สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

หัวใจที่ใกล้กันของผู้พิการ

by punyha @24 ธ.ค. 52 18:25 ( IP : 222...216 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

ประเด็นผู้พิการเป็นหนึ่งในแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา

สมพร ปาตังตะโร เลขานุการสมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา และประธานสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดสงขลา ผู้ประสานงานประเด็นฯ เล่าว่าที่ผ่านมากิจกรรมมักมีลักษณะเข้าร่วมกับกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้องมากกว่า มาจนกระทั่ง พ.ศ.2552 เป็นปีแรกที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนเพื่อการขับเคลื่อนโดยตรง

งบประมาณดังกล่าวส่วนแรกเอาไปทำกิจกรรมคนพิการ ส่วนที่สองใช้ในกิจกรรมหนุนเสริมสภาคนพิการ และส่วนสุดท้ายอุดหนุนองค์กรคนพิการระดับอำเภอ

จำนวนคนพิการในสงขลาปัจจุบัน 13,600 คน เป็นชายมากกว่าหญิง มาจากการประสบอุบัติเหตุจนมีปัญหาทางการเคลื่อนไหวมากที่สุดและอยู่ในเขตอำเภอหาดใหญ่มากที่สุด 3,000 กว่าคน

เมื่อมองตัวเลขดังกล่าวคณะทำงานเห็นว่า ถ้าจะขับเคลื่อนโดยชมรมคนพิการจังหวัดอย่างที่ผ่านมาแบบอาศัยองค์กรเดียวระดับจังหวัดลงถึงทุกพื้นที่เป็นเรื่องยาก จำต้องมีการขยายเครือข่ายระดับอำเภอ

องค์กรคนพิการระดับอำเภอจึงเริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว การเลือกพื้นที่ทำงานช่วงที่ผ่านมา พิจารณาจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประจำอำเภอซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับผู้พิการโดยเฉพาะฝ่ายเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนที่มีความเข้มแข็งและให้ความสำคัญกับคนพิการ

“เราเสนอความคิดกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเวชฯ ว่าต้องการจะมีเครือข่ายคนพิการเกิดขึ้นในแต่ละอำเภอประจวบกับพี่ๆเขาทำตรงนั้นอยู่แล้วอย่างการลงเยี่ยมผู้พิการ เขาจึงยินดีสนับสนุนเรา”

หลังการขับเคลื่อนชมรมผู้พิการระดับอำเภอ ทำให้ผู้พิการเห็นความสำคัญในการมารวมเป็นชมรมระดับพื้นที่เล็กลง มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นสามารถขยับไปช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่มคนพิการ และทำกิจกรรมสืบเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้พิการรายอื่นที่ขาดโอกาสต่อไป

จังหวัดสงขลามีเป้าประสงค์ให้มีศูนย์จดทะเบียนคนพิการ ในทุกโรงพยาบาลอำเภอ ทำให้การทำงานของชมรมผู้พิการจังหวัดสงขลาในการขยายเครือข่ายระดับอำเภอสอดคล้องกับทิศทางของจังหวัด

“เราทำหนังสือถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ขอให้มีหนังสือคำสั่งระดับอำเภอขอให้เขาจัดชมรมให้ด้วย แต่หลังๆ เรามักขายไอเดียเข้าไปจีบเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคนพิการโดยตรง และของบสนับสนุนจาก สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพ) ”

สถานะของชมรมคนพิการจังหวัดสงขลา กำลังดำเนินการยื่นขอการจัดตั้งเป็นสมาคมผู้พิการจังหวัดสงขลา การผลักดันให้เกิดชมรมผู้พิการระดับอำเภอมาทำงานร่วมกันจึงเป็นความชัดเจนแง่การขยายเครือข่าย ณ ปัจจุบันได้พื้นที่นำร่อง 3 แห่งคือ เทพา ควนเนียง บางกล่ำ และกำลังขยายไปสู่ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร และสะเดา

น่าสังเกตว่าโครงสร้างเดิมของชมรมผู้พิการจังหวัดสงขลา จะมีเฉพาะผู้พิการ การขยายเครือข่ายยอมรับการมองมุมใหม่ว่า การขับเคลื่อนด้วยคนพิการอย่างเดียวเป็นเรื่องยาก บทเรียนการทำงานที่ผ่านมาทำให้ได้บทสรุปว่าคณะทำงานเกี่ยวกับผู้พิการควรจะมีทั้ง ผู้พิการ คนปกติทั่วไป เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคนพิการ ผู้นำชุมชนที่ให้ความสำคัญ และผู้ปกครองคนพิการ เข้ามาเป็นกรรมการ

“พูดง่ายๆ จะให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนรวมมากขึ้น จากแต่ก่อนเราคิดผิดมาแล้วที่ให้ผู้พิการทำอยู่ฝ่ายเดียว” สมพรย้อนบทเรียนชมรมคนพิการจังหวัดสงขลาเดิมเน้นตั้งกรรมการมาจากคนพิการหมด เวลาทำงานจริงไม่สามารถขับเคลื่อนโดยตัวเองได้ทุกเรื่อง บางเรื่องเราต้องพึ่งหน่วยงาน ผู้เกี่ยวข้อง แต่เมื่อไม่ได้ตั้งเขามาเป็นกรรมการจึงไม่มีคำสั่ง หนังสือราชการยืนยัน หรือบางเรื่องไม่มีหนังสือลงนามโดย ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ นายอำเภอ ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถมาช่วยทำงานให้ได้

โครงสร้างแบบใหม่ของชมรมผู้พิการระดับอำเภอจึงตั้งคณะกรรมการบริหารชุดหนึ่ง คณะกรรมการที่ปรึกษาอีกชุดหนึ่ง ทั้ง 2 ชุดจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง เพื่อให้เจ้าหน้าที่จะสามารถปฏิบัติงานช่วยเหลือคนพิการสะดวกขึ้น

“หน่วยงานที่เราชวนมาเอาเท่าที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญสนใจคนพิการ แต่ไม่ใช่ว่าทำได้ทุกพื้นที่เพราะบางอำเภอไม่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแม้แต่สักแห่งที่สนใจ”

กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมพรเห็นว่าหลายพื้นที่ยังจำกัดมุมมองเกี่ยวกับคนพิการแค่เบี้ยยังชีพทั้งที่มีเรื่องทำมากมายรวมทั้งกิจกรรมทางสุขภาพและอื่น ๆ ด้วย

โครงสร้างของชมรมผู้พิการระดับอำเภอจะรวมทุกประเภทของความพิการ บทบาทสำคัญ หลักๆ คือ การพิทักษ์สิทธิของคนพิการ การให้กำลังใจ ทั้งผู้พิการเองและผู้ปกครองที่ดูแลคนพิการ

“รูปแบบการให้กำลังใจเราจะลงไปเยี่ยมที่บ้าน ถ้าเจอปัญหาอย่างไร เราก็จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเจอคนพิการที่สภาพบ้านพัง เราก็จะหาหน่วยที่ขอซ่อมบ้าน พบ กับผู้พิการอยู่ในวัยศึกษา เราก็จะถามน้องเขาว่าต้องการเรียน ฝึกอาชีพอะไรบ้าง เราก็จะติดต่อหน่วยงานโดยตรง ไม่ว่าของรัฐเอกชน หรือการศึกษานอกโรงเรียน”

เป็นการทำงานเน้นเชื่อมกับทุกเครือข่ายสมพรยกตัวอย่างวิทยาลัยสารพัดช่างมีทีมอาจารย์ที่พร้อมเข้าสนับสนุนงบประมาณ ฝึกอาชีพผู้พิการ และหลังการฝึกอาชีพเป็นแล้ว ยังช่วยหาช่องทางการตลาดให้อีก

การลงเยี่ยมผู้พิการแต่ละครั้งจะมีการมองเป้าหมายผ่านแกนนำในพื้นที่

สมพรเล่าตัวอย่างการเยี่ยมบ้านวันหนึ่งที่อำเภอสิงหนคร ได้เยี่ยมผู้พิการที่ฐานะยากจน 5 ราย พบทั้งผู้พิการ ไม่มีอาชีพ เป็นหม้าย ต้องมีภาระดูแลลูก

“ ปัญหาเหล่านี้จะหาทางช่วยเขาอย่างไร เราประสานกับ พมจ.(สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) บางกรณีต้องพาเขาออกมาส่งเข้าเรียนต่อ ถ้าตัวคนพิการโอเคเราก็พามา แต่ถ้าเขาไม่โอเคด้วยเราจะถามต่ออีกว่าจะให้เราช่วยเหลืออย่างไร บ้างอาจได้คำตอบว่าแค่ต้องการเงินช่วยเหลือชั่วคราว”

ปัจจุบันสังคมเปลี่ยน ทัศนะสังคมให้โอกาส คนพิการเข้าสู่สังคมหลายเรื่อง ภาพมองจากสังคมต่อคนพิการเปลี่ยนไป มุมมองใหม่ในการช่วยเหลือผู้พิการก็เปลี่ยนจากการสงเคราะห์อย่างเดียว มาเป็นบทสรุปใหม่ว่าคนพิการจะได้โอกาสอะไรจากสังคมที่มากกว่าเงิน

สำหรับความจริงที่เป็นอยู่สมพรมองว่าคนพิการมี 2 ประเภท คือ คนพิการที่รอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว และคนพิการที่พร้อมระดับหนึ่งจะช่วยตนเอง และช่วยสังคม

“ผมคิดว่าเมื่อเขาให้ความสำคัญแล้ว คนพิการอย่างเราก็ต้องทำให้เห็นว่าต้องตื่นตัวออกมาช่วยเหลือสังคม” สมพรเล่าลำดับขั้นดำเนินการจัดตั้งชมรมผู้พิการระดับอำเภอว่ารูปแบบเป็นการจัดเวทีประชุม เชิญผู้พิการในพื้นที่ ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

เรื่องแรกที่พูดในเวทีมักว่าด้วยสิทธิเบื้องต้นที่ผู้พิการควรจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเบื้องต้น 4 ด้านตามกฏหมาย การแพทย์ ศึกษา อาชีพ สังคม สิ่งเหล่านี้ผู้พิการที่อยู่ห่างไกลข้อมูลมักไม่ทราบ

“อย่างสิทธิการแพทย์คนพิการที่ยังไม่รู้ยังใช้บัตรทองของคนธรรมดาอยู่ จะขาดสิทธิหลายเรื่อง เช่นเขาไม่รู้ว่าจะรักษาได้ในทุกโรงพยาบาลของรัฐโดยไม่จำเป็นต้องส่งตัว สามารถเบิกอุปกรณ์การแพทย์ได้ตามความจำเป็นอย่างที่เขาควรจะได้ นี่เป็นสิทธิเบื้องต้นของผู้พิการ”

นอกจากการให้ความรู้สิทธิ การจัดประชุมมักจะไปพร้อมกับการฝึกอาชีพ โดยการประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องไม่ว่า กศน. วิทยาลัยสารพัดช่าง และวิทยาลัยอาชีวะ ลงไปด้วย ทางอาจารย์ผู้สอนจะสอบถามความต้องการของผู้พิการไปก่อนว่าต้องการเรียนรู้ อะไร หลักสูตรมักเน้นการฝึกระยะสั้นครึ่งวันส่วนมากเป็นงานประดิษฐ์ เช่น ผลิตภัณฑ์จากกะลา ประดิษฐ์ดอกไม้ ทำการบูร และจัดดอกไม้สด

“กับกลุ่มเป้าหมายจะเอาแกนนำที่แข็งแรงแล้วลงไปยังชุมชนประสานในพื้นที่ว่าวันนั้นมีผู้พิการกลุ่มไหนมาบ้าง อย่างผู้พิการตาบอดบอกว่าจะมาเราก็จะประสานสมาคมคนตาบอดจังหวัดสงขลาลงไปคุยกับเฉพาะคนตาบอด ถ้ามีคนหูหนวกเราจะประสานกับสมาชิกคนหูหนวกภาคใต้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าเขายังไม่ได้รับและสามารถเข้าถึงอะไรได้บ้าง”

สมพรยกกรณีคนตาบอดในชุมชนว่ามักไม่ได้รับการดูแลอะไรเลย นอกจากมีคนยกข้าวยกน้ำให้กิน แต่หลังจากเอาเพื่อนตาบอดด้วยกันเข้าไปคุย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำมาสู่ การได้เพื่อนคนตาบอดด้วยกัน เป็นโอกาสพัฒนาตัวเองด้านอื่นอย่างเช่นกิจกรรมการฝึกเดินโดยใช้ไม้เท้าขาว

“ก่อนนำคนตาบอดมาฝึกอาชีพ ลงไปพบตามบ้านครั้งแรกเราไม่สามารถเอาเขาออกมาได้ง่ายๆ ต้องเป็นการลงไปพูดคุยครั้งที่ 2-3 ส่วนอาชีพหลักๆที่เขาถนัดและเราส่งเสริมได้คือการนวด”

ด้านคนหูหนวกตามพื้นที่ต่างๆมักไม่ได้เรียนภาษามือ การลงไปของตัวแทนสมาชิกคนหูหนวก จะเป็นโอกาสชักชวนกลุ่มคนหูหนวกมาเรียนภาษามือ เหล่านี้เป็นต้น

“การจัดเวทีแต่ละแห่งมีผู้มาเข้าร่วมประมาณ 60-70คนเราขอให้เขามีความพร้อมจะเข้าสู่สังคม ขอให้มาด้วยใจ พร้อมเสียสละช่วยเหลือเพื่อน” สมพรเล่า

“กลุ่มเป้าหมายหลักๆที่วางไว้ไม่ได้ตามหวังไม่เป็นไร 70 คนได้ 10 คนก็ถือว่าเป็นความสำเร็จแล้ว และทุกที่เราก็ได้คนทำงานจริง เพราะเมื่อเราลงไปปุ๊บ ชี้แจงจุดประสงค์ว่ามาเพื่ออะไร ชี้แจงการเข้าถึงสิทธิคืออะไรแนวทางการทำงานของเราทำคืออะไร เขาเห็นว่าเราทำอะไรให้เกิดกับสังคม เกิดอะไรกับตัวเขา เขาก็พร้อมช่วยเรา”

การประเมินล่าสุดพื้นที่เป้าหมายราว 6 แห่ง เกิดความเปลี่ยนแปลง มีการรวมตัว ของคนพิการมากขึ้น หลังจากลงไปทำงาน ทำให้เกิดผลดังนี้ 1.รู้ว่าผู้พิการอยู่ตรงไหน 2. ได้เครือข่าย 3. เปลี่ยนวิถีหลบๆซ่อน ๆคนพิการออกจากบ้าน มาสู่สังคมมากขึ้นหลายคนพร้อมที่จะช่วย เพื่อน เปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองจากที่เคยอยู่มุมมืด ก้าวออกมาเรียนต่อ ฝึกอาชีพ

“ตั้งแต่ปี 2538 เริ่มชมรมคนพิการสงขลามาถึงการขับเคลื่อนแผนสุขภาพ ขณะนี้เราถือว่าได้ให้โอกาสคนพิการเยอะ”

สมพรเล่าและว่า ในการจัดเวทีประชุมระดับอำเภอแต่ละครั้งนั่นเองได้เปิดโอกาสให้ผู้มาร่วมคุย ซัก ถาม ทุกเรื่องจะทำให้เห็นแววบางคนที่อาจชวนจะมาเป็นแกนขับเคลื่อนชมรมผู้พิการระดับอำเภอ

“ฉะนั้นเมื่อเราคุยเสร็จแล้วบอกว่าจะจัดตั้งชมรมก็จะเห็นแววว่าน่าจะเลือกใครมาเป็นผู้นำ บางที่อาจเสนอ 4-5 ชื่อ มาโหวตกัน พอได้ประธานแล้ว เราจะมาเลือกตำแหน่งต่างๆ ซึ่งกรรมการชุดนี้เป็นผู้พิการ แต่การทำงานโดยผู้พิการอย่างเดียวเป็นไปได้ยากดังกล่าวแล้ว เราจะตั้งกรรมการอีกส่วนหนึ่งเรียกกรรมการที่ปรึกษา เป็นเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบผู้พิการ รวมถึงอาสาสมัครในพื้นที่ อสม. /อพม./พมก. รวมถึงผู้ปกครอง มาเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา สองส่วนจะมาทำงานไปด้วยกัน”

สมพรมองปัญหาการขับเคลื่อนขององค์กรกลุ่มคนพิการที่ผ่านมามีปัญหาต้องพิจารณาหลายด้าน

  • การเคลื่อนย้ายตัวเองของผู้พิการเป็นโดยยากลำบาก เวลาการทำกิจกรรม ต้องอาศัยญาติหรือคนอื่นช่วยเหลือ

  • การขับเคลื่อนงาน ไม่มีงบประมาณเพียงพอ อย่างไรก็ตามทำงานเป็นเครือข่าย ปัญหาเรื่องนี้น้อยลง

นอกจากปัญหาระดับองค์กร ปัญหาส่วนตัวคนพิการยังพบว่า

  • ปัญหาในครอบครัว หลายคนพร้อมออกสู่สังคม แต่โดนพ่อแม่สกัดไว้ไม่ต้องไปไหน

“เขามองว่าอย่างไรเสียลูกเขาคนหนึ่งเขาเลี้ยงได้ ราว 70% ที่เราเจอแบบนี้ พ่อแม่กั้นไว้ อย่าไปยุ่งกับใคร”สมพรเล่า

  • ถ้ามีคนพิการ อยู่ในบ้าน ครอบครัวนั้นจะจนตลอดชีวิต เพราะมีสิ่งที่ต้องทำ ต้องใช้เยอะ นอกจากปัญหาเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องงานของคนดูแล ยังต้องใช้อุปกรณ์เสริมราคาแพง ซึ่งครอบครัวต้องดิ้นรนหามา แม้ว่าจะยากจนอย่างไร

  • ปัญหาคนพิการเอง ไม่ยอมรับสิ่งที่ตนเองเป็น สมพรเล่าว่าการที่จะเข้าถึงเขาเหล่านั้นเลยเป็นเรื่องยากมาก บางคนทีมงานเข้าไปเยี่ยม 4-6 รอบ ถูกเขา เขวี้ยงของใส่

“เรายอมทำทุกอย่างเพราะต้องการดึงเขาออกมาสู่สังคม อยากให้เขาเปลี่ยนแปลง ครั้งแรกเขามักไม่ยอมรับ ทีมซึ่งมีทั้งผู้พิการ เจ้าหน้าที่ไปติดตามเยี่ยมเยียน ทำไปเรื่อยๆ เป็นระยะ สุดท้ายที่จะประสบความสำเร็จคือต้องเอาผู้พิการไปคุยเอง เขาจะต่อกันได้ เมื่อ เราเอาคนปกติไปคุย เขาก็จะตอกกลับว่า พูดยังไงก็ได้ เพราะคุณไม่ได้พิการ พอเอาคนพิการไปพูดเขาก็ยอมรับ แล้วเขาจะออกมาสู่สังคม และร่วมกิจกรรมกับกลุ่มมาทำกิจกรรมหลายรูปแบบ ไม่ว่าเกี่ยวกับสุขภาพ เยี่ยมเพื่อน การประชุม ทัศนศึกษา”

สมพรมองอนาคตว่าการขับเคลื่อนเพื่อตั้งชมรมผู้พิการระดับอำเภอจะสำเร็จหรือไม่ อยู่กับกลุ่มคนพิการที่ได้ไปขยายเครือข่าย ต้องยอมรับว่าบางพื้นที่ไม่พร้อมจะขับเคลื่อนด้วยคนพิการเอง

“ใจจริง อยากให้เกิด 16 อำเภอ แต่ถ้าเขาไม่พร้อมก็เท่านั้นคงเกิดเฉพาะชื่อ การขับเคลื่อนไม่มี ก็ไม่มีผลดีต่อองค์กร แต่ถ้าเราค่อยเป็นค่อยไป เอาความตั้งใจที่เขาอยากทำ ก็จะทำให้ให้สำเร็จ เกิดประโยชน์กับพื้นที่ดีกว่า” ยงยุทธ แสงพรหม ผู้พิการจากอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ฝ่ายเหรัญญิกชมรมผู้พิการจังหวัดสงขลา เล่าว่าการขยายเครือข่ายผู้พิการสู่ระดับอำเภอ มีเป้าหมายเพื่อทำให้กลุ่มผู้พิการ ในระดับพื้นที่มีความเข้มแข็ง เมื่อระดับอำเภอเข้มแข็ง ในอนาคตจะลงสู่ระดับตำบล โดยที่ผ่านมาพยายามสร้างตัวแทนระดับตำบล

“การขยายเครือข่ายเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 เริ่มจาก 3 อำเภอคือเทพา บางกล่ำ ควนเนียง เห็นได้ชัดเจนว่ามีความตื่นตัวของผู้พิการในสงขลาที่เข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆไม่ว่า ผู้พิการเอง เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลและผู้เกี่ยวข้อง”

ยงยุทธเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เท่าที่โอกาสอำนวยมาโดยตลอด จึงมองเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวชัดเจน จากปรากฏการณ์เพื่อนช่วยเพื่อน ผ่านกิจกรรมการลงไปเยี่ยมเยียนของทีมผู้พิการและเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้พิการที่เคยหลบหนีสังคมได้รับรู้ว่ายังมีคนที่ด้อยกว่าตัวเองอีกมาก จากคนที่เคยหมดกำลังใจ ทำให้มีกำลังใจหันหน้ากลับมาสู่สังคม

“อุปสรรคของการทำงานคงอยู่ที่คณะทำงานแต่ละคนที่มีภาระหน้าที่ของตัวเองอยู่มากพอสมควร นอกจากนั้นการทำงานในรูปแบบชมรมผู้พิการจังหวัดสงขลาที่ผ่านมาอาจยังมีปัญหาเรื่องการอุดหนุนงบประมาณอยู่ เมื่อเป็นสมาคมน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น” ยงยุทธกล่าว .

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว