สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม ฝ่าอุ้งมือมรณะ "ตำรวจ-หมอ-พระ"

by punyha @9 ธ.ค. 52 10:14 ( IP : 222...113 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

“ผู้ประสบอุบัติเหตุต้องเป็นภาระเจ้าหน้าที่ ส่วนหนึ่งถึงมือหมอบางคนเสียท่าพระมาถึงวัด ที่วัดอาตมาตั้งแต่ตั้งเมรุเผาศพมาเกือบ 10 ปี ไม่มีเคยเว้นว่างสักเดือนสำหรับคนตายด้วยอุบัติเหตุ”

คำกล่าวของท่านพระครูสังขรักษ์สุทัศน์ รองเจ้าอาวาส วัดสระเกษ อำเภอเมืองจังหวัดสงขลาในเวทีเสวนารณรงค์อุบัติเหตุ  “อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม” ณ ลานวัฒนธรรม เทศบาลนครสงขลา เมื่อ 26 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา

กิจกรรมนี้มาจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่า จังหวัดสงขลา เทศบาลนครสงขลา โรงเรียนมหาวชิราวุธ สถานีตำรวจภูธร สงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา รูปแบบ นิทรรศการ ตอบคำถามชิงรางวัล ฟังดนตรี ชมการแสดงและร่วมเสวนา

คำอธิบายภาพ : dscf5542บรรยากาศสบายๆหัวค่ำวันอาทิตย์ หลายครอบครัวพากันมานั่งรับลมพักผ่อนริมชายหาดสมิหลาอย่างมีความสุข

“สงขลาบ้านเราโชคดีมีพื้นที่ริมชายทะเล ถ้าไม่มีพื้นที่แบบนี้จะไม่รู้หรอกว่า นั่ง ฟังสบาย  เราอาจจะไม่คิดถึงอุบัติเหตุว่าสำคัญอย่างไรแต่ถ้าวันหนึ่งลูกเราเสียเพราะอุบัติเหตุเราเรียกคืนไม่ได้  เคยนั่งทานข้าวด้วยกันกับลูก พ่อ แม่ พี่น้องทุกเย็น แต่ถ้าเด็กคนหนึ่งสูญหายไปกับมอเตอร์ไซค์ล่ะ”

ชัยวุฒิ เกิดชื่น จากคลื่นความคิด 101.0 MHz ผู้ดำเนินการเสวนา “อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรรม”เปิดประเด็นด้วยประโยคง่ายๆ ช็อคบรรยากาศความสุขริมชายหาดชั่วขณะ เพื่อนำสู่โลกความจริงอีกแง่มุมหนึ่งที่ต้องตระหนักว่าระหว่างความสุขกับความทุกข์อาจคั่นด้วยเพียงเยื่อบางๆ แห่งความประมาทบนท้องถนน

ถึงเราไม่ประมาทหากคนอื่นที่เราไม่รู้จักมาก่อนในชีวิตเกิดประมาทล่ะ?

ฉากความสุขของหลายครอบครัวถูกทำลายลงโดยน้ำมือของสิ่งใดกันเล่า?

ท่านพระครูสังขรักษ์สุทัศน์ กล่าวถึงผู้ประสบอุบัติเหตุว่าต้องเป็นภาระเจ้าหน้าที่ ส่วนหนึ่งได้ไปต่อที่โรงพยาบาลถึงมือหมอแต่บางคนเสียท่าพระ

คำว่า “เสียท่าพระ”หมายถึงเสียชีวิต กลายเป็นศพมาให้พระสวด

คำอธิบายภาพ : dscf5549หลายคนไม่มีโอกาสแม้แต่ไปโรงพยาบาล ช่วงเทศกาลแต่ละครั้งไม่ว่าปีใหม่ สงกรานต์หรือเปิดเทอมมักมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากเป็นกรณีพิเศษ จนศพต้องรอคิวเข้าวัด

“ช่วงเทศกาลพ่อแม่บางคนไม่มีโอกาสเห็นลูกกลับบ้าน อีกส่วนหนึ่งเหมือนเป็นตราบาปคือพาพ่อแม่ไปตายในอุบัติเหตุเมื่อเทศกาลนั้นมาถึงในแต่ละปี จะหาความสุขไม่ได้เลย คือยังนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้คนอื่นเสียชีวิตอยู่”

กรณี นักเรียนนักศึกษาเปิดเทอมใหม่บางคนยังไม่ถึงครึ่งเทอมก็เสียท่าพระหรือพิกลพิการ  ท่านพระครูสังขรักษ์สุทัศน์ประมวลคำพูดจากที่ญาติผู้เสียชีวิตมักมาเล่าให้ฟังสรุปว่าอุบัติเหตุเกิดจากความประมาท 2 ประการ

  1. ถูกคนอื่นประมาท

  2. ตัวเราเองประมาท

สรุปว่าการประมาท ทำให้ตัวเองเสียชีวิตหรือคนอื่นเสียชีวิต

“อย่างเดินอยู่ดีๆ รถมาชนบางคนสงสัยว่าเป็นเวรกรรมแต่ชาติไหน แต่ถ้ามองอีกแบบหนึ่งว่าเกิดจากความประมาทคือกรรมจากคนอื่นกระทำ”

ท่านพระครูสังขรักษ์สุทัศน์ เห็นว่าควรทำความเข้าใจคำว่ากรรมคือการกระทำ อุบัติเหตุไม่ใช่กรรมในอดีตไม่ใช่เวรกรรม แต่เป็นเป็นกรรมในปัจจุบัน คือการกระทำอย่างกำลังขับรถถือเป็นกรรมในปัจจุบัน  ท่านบอกว่าต้องไม่ประมาทในการกระทำปัจจุบันทั้งหลาย  หากพลาดพลั้งเกิดอุบัติเหตุเรียกคืนไม่ได้กลายเป็น “เสียท่าพระ”  ในที่สุด

ศพจากอุบัติเหตุมักน่าอเนจอนาถ มันสมองเละ แขนขาด ขาขาดมาบ้าง บางศพเก็บชิ้นส่วนห่อผ้าขาวใส่ในโลง พ่อแม่ร้องห่มร้องไห้อยู่เบื้องหลัง

คำอธิบายภาพ : dscf5559“กลุ่มวัยรุ่นทุกวันนี้ไม่ค่อยเชื่อเรื่อง นรก –สวรรค์ เวลาโดนจับเขามองลักษณะเดียวกันว่าตำรวจกลั่นแกล้ง พ่อแม่เข้าข้างลูกหาว่าเพื่อนชวน ลูกฉันไม่ทำ.. นอนแล้วตอนหัวค่ำ เพื่อนมาชวน”

ท่านยกตัวอย่างตัวอย่างเด็กผู้หญิงคนหนึ่งโดนรถชนในเมืองสงขลา เหตุเกิดหลังเที่ยงคืนราวตีสองตีสาม เมื่อศพมาตั้งที่วัดผู้ปกครองบอกว่าลูกตัวเองเรียบร้อย แต่พระท่านเห็นว่าการไปทำรายงานกับเพื่อนเวลาดังกล่าวเป็นเรื่องน่าคิด

“พ่อแม่ที่นิมนต์พระไปเทศนาเวลาลูกโดนอุบัติเหตุรถชนตาย ต้องบอกว่าอาตมาไม่ได้ปลื้มใจพระไม่ปลื้มนิมนต์พระแล้วไปนั่งร้อง ลองมองย้อนว่าทำไมเวลาพิเศษเช่นวันเกิดไม่พาลูกเข้าวัดให้พระเทศน์หรือซื้อรถมาแล้วแค่ให้พระเจิมรถแต่ก็ชนทุกคัน”

ท่านมักบอกหลายคนอยู่เสมอว่าจะภูมิใจมากกว่าถ้าพ่อแม่ที่ลูกตายไม่คิดว่าเป็นเวรกรรมแต่ชาติปางไหน แต่หันมาคิดเรื่องการสอนลูกแนะนำ ในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าระเบียบกฏหมาย และให้ลูกมีสติก่อนจะขับรถออกจากบ้าน

“ต้องบอกให้เขาคิดว่าขับแล้วจะปลอดภัย ได้กลับบ้านไหม  หรือเพราะความประมาทอาจสร้างมลทิน ให้คนอื่นเป็นลูกกำพร้าไม่มีพ่อ สามี ภรรยาต้องตายจากกัน นั่นคือกรรมปัจจุบันที่เราทุกคนทำในปัจจุบัน  ไม่ใช่ไปมองว่าไม่รู้ว่ากรรมจากชาติปางไหน  รอดชีวิตเพราะบุญจากชาติปางไหนอีก”

ท่านเปรียบกระจกมองข้างรถให้คิดว่าเลี้ยวซ้าย ขวาจะไปไหน ไปที่ดีหรือไม่ดี กระจกมองด้านหลังเพื่อมองว่ามีใครคอยเราอยู่ข้างหลังบ้าง  การมองไปด้านหน้ารถ ไม่ใช่มองว่า ความเร็ว เข็มไมล์ ขึ้นดี เป็น 120 -130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ต้องมองว่าชีวิตจะมีโอกาสอยู่ต่อยืนยาวผ่านไปได้อย่างเข็มไมล์ไหมหรือหยุดกับที่ ให้มองเข็มไมล์เพิ่มขึ้นเป็นความเสี่ยงชีวิตเพิ่มขึ้น ไม่ใช่มองว่าเป็นความสามารถ

“อยากฝากให้ทุกท่านคิดสักนิดว่า ต้องคำนึงถึงกาลปัจจุบัน ความประมาทผลพวงที่จะเกิดปัญหาให้กับตัวเอง ผลพวงแก่สังคม หรือทำลายชีวิต ผู้อื่นทั้งทางตรงทางอ้อม เพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึงว่าปัจจุบันว่าเรากำลังทำอะไร มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนบริบูรณ์หรือคุมสติ คุมตัวเองได้มากน้อยเพียงใด ก่อนจะขับขี่ยวดยาน”

นพ.สรรเพชร เลิศตระกูล ศัลยแพทย์โรงพยาบาลสงขลา เล่าว่าได้มาเห็นบรรยากาศครอบครัวริมชายทะเล ดูแล้วมีความสุข

“ผมยินดีมากที่ได้เจอท่านข้างนอก แต่ผมเสียใจอย่างยิ่ง ถ้าต้องเจอท่าน ญาติ ลูกหลาน ของท่าน หรือคนใดคนหนึ่งต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะอุบัติเหตุ” เขาบอกว่าตนเองเป็นแพทย์ที่ผ่าตัดทางอุบัติเหตุอยู่คนเดียวในโรงพยาบาลสงขลา สามารถผ่าได้แค่วันละ 2 คน หากมีคนป่วยรายที่ 3 ต้องการผ่าตัดด่วน อาจต้องเสียชีวิต

“มีมาแล้วที่ช่วยไม่ทันแม้ส่งต่อโรงพยาบาลอื่นก็มีไม่มากพอจะรองรับได้ ผมจึงอยากให้ทุกท่านตระหนักดีว่า ท่านอาจจะขับรถตามใจท่านโดยไม่คำนึงถึงอะไรเลยมา 10 ปี แล้วบอกตัวเองว่าเราไม่เคยเป็นอะไร แต่ท่านลองคิดดูว่าซื้อล็อตเตอรี่มา 10 ปี ไม่ถูกเลยวันหนึ่งถูกรางวัลที่ 1 ดีใจมากกระโดดตัวลอย เช่นเดียวกันแต่ความรู้สึกตรงข้ามขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวกกันน็อควันหนึ่งเป็นอะไรไป”

นพ.สรรเพชร บอกว่าคนที่ประสบอุบัติเหตุย่อมย้อนเหตุการณ์เพื่อไม่ให้เกิดไม่ได้ภาพที่เห็นในแผนกอุบัติเหตุของโรงพยาบาลสงขลา จึงมีคนร้องห่มร้องไห้  คนเฒ่าคนแก่ต้องมาเช็ดตัวเด็กวัยรุ่นอนาคต ที่น่าจะต้องดูแลพ่อแม่ แต่ต้องกลายมาเป็นภาระของพ่อแม่ไปตลอดชีวิตแทน

หอผู้ป่วยฉุกเฉินโรงพยาบาลสงขลามี 3 ล็อค ส่วนล็อคแรกเป็นอุบัติเหตุของคนเมา 10 เตียงไม่เคยว่าง อุบัติเหตุมีทุกคืนทั้งเจ็บหนัก กลับบ้านได้และมีผู้เสียชีวิต

“พอสัก 3-4 ทุ่ม เอาแล้ว คนไข้เต็มแล้ว ญาติมาเฝ้าข้างหน้าเต็มอีก พวกที่มาหาผมมีจุดเด่น 3 อย่างคือ เมา ไม่สวมหมวกกันน๊อคและเป็นผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ทุกคืนผมต้องผ่า อย่างเมื่อคืนผมผ่าตั้งแต่ ตี 2 – 6 โมงเช้า ผ่าตามความสามารถ ดีว่ามาตามโควตา 2 คนจึงรอดปลอดภัย ถ้า 3 คนคงแย่ สิ่งเหล่านี้ ถ้าเห็นสักครั้งท่านจะรู้ว่า มันไม่น่าจะเกิดในสังคมของเราที่ระบบระเบียบที่วางไว้ น่าจะเข้มแข็งแล้วแต่ถูกละเลย เสียเป็นอันมาก”

นพ.สรรเพชร กล่าวว่าหนักใจมากกับอุบัติเหตุที่เกิดเป็นประจำ อย่างการนั่งมอเตอร์ไซค์แบบซ้อน 3 ถ้าเกิดไป ชนกระบะ แน่นอนว่าทั้ง 3 คนเจ็บหนัก

“เมื่อเราจะช่วยคนไข้จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ตายแน่  อีกกลุ่มรอดแน่  แต่อีกกลุ่มหนึ่งต้องใช้แพทย์ รักษาในเวลาทันท่วงที ถ้าเข้ามา 3 คน หรือมากกว่ากว่านั้น4-5  คน ผมเองจะหนักใจ  คือคนไข้ที่ตายแน่เราไม่มีเวลาช่วยคนนี้ ได้  เราไม่รู้จะบอกกับญาติอย่างไรว่าเราไม่ทำอะไรกับลูกคุณ เพราะเราต้องไปผ่าอีกคนหนึ่งก่อน”

นพ.สรรเพชร บอกว่าผู้เกี่ยวข้อง  3 ฝ่าย ฝ่ายตำรวจคอยดูลูกหลาน ที่อาจขับรถซิ่ง ไม่ใส่หมวกกันน็อค ถ้าผ่านด่านแรกไปได้ เด็กอาจดีใจว่าตำรวจไม่จับ จับไม่ทัน หรือเลี้ยวเข้าซอยทัน

“ดีใจผ่านด่านแรกได้อาจโชคร้าย เพราะด่าน 2 คือผม ถ้าผมช่วยได้ ก็คือโชคดี ได้กลับไปอยู่กับครอบครัว แต่ถ้าผมช่วยไม่ได้ ฝ่าด่านนี้ไม่ได้ก็ต้องเจอพระคุณเจ้า ซึ่งแน่นอนว่าเวลานั้น ไม่มีใครอยากเจอ”

ทำไมคนขี่มอเตอร์ไซค์ต้องสวมหมวกกันน็อค นพ.สรรเพชร ตั้งคำถามแล้วตอบเองว่าลองพิสูจน์ง่าย  ๆ เอาหมวกกันน็อคฟาดทางเท้า จะพบว่าหมวกกันน็อคแค่เป็นรอยถลอกไม่มากมาก แต่ถ้าเอาหัวคนฟาดลงไปต้องเข้าโรงพยาบาล หมอยกตัวอย่างอุบัติเหตุรายหนึ่งเพิ่งเกิดมาเมื่อ  2สัปดาห์ ก่อนผู้ชาย ทำงานดี มีฐานะ มีภรรยา มีลูก มีครอบครัว อนาคตดีมาก

เขาขับขี่รถกระบะ โดยไม่รัดเข็มขัดนิรภัย  เกิดอุบัติเหตุจนรถลงข้างทางชน ระหว่างนั้นมีคนลงไปช่วย เขายังรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ จนคนลงไปช่วยยังคิดว่าเขาโชคดีไม่ได้เป็นอะไรมาก  แต่ตัวเขาเองนั้นรู้ว่าอาจไม่ใช่ เพราะขยับ แขน ขา ทั้งสองข้างไม่ได้เลย

“ส่งโรงพยาบาลมาถึงผม ตรวจวินิจฉัย พบว่ากระดูกคอ ข้อที่ 5 และ 6 หัก และตัดขาดเส้นประสาท เส้นใหญ่ ผมทำได้ดีที่สุดก็คือ ต่อกระดูกคอเหมือนเดิมเปะ ไม่มีรอยเห็นว่าแตกร้าวตรงไหน แต่ผมไม่สามารถทำให้ขาและแขนเขากลับมาขยับได้  เพราะฉะนั้น เวลานี้ คนไข้ที่อยู่กับผม นอนลืมตารับรู้ทุกอย่าง ลูกมาเยี่ยม ภรรยามาเยี่ยม น้ำตาไหล ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มองหน้าผมมองหน้าใคร แสดงให้รู้ว่าตายเสียดีกว่าจะมาเห็นภาพอย่างนี้ นี่เกิดเพราะเพียงไม่รัดเข็มขัดนิรภัย”

อย่างไรก็ตามคุณหมอมองว่าเรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาไปอีกนาน

“ตอนที่นั่งพูดผมนั่งนับคนไม่สวมหมวกกันน็อคได้ 70 คน จึงคงไม่แก้ปัญหาในช่วงชีวิตของผม เวลานี้มอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ โฆษณาว่าแรง เท่ แต่ไม่พูดเรื่องความปลอดภัยเลย ยิ่งไม่สวมหมวกกันน็อคลองคิดให้ดีหากมาถึงมือผม  10 ปีผมผ่าสมองมาแล้ว  5,000 คน”

ร.ต.ท.นนทพัทธ์  สู่สม รองสารวัตรจราจร สภ.เมืองสงขลา กล่าวว่า ในเมืองสงขลาตอนกลางคืน ประชาชนมักบอกตำรวจอยู่เสมอว่ารถซิ่งเยอะ โดยเฉพาะแถวหน้าโรงเรียนวชิรานุกูลและหน้าสนามกีฬา เป็นต้น

“ที่ผ่านมา เราแก้ปัญหา โดยวางแผนจับกุมตอนเที่ยงคืนครึ่งได้เยาวชน 25 คน รถ 30 คัน ที่เหลือหนีไป นำส่งพนักงานสอบสวน ซึ่งทางผู้บังคับบัญชา ให้นโยบายว่า จะไม่ให้ประกันตัวกรณีรถซิ่งเด็ดขาด” ร.ต.ท.นนทพัทธ์  กล่าวและว่าจากผลการกระทำ ของลูกมักกระทบไปถึงพ่อแม่ เป็นเรื่องที่เยาวชนควรคิด

การแก้ปัญหาอุบัติเหตุในเมืองสงขลาที่ผ่านมา สภ.สงขลา กับ สสจ.สงขลา ใช้งบจาก สสส. ร่วมกับโรงเรียนมหาวชิราวุธ จัดทำโครงการมหาวชิราวุธโมเดล  ทำให้ตำรวจไปร่วมดูแลเยาวชนนักเรียนในโรงเรียน ดึงผู้ปกครอง ชุมชนมาเป็นเครือข่าย

“ต้นแบบนี้ถ้าเป็นนักเรียนในมหาวชิราวุธเราประสาน ผู้อำนวยการ อาจารย์จะติดตามผู้ปกครองมาพบกันที่โรงพัก คุยดันก่อนว่าจะปรับเปลี่ยน พฤติกรรมได้อย่างไร ซึ่งโรงเรียนจะมีการตัดคะแนนความประพฤติทักษะชีวิต เราให้กระบวนการไปโรงเรียนก่อน ดำเนินการไปตามกฎหมาย”

ร.ต.ท.นนทพัทธ์  กล่าวว่าขณะนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบาย โครงการกวดขันจราจร 365 วันอันตรายหยุดความตาย ด้วยการบังคับใช้กฎจราจร ในเขตเมืองสงขลาก็เป็นเขตกวดขันวินัยจราจร อยากให้ประชาชนเข้าใจว่า ใส่มาตรการทุกอย่าง เพื่อลดปัญหา จราจรและช่วยกันลดอุบัติเหตุ  ไม่ว่าจาก ความเร็ว  เมา ไม่มีหมวกกันน็อค ไม่มีใบขับขี่

“คนไม่มีใบขับขี่ในสงขลายังมีอีกมาก แม้ว่างานจราจรทำโครงการ พาไปทำใบขับขี่ ราว 2,000 กว่าคน ซึ่งคนมีใบขับขี่จะมีความรู้เรื่องกฎจราจรมากยิ่งขึ้น”

นายสุรเชษฐ์ ประยืนยง ตัวแทนนายกเทศมนตรีนครสงขลากล่าวว่า เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุ แต่รอดมาได้ เพราะสวมหมวกกันน็อคและรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง และคำนึงอยู่เสมอว่าเมื่อนั่งหลังพวงมาลัยเหมือนเอาเท้าข้างหนึ่งยื่นเข้าไปในคุกเรียบร้อยแล้ว ไม่รู้จะพลาดพลั้งตอนไหน

“เมื่อก่อนการจราจร ไม่คับคั่งเหมือนทุกวันนี้ ถนนจริงแล้วไม่ได้เพิ่มมากมาย แต่ปริมาณจราจรมากขึ้น คนใช้รถ และถนนไม่เอื้ออำนวยต่อกัน  ถ้าเอื้ออำนวยต่อกันอุบัติเหตุน่าจะน้อยลง มารยาทในการขับขี่สำคัญ คนขับรถต้องระมัดระวัง อย่างในเมือง มีโรงเรียน  เด็กเยอะ จราจรดูไม่ทั่วถึง ” นายสุรเชษฐ์กล่าวและว่า ในความจริงที่เป็นอยู่อีกอย่างหนึ่งในสังคมไทย  คือคนจำนวนมากพอขับรถได้แต่ยังไม่เป็นปัญหาจึงตามมา “สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองบอกว่าลูกเรียบร้อย แต่จริงแล้วแอบซิ่งรถอย่านึกว่าไม่มีปัญหาโดยเฉพาะเด็กต่างถิ่นที่มาอยู่หอพักในสงขลาที่ไม่มีใครดูแล”

ชัยวุฒิ เกิดชื่น กล่าวว่าเด็กทุกกวันนี้มีปัญหามากขึ้นเพราะปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่น้อยลงสมัยก่อน เด็กช่วยพ่อแม่ทำงาน เห็นความเหนื่อยยากมา ไม่ทิ้งพ่อแม่ไปไหน แต่ทุกวันนี้เด็กมีความสบาย เลยมองไม่ได้ นรก สวรรค์ เด็กนึกไม่ออกแล้ว อย่างไรก็ตามการพูดอะไรสักหน่อย เชิงบวกก่อนลูกออกจากบ้าน อย่างขับช้าๆน่าจะส่งผลในทางที่ดี

“ผมเชื่อว่าเยาวชนเป็นอนาคต ของชาติที่เป็นอะไรหลายอย่างทำประโยชน์อีกเยอะ แต่ ถ้ามาเป็นเหยื่ออุบัติเหตุ มาเป็นภาระครอบครัว สังคม มาหยุดแค่นั้น ด่านตำรวจ อะไร คือสร้างเกราะป้องกัน ให้ทุกคนอยู่ในอ้อมกอดของเรา แต่ คนอาจอึดอัด กลัวผมสวย จึงไม่สวมหมวก ที่จริงเรา อยากให้ท่านอยู่กับเรานานๆ เหมือนที่ผ่านมา ได้อยู่ดมกลิ่นทะเลอย่างนี้ไปนานๆ”

ชัยวุฒิกล่าวสรุปเสวนา ที่ถึงแม้จะเป็นหัวข้ออันหนักหนาสาหัสในความรู้สึก แต่สะกดให้คนฟังตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความสนใจ  และคนจำนวนไม่น้อยที่นั่งฟังคือกลุ่มวัยรุ่นเหยื่อกลุ่มใหญ่ของปัญหานี้นั่นเอง.

สร้างพระนักเทศน์แนวรุกลดอุบัติเหตุ

คำอธิบายภาพ : pic4b1f173355550ปี 2551 นางอัจจิมา  พรรณนา นักวิชาการสาธารณสุข 7 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา แกนนำขับเคลื่อนแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ประเด็นอุบัติเหตุจราจร ผลักดันให้เกิดมหาวชิราวุธโมเดล (MVSK Model)โครงการต้นแบบความร่วมมือป้องกันภัยอุบัติเหตุจราจรโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

ปี 2552 ภาพต่อเนื่องของการขับเคลื่อนแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ประเด็นอุบัติเหตุเข้าสู่วัดมีเป้าหมายที่พระสงฆ์

“จากมหาวิชราวุธโมเดล อันมีผู้ปกครองหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแง่ยุทธศาสตร์ และภาคเครือข่ายสำคัญคือชุมชน 33 แห่ง จึงมีเวที21 พฤษภาคม 2552 เชิญตัวแทนชุมชน ทั้ง ประธานอสม. ประธานชุมชนมาวิเคราะห์ดูว่าพื้นที่แต่ละชุมชน มีอะไร ศักยภาพ จุดเด่นกระทั่ง ความเสี่ยงอุบัติเหตุจราจรตรงไหนที่เราจะเข้าไปจัดการ”นางอัจจิมาเล่าและว่า

ผลการประชุมมีหน่วยงานรัฐ เอกชน บริษัท ห้างร้าน โรงงาน มากมายรวมถึงศาสนสถานมาร่วมด้วย เนื่องจากสงขลาเป็นเมืองเก่าดั้งเดิม เฉพาะเขตเทศบาลนครสงขลามีวัด 18 แห่ง  จึงได้ข้อสรุปน่าสนใจอย่างหนึ่งว่าน่าจะหันมาขับเคลื่อนประเด็นอุบัติเหตุจราจรกับวัด

“เมื่อคุยระหว่าง ชุมชน ประธาน อสม. ตำรวจ สาธารณสุข  สำนักงานขนส่ง มีคำหนึ่งออกมาคือธรรมะกับการป้องกันอุบัติเหตุ”

กลายมาเป็นเวทีเสวนาและ ถวายความรู้พระสอนศาสนา  พระธรรมทูต  ครูพระ ที่สอนศาสนาในโรงเรียน ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 จัดที่โรงแรมบีพีสมิหลา มีพระภิกษุ กรรมการวัด และ วิทยากรมาร่วมราว 120 คน วันนั้นนักวิชาการมาพูดเรื่องระบบถนน ตำรวจพูดเรื่องมาตรการของคนและรถ ถ้าทำผิดทำอย่างไร ขับขี่ อย่างไรปลอดภัย ส่วนแพทย์มาให้ความรู้เรื่องสถิติ ความเป็นมา สาเหตุในการเกิดอุบัติเหตุ  ช่วงบ่าย แบ่งกลุ่มกันหาบทสรุปว่าบทบาทพระควรทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ได้แนวคิดจากการสัมมนาจากกลุ่มพระสงฆ์ และชุมชนออกมา 2-3เรื่อง

พระท่านได้ทบทวน บทบาทของพระภิกษุที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ว่ามีอะไร อย่าง การเจิมรถ การสอนที่โรงเรียน การมีเครือข่าย ร่วมกับโรงเรียน ตำรวจ หน่วยงานอื่น การที่ต้องเดินสายไปขยายผลความรู้ ในสถานศึกษา ตลอดจนการเทศน์หน้าเมรุเผาศพ

“พระร่วมกำหนดว่าจะมีส่วนช่วยในเรืองการลดปัญหาอุบัติเหตุจราจร โดยใช้ในหลักธรรมอริยสัจสี่ การวิเคราะห์ถึงปัญหาซึ่งผ่านการวิเคราะห์จากชุมชนมาแล้วคือมีทุกข์ หาหนทางในการดับทุกข์ ...ใช้ธรรมะมาเป็นสื่อ มาให้คนมีจิตใจที่อ่อนโยน  การทำอะไร ต้องมีสติ ไม่ประมาท และทำแนวทางในการเผยแผ่ศาสนา ธรรมะกับการป้องกันอุบัติเหตุ”

นางอัจจิมาเล่าว่าหลักที่คิดได้จะเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติในนามพระมหาบัณฑิต  เจ้าอาวาสวัดหัวป้อมในฐานะเจ้าคณะอำเภอ  และพระครูสังขรักษ์สุทัศน์ วัดสระเกษ ที่มีทิศทางในเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว เพราะวัดสระเกษเป็นวัดที่เสี่ยง หน้าวัดมีรถซิ่งผ่าน เมื่อตำรวจตั้งด่านจับบ่อยครั้งบรรดารถซิ่งจะหนีเข้ามาในวัด

“แนวคิดเด่น ๆคือจะเอาองค์ความรู้ เป็นโครงการพระธรรมทูต ที่จะให้วัดต่างๆที่อยู่ในการปกครองของเจ้าคณะอำเภอ เอาเรื่องนี้ไปเผยแผ่ ผ่านการเทศน์ให้คนมีสติ บังเอิญว่าขณะทำเรื่องนี้อยู่ในช่วงเข้าพรรษาท่านได้เอาเรื่องนี้ไปสอน พระนวกะซึ่งเป็นพระบวชใหม่ให้พระบวชใหม่ลองขึ้นเทศน์ธรรมาสน์สูง เพื่อผูกเรื่องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเอา หลักอริยสัจ 4 มาบอกว่าทุกข์คืออะไร หนทางในการดับทุกข์ คืออะไร”

นางอัจจิมาเล่าว่า พระที่เทศน์เรื่องนี้ จะบอกว่าการมีสติต้องไม่ประมาท  คำว่าไม่ประมาท ต้องรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร เช่น การขับขี่รถต้องไม่ประมาท  มีหลักอะไร บ้าง ตรงนี้ทางประเด็นอุบัติเหตุได้ถวายความรู้ท่านเอาไว้แล้ว ไม่ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุ คน ถนน รถ สิ่งแวดล้อม อันตรายที่จะเกิดขึ้น ท่านก็เอามาตรการเรื่อง คน ถนน รถ ไปพูด อย่างว่าการมีสติ ต้องรัดเข็มขัด  ใส่หมวกกันน็อค ไม่ขับเร็ว เอา ธรรมะกับอุบัติเหตุไปผูกโยงกัน

พระมหาบัณฑิตเจ้าคณะอำเภอ ผู้ประสานกับพระทุกวัด กล่าวว่าจะนำเรื่องนี้เข้าไปในวัดในเขตอำเภอเมือง ขณะที่เจ้าคณะจังหวัดสงขลามีความคิดว่า ถ้าทำทุกพื้นที่ในจังหวัดสงขลาน่าจะดี

“แต่ด้วยกำลังของเราที่ทำ ด้วยแค่นี้อยากขยายไป อย่างช้าๆ แต่ชัดเจนว่า ทำอย่างนี้ ได้อะไร เกิดอะไร ดีกว่า ทำทีเดียวหาผลไม่ได้ว่าคืออะไร”นางอัจจิมากล่าว และเล่าว่าจากเวที 21 พฤษภาคม หลังวิเคราะห์ปัญหาในชุมชนโดยหลักอริยสัจสี่  ได้สาเหตุว่าอะไรทำให้เกิดอุบัติเหตุพบว่า ทางแคบ ไม่มีคูน้ำ  คนไม่มีวินัย เวลาฝนตก ถนนลื่น สุดท้ายชาวบ้านบอกว่าในชุมชนน่าจะมีลานชุมชนมาพูดคุยเรื่องนี้ แต่ พอวิเคราะห์ชุมชนแล้วเวทีแบบนั้นจะมีผู้เขาร่วม 40-50 คน น่าจะได้ภาพมากว่าคนในชุมชน จึงเลือกลานดนตรีและวัฒนธรรม เทศบาลนครสงขลามาจัดเวที “อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม”

เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวเป็นห้องรับแขกของเมือง เป็นสถานที่พักผ่อน มีรถผ่านไปมา กลุ่มเป้าหมายจากการจัดงานจึงเพิ่มเป็น  1,000 -2,000 คน

“เรา ต้องการเผยแพร่ ความรู้ ผ่านการใช้สื่อ การแสดง บันเทิง สอดแทรกด้วยการเสวนาเรื่องอุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม มี ผู้นำเสนอบนเวทีเสวนา ทั้งหมอ ตำรวจ พระ ตัวแทนเทศบาล โดยพระสังขรักษ์สุทัศน์ วัดสระเกษ สรุปว่าถ้าขับรถไม่ประมาท เราจะรู้ว่า อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรมเลย”

นางอัจจิมายอมรับความเชื่อมโยงของอุบัติเหตุจราจร ระหว่างองค์ประกอบ 3 ส่วน คือตำรวจ พระ หมอ

“จากประสบการณ์ตัวเอง ครั้งหนึ่งในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในสงขลามีการตั้งด่านสกัดที่ 5 แยกเกาะยอ มีคนเมาฝ่าด่านมาจากห้าแยกเกาะยอ ตำรวจที่โน่นก็วิทยุให้จับ ซึ่งไม่ทัน เพราะคนเมาขับมาถึงลานวัฒนธรรม ถนนชาลทัศน์ แต่ก็ไปเฉี่ยวกับรถคันหนึ่งเข้าจริงๆ พอดี ยืนอยู่ที่จุดนั้นด้วย  เห็นเลือด มีการเรียกรถพยาบาลมา ถามว่า ถ้าขับเร็วกว่านั้น ต้องเสียท่าพระ แน่ๆ”

นางอัจจิมาเล่าว่า การผลักดันมหาวชิราวุธโมเดล มีการขยายผลไปสู้เรื่องอื่นในโรงเรียน  เช่นการทำส้วมให้สะอาด  ทำโรงอาหารถูกอนามัย  ฯลฯ กลายเป็นนโยบายเรื่องสุขภาพ  ทำให้โรงเรียนมีความร่วมมือกับข้างนอกเรื่องอุบัติเหตุอย่างเต็มที่ ยึดการทำงานเป็นภาคี เมื่อรู้ว่าตัวเองมีศักยภาพอะไรก็จะมาช่วยขับเคลื่อนในภาพใหญ่

งานเสวนา อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม ทางโรงเรียนมหาวชิราวุธ  สนับสนุนเด็กนักเรียนมาช่วยงาน  นำการแสดงของนักเรียนทั้งบันเทิงพร้อมสอดแทรกข้อมูลอุบัติเหตุ ถือว่ารับผิดชอบหลักทางเวทีไปเลย  ส่วนอื่นเช่นเทศบาลนครสงขลาเจ้าของพื้นที่ มีส่วนร่วมเรื่องจัดสถานที่ให้ ร่วมคิดมาตลอดว่าจะช่วยอะไร  ด้านชุมชน บทบาทอยู่ที่  อสม.เชิญชวนชุมชน หรือกระทั่งส่วนอื่นอย่างสื่อวิทยุ ก็ออกมามีส่วนร่วมด้วย

การขับเคลื่อนประเด็นอุบัติเหตุต่อไป นางอัจจิมาเห็นว่า เป้าหมายนิ่งคือพระสงฆ์ น่าจะเทศน์สอดแทรกเกี่ยวกับอุบัติเหตุบ่อยขึ้น กลุ่มเป้าหมายเทศบาลนครสงขลามีพระนักเทศน์ราว 40 รูป

“พระมักจำกัดในวงของพระ  ต้องมีคนเชื่อมประสานให้ท่านได้ ออกมาภายนอก เห็นว่าพระท่านตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังมีกิจกรรมหนึ่งของจังหวัด เกี่ยวกับเครือข่ายการแจ้งเหตุได้นิมนต์พระทุกวัด ฟังเรื่องระบบการสื่อสารของจังหวัด ว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุ ใช้เบอร์ 1169  ตำรวจ 191 แล้วก็เครือข่ายวิทยุประชาชน ซึ่งท่านสนใจมาก เราได้ซื้ออุปกรณ์วิทยุสื่อสารบริจาคให้กับพระไปด้วย อย่างถ้ามีรถซิ่งเข้ามาในวัด จะได้แจ้งเหตุได้ทันที ตอนนี้มีวิทยุอยู่ทุกมุมเมือง เช่น เจ้าคณะอำเภอ ที่วัดหัวป้อม ซึ่งติดสี่แยก หน้าวัด วัดสระเกษ มีถนนรถซิ่ง และวัดแหลมทราย  จะดูว่ามีอะไรก้าวหน้าไปกว่านั้น”

รายงานอุบัติเหตุจราจร จังหวัดสงขลา พบว่าปี 2549 อัตราเสียชิวิตต่อ แสนประชากรอยู่ที่  17.59 คน มาในปี 2551 เพิ่มเป็น 21.30คน เทียบจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน จะเสียชีวิต วันละ 1 คน ส่วนใหญ่  เกิดจากการใช้รถ ถนน ที่ไม่ปลอดภัย  ถนนชำรุด ยานพาหนะที่ไม่พร้อม และทัศนคติที่คิดว่าการประสบอุบัติเหตุเป็นเรื่องเวรกรรม ซึ่งแท้จริงแล้ว อุบัติเหตุจราจรเป็นเรื่องป้องกันได้ แค่เพียงปรับเปลี่ยน การขับขี่ ยึดหลักมาตรการ ความปลอดภัย

สำหรับเยาวชน การรับรู้บทบาท ตระหนักในหน้าที่ ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ เพราะชีวิตของเยาวชน อยู่ในวัยคะนอง หลงผิด ตามเพื่อน ที่ชวนกันไปขับขี่รถซิ่ง  ทำให้ขาดสติ เกิด อุบัติเหตุและสูญเสียอยู่เสมอ.คำอธิบายภาพ : pic4b1f173355550

ไฟล์ประกอบเอกสาร
  1. 27.52.pdf - Download

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว