สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สืบสานตำนานแดนโนรา กระแสสินธุ์สร้างนายปี่รุ่นใหม่

by punyha @23 พ.ย. 52 12:33 ( IP : 114...147 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

กลอง ทับ  โหม่ง ฉิ่ง และปี่ สอดประสานเป็นดนตรีโนรา ดังมาจากกลางท้องทุ่งดงตาล  แห่งอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา

ทุกบ่ายวันเสาร์ตลอด 7 สัปดาห์ระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมาบรรดาเด็กๆราว 80 คน จากโรงเรียนในเขตอำเภอกระแสสินธุ์  มาพร้อมกันที่วัดเอก เพื่อเข้าร่วมโครงการสืบสานวัฒนธรรมด้านการเป่าปี่

เด็กน้อยผู้เป็นความหวังว่าจะเป็นนายปี่แห่งอนาคต ต่างรวมรวมกำลังลมเป่าจนแก้มปูดโป่ง สีหน้าจริงจัง แม้เสียงต่อ...ตี่...ต้อย  ยังกระท่อนกระแท่นอยู่บ้าง

คำอธิบายภาพ : pic4b0a1e8f1cfc7

ประดับ  พงศ์นุรักษ์  หรือ “พี่มด” นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ปฏิบัติงานประจำอำเภอกระแสสินธุ์ เล่าความเป็นมาของโครงการว่าเป็นความมุ่งมั่นส่วนตัวที่อยากทำเพื่อบ้านเกิด

พี่มดเรียนจบประถมศึกษาจากโรงเรียนโตนดด้วน ฝึกรำโนรามาแต่เยาว์วัย ชอบและรักศิลปะการแสดงพื้นบ้านแขนงนี้อยู่ในสายเลือด

“ดิฉันไม่ได้อยู่บ้านตั้งแต่จบ ป.6  เลยห่างไป”

ห่างบ้านไปเรียนต่อ เธอเรียนจบเอกประถมศึกษาจาก มศว.บางแสน  และปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยทักษิณ  การได้กลับมารับราชการถิ่นเกิดเธอจึงนับเป็นโชคดี ได้โอกาสทำงานที่รักและตอบแทนมาตุภูมิไปในตัว

โนราเลื่องชื่อของกระแสสินธุ์นับจากอดีตมามีอยู่ 3 คณะคือโนราจั้ว โนราลบ และ โนราหลวย

คำอธิบายภาพ : pic4b0a1fbb5ed5c

“แต่ยามเราส่งโนราไปประกวดรู้สึกว่ายังล้าหลังเพื่อน มาคิดว่าทำอย่างไรให้พัฒนา”  เธอเห็นปัญหาอย่างหนึ่งในพื้นที่คือการขาดแคลนนายปี่

นายปี่โนรา ปัจจุบันเหลือเพียงคนเดียวชื่อว่านายเหื้อม ชูเชิด หรือตาพรอง อายุเกือบ80 ปี แม้ยังเป่าได้แต่รับงานไม่ทัน

“เมื่อลองสอบถามชาวบ้าน ครู ว่าบ้านเราขาดอะไรทางวัฒนธรรม ประเพณี จึงมาสู่เรื่องนายปี่ที่กำลังขาดช่วงไป”

การดำเนินงานตามโครงการเริ่มจากคัดเลือกเด็กระดับประถมศึกษาปีที่  3-6 ผู้สนใจมาเข้าร่วม โรงเรียนละ 2-6 คน นอกจากเครื่องดนตรีปี่โนรายังแถมอบรมการเล่นดนตรีโนราและหนังตะลุงชนิดครบวง

วิทยากรผู้สอนนำโดยอาจารย์จรูญ แก้วเจริญ ครูวิชาดนตรีจากโรงเรียนสามบ่อวิทยา อำเภอระโนด ด้วยความที่อาจารย์เจริญเป็นลูกกระแสสินธุ์อีกคนหนึ่งที่อยากทำเพื่อบ้านเกิดจึงยินดีลงมาทำงานนี้ด้วยความเต็มใจ นอกจากนั้นยังได้ลูกคู่โนรา-หนังตะลุง ระดับมืออาชีพ จากตำบลโรงมาช่วยสอนอีก 6คน

“ตาพรองเองมาเยี่ยมมาดูตลอด แต่แกสอนไม่ได้ด้วยวิธีการสอนแบบโบราณที่ไม่มีตัวโน๊ต แต่อาจารย์จรูญใช้โน้ตซึ่งง่ายสำหรับลูกศิษย์รุ่นใหม่”

บรรยากาศการเรียนเป็นแบบผู้เรียนใกล้ชิดผู้สอน มีการจับมือสอนเป็นระยะ

คำอธิบายภาพ : pic4b0a1fbb5f6f0

นายปี่นั่งต่อเพลงรอบศาลาวัดเป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มเครื่องเคาะเรียนด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่  ก่อนแยกย้ายกลับบ้านตอนเย็นแต่ละครั้งทุกคนจึงจะมาทดลองรวมกันเล่นเป็นวงใหญ่

“เด็กสนุกจนไม่อยากกลับบ้าน ยังอยากเป่าอยากตี แต่บ้านไกลก็ต้องกลับ  ถ้าได้เรียนทั้งวันทั้งคืนหรือมีเครื่องดนตรีให้เขาทุกโรงเรียนน่าจะไปไกล”

พี่มดเล่าว่าหลังผ่านหลักสูตร7 สัปดาห์เห็นว่าจากที่เด็กไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนแม้แต่นิดเดียว  หลายคนโดดเด่นขึ้นมาชัดเจนทีเดียว ภาพรวมโดยทั่วไปเด็กสามารถฝึกจนเป่าปี่และเล่นเครื่องดนตรีโนราแบบเป็นวง

“เด็กเหล่านี้เริ่มเล่นเป็น ซึมซับ เมื่อโตขึ้นจะสืบทอดวัฒนธรรมได้แค่ไหนคำนวณไม่ได้แต่ 50% ติดตัวไปแล้วปัญหาคือเมื่อกลับไปโรงเรียนไม่มีเครื่องดนตรีแบบนี้ให้ฝึกเล่น ยกเว้นปี่ที่เราแจกให้ทุกโรงเรียนเมื่อวันเปิดโครงการประมาณ 30 เลา  ต้องหาทางพัฒนาต่อ ”

คำอธิบายภาพ : pic4b0a1fbb5fef7

เดือนกันยายน 2552 นี้พี่มดจึงจัดให้เด็กกลุ่มเดิมกลับมาเข้าค่ายต่อเนื่อง 7 วัน เพื่อเล่นเป็นวงพร้อมฝึกให้สอดคล้องกับการรำโนรา  กิจกรรมดังกล่าวในวันสุดท้ายจะมีการประกวด หาโรงเรียนที่ทำได้ดีเยี่ยมระดับ  1-3 เชิญประชาชนกระแสสินธุ์มาชื่นชม

พี่มดยังมีแนวคิดอมรมช่วงปิดเทอมใหญ่ เพราะเป็นช่วงที่เด็กจะว่างจริงๆ  เธอมองว่าเด็กรุ่นใหม่มีความสนใจหลากหลาย โดยเฉพาะสังคมยุคใหม่มีสิ่งเร้าล้นทะลัก แต่เด็กกระแสสินธุ์สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นมากอยู่ ถือว่าโชคดี ที่จะได้สืบทอด

“กระแสสินธุ์นับเป็นถิ่นแห่งตำนานโนราโดยเฉพาะที่ตำบลเกาะใหญ่ หลายคนมีบรรพบุรุษเป็นโนรา”

อำเภอกระแสสินธุ์มี 4 ตำบล คือ  ตำบลโรง  ตำบลเชิงแส  ตำบลกระแสสินธุ์ และตำบลเกาะใหญ่  ประเพณีวัฒนธรรมสำคัญของของอำเภอกระแสสินธุ์ ประกอบด้วยประเพณีลอยแพและประเพณีสมโภชหลวงพ่อเดิมอันเป็นที่นับถือของชาวกระแสสินธุ์ มาหลายร้อยปี

พี่มดมองว่าโครงการนี้ทำให้สุขภาพเด็กดีขึ้น เพราะเครื่องดนตรีทุกอย่างทำให้เด็กแข็งแรง  สุขภาพกาย จิต ดี ใช้ระบบประสาททุกส่วนทำงาน ทำให้ สนุกสนาน เพลิดเพลิน ได้เพื่อนใหม่  โครงการที่ทำกับเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะเบื้องต้น ยังกระตุ้นให้ชาวบ้านหันมาสนใจตั้งแต่พ่อแม่เด็กที่เข้าร่วมโครงการ ขยายวงกว้างออกไป

“นอกจากเด็กเรามีผู้ใหญ่คนหนึ่งมาขอเรียนด้วย คนนี้เขาชอบเป่าปี่ส่วนตัว และในชีวิตจริงทุกวันนี้หาครูสอนยากนี่จึงนับเป็นโอกาสดีที่เขาได้มารับการอบรม”

คำอธิบายภาพ : pic4b0a1fbb60625

อาจารย์นครินทร์ ชาทอง นายหนังตะลุงเลื่องชื่อผู้ได้รับการเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติมาร่วมให้คำแนะนำและให้กำลังใจกับเด็กๆ กล่าวว่า กิจกรรมแบบนี้ต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างสูง แต่ไม่ถึงกับยากจนทำไม่ได้ต้องใจรักพรสวรรค์คู่พรแสวง คือขยันหมั่นเพียร ใช้อิทธิบาท4 มาช่วย

“กว่าจะได้นายปี่สักคนต้องใช้เวลา ถ้าไม่ทุ่มเวลาให้วัฒนธรรมนี้ก็จะหายไปเลย  แต่เดิมปี่ไม่มีผู้สืบทอด เพราะนายปี่ เป็นความสามารถเฉพาะตัว ไม่มีโน้ต  ใช้วิธีจำกันมา  อย่างนายเลื่อน แก้วแจ่มแจ้ง ชาวสะทิ้งหม้อ  แกเคยชอบปี่ แล้วไปนั่งดูนายปี่ที่ชื่อตาคล้ายเป่าแล้วก็ไปชิงปี่จากตาคล้ายเพราะชอบจนเคลิ้มอย่างนี้ครูปี่จะยิ้มด้วยปิติว่าวิชาของกูไม่พาตายแล้ว มีคนสืบทอดแน่ นั่นเรียกว่าตัวจริงไม่ได้ยัดเยียด”

สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งมีวิธีการสอนแบบใหม่ อาจารย์นครินทร์มองว่าได้เห็นโอกาสว่าพวกเขาจะมาเป็นนักดนตรีดาวฤกษ์ได้จากกลุ่มนี้หลายคน  เด็กที่เป่าได้เพลงหนึ่งต้องอยากเรียนรู้จะเป่าเพลงอื่นต่อไป  หากผู้ใหญ่เอาใจใส่ พวกเขาจะ เป็นผู้สืบทอดที่รับใช้สังคมทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืน

“แต่ไม่ใช่ว่าหมดเงินหยุดก็จบ เพราะที่ทำเป็นแค่กระตุ้น การทำโครงการนี้ถือว่าได้บุญ กุศล คุณงามความดี มหาศาล  สังคมควรได้สาธุการว่า เป็นคนตอบแทนคุณแผ่นดิน”

อาจารย์นครินทร์มองว่าวัฒนธรรมไทยวิกฤติ เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไปคนไม่มีโอกาสอยู่ติดบ้าน  เพราะต้องออกไปทำมาหากิน

“คนฝึกปี่สมัยก่อนอาศัยว่าเสร็จจาก ไร่นา ใช้เวลาว่างตรงนั้นช่วยผ่าฟืน ตักน้ำให้กับอาจารย์ผู้สอน  แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่ขณะนี้อาจรู้สึกว่าต้านกระแส  ต้านสภาพปัจจุบันที่เป็นจริง อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมยังต้องรับใช้สังคมถึงอย่างไรก็ตามเราปฏิเสธๆไม่ได้ว่า โนรา หนังตะลุง เป็นวัฒนธรรมของภาคใต้”

ศิลปินแห่งชาติกล่าวและว่าโลกาภิวัฒน์พัดพาของดีไปหมด เมื่อเราไม่ดูหนัง โนรา จะรู้จักรากเหง้าตัวเองอย่างไร ความเป็นมนุษย์ค่อยหายไป คนที่ทำงานฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม จึงเท่ากับทำงานแทนคนอื่น เพราะหากสิ่งที่ทำเกิดแล้วเป็นของส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตัว จึงขอแสดงความชื่นชม

“ผมอยากยกพระราชดำรัสในหลวงว่า การปิดทองหลังพระดี พระจะได้งามทั้งองค์”อาจารย์นครินทร์กล่าว

“ปรี๊ด...ด...”

เสียง นกหวีดเป่ายาว จากอาจารย์จรูญ แก้วเจริญดังขึ้นอีกครั้งเพื่อบอกให้ลูกศิษย์หยุดฟังคำอธิบายก่อนซ้อมต่อ

“การเรียนศิลปะทุกแขนงต้องอดทน  อย่างอาจารย์หนังนครินทร์ว่าต้อง ใจดำกับตัวเอง คือต้อง มีระเบียบวินัย เรามาฝึก แทนการเล่นเกมเหมือนเด็กคนอื่น ต้องไม่เล่น แต่ตั้งใจซ้อม”

ว่างจากควบคุมวงช่วงหนึ่ง อาจารย์จรูญมาเล่าให้ฟังว่าเมื่อตนเองเรียนจบ ปกศ.สูง เอกดนตรีมาจากวิทยาลัยครูสงขลา และเข้ารับราชการได้เริ่มศึกษาทางดนตรีพื้นเมือง โดยขึ้นไปเป็นลูกคู่หนังตะลุงพร้อมศึกษาเรื่องหนังตะลุง กับหนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์  เพื่อมาทำเป็นหลักสูตรสอนเด็ก

“การสอนปี่คราวนี้ผมใช้โน้ตแบบขลุ่ย ผมคิดว่าการสอนหลายคนจำเป็นต้องทำอย่างนี้ ไม่เหมือนครูปี่สมัยก่อน”

นายปี่สมัยก่อนไม่มีความรู้ดนตรีรุ่นใหม่  ระดับเสียงอาศัยเทียบเสียง “ต่อ...ตี่...ต้อย”  อาจารย์จรูญยอมรับว่าการสอนแบบนั้นเป็นภูมิปัญญาชั้นเลิศอย่างหนึ่งที่สามารถชัดเจนเรื่องเสียงได้แต่การเรียนการสอนแบบใช้โน้ตจะเหมาะกับการสอนหลายคนพร้อมกัน  และในยุคสังคมเร่งรีบ

“ เราประยุกต์มาทางสากลเพราะเรามีเวลาน้อย เจอกันไม่นาน คนที่เรียนสมัยก่อนต้องไปอยู่กับอาจารย์ ช่วยทำไร่ทำนา ต้องต่อเพลงทีละท่อน แต่เราให้โน้ต เป็นเพลง”

ลูกคู่อาชีพที่มาเป็นผู้ช่วยอาจารย์จรูญดูแลซักซ้อมให้ เพราะแม้ว่าคนกลุ่มนี้ผ่านการเป็นลูกคู่มืออาชีพมาแล้ว แต่ในการเล่นมักอาศัยลีลา  สำเนียง อารมณ์ เพื่อการสอนพื้นฐานให้เด็กต้องมาเรียนรู้ใหม่แบบตัวโน๊ต พวกเขาเองก็จะได้รู้วิธีการถ่ายทอดไปด้วย  ความจริงแล้วพวกเขาต่างเป็นครูทางภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่ในตัวเพียงแต่ยังไม่รู้ว่าจะถ่ายทอดต่ออย่างไร

อาจารย์จรูญมองว่าเด็กที่มาอบรมครูได้คัดมาแล้วระดับหนึ่ง อย่างน้อยสนใจแต่ไม่มีพื้นฐานเรื่องปี่มาก่อน

“อบรม7 ครั้ง ถือว่าไม่น้อยแต่การสอนไม่ประติประต่อเป็นปัญหา เพราะสัปดาห์หนึ่งเราสอนกันไม่กี่ชั่วโมง การทอดช่วงห่างทำให้ผู้เรียนลืมพื้นฐาน  การอไม่ได้อยู่ใกล้ชิดตลอด เขาเลยไม่รู้ว่าเป่าถูกหรือเปล่า ต่อไปต้องพัฒนาการเรียนแบบต่อเนื่องกันอย่าง 1-2 วัน เพื่อทำในสิ่งที่ยากขึ้นไปได้”

อาจารย์จรูญสรุปภาพรวมที่เกิดขึ้นว่าผ่านขั้นที่ 1 เกิดผลระดับหนึ่ง  เด็กได้สัมผัส และเล่นเครื่องดนตรีที่กำหนดได้ ไล่เสียงถูกต้องและเล่นเพลงที่ง่ายๆได้

“ผมเห็นเด็กมีความสุขที่มาและเขาพยายามเป่าให้ได้” อาจารย์จรูญบอกว่า เด็กทุกวันนี้มีสิ่งเร้ามากกว่าจะดึงมาตรงนี้ได้เป็นเรื่องยากเหมือนกัน

นอกจากพัฒนาเรื่องทักษะการเล่น ถือว่าได้ฝึกสมาธิ วันเปิดเด็กจะวุ่นวาย เจี๊ยวจ๊าว มาก พอมาจับเครื่องดนตรี ดูมีสมาธิมากขึ้น  เป็นบทสรุปว่าการเล่นดนตรีถือว่าเป็นการฝึกสมาธิ อย่างหนึ่ง  ส่งผลถึงการเรียนที่น่าจะดีขึ้นไปด้วย

หลังการอบรมอาจารย์จรูญมองเห็นมือปี่ดาวเด่น ราว 4-5 คน ประเมินจากสมาธิความมั่นคงในการฝึก

“วัฒนธรรมพื้นบ้าน เราซบเซามามากต้องมีผู้กระตุ้น ให้ฟื้นระดับหนึ่งๆก่อน พอเด็กสัมผัสเข้าใจ เข้าถึง ฟังแล้วเพราะ มีความสุข จะไขว่คว้าต่อยอดเอง อย่างพอเขาเป่าปี่เห็นว่าเพราะก็ย่อมจะไปฝึกไปฟัง ไปเก็บครูพักลักจำต่อเอาได้ ในสิ่งที่เขาชอบจริง”

อาจารย์จรูญเล่าถึงการส่งเสริม อย่างต่อเนื่องจริงต่อไปว่าในระยะอันใกล้จะนำเด็กกลุ่มนี้เข้าร่วมในกิจกรรมแข่งขันทางวิชาการของอำเภอกระแสสินธุ์  โดยเพิ่มการจัดการประกวดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเข้าไปรวมในงานวิชาการ

“กำลังคิด และคุยกับระดับจังหวัดอยู่ หากเข้าวงจร น่าจะชัดเจนจะง่าย เพราะหากเป็นระดับนั้นได้จะเกิดปรากฎการณ์รุ่นพี่จะไปสอนน้องได้ หรือเด็กอนุบาลมาแอบดู พอขึ้น ป.3 จะมาฝึกต่อ มีแข่งขันสร้างความเคลื่อนไหวอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ”

นายกองเพชร พหุโล  หรือ “น้องเล็ก” นักเรียน ชั้น ม.5 โรงเรียน สามบ่อวิทยา ซึ่งเป็นศิษย์เอกดนตรีของอาจารย์จรูญ  ที่มาอบรมเป่าปี่ด้วย เล่าว่า

“อยากเป็นแบบครูรูญครับ โตแล้วอยากเรียนดนตรีกลับมาสอนน้องๆที่บ้านเพราะอยากรักษาวัฒนธรรมไว้ ดนตรีพื้นบ้านนี่เล่นยากกว่าดนตรีสากล  เพราะจังหวะโน้ตต่างกัน แต่ถ้าใจรักก็ง่ายเหมือนกัน”

น้องเล็กบอกว่าเหตุจูงใจที่ชอบดนตรี เพราะตอนอยู่ป.1 แม่เฒ่า(ยาย) พาเขาไปดูโนราที่มาเล่นใกล้บ้านเห็นแล้วชอบแบบฝังใจแต่นั้นมา

“ผมอยากเป็นนักดนตรีอาชีพ สายดนตรีไทย ผมชอบดูโนรา หนังตะลุง ที่โรงเรียนมีคนในท้องถิ่นมาสอน เป็นสาระเพิ่มเติ่ม ในกลุ่ม ดนตรี”

เขาเล่าว่า การเล่นดนตรี มีสมาธิมากขึ้น ไม่เครียด  เคยเรียนเป่าแซกโซโฟน  แต่ปี่โนรายากเรื่องเสียงต้องเอาเสียงจากปอด ยากแม้ในการคุมเสียงและแม้แต่เทคนิคบางอย่างเช่นต้องเอาลิ้นปี่แช่น้ำ ในบางครั้ง

“น้องๆที่เป่าปี่ราว 10 คนมีแวว สามารถเป่าไม่เพี้ยน คลอเพื่อนไปได้ บรรยากาศการเรียนสนุกดีผมมาเรียนทุกครั้ง”

ดช. จิรเดช แสงเมือง ชั้น ป.5 โรงเรียนวัดทุ่งบัว เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดี เวลาว่างเสาร์อาทิตย์เขามักซ้อมฟุตบอลในฐานะนักฟุตบอลโรงเรียน เขามาสมัครฝึกตีทับ เพราะชอบจากเห็นการแสดงโนราแต่ยังเล็ก

“ผมอยากมาเล่นทับ แต่ก่อนไม่เป็นตอนนี้เล่นได้กลับไปบ้านหัดตีลมเล่นๆ ” น้องเดชบอกว่าตีทับเป็นเรื่องยาก เพราะจำจังหวะไม่ค่อยได้  แต่สนุก เครื่องดนตรีอื่นเขาอยากเรียน โหม่ง ฉิ่ง  ปี่

“ตอนผมโตหรือครับ ไม่ได้อยากเล่นอาชีพชอบเพราะสนุกมากกว่า”

น้องเดชเล่าว่าเพื่อนที่มาร่วมอบรมบางคนหายหน้าไป คิดว่าครั้งแรกเขานึกว่าสนุก แต่พอมาฝึกเขาเบื่อพอตีไม่ได้ ก็ไม่มาอีก

.....

เสียงดนตรีพื้นบ้านแห่งภาคใต้ ยังคงแว่วมาจากวัดเอก กลางท้องทุ่งกระแสสินธุ์  เพราะดีบ้าง ยังไม่ลงตัวดีบ้าง

เสียงนกหวีดสั่งหยุดเล่นจากอาจารย์จรูญดังเป็นระยะ เป็นความพยายามปรับให้เสียงสวยงามลงตัวยิ่งขึ้นไปอีก

เป็นวันแดดจัดคลายอุณหภูมิร้อนด้วยเสียงดนตรีและสายลมอันพัดหนุนเนื่องผ่านมาไม่ขาดสาย ประชาชน ผู้เดินทางมาวัด แอบมุงยืนดูลูกหลานเจ้าของเสียงบรรเลงอย่างสนใจ บ้างเข้ามาไถ่ถามความเป็นมา ไม่เว้นแม้แต่พระเณร ที่เดินทางมาสอบนักธรรมในวันนั้นด้วย

เย็นวันเสาร์ 18 กรกฎาคม ถึงชั่วโมงสุดท้ายของการฝึกอบรมชาวคณะย้ายจากศาลาการเปรียญมาเล่นในโรงครัว ใกล้สระน้ำ มองผ่านระยับแดดเห็นสีเขียวสดแห่งท้องทุ่ง  แนวไม้ยืนต้นหลากชนิดริมรั้ววัด พริ้วใบไหวตามจังหวะแห่งธรรมชาติ

ประดับ  พงศ์นุรักษ์หรือพี่มดประกาศว่าจะมีการแข่งขันเป่าปี่ชิงรางวัล เป็นรายการส่งท้าย มีผู้สมัครเข้าร่วม  9 คน กรรมการนั่งฟัง 2 เที่ยว เพื่อเลือกคนที่เป่าได้ดีที่สุด 3ลำดับ

อาจารย์นครินทร์ซึ่งนั่งฟังอยู่ตลอดให้โอวาทว่าแม้ทุกคนจะเป่าไม่ครบเพลง แต่เป็นจุดเริ่มต้น  ปี่อยู่กับทุกคนแล้วขอให้ไปฝึก

“นายปี่สำคัญที่สุดเวลานี้ค่าตัวแพงพยายามฝึกความรู้ทันกันหมด  ทุกคนจะทำได้ ปี่คืออาวุธ อย่างพระอภัยมณีจะเป่าสะกดคนให้หลับ หรือทำร้ายกันก็ได้ มือปี่หายาก พวกเธอโชคดีที่ได้ฝึก ขอให้ตั้งใจขอให้โชคดีเป็นนายปี่กันทุกคน”

ศิลปินแห่งชาติสรุป.


กระแสสินธุ์กับตำนานโนรา

ประเสริฐ รักวงศ์ สมาคมศิลปินพื้นบ้านจังหวัดสงขลา  เล่าถึงตำนานโนราส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอกระแสสินธุ์ ว่า เกาะกระชังในตำนานโนรา คือเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์

ตำนานว่า พระเจ้าสายฟ้าฟาดครองเมืองพัทลุงมีธิดาตั้งครรภ์โดยไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อ

“เขาว่า ตอนนั้นเจ้าหญิงกินเกสรดอกบัว แล้วท้องค่อยใหญ่ขึ้น พ่อมาถามก็บอกไม่ได้ว่า ใครเป็นพ่อของเด็ก พระเจ้าสายฟ้าฟาดเลยจับลอยแพจนมาติดที่เกาะกระชัง”

เจ้าหญิงอยู่ที่เกาะกระชัง หลังคลอดทารกเกิดเทพนิมิตฝันเห็นท่ารำ ซึ่งจำได้ ต่อมาถ่ายทอดให้ลูกชายจนรำนาฎศิลป์ชนิดนี้ได้  ลูกชายลาแม่ขึ้นฝั่งที่พัทลุง

เรื่องการร่ายรำดังกล่าวไปเข้าหู พระเจ้าสายฟ้าฟาด จึงเรียกมารำให้ดู พอตาเห็นหลานเกิดคุ้นหน้าถามว่าเป็นลูกใครจนรู้ว่าหลานแท้ๆของตัวเอง

“พอหลานรำก็เอาเครื่องทรงกษัตริย์ คือสังวาลย์อะไรพวกนี้มาสวมให้  วันนั้นเป็นวันแรกที่กำเนิดเครื่องแต่งกายโนรา” ประเสริฐเล่า ต่อมาเจ้าชายน้อยหลานเจ้าเมืองกลับมาฝึกรำโนราที่เกาะกระชัง ซึ่งมีสถานที่ เป็นศาล ยืนยันตำนานโนราอยู่ในปัจจุบัน.

Relate topics

Comment #1
นกกรง (Not Member)
Posted @31 ม.ค. 53 23:35 ip : 180...68

เป็นสี่งที่น่ายกย่องอย่างยี่ง

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว