สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

ถอดสมการเยาวชนสงขลา (พิสูจน์คำตอบ)คิดเป็น=ทำได้

by punyha @13 พ.ย. 52 13:38 ( IP : 222...254 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

คำอธิบายภาพ : pic4afcff4f44a35

สมการ “คิดดี+คิดได้ (พูดง่ายๆ ) = คิดเป็น” มาจากงานสมัชชาเด็กและเยาวชน จังหวัดสงขลาครั้งที่ 1 เมื่อ8 กันยายน 2551  ปลายยอดของสูตรท้าทายด้วยเป้าหมาย “คิดเป็นนะคิดง่าย ...ทำได้ซิเจ๋งกว่า”

ความต่อเนื่องนำมาสู่ โครงการแก้ปัญหาสุขภาวะเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา  โดยแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาประเด็นเด็กและเยาวชน ภายใต้ 9 โครงการย่อย

“ชวนน้องๆ มาคิดต่อร่วมกันว่าปัญหาเด็กจริงๆ แล้วเริ่มจากอะไรที่เห็นตรงกันปัญหาทุกวันนี้มาจากความคิดทั้งนั้นแต่ทำอย่างไร ทำให้เด็กคิดเป็น  เมื่อคิดเป็นแล้วปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น” เชภาดร จันทร์หอมผู้ประสานงานแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา กล่าวและตั้งข้อสังเกตว่าน้อง ๆเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา ให้ความหมาย เกี่ยวกับความคิดได้แก่

คิดดีคือการมีความคิด ความเชื่อที่ถูกต้อง

คิดได้หมายถึงรู้คิดพิจารณาว่า อะไรดี อะไรไม่ดี

คิดเป็นคือ รู้จักคิด พิจารณา ทำให้เห็นความจริง สามารถทำกิจต่างๆให้ถูกต้องดีงาม บนหลักเหตุผล

“เราจะเห็นว่าจาก 9 โครงการ เป็นกิจกรรมที่ดีทั้งนั้นถ้าถอดกิจกรรมมาอธิบาย จะบอกเหตุผลว่าทำไมเราทำเรื่องนี้ เรื่องนั้น มันก็จะสอดรับกับแนวคิดที่ว่า คิดดี +คิดได้ (พูดง่ายๆ) = คิดเป็น”

ปันยิ้มให้น้อง

คำอธิบายภาพ : pic4afcff4f52c20

น.ส.ชรีรัตน์ ก่อแก้ว น.ส.สุจิวรรณ เขมากรณ์ น.ส.พิมพ์วดี ศรีไพบูลย์ น.ส.วิศรุตา กลิ่นหอม น.ส.รัญญาภัทร์ กสิกรรม  กลุ่มเพื่อนซี้  แห่ง ม.6/5 โปรแกรม ศิลป์ – คำนวณโรงเรียนหาดใหญ่สมบูรณ์กุลกัลยา จับมือเป็นแกนนำโครงการปันยิ้มให้น้องโรงเรียนรักเมืองไทย

“นับเป็นกิจกรรมที่เราได้สานสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ก่อนเพื่อนในห้องเรียนไม่สนิทขนาดนี้กระทั่งได้มาข้ามอุปสรรคมาด้วยกัน  ล้มเหลวมาด้วยกันแย่ด้วยกัน” พวกเธอช่วยกันเล่า

ทุกปีทางโรงเรียนหาดใหญ่สมบูรณ์กุลกัลยา จะมีนโยบายให้นักเรียนทำกิจกรรมภายใต้แนวคิดทำความดีเพื่อพ่อ

ความคิดที่จะทำโครงการปันยิ้มให้น้องโรงเรียนรักเมืองไทย  เกิดขึ้นเมื่อพวกเธออยู่ ม.5 โดยขอลาเรียนแล้วโบกรถสองแถวออกไปดูสถานที่

โรงเรียนรักเมืองไทยอยู่ที่ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ เลือกที่นั่นด้วยเหตุผลว่าสะดุดกับชื่อโรงเรียน ที่เคยเหลือบเห็นตอนไปเที่ยวน้ำตกโตนงาช้าง  และพบความจริงที่คาดไว้คือเป็นโรงเรียนขาดแคลน “ เขาไปถึงจึงเห็นว่าเป็นอนุบาล -ประถม ที่เงียบมาก เด็กทั้งหมดไม่ถึง 150 คน  เราโทรติดต่ออาจารย์ไว้ชื่อสมหมาย พอไปถึงเห็นคนคนหนึ่งยืนกวาด ขยะอยู่ เราก็ถามหาอาจารย์สมหมายที่เราติดต่อไว้  ครั้นอาจารย์สมหมายบอกว่าจะพาไปพบ รองผู้อำนวยการก็กลับไปแนะนำคนที่ยืนกวาดขยะ คือเป็นภารโรงไปด้วยในตัวเพราะขาดบุคลากร” ต่างช่วยกันเล่าอย่างขำๆ

พกความคิดอยากช่วยเหลือโรงเรียนแห่งนั้นอย่างคับใจ  แต่ทางโรงเรียนหาดใหญ่ต้นสังกัดของตัวเอง มีนโยบายว่าถ้าจะไปทำกิจกรรมดังกล่าวต้องเป็นวันเสาร์-อาทิตย์  พวกเธอเห็นว่าการทำกิจกรรมกับน้องๆ ต้องไปวันเปิดเรียน

“เราจึงยืนยันอย่างนั้นพอเสนอโครงการไปเลยไม่ผ่าน ขณะนั้นจึงต้องต้องเปลี่ยนโครงการไปทำอย่างอื่นแทนก่อน” อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามมา คือความผิดหวังจากที่ทางโรงเรียนปฏิเสธโครงการดีๆ นั่นเอง

“สิ่งที่เราอยากมาเป็นจริงเมื่ออยู่ ม.6  เมื่อ สจ.รส. (สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) สนับสนุน”

พวกเธอเล่าว่าในกระบวนการดำเนินการจริง ค่อนข้างฉุกละหุกอยู่พอสมควร  นอกจากจะขอหยุดเรียน ต้องวิ่งซื้ออุปกรณ์  เขียนแผนงาน แต่วันดำเนินกิจกรรมนักเรียนในชั้น ม.6/5 จำนวน 43 คน ไปพร้อมกันทั้งหมด พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษา

เมื่อไปถึงโรงเรียนรักเมืองไทยอันเป็นเป้าหมายในตอนเช้า ได้ร่วมเคารพธงชาติกับเพื่อนรุ่นเยาว์  แบ่งงานเป็นฝ่ายสันนทนากร  เล่นเกม ร้องเพลงกับเด็ก แจกของ  ฝึกน้องๆให้กล้าแสดงออก ส่วนหนึ่งแบ่งไปตามห้องเรียน  ติดโปสเตอร์ตกแต่งห้อง

“เป็นโปสเตอร์ให้ความรู้ที่เตรียมไป อย่าง เช่น ก.ไก่ เอบีซี สำหรับน้องอนุบาล ถ้าโตหน่อยเราติดพวกแผนที่อวัยวะร่างกายเป็นภาษาอังกฤษ ดูว่าช่วงชั้นนั้นต้องเรียนรู้ อะไร”

อีกส่วนหนึ่งระบายสีห้องน้ำ เพราะพบข้อมูลจากการสำรวจเบื้องต้นว่าห้องน้ำค่อนข้างสกปรก ครั้นลงมือความสะอาด และเพ้นท์รูปลงผนังทำให้น่าใช้งานมากขึ้น

ก่อนออกเดินทางไป พวกเธอยังรับบริจาคหนังสือได้ลังใหญ่ กับอุปกรณ์การเรียนอย่างลูกโลก อุปกรณ์กีฬา ยาสามัญประจำบ้าน

“พวกเรา10 คนซึ่งรวมถึงเพื่อนห้องอื่นที่มาช่วยไปเล่นดนตรีเปิดหมวกที่ตลาดเปิดท้ายกรีนเวย์หาดใหญ่ ช่วยกันร้องเพลง เล่นกีตาร์ ถือกล่องรับบริจาค ได้เงินเยอะเหมือนกัน”งบประมาณโครงการจึงได้สมทบจากรายการเปิดหมวกอีกทางหนึ่ง

พวกเธอเล่าว่าหลังทำกิจกรรมเกิดความเปลี่ยนแปลงชัด สิ่งแรกทุกคนไม่อายถ้าจะทำดี ดูจากการไปร้องเพลงเปิดหมวก การมีจิตสาธารณะเพิ่มขึ้น รู้จักเสียสละ

“เวลาส่วนตัวแต่รู้สึกว่าได้ทำประโยชน์มากขึ้น เพราะไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ได้ร่วมกันทำ เกิดประโยชน์ต่อคนอื่น”

พวกเธอเห็นว่าการทำกิจกรรมไม่กระทบการเรียน และน่าจะนำไปใช้ ในชีวิตจริงเมื่อ เติบโตขึ้นกว่านี้

“เพื่อนในห้อง ก่อนนี้มักต่างคนต่างอยู่ ส่วนมากนั่งโม้กันใต้อาคาร พอมีกิจกรรมทำให้มีกลุ่มใหญ่ ๆ จากสนิทก็มาซี้กันไม่เฉพาะในห้อง เพื่อนต่างห้องยังมาช่วย อย่างเพื่อนม.6 /6ที่ พ่อของเขา เป็นคนเขียนป้าย เรารีบเอางานจึงจ้างพ่อเขาทำ แต่ตอนไปรับของเขาบอกว่าไม่เอาเงินต้องการทำบุญด้วย”

อีกมุมหนึ่งพวกเธอยอมรับว่าครูเป็นส่วนสำคัญ อย่างโครงการนี้ครูที่ปรึกษาและครูผู้เป็นหัวหน้าระดับชั้นมาช่วยเต็มที่ ทั้งรับผิดชอบเรื่องใบลากรณีที่เด็กต้องขอลาไปทำกิจกรรมในเวลาเรียน ประกาศรับผิดชอบ การันตีเรื่องความปลอดภัย ให้กับผู้บริหารโรงเรียนในวันจัดกิจกรรมใหญ่

เด็กเห็นว่ามีน้อยครั้งที่อาจารย์จะกล้าเข้ามารับผิดชอบขนาดนี้ แต่ได้เห็นคราวนี้เหมือนกัน.

ยุวชนคนดี

คำอธิบายภาพ : pic4afcff4f5354a

โครงการยุวชนคนดี ของโรงเรียนรัตภูมิวิทยา น.ส.อัญชลี นิลรัตน์  ม. 6/2 เป็นประธาน แกนนำ คนอื่นๆ เช่น น.ส.ลัดดาวัลย์ สะมะบุบ ม.6/2 น.ส.กาลรัตน์ดา พุทธกูล  ม.5/2 ม.นายก่อพงศ์ เทพคงคา 5/2 โดยมี อาจารย์จีรนันท์ บุญยอด เป็นที่ปรึกษา

น.ส.อัญชลี นิลรัตน์ เล่าความเป็นมา ว่าโรงเรียนเริ่มมีโครงการธนาคารขยะปี 2551 เป็นความร่วมมือระหว่างครูกับนักเรียน เกิดแนวคิดต่อว่าจะนำขยะไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อ

“เราต่อกับโครงการยุวชนคนดีเพราะการเก็บขยะเป็นการทำความดีอย่างหนึ่ง”

แนวร่วมของโครงการยุวชนคนดีราว 300-400 คน ซึ่งเป็นจำนวนเกือบครึ่งของโรงเรียน พวกเขาเคยร่วมงานกับธนาคารขยะมาก่อน โดยการเก็บขยะเป็น นโยบายของโรงเรียนที่ให้นักเรียนทุกคนมีพื้นที่ที่ตนเองดูแล รับผิดชอบ

มาถึงโครงการยุวชนคนดี กิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการมาแล้วได้แก่

  1. ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ หลายพื้นที่  เช่น ที่ตำบลเขาพระ น้ำตกหินสาก้อน โตนลุงไข่ ปลูกป่าชายเลน ที่ปากบาง  ส่วนมากใช้เวลา 1 วัน ในวันเปิดเรียน

    “ในกิจกรรมเราจะได้เรียนรู้ การทำฝาย การทำนบ และได้ร่วมลงมือปฏิบัติจริง” น้องอัญชลีเล่า  กลุ่มคนที่ไปแต่ละครั้งราว 30-40 คน คณะกรรมการนักเรียนเป็นหลัก แล้วเลือกนักเรียนที่อยู่บริเวณที่จัดกิจกรรมนั้นเข้าร่วม

  2. ธนาคารขยะ นอกจากมีการรับฝากขยะรีไซเคิลทุกเย็นวันศุกร์  ยังมีกิจกรรมเก็บขยะ ทำความสะอาดห้องเรียน และนอกบริเวณโรงเรียน      บริเวณนอกโรงเรียนนอกรั้ว มีหญ้าขึ้นรก แต่ละเทอมจะมีกิจกรรมช่วยพัฒนาบริเวณดังกล่าว  ทั้งฟันหญ้า และเก็บขยะ

    “งานนี้ จะมีชาวบ้านมาช่วยนักเรียน  เด็กผู้ชายพามีดพร้ามา ฟันหญ้า เด็กหญิงจะเก็บขยะ เอามารวมกันใส่โคนไม้ เป็นปุ๋ยงานนี้ ถ้าเสร็จเร็ว ใช้เวลาครึ่งวัน ถ้ามาก ก็เต็มวัน เราทำมาทุกเทอม”ประธานโครงการยุวชนคนดีเล่า สำหรับชาวบ้านที่มาช่วย เพราะครูช่วยประสานงานผ่านผู้นำท้องถิ่น และผู้ปกครองของนักเรียน หลังช่วยกันทำงาน จะร่วมรับประทานข้าวกล่องที่โรงเรียนจัดเตรียมเอาไว้ให้

  3. กิจกรรมเงินออม ส่งเสริมการใช้ชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง วิธีดำเนินการแต่ละห้องจะให้ออมวันละบาท แล้วแต่ใครเหลือเท่าไร พอครบเดือนหรือเทอม แต่ละห้องจะมาฝากธนาคาร

    “โครงการเราไปกระตุ้นให้ทำมากขึ้น  โดยเราชี้ให้เห็นความสำคัญของการออม”

คำอธิบายภาพ : pic4afcff4f53d2f

นั่นคือสิ่งที่ทำไปแล้ว แต่ยังมีหลายสิ่งที่อยากทำ ซึ่งเหล่าแกนนำของโครงการยุวชนคนดี เห็นว่ายังมีอีกมาก เช่น การส่งต่อหนังสือ ให้น้องๆรุ่นหลังๆได้ใช้ต่อ หรือร่วมกันบริจาคเงินไปช่วยน้องในถิ่นทุรกันดารที่เขาลำบากกว่าเรา สำหรับโครงการยุวชนคนดี นี้จะสร้างความต่อเนื่องโดย ส่งต่อให้รุ่นน้อง ตั้งแต่เพิ่งเข้า ม.4

“เมื่อมาทำกิจกรรมเราได้ความเสียสละ แต่ก่อนพอว่างเราเรียนพิเศษ แต่ตอนนี้พอว่างเราได้พัฒนาโรงเรียน ได้ช่วยส่วนต่างๆ”น้องอัญชลีเล่า ถึงภาพประทับใจว่ามีครั้งหนึ่งไปปลูกป่า ทุกคนที่ไปต้องช่วยเหลือกันอย่างมาก เพราะทางลื่น สูงชัน ฝนตกหนัก  ต้องขนของจนเนื้อตัว เละเทะกันหมด  แต่เป็นการได้เรียนรู้ รู้จักคนอื่น รวมทั้งครู

“ยุวชนคนดี ในความหมายพวกเรา คือ ทำความดีเพื่อสังคม เน้นพัฒนาคนดีให้ดียิ่งๆขึ้นไป แล้วก็พัฒนาผู้อื่นให้ดี  เราอยากทำกิจรรมเพราะอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เอาประสบการณ์ไปใช้ในระดับที่สูงขึ้น”

อาจารย์จีรนันท์ บุญยอด เล่าว่าเมื่อได้ร่วมมือร่วมใจกับเด็ก ทำให้เด็กประทับใจครู  ส่วนเด็กเก่งมาก สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง อย่างที่สูงๆ เด็กขึ้นไปปลูกป่า แสดงว่ามีความตั้งใจ “ถ้ามีกิจกรรมแบบนี้ เรื่อยๆ เด็กได้พัฒนาตัวเขา แทนที่จะเห็นแก่ตัว เรียนอย่างเดียว”

อาจารย์จีรนันท์ มองว่า เด็กทุกวันนี้เปลี่ยนไป ทุกวันนี้จะเน้นเรียนมาก หมดเวลาไปกับการเรียน ถ้าได้ร่วมกิจกรรมน่าจะดีขึ้นแต่ต้องแบ่งเวลาให้ถูก.

โนราสื่อสุขภาพ

โครงการ โนรา สื่อสุขภาพเพื่อชุมชนคนคลองแดน  โรงเรียน คลองแดนวิทยา อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มี นายพงษ์พันธ์  สะอาด ชั้น ม.6/1 เป็นประธาน แกนนำเช่น ด.ญ. จตุพร จันทรโชติ ม.2/1ด.ญ.อารียา เหลาพันนา ม.2/1ด.ญ.หทัยทิพย์  ขาวแก้ว ม.2/1

มีอาจารย์ พิชญาภรณ์ ขุนจันทร์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ

คลองแดนเป็นชุมชนรอยต่อระหว่างจังหวัดสงขลา กับจังหวัดนครศรีธรรมราช  มีคลองเส้นเล็ก ๆเรียกว่าคลองแดน เป็นแนวเขตแดน ชุมชนแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  ปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวตลาดริมน้ำแบบโฮมสเตย์

ชุมนุมศิลปะพื้นบ้านมโนรา ของโรงเรียนคลองแดน ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดเล็ก มีเด็กนักเรียน 200 คน ครู 18 คนดำเนินการมาแล้ว 6 ปี มีการสอนโนราอย่างเป็นทางการในคาบจริยธรรม วันศุกร์

“เรามีโนราอยู่แล้ว สิ่งที่โครงการโนรา สื่อสุขภาพเพื่อชุมชนคนคลองแดน  ทำคือจะสอดแทรกเรื่องทางสุขภาพเข้าไป”  อาจารย์ พิชญาภรณ์ ขุนจันทร์ ที่ปรึกษาชุมนุม ฯ เล่า  ประเด็นหลักๆ ที่โนราจะนำมาพูดคือปัญหา ยาลูกกลอน    การเลือกซื้ออาหารปลอดภัย  โรคเอดส์ ไข้หวัด 2009  ยาเสพติดและ การรักนวลสงวนตัว

การจัดกิจกรรม โนรา สื่อสุขภาพเพื่อชุมชนคนคลองแดนประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้

  • แกะรอยย้อนอดีต ตำนานโนราคลองแดนประชุมร่วมและฝึกซ้อม หลักการรำโนรา กับปราชญ์ชาวบ้าน ในพื้นที่กับนักเรียน เพื่อให้รู้ถึงการเขียนบทกลอน และร่วมฝึกซ้อมการกล่าวบทกลอนที่เกี่ยวกับ โรคเอดส์ ยาเสพติด การเลือกบริโภคอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพ การรักนวลสงวนตัว
  • โนราออนทัวร์ออกแสดงมโนราห์ ตามที่ชุมชน เชิญมา เช่น งานผ้าป่า กฐิน
  • ข่าวเช้าทันโลกนักเรียนกลุ่มโนรา นำข่าวสาร สาระ ในกรอบสุขภาวะ มาเขียนเป็นบทกลอนโนรา แล้วกล่าวหน้าเสาธงทุกเช้า

โนรารุ่นเยาว์ของโรงเรียนคลองแดน เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมาหลายปี  เมื่อต้องการแทรกเนื้อหาสาระทางสุขภาพ ได้คนผู้กกลอนคืออาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ หัวหน้าภาคศิลปะการแสดงของ มหาวิทยาลัยทักษิณมาช่วยซึ่งอาจารย์มาเกี่ยวเนื่องสัพันธ์กับชุมชนผ่านโครงการชุมชนวิถีพุทธ

อาจารย์พิชญาภรณ์เล่าว่า นอกจากคนรำโนรา ทางชุมนุมศิลปะพื้นบ้านมโนรา ของโรงเรียนคลองแดน ยังมีลูกคู่  และเด็กที่สามารถร้อยลูกปัดชุดโนรา  ราว 30 คน  ทั้งหมดมาทำกิจกรรมในโรงเรียนร่วมกันสัปดาห์ละคาบ

“การแสดงเราไม่รับเป็นอาชีพ แค่ไปช่วยงานวัด อะไรพวกนี้อาจได้ค่าขนมเด็กมาบ้างนิดหน่อย มีชุดโนราสมบูรณ์ 5 ชุด มีเทริด 9 ยอดส่วนการร้อยลูกปัดสามารถนำไปประยุกต์เป็นของที่ระลึกวางขายในตลาดน้ำ ทำให้เด็กมีรายได้ มีความสุข”

พงษ์พันธ์  สะอาด หรือ โต้ง ประธานชุมนุมศิลปะพื้นบ้านมโนรา ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกของชุมนุม ฯ เล่าว่า เกิดความภาคภูมิใจทีได้รู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน

“กลอนที่เราไปว่าให้ชาวบ้านฟัง ทำให้ชาวบ้านได้ความรู้จากเราไปด้วย ตลอด 6ปี ที่ผ่านมาผม ฝึกรำ  ฝึกต่อกลอนให้น้อง เราจะให้เด็กรุ่นใหม่มาทำกิจกรรมสอนต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ส่วนผมอยากเรียนด้านครูครับ”

โนราเป็นภูมิปัญญาที่แสดงถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณ มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในอดีตสามารถนำมารักษาโรค ผ่านการรำแก้บน โต๊ะครึม สำหรับเด็กนักเรียนที่คลองแดนกลุ่มนี้ การมาเรียนรู้เรื่องโนรา ทำให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด  หรือมั่วสุมการกระทำผิดด้านการพนัน ยังได้ความรู้คู่กับความบันเทิง มีความเป็นจิตสาธารณะ ทั้งทำให้ศิลปะพื้นบ้านยังคงอยู่คู่ชุมชนต่อไป.

ห้องสมุดสุขภาวะ

คำอธิบายภาพ : pic4afcff4f5454d

น.ส.อารมย์ สุขชาญ ครูโรงเรียนบ้านบางกล่ำ ที่ปรึกษาโครงการห้องสมุดสุขภาวะเล่าว่าแนวคิดมาจากเดิมที โรงเรียนไม่มีห้องสมุด หนังสือก็น้อยเพราะเคยเจอปัญหาน้ำท่วมมา ก่อนหน้านี้ เคยใช้มุมห้องของ ป.6 เป็นห้องสมุดชั่วคราว

“เรามาทำห้องสมุด ส่วนหนึ่งเพราะ เราได้หนังสือ จากศิษย์เก่าช่วยกันหาเงินมา พอจัดระบบห้องสมุดใหม่ใหม่  จึงให้เด็กเข้าทำเรื่องนี้เอง  เป็นคนฝึก ยืม คืน จัดมุมให้ความรู้ ทางสุขภาพ อยู่ในส่วนหนึ่ง”ครูอารมณ์เล่า พูดง่ายๆ คือเอาเด็กทำหน้าที่บรรณารักษ์ เพราะครูเองไม่มีเวลา

เด็กที่ทำหน้าที่หลักมีอยู่ 2 คนคือ ด.ญ.อุไรวรรณ กำเนิดดีและด.ญ.นัชชา แก้วรัตนา นักเรียน ชั้น ป.6 ปกตินักกิจกรรมมัมีบทบาทหลายอย่าง สองคนนี้ก็เช่นกัน พวกเธอเป็นทั้งนักกีฬา และนักแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน แต่ยังเจียดเวลา มาทำหน้าที่ตอนว่าง

“ปกติชอบอ่านหนังสือพวกสารคดี ชอบทำงาน ชอบทำกิจกรรม ” พวกเธอเล่าอันที่จริง มีเด็กมาช่วยงานนี้ราว 10 คน ระดับชั้น ป.5 และ ป.6 แต่อุไรวรรณและนัชชา คงบทบาทหลักแม้อยู่ในจังหวะต้องเรียนเต็มที่ ในการทำงาน มีปัญหาให้ต้องตามแก้อย่างตามทวงหนังสือ ที่เขาไม่คืนตามกำหนด

“สองคนนี้มาทำห้องสมุดแล้ว ทำให้ใจเย็นขึ้น ไม่แว๊ดๆๆเหมือนเมื่อก่อน”ครูอารมย์เล่า และอธิบายคำว่าห้องสมุดสุขภาวะ โดยเล่าให้เห็นภาพแทนคำนิยามว่า เด็กชอบสถานที่แห่งใหม่นี้กันมาก

“เด็กเต็มทุกวัน แต่ก่อนไม่มีแบบนี้ แต่ก่อนเด็กไปอยู่กลางสนาม แต่ทุกวันนี้ เด็กเข้ามาอยู่ในห้องสมุด จนต้องประกาศว่าคนที่เข้ามานั่งนานแล้วให้ออกไปข้างนอกบ้าง”

หลังปรับปรุง จัดภูมิทัศน์ สวนหย่อม  ของเล่น ต้นไม้ วิดีโอ อินเตอร์เนท  นิทรรศการ เห็นได้ชัดว่าเด็กเข้าห้องสมุดสุขภาวะ

นอกจากให้เด็กยืมหนังสือไปอ่านแล้ว ครูอารมย์อนุญาตให้ผู้ปกครอง โดยให้เด็กเป็นผู้ยืมให้ ทำให้หนังสือไปถึงชุมชน

เด็กพิเศษคนหนึ่ง ออทิสติก ที่ไม่เคยอ่านหนังสืออื่นนอกจากตำรา ตรั้นมาเห็นหนังสือรูปสวย เขาก็ยืมไปให้พ่อแม่อ่านให้ฟัง ยืมไป2 เล่ม ติดใจรูปภาพบอกว่าจะวาดรูปนั้นให้ได้ จึงยังไม่ยอมคืนหนังสือเล่มนั้น ซึ่งครูอารมย์บอกว่ากรณีแบบนี้ต้องคุยกับเขาอีกแบบหนึ่งแต่สิ่งที่ดี คือดี เขาหันมาสนใจ

“ตอนนี้หนังสือได้เป็นสื่อในชุมชนเล็กๆ”

อีกรายหนึ่ง เด็กคนหนึ่งยืมหนังสือตั้งใจให้พ่ออ่านพ่อขี้เมา เล่นการพนัน เด็กจึงยืมหนังสือคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้แม่อ่านให้พ่อฟัง

“ดิฉันว่าอย่าเลย เดี๋ยวพ่อจะทะเลากับแม่อีก เด็กบอกว่า ไม่เป็นไร เพราะในนี้ ย่าอยู่ด้วย”ครูอารมย์เล่าและเห็นว่ามีมุมน่าสนใจได้ข้อคิดหลายอย่างที่ไม่เคยนึกมาก่อน .

จับมือกับผู้ใหญ่พัฒนาคลองอู่ตะเภา

คำอธิบายภาพ : pic4afcff4f54d10

ศิราณี หมัดเสพ หรือ น้องหมิว แกนนำโครงการร่วมแรงร่วมใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่พัฒนาสายน้ำไหล คลองอู่ตะเภาเล่าความเป็นมาโครงการว่า เริ่มจากกลุ่มผู้ใหญ่ ในหมู่บ้านตะเคียนเภา หมู่ 4 ตำบลปริก อำเภอสะเดา

จากวงกาแฟ 5-6 คนคุยกันว่าที่อื่น ขับเคลื่อนเรื่องคลองแต่พวกเขายังไม่ได้ทำอะไรกันเลย “คลองอู่ตะเภาก็ผ่านบ้านเราเหมือนกัน”ใครคนหนึ่งว่า

เมื่อมีจุดเริ่ม ทำให้ความคิดดังกล่าวบอกต่อขยายสู่คนอื่นในครอบครัว จนกลายเป็นวงใหญ่ในหมู่บ้านจำนวน 30 กว่าคน

“ตอนนั้นกลุ่มเด็กยังไม่เกิดได้ยินผู้ใหญ่พูดว่าจะลงพัฒนาคลองเอาเศษไม้ เศษขยะออกก็คงแค่นั้น”

น้องหมิวเล่าว่าต่อเมื่อมีโครงการ สจ.รส. เข้ามาจึงได้นำความคิดพัฒนาคลองเสนอร่วมกับทีมผู้ใหญ่ กลายเป็นกลุ่มคนทำงานร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กพัฒนาคลองอู่ตะเภา คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ใหญ่ 1 ทีม เด็กผู้ชาย 1 ทีม และเด็กผู้หญิง 1 ทีม

เด็กผู้ชาย ส่วนมากเป็นเด็กเกเร ออกจากโรงเรียนกลางคัน ราว 10 กว่าคน  ซึ่งเขาเหล่านี้ มักใช้ชีวิตแต่ละวันหมดไปกับการเที่ยวเตร่

“คนก็ว่าพวกเขานะ มองไม่ดี  แต่พอได้มาช่วยโครงการ เด็กพวกนี้แหละจะช่วยจริงๆ”

น้องหมิวเล่าถึงกิจกรรมใหญ่ของโครงการซึ่งมี 2 วันที่ไปจัดกิจกรรมริมคลองอู่ตะเภา

“ก่อนงานเราแจกใบปลิว กำหนดการ แจ้งหมู่บ้านอื่นด้วย บอกว่า จะรับบริจาค ข้าวหม้อแกงหม้อ ใครสนใจ ก็สามารถมาร่วมกับเรา ในงานมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผัก ทำน้ำหมัก ...”

ถึงวันงานมีคนมาร่วมประมาณ 100 คน นายอำเภอสะเดามาเป็นประธานเปิดงาน พร้อมเปิดศูนย์อนุรักษ์ คลองอู่ตะเภา หมู่ 4  ตำบลปริก

นายสุริยา ยีขุน นายกเทศบาลตำบลปริกมาเป็นวิทยากร ให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม  ,สารวัตรปราบปราม จากสภ.จากสะเดามาพูดเกี่ยวกับยาเสพติด ,แกนนำเยาวชน จากตำบลปริกมาให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ , วิทยาการจากศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียงมาสอนเรื่อง การปลูกผักในกระบอกไม้ไผ่ ,นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สอน เกี่ยวกับการวัดค่าของน้ำ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมสันทนาการในคลองอย่างมวยทะเล

กิจกรรมดังกล่าวกลุ่มเยาวชนได้สืบเสาะ ประวัติของคลองอู่ตะเภาบริเวณที่จัดงาน โดยหาผู้ใหญ่มาเล่าให้ฟัง จึงรู้ว่าบริเวณนั้นซึ่งเรียกว่า “ท่าล้อ”เป็นท่าน้ำเพื่อการซื้อขายของจีน มีพ่อค้าชาวจีนจะถ่อเรือมาจากปลายน้ำ เอาสินค้ามาขึ้น ชาวบ้านเอาล้อกับเกวียนขนสินค้าไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน

หลังกิจกรรมผ่านไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกิดการรวมตัวกันในนามกลุ่มอนุรักษ์ คลองอู่ตะเภา หมู่ 4

“กลุ่มผู้ใหญ่เคยดูถูกว่า เด็กที่ไม่เรียนหนังสือ ว่าทำอะไรไม่ได้ แต่ เขาช่วยได้มาก ถึงจะช่วยสมองไม่ได้ แต่จะช่วยเรื่องแรง เด็กติดยา มาทำเรื่องนี้ดูว่าจะลดปัญหานี้ลงไป  คนเข้าใจมากขึ้น”

น้องหมิวตั้งข้อสังเกตว่าจากเดิม ที่ต่างคนต่างอยู่  การทำกิจกรรมนี้ทำให้เด็กมีปัญหาหลายคนเริ่มจะออกมาช่วยงานสังคมมากขึ้น อย่างเช่นงานขึ้นบ้านใหม่ในชุมชน  เด็กชุดนี้จะเริ่มชวนกันไปช่วยงาน

ลักษณะที่เกิดขึ้นเธอคิดว่า เพราะที่ผ่านมาเหมือนกับเขาไม่เคยมีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่ “ผู้ใหญ่ก็มองว่า เด็กทำอะไรไม่ได้ เด็กก็คิดว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเขา ต่างคนก็ต่างมองไปคนละมุมมาตลอด พอมาทำงานร่วมกันแล้ว ทำให้เขาได้คิดว่าต่างก็เป็นส่วนสำคัญ กิจกรรมนี้มีส่วนดึงหลายคนกลับมาร่วมกันได้”

เฉพาะกลุ่มเด็กเอง บางคนที่ไม่ได้เรียน แต่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน แทบไม่ได้พบกันมีสังคม ร่วมกัน พอมีกิจกรรมนี้ ได้คุยกัน ได้ทำงานร่วมกัน นับเป็นโอกาสปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ.

เยาวชนไทยสู่เศรษฐกิจพอเพียง

นางสาวศิริญญา หมัดอะดัม นักเรียน ชั้น ม.6 โรงเรียน พัฒนาวิทยามูลนิธิ  อำเภอบางกล่ำ เป็นประธานชมรมชมรมรักพ่อ เดินตามรอยพ่อ ขออยู่อย่างพอเพียง  กับนายธนวัฒน์  ชัยชนะ ประชาสัมพันธ์ ของชมรมฯ เล่าถึงการดำเนินโครงการเยาวชนไทยสู่เศรษฐกิจพอเพียงว่าก่อนมาทำเรื่องนี้ แกนนำในชมรมได้เข้าร่วมอบรม ที่ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลบ้านหาร อำเภอบางกล่ำ ซึ่งที่นั่นทำให้เข้าถึงแก่นของความพอเพียงและคุณธรรม พอผ่านหลักสูตรจึงอยากมาทำโครงการนี้

การดำเนินตามโครงการ ทางกลุ่มได้จัดกิจกรรม ที่ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ที่ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง โดยเลือกนักเรียน จากโรงเรียนต่างๆในอำเภอบางกล่ำ 70 คน ชมงานของฟาร์ม  เช่น การเพาะเลี้ยงปลาจากไข่ การเลี้ยงเป็ด ทำเห็ด ฯลฯ

“การเข้าร่วมโครงการทำให้รู้จักคำว่าพอเพียงมากขึ้น วิทยากรบอกว่าสิ่งไหน ที่สนใจเอาไปทำได้เลย”

ความพอเพียง คือความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล จะทำอะไร ต้องรอบคอบ มีคุณธรรม ซึ่งคุณธรรมมีตั้งแต่ระดับครอบครัวชุมชน และประเทศชาติ

“เด็กทุกวันนี้ คิดว่าเขาคิดถึงแฟชั่นรุ่นใหม่มากกว่า โดยลืมว่า รากฐานของการมีความสุขเกิดจากตรงไหนกันแน่ มันไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ เพื่อนๆ แต่คือการที่เราอยู่แล้วมีความสุข ใช้จ่ายเยอะ เงินหมดไป ปัญหาก็เยอะ แต่ถ้าเราอยู่อย่างพอเพียงจะมีความสุข”น้องธนวัฒน์ว่า

เขาอยากจะให้ทุกคนดำเนินชีวิตตามแบบพอเพียง แม้ยอมรับว่าวัฒนธรรมต่างชาติอย่างเกาหลี มีอิทธิพลมาก ขนาดเปลี่ยนแปลงเด็กไทยกลายเป็นสไตล์เกาหลี

พวกเขาได้ข้อสรุปว่าคนมีความสุข ไม่จำเป็นต้องเป็นคนมีเงิน ถ้ารู้จักอยู่อย่างมีความสุข รู้จักสิ่งที่เรามีอยู่ พอเพียงในสิ่งที่มีอยู่ ใช้จ่ายในสิ่งจำเป็น

“อย่างอาจารย์ภาณุ (ภาณุ พิทักษ์เผ่า  ผู้นำศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง) สอนว่า กินในสิ่งที่เรามี  ใช้ในสิ่งที่เราต้องการ และซื้อในสิ่งที่เราจะใช้และทุกสิ่งทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานที่ว่าจำเป็นไหม หรือถ้าเราไม่ซื้อเราจะตายไหม”

น้องธนวัฒน์เล่าและว่าอาจารย์ภาณุเป็นต้นแบบ ที่ปรึกษาและคอยช่วยเหลือในเรื่องต่างๆกับพวกเขาเพื่อดำเนินชีวิตสู่เศรษฐกิจพอเพียง

หลังทำโครงการ น้องๆ ในโรงเรียน สนใจ เข้ามาเป็นสมาชิกชมรมรักพ่อ เดินตามรอยพ่อ ขออยู่อย่างพอเพียงในโรงเรียนมากขึ้น หลายคนอยากไปอบรมที่ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียงบ้าง

ทุกวันนี้มีสมาชิกชมรมราว 40 คน โดยมีเพื่อนโรงเรียนอื่นในตำบลบ้านหารมาร่วมด้วย กิจกรรมต่อเนื่องคือพาน้องๆ ไปอบรมที่ศูนย์คุณธรรมเศรษฐกิจพอเพียง  นอกจากนั้นแต่ละเดือนจะนัดเดินเก็บขยะรอบหมู่บ้าน อนุรักษ์คลองร่วมกับเครือข่ายต้นกล้าเพื่อนุรักษ์ คลองอู่ตะเภา เดินรณรงค์ ร่วมกับ หน่วยงานต่างๆ เช่น สถานีอนามัยบ้านหาร  เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ

“โครงการเราได้การตอบรับเป็นอย่างดี  อบต.บ้านหาร เข้ามาสนับสนุนงบประมาณเรา ทำให้เราได้ทำงานขยายเครือข่ายชมรม พัฒนาหมู่บ้านในบ้านหาร และรวมถึงการอนุรักษ์คลองอู่ตะเภา”

น้องศิริญญาเล่าและว่าที่ อบต.สนับสนุนอาจเพราะเป็นการทำในนามสภาเด็กจังหวัดสงขลาด้วยส่วนหนึ่ง อีกทั้งส่วนตัวยังรู้จักคนใน อบต.  และปกติสมาชิกของชมรม คอยช่วยเหลืองาน อบต.อยู่ ในกิจกรรม เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน อย่างเช่นไปจัดกิจกรรมหรือส่งคนไปเป็นเป็นพิธีกรตามงานต่างๆ

“อบต.เห็นความสำคัญจึงมอบป้ายให้กับโรงเรียนของเราเป็นป้ายโรงเรียนดีเด่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงด้วย” น้องศิริญญาเล่า .

ให้กำลังใจเด็กกำพร้า

คำอธิบายภาพ : pic4afcff4f554be

อังคริน พรหมพานิช หรือน้องลูกแก้ว แกนนำโครงการให้กำลังใจเด็กกำพร้า สถานสงเคราะห์เด็ก บ้านสงขลาเล่าถึงการทำงานโครงการนี้ เพื่อสื่อถึงสมการ  คิดดี +คิดได้ (พูดง่ายๆ) = คิดเป็น

“ตอนไปชวนเพื่อนๆมาร่วมเรา มองเห็นปัญหาว่าปัจจุบันครอบครัว เริ่มจะ มีปัญหาพ่อแม่เลิกกันเด็กมีปัญหาเยอะขึ้น ส่วนหนึ่งต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์เด็ก”

โครงการเริ่มต้นจากเริ่มจากตั้งกล่อง รับบริจาคสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ เพื่อบริจาคให้กับเด็กๆ ที่ด้อยโอกาส หาอาสาสมัครมาทำกิจกรรมกับเด็กๆ ก่อนถึงวันออกเดินทางไปทำกิจกรรมกันที่บ้านสงเคราะห์เด็กสงขลา

“คนทำงานเป็นเพื่อนห้องเดียวกันและรุ่นน้อง ส่วนมากอยู่ม.ปลาย โปรแกรมศิลป์ – คำนวณ ประมาณ 50 คน ”

วันเดินทางไปบ้านสงขลา พวกเขาได้พบกับเด็กกำพร้าที่นั่นซึ่งมีอยู่ราว 60-70 คนตั้งแต่ทารก อนุบาล ถึง เจ็ด-แปดขวบ

“ทำให้พวกเราเห็นคุณค่าในตัวเองมาขึ้น คนที่มาจากครอบครัวแตกแยกก็เข้าใจและปรับปรุงตัวเพราะคิดว่ายังมีคนอื่นที่มีโอกาสน้อยกว่าเรา เรามีโอกาสทำอะไรอีกมากมาย เพราะมีอิสระกว่า”

น้องลูกแก้วเล่าว่าพอมาเห็นภาพที่บ้านสงเคราะห์เด็กสงขลา  ทำให้คนที่ออกนอกลู่นอกทาง เรียนบ้างไม่เรียนบ้างหรือชอบเที่ยวกลางคืนคิดได้โดยอัตโนมัติ และเริ่มเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม เริ่มมาสนใจเรียนมากขึ้น การพูด ความคิด เริ่มเป็นผู้ใหญ่ หลายคนได้มีความคิด จะทำอะไรให้กับคนอื่น ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว  และต่อยอดให้เขาทำอะไรต่อไปด้วยตัวเอง

“บางคนกลับมาทำโครงการอื่นอีกอย่างการอนุรักษ์ป่า ปลูกต้นไม้  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะส่วนมากไม่มีประสบการณ์ทำกิจกรรมมาก่อน แต่พอมาลองทำโครงการให้กำลังใจเด็กกำพร้าด้วยกัน เท่ากับทุกคนได้พัฒนาตัวเองและกล้าทำ”.

ขยายเครือข่าย

“โครงการหลอมรวมใจขรรค์ชัยสู่น้องประถมเป็นโครงการที่ชมรมขรรค์ชัยรักสิ่งแวดล้อมได้ขยายเครือข่ายไปสู่น้องๆประถม”

ด.ญ. พัชดา ติปะตึง หรือ น้องนุ่น ชั้นม. 3/2 โรงเรียน สะเดาขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์ อ.สะเดา จ.สงขลา หนึ่งในแกนนำโครงการ ฯเล่า

เธอเป็นตัวแทน มาพร้อมกับสองแกนนำของโครงการ คือ ด.ช.ทวีศักดิ์ วงศ์กีรติเมธาวี หรือ น้องเอ็มม.3/3และ ด.ช.ธวัชชัย คล่องสั่งสอน หรือน้องโย่ ชั้น ม.3/1

ทุกคนช่วยกันเติมว่า ชมรมขรรค์ชัยรักสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ ปี 2541จากรุ่นพี่ สู่รุ่นน้องสืบเนื่องกันมา 10 กว่าปีแล้ว บทบาทโดดเด่นที่ผ่านมาของชมรมคือ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมโดยการนำเยาวชน ไปสร้างจิตสำนึก ร่วมสร้างฝาย ปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง กิจกรรมคือ ปลูกหญ้าแฝก  สืบค้นสมุนไพร ปลูกไม้ใหญ่ในสวน

“กิจกรรมเหล่านี้เรานำแนวคิดจากรุ่นพี่มาต่อยอดพัฒนากิจกรรมเหล่านี้ให้ดีที่สุด”

ชมรมขรรค์ชัยรักสิ่งแวดล้อมรุ่นพี่ เคยความคิดนำโครงการนี้สู่น้องประถม  แต่ไม่มีโอกาส กระทั่งมาถึงรุ่นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สจ.รส.

“ตอนทำ โครงการเป็นช่วงที่การเรียนยุ่งมาก เราต้องเจียดเวลาตอนเย็นมาทำ กัน อาจารย์เล็ก(อ.วิไลรัตน์ ที่ปรึกษาชมรม )  ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อชมรมและเด็ก ๆให้แนวคิดว่า สิ่งสำคัญของการมาเป็นแกนนำชมรม คือการเสียสละเวลา ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เป็นแรงบันดาลใจให้แกนนำ 9 คน มาทำตรงนี้ได้”

พวกเขาเล่าว่า สิ่งสูงสุดในการทำงานอาศัยแรงบันดาลใจจากพระราชดำรัสของในหลวง เกี่ยวกับป่าต้นน้ำ และยึดทำงานของรุ่นพี่ที่ผ่านมาในการสร้างจิตสำนึก ด้านอนุรักษ์ และอุดมการณ์ของชมรม ที่ว่า เสียสละ สร้างสรรค์ ตั้งมั่น อุดมการณ์

“กรอบของเราคือคิดอะไรก็ได้ แต่อยู่ในกรอบความคิดที่ดีคิดเสร็จต้องเริ่มกระบวนการทำงานต่างๆ ทำเป็นระบบ” น้องโย่ว่า คำว่ากรอบหลายคนอาจจะคิดว่าคือพื้นที่จำกัด แต่คำว่ากรอบในความหมายนี้ คือคิดอะไรก็ได้ แต่อยู่ในความคิดดี เป็นประโยชน์กับเรา และคนอื่น ไม่ทำร้ายคนอื่น หรือตัวเราเอง

“การคิดต้องคิดอย่างสร้างสรรค์ ด้วย”เอ็มเสริม

กิจกรรมงานหลวมรวมใจ ทางโครงการฯได้พาเด็กที่สนใจเข้าร่วมไปที่หน่วยอนุรักษ์จัดการต้นน้ำอู่ตะเภาและศูนย์สาธิตการรณรงค์และพัฒนาการใช้หญ้าแฝกที่ 5 ซึ่งอยู่ใกล้กัน

“วันนั้นนายอำเภอสะเดามาเปิดงาน กิจกรรมหลอมรวมใจ เป็นการละลายพฤติกรรม ปลูกหญ้าแฝก สร้างฝายแฝกและวอคแรลลี่ ทั้ง 3 กิจกรรมเน้นให้ชาวค่ายแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออก และมีจิตสำนึก โดยสิ่งที่ตามมาทันทีคือการแชร์ความคิด”

พวกเขาประเมินว่าหลังทำกิจกรรมแล้ว เด็กคิดเป็นมากขึ้น จากปัญหา ที่ร่วมกันแก้ไข การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี หลังจัดโครงการแล้วมีการตื่นตัวในเครือข่าย  ที่พร้อมจะทำงานร่วมกัน และขยายความคิดชวนคนอื่นที่ยังไม่เข้าค่าย มาร่วมด้วย

“การคิดอย่างเดียวไม่ได้ สำหรับเราการคิดต้องทำด้วย ถ้าคิดดี ต้องทำดีด้วย”น้องนุ่นเล่าและว่า ทุกวันนี้เด็กทำกิจกรรมมีน้อย เพราะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ยอมรับว่าแม้จะเป็นนักกิจกรรมแต่เธอก็ไม่ต่างจากเด็กคนอื่นที่ใช้เวลานั่งเล่นคอมหรือขับรถ แต่เธอบอกว่าโชคดีรู้จักกับอาจารย์เล็กที่ให้แนวคิดและเป็นแม่แบบ ถ้าไม่มีครูแบบนี้คงยากที่จะมาทำกิจกรรมดีๆแบบนี้

“เราเข้ามาโรงเรียน เพราะเข้ามาเรียนก่อน กิจกรรม เป็นเพียงส่วนเล็กๆ อาจจะมีชมรม ชุมนุมต่างๆ ที่เป็นทางการอยู่  แค่เรียนให้ครบตามหลักสูตร แต่ อันนี้ไม่มีผลทางคะแนนที่เรามาทำ เพราะเราได้รับการสร้างจิตสำนึก ทางสาธารณะมาแล้ว”

ทุกคนเล่าตรงกันว่าการมาทำกิจกรรมตอนแรกพ่อแม่ เราไม่ยอมรับ กลัวว่าทำให้การเรียนตก แต่พวกเขาแสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่มีผลในส่วนนี้ ทั้งสามคนผลการเรียนเฉลี่ย เกรด 3 กว่าเกือบ 4

“เราเอาผลงานไปบอกพ่อแม่ถึงกิจกรรม ว่าเราเป็นแกนนำ ของกลุ่มพ่อแม่ก็ค่อยเข้าใจไปเอง”เอ็มสรุปและว่ากิจกรรม สอนเรื่องการแบ่งเวลา  ทำให้กล้าคิดกล้าทำ กล้าพูด กิจกรรมจะเป็นตัวหนึ่ง ที่จะช่วยให้เห็นอีกมุมของชีวิต เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่เรื่องการเรียน

“การทำกิจกรรมเราได้รอยยิ้ม ได้ความสุขที่เห็นน้องๆมีจิตสำนึกที่ดี แต่ในคนจำนวนมากๆ เราอาจปลูกจิตสำนึกที่ดีได้ไม่หมด จาก 100 คนได้คนทำงานจริงสักคนก็พอแล้ว”น้องนุ่นสรุป.

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว