพยากรตัวเอง พื้นที่ตัวเอง ทางแก้คือสร้างนักวิจัยเหมือนที่ทำมาแล้ว หลังจากนั้นจึงสร้างนักจัดการเพื่อมาเสริม”

เวทีเรียนรู้หลักสูตรการจัดการชุมชนเป็นกระบวนการสร้างนักจัดการ มีเป้าอยู่ที่การพัฒนาคนบนหลักคิดว่าคนคือหัวใจของชุมชน คนเป็นทั้งเหตุและผลของการพัฒนา คนเป็นผู้ทำหน้าที่จัดการชุมชน คือจัดการตนเอง จัดการคนรอบข้าง จัดการสังคม-วัฒนธรรม และธรรมชาติแวดล้อม และคนก็จะเป็นตัวหลักที่จะได้รับผลของการจัดการนั้นๆ ทั้งผลบวกและผลลบ

ภายใต้หลักสูตรดังกล่าวจึงมีการแบ่งสาขาวิชาออกมาเป็น  7 ชุดสาขาวิชาได้แก่

  • หลักการบริหารพัฒนาชุมชน - มุ่งเอาแนวคิด ทฤษฎี ประสบการณ์ ในการจัดการทั้งหลาย มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการจัดการชุมชน ( คน ชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ) ให้เกิดพัฒนา
  • เป้าหมายและผลลัพธ์ ในการพัฒนาคน - พัฒนาให้เจริญสู่เป้าหมายสุขภาพ 4 ด้าน คือกาย จิต  สังคม จิตวิญญาณ ใช้ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิด  (รู้พอเพียง คิดพอเพียง ทำพอเพียง ผลจะออกมาพอเพียง)
  • เหตุปัจจัยในการพัฒนาคน
  • การติดตามประเมินผล
  • การจัดการความรู้และศูนย์เรียนรู้
  • การสร้างเครือข่าย
  • การกำหนดนโยบายและแผน

“ศาสตร์ลงดิน ..อันนี้ใช่” อาจารย์สุภาคย์เห็นด้วยกับสำนวนที่ตนเองพูดบ่อยๆ ต่อกระบวนการนี้เขามองว่านักวิชาการส่วนใหญ่ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยมองเห็นตัวศาสตร์แต่การเอาศาสตร์ “ลงดิน” หรือลงสู่ชุมชนในมหาวิทยาลัยทำกันน้อยมาก

สิ่งที่กำลังทำกำลังตอบคำถามว่าทำอย่างไรให้คนในชุมชนกับนักวิชาการได้ความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน “นักพัฒนาชุมชน ผู้นำ เขารู้ว่าดินเป็นอย่างไรแต่เขาไม่รู้ศาสตร์ นักวิชาการรู้ศาสตร์แต่ไม่รู้ดิน”

อาจารย์พยายามเปรียบเทียบให้เห็นว่า ส่วนใหญ่นักวิชาการไม่รู้ภาคปฏิบัติ  ส่วนคนในชุมชนรู้ภาคปฏิบัติ แต่ไม่รู้วิชาการ เพราะฉะนั้นจึงพยายามทดลองว่าทำอย่างไรให้นักวิชาการที่อยู่ในมหาวิทยาลัยหันมาสนใจในส่วนนี้ให้มาก

“อย่างที่เราทำกันอยู่นี่ 3-4 มหาวิทยาลัย ดึงมา 2-3 คนมาพอเป็นเชื้อให้คนในชุมชนเห็นว่ามันมีศาสตร์อยู่นะแต่เป็นศาสตร์ดิบๆ ยังไม่ได้จัดการให้เป็นความรู้ที่เป็นระบบมีอยู่เยอะ”

เมื่อนักวิชาการสร้างนักวิจัยชุมชน เป็นที่ประจักษ์ว่าพวกเขาจะมองเห็นทันทีว่าเห็นความรู้ที่ฝรั่งสอน ฝรั่งแปล ฝรั่งเขียน อยู่ใกล้ตัวเรานี่เอง แม้กระทั่งชาวบ้านสามารถยกระดับสิ่งที่มองเห็น คลุกคลี ปฏิบัติมาเป็นศาสตร์เป็นองค์ความรู้ได้ แต่ละหนแห่งมีวิชาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์  ฯลฯ อยู่แล้ว เพราะศาสตร์ไม่ได้อยู่ในตำราแต่มีของจริงอยู่ในชุมชน

“ศาสตร์ทั้งหลายคือความจริง ตรงนี้จะเกิดได้ต่อเมื่อนักวิชาการลงมาปฏิบัติการในชุมชนแล้วคนในชุมชนสามารถบอกได้ว่าที่ฉันรู้เป็นความรู้ เหมือนที่รู้ในมหาวิทยาลัยนั่นแหละเพียงแต่ว่า ไม่มีใครสนใจฉัน อย่างความรู้เรื่องแพทย์ในชุมชนมันมีแพทยศาสตร์ไทยอยู่จะเชื่อมกันอย่างไร  นี่แสดงว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ถ้าเราทำสำเร็จองค์ความรู้ที่เป็นองค์ภูมิปัญญาไทยก็จะเพิ่มขึ้นทุกสาขา แทนที่จะบอกว่า เรื่องนี้ นายจอห์นคิดขึ้นลุงไข่ก็คิดได้”

อาจารย์สุภาคย์กล่าวว่าขณะนี้มองเห็นว่าเป็นไปได้ที่คนไทยสามารถสร้างทฤษฎีใหม่ๆ ขึ้นมาได้ จากเหตุผล 2 ประการ

  1. สถานการณ์สังคมไทยมีปัญหามากมาย  กระตุ้นให้นักวิชาการและนักปฏิบัติการ ผู้นำชุมชน ตื่นตัว
  2. มหาวิทยาลัยเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ได้ตื่นขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง แม้ไม่พร้อม กระโดดออกมาเต็มที่ ( คำว่าตื่นขณะนี้อยู่ในระดับที่นโยบายออกมา แต่ภาคปฏิบัติไม่ได้ ตามเป้าหมายมากนัก)

อาจารย์สุภาคย์เล่าถึงเวทีเรียนรู้หลักสูตรการจัดการชุมชนที่ผ่านมาทั้ง 4 ครั้ง ว่าได้รับการตอบรับจากชุมชน

“คนที่อยู่ในองค์กรบริหารจัดการ อย่าง อบต. ยอมรับว่าเขายังขาดองค์ความรู้ที่ว่านี้มากมายเหลือเกิน ทำอย่างไร ให้กระบวนการเรียนรู้ เกิดในกลุ่มพวกเขาให้มาก”

รูปแบบหลักของเวที 2 วัน มีการแจกเอกสารความรู้ การบรรยายตามสาระของชุดวิชาที่ได้ออกแบบไว้  พร้อมเปิดโอกาสซักถามแลกเปลี่ยน เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างภาควิชาการกับภาคชุมชน หรือภาครัฐกับภาคชุมชน การปรับตัวระหว่างนักวิชาการ กับชุมชน อาจารย์สุภาคย์ยอมรับว่ามีปัญหาอยู่บ้าง  แต่นักวิชาการที่ลงมาคุยกับชาวบ้านช่วยได้ ระดับหนึ่งเพราะต่างมีประสบการณ์ในการลงไปคุยกับชุมชน

เอกสารที่เขียนเพื่อนำไปให้ชาวบ้านโจทย์ใหญ่สำหรับนักวิชาการคือจะเขียนอย่างไรให้ ชาวบ้านอ่านแล้วเข้าใจได้มากที่สุด

“งานเอกสารที่นำมาแจกได้ปรับแล้ว ไม่ใช่ที่ใช้กับนักศึกษาทั่วไป

อย่างที่ให้ อาจารย์อรัญ (จิตตะเสโน)เขียน เรื่องจัดการชุมชนก็ใช้หลักอย่างนี้ คือเขียนอย่างไรให้นักวิชาการเถียงไม่ได้ขณะเดียวกัน ชาวบ้านต้องอ่านได้และเข้าใจง่าย ซึ่ง พิสูจน์แล้วแล้วว่าอ่าน และเข้าใจได้”

สอดคล้องกับคำพูดของอาจารย์อรัญ ตอนหนึ่งที่บอกว่าที่เขียนหนังสือเล่มเล็ก บางๆ มาให้อ่านเพราะเข้าใจว่าแต่ละคนมีเวลาอ่านจำกัด  บางคนเห็นหนังสือเล่มหนา ก็ชวนง่วง

กระบวนการที่ผ่านมาในเวทีต่างๆว่าได้เกิดการการปะทะทางความรู้ระหว่างนักวิชาการ กับชาวบ้านบางเรื่องอาจเห็นไม่ตรงกันบ้างแต่จุดลงตัวยุติที่ความจริงเสมอ

นักวิชาการในทีมทำงานมีหลักในใจเสมอว่าสิ่งที่นำเสนอ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องเชื่อแต่ให้ฟังแล้วไปคิดต่อ  เปิดโอกาสให้ชาวบ้านคิดเต็มที่  เครื่องมือวัดคือความจริง ของ คน วัฒนธรรม ธรรมชาติ สาระของวิชาการคือการค้นหาความจริง มาถกกัน

“เขาบอกว่าถ้าเป็นเวทีอื่นเขาจะพูดไม่ได้ ฟังอย่างเดียว”

เป้าหมายคนร่วม 30 คนแต่ละเวทีจะมีภาครัฐ 10 คน ตัวแทนชุมชนประมาณ 20 คน นักวิชาการมาผสมอีกจึงตกราว 35 คน

“ต้องยอมรับว่าเชิงปริมาณ บางพื้นที่อาจไม่บรรลุ”

ประเมินกิจกรรม4เวทีภาพรวมในเชิงปริมาณ อาจารย์สุภาคย์บอกว่ายังไม่ได้ตามเป้า แต่คุณภาพน่าสนใจ  ดูจากแววตา ความสนใจ ความตื่นเต้น จะมีคนประเภทนี้ อยู่ ราว 7-10 คนทุกเวที

“วันสุดท้ายเรามีการประเมินว่าในแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร ให้เขาแสดงความรู้สึก บรรยากาศ ในการคุย การแลกเปลี่ยน ภาพรวม คิดว่าดีแต่บางพื้นที่น้อย เพราะเวลา จำกัดมาก 7 เรื่อง ใช้เวลา 2 วัน”เป็นการเรียนลัดแต่ทีมวิชาการคาดหวังว่าจะมีการติดตามในภาคปฏิบัติ

“ต่อไปเราจะนัดพบว่า เอกสารที่ได้ไปอ่านหมดหรือยัง เอาไปใช้ในพื้นที่อย่างไร”

ที่ผ่านมา พบว่าคนที่ทำงานบริหารจัดการอยู่แล้วจะเอาไปใช้ได้มากกว่านักวิจัยชุมชนที่ได้สร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทุกวันนี้บางคนติดลมคือถูกใช้ จาก อบต. และชุมชน

การสร้างคนแบบนี้ขึ้นมาได้คนที่จะได้ประโยชน์คือ อบต. นั่นเอง

อาจารย์สุภาคย์เล่าว่าเป้าหมายเชิงรูปธรรมคือทำให้พื้นที่เป้าหมายผู้ที่ผ่านหลักสูตรสามารถ ปฏิบัติการช่วยเหลือชุมชนตนเอง อย่างผู้ที่ทำงานอยู่ใน อบต. อย่างน้อยตำบล  1 คนก็น่าพอใจ

สิ่งที่อยากเห็นต่อไปคือชุมชนเปลี่ยนวิธีคิดในเชิงการพัฒนาวัตถุสิ่งของมาเป็นพัฒนาคน โดยเฉพาะการพัฒนาวิธีรู้ วิธีคิดและวิธีปฏิบัติ  ใช้3 เครื่องมือดังกล่าวมาพัฒนาตนเอง ครอบครัว  สังคม จนถึงประเทศ

“ปัญหาทุกวันนี้ อยู่ ที่วิธีรู้ วิธีคิด วิธีปฏิบัติ ถ้าปรับเปลี่ยนตรงนี้ ผมคิดว่าประเทศไทย ก็จะปรับเปลี่ยนไปได้ระดับหนึ่ง ถ้าจะเริ่มจากข้างบนไม่คิดว่าจะเปลี่ยนได้ต้องเริ่มจากข้างล่างแบบน้ำพุพุ่งขึ้นไป”

นายอนันต์ ไชยชนะ ผู้ใหญ่บ้านบางเหรียงใต้ เจ้าของพื้นที่ซึ่งมาร่วมกิจกรรมเล่าว่า แม้ไม่เคยเข้าร่วมหลักสูตรนักวิจัยมาก่อน แต่มานั่งฟัง ก็ได้ความรู้มาก และสามารถเอาไปใช้ได้ทุกเรื่อง

“ไม่ว่าหนังสือที่อาจารย์ ทำมา สิ่งที่อาจารย์สอน 7วิชา  เอามาใช้ในชุมชนได้ ผมคิดว่าคนสนใจจะได้ความรู้มาก  อาจารย์พูดเข้าใจง่าย เพราะได้มีการชี้แจงรายละเอียด”

ผู้ใหญ่อนันต์ว่าถ้าให้หน่วยงานอื่นมาพูดเรื่องแบบนี้  ฟังยาก เข้าใจยาก แต่นี่เข้าใจง่าย ตรงกับที่ตัวเองอยากรู้ ในฐานะผู้นำชุมชนเขาต้องการให้พัฒนาคนก่อน ให้คนตื่นตัว รู้สึกว่าจะนำพาหมู่บ้านไปทิศทางไหน ถ้าคนไม่รู้ก็อยู่กันเฉยๆไม่ได้พัฒนา หากกระตุ้นให้ชาวบ้านรู้ ผู้นำรู้แล้ว จะได้รู้ว่าควรปรับตัวอย่างไร กระแสแบบนี้จะสามารถชักนำคนอื่นมาได้อีก จำนวนมาก

“นอกจากที่อาจารย์มาสอน ที่ผมอยากรู้อีกคือส่งเสริมอาชีพ เช่นว่า เพาะเห็ด แปรรูปผัก ซึ่งสอดคล้องกับอาชีพในพื้นที่บางเหรียง ถ้าชาวบ้านสนใจจะได้ศึกษาและหลายอาชีพที่ต้องการส่งเสริม แต่ชาวบ้านยังไม่เข้าใจ” ผู้ใหญ่อนันต์กล่าวและว่า ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการพัฒนามี แต่น้อย

“ตัวอย่างงาน อสม.ก็มาแต่พวกอสม. หน้าเดิมทั้งนั้น มีคนอื่นบ้างไม่มาก  วันรดน้ำสูงอายุ ก็มาเฉพาะลูกหลานคนนั้น จะยกเว้นถ้าแจกของน้ำท่วมนั่นแหละจึงจะมากันหมด” ผู้ใหญ่อนันต์หัวเราะ และเห็นว่าถ้าเป็นไปได้ชาวบ้านทุกคนต้องมาร่วมกันให้หมด ซึ่งคิดอยู่ตลอดว่าจะทำอย่างไรจะทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นได้ พอได้มาฟังนักวิชาการจะเอาตรงนี้ไปปรับใช้

คำอธิบายภาพ : dsc07779

ตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งบอกว่า การมาร่วมเวทีได้ประโยชน์มาก เอกสาร ที่ได้รับไม่สามารถหาซื้อได้ในตลาด  ความรู้แต่ละเรื่อง ถ้าเราเอาแค่ส่วนหนึ่งถ้าเอาไปใช้จะเกิดประโยชน์กับชุมชน แม้กระทั่งยกระดับ แลกเปลี่ยน ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ก็พอใจระดับหนึ่ง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่า ได้เอาความรู้ไปใช้ หรือไม่ จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่คน

อาจารย์ธนกร เกื้อกูล กล่าวปิดเวทีวันนั้นโดยบอกว่า กิจกรรมทั้งหมดได้มีการถ่ายทอดเสียงตามสายของชุมชน

“เสียงไปถึงไหนก็ได้เรียนรู้ไปถึงที่นั่น ผมออกไปดูเมื่อกี้เห็นพรรคพวกนอนฟังอยู่เขาทำงานบ้านรดน้ำผักไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย  เนื้อหาที่มาแลกเปลี่ยนวันนี้เป็นหลักสูตร ชีวิต คน ทำให้เราซึ่งคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรแต่มีส่วนในการพัฒนาหมู่บ้านได้หรือ คิดว่าตัวเองไม่สำคัญ แต่ที่จริงเรานี่แหละเป็นบุคคลสำคัญ ได้มาเจออาจารย์ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ตกผลึกในวิชาชีวิต ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม”.

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว