สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

สุติมา หมัดอะดัม ความสุขที่ได้ช่วยเหลือคน

by punyha @4 พ.ย. 52 16:14 ( IP : 222...144 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย
photo  , 600x450 pixel , 65,047 bytes.

“คนดีๆ จิตใจดี มักไม่ค่อยเป็นอะไร”

คำกล่าวของสุติมา หมัดอะดัม อสม.ดีเด่นระดับชาติสาขาการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นประจำปี 2551 อาจฟังดูพื้นๆ แต่แฝงด้วยความหมายลึกล้ำแห่งความเป็นชีวิตอันเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งในโลก

ปัจจุบันสุติมาอายุ 32 ปี พำนักอยู่ถิ่นเกิด บ้านชายบาง หมู่ 1 ตำบลบ้านหาร อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยได้รับรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติ และเป็นคนแรกของภาคใต้ที่ได้รับรางวัลในสาขาการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“เรารู้เรื่องแบบนี้มาตั้งแต่เด็กเพราะครอบครัวเป็นหมอภูมิปัญญาท้องถิ่นตั้งแต่บรรพบุรุษหลายคนทั้งหมอต่อกระดูก หมอตำแย รักษาคนโดยไม่เอาเงิน ใครมาพร้อมจะช่วยเหลือ มะ (แม่) ของเราสืบสานวิชาเหล่าถึงเรานับเป็นรุ่นที่ 4”

หมอพื้นบ้านเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้สังคม เธอมีแม่เป็นต้นแบบและทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต

ย้อนไปรุ่นปะแก่ (ตา)ของเธอเป็นผู้ทุ่มเทกับการช่วยเหลือรักษาคนจนเสียชีวิตไปกับภาระหน้าที่นี้ ครั้งหนึ่งตาเป็นคนใช้ให้แม่ของเธอไปต่อกระดูกวัวที่ถูกตีขาหัก เมื่อวัวตัวนั้นหายเป็นปกติแม่จึงเริ่มรักษาคนตั้งแต่นั้นมา ใครหล่นต้นไม้ หรือประสบอุบัติเหตุกระดูกหักก็จะมาหา

มาถึงสุติมาก็ถูกแม่ฝึกใช้เป็นหมอพื้นบ้านมาตั้งแต่เด็กเช่นกัน วิชาความรู้ต่างๆ ค่อยซึมซาบเข้ามาโดยไม่รู้ตัว เธอเป็นลูกคนเล็กในพี่น้อง 4 คนและเป็นเพียงคนเดียวที่สืบทอดวิชาหมอพื้นบ้านของตระกูล

การได้เห็นแม่รักษาคนไข้มาตั้งแต่เกิดทำให้มีบุคลิกบางอย่างก่อเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว กระทั่งเข้าโรงเรียนประถมที่โรงเรียนวัดนารังนก อยู่ชั้น ป.4เพื่อนที่เป็นผู้ชายคนหนึ่งเล่นฟุตบอลจนหัวเข่า เจ็บเดินไม่ได้

“เราไม่คิดอะไรแค่จับกระดูกให้ตรงแล้วใส่กลับเข้าไป พอใส่หัวเข่าให้เพื่อนได้ มีคนบอกว่าต่อไปน่าจะเป็นหมอ จุดเริ่มมาจากตรงนั้น”

เพื่อนๆเริ่มรู้ว่าเธอทำอะไรอย่างนี้ได้ ใครเป็นโรคจึงวิ่งเข้าหา

โรคแบบโบราณอย่างเริมสุติมาจะรักษาโดยการ “ปัด” ตามคาถาที่แม่สอน ถ้าอธิบายทางวิทยาศาสตร์เธอมองว่าเป็นการสัมผัสอย่างหนึ่ง และอาจมีสิ่งอธิบายยากด้วย เพราะใช้คาถาอย่างเดียวก็หายได้ ฟังดูไม่น่าเชื่อ

เข้าเรียนชั้นมัธยม โรงเรียนคูเต่าวิทยา ได้เป็นนักกีฬาโรงเรียนแข่งขันเขย่งก้าวกระโดดได้ที่ 1 และเป็นนักวิ่ง 200 เมตร เคยได้รางวัล เยาวชนที่มีสุขภาพ กาย สุขภาพ จิตดีเด่น พอจบชั้นมัธยม3 ทางบ้านขัดสนทางการเงิน จึงหันไปเรียน กศน.ตั้งใจว่าจะต้อง เรียนจบ ม.6ให้ได้ หลังจากจบหันไปเรียนสายอาชีพที่โรงเรียนส่องแสง จนจบปวส. คอมพิวเตอร์ธุรกิจ

“บอกที่บ้านว่าอยากเรียนต่อปริญญาตรีที่รามคำแหง ตำราบางเล่มได้เทียบโอนจาก ปวส.จึงใช้เวลาเรียน 2 ปี จบรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจตอนเริ่มเรียนอ่านหนังสืออยู่บ้าน เพราะยังทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการอยู่สมาคม มุสลิมหาดใหญ่ ช่วงหลังๆจึงจะขึ้นไปเรียนเต็มที่”

ระหว่างขึ้นไปเรียนรามเธอสนใจแพทย์แผนไทยโดยมีโอกาสอ่านตำรับตำราที่เกี่ยวข้องในห้องสมุด

“ตอนไปห้องสมุดมีเรื่องแปลกว่าเจอคนๆหนึ่งเขาบอกว่าอยากมาปรึกษาโรค มาให้ช่วยบีบ เราสงสัย ถามกลับว่ารู้ได้อย่างไร ว่าเป็นหมอ แต่ก็ภูมิใจที่ว่าเขาให้โอกาสเราได้ช่วย เหตุการณ์แบบนี้จะเจอบ่อย ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน”

ระหว่างขึ้นไปเรียนรามเป็นที่รู้กันว่า เธอคอยช่วยเหลือเพื่อนที่มีปัญหาทางสุขภาพอยู่เสมอ โดยเฉพาะคนที่มี อาการเคล็ด ปวดเมื่อย เท้าชา เธอช่วยเหลือคนเหล่านี้โดยวิธีการนวด เป็นวัตรปฏิบัติที่ทำให้เพื่อนซื้อขนม กับข้าวมาฝาก จนเธอเองแทบไม่ต้องออกเงินซื้อเอง บางคนหายจากอาการเจ็บป่วย ถึงขนาดพาไปแนะนำ ให้รู้จัก พ่อ แม่ ด้วยความปลื้มใจ

การสัมผัสโดยการการนวดเป็นพลังอย่างหนึ่งที่ทำให้หายจากโรคได้ วิชาการนวดตามแบบหมอพื้นบ้านเธอได้มาจากแม่ โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะ ตั้งแต่วัยเด็กแม่จะใช้ให้ช่วยงานแบบนี้เสมอ แท้จริงคือการถ่ายทอดส่งต่อภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง ล้วนเป็นบริบททำให้สุติมาสนใจภายหลัง

หลังจากจบปริญญาตรี กลับมาบ้านพบว่ามีคนมานวดรักษาที่บ้านเต็มไปหมด เธอคิดเรื่องแพทย์แผนไทยขึ้นมาจริงจังอีกครั้งจึงโทรศัพท์ไปถามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาว่า ว่ามีการสอนแพทย์แผนไทยที่ไหน จากข้อมูลทำให้เธอตัดสินใจสมัครเรียนกับสมาคมแพทย์แผนไทยหาดใหญ่ 2 ปี จบแล้วสอบได้ใบประกอบโรคศิลป์

“มันเกิดมาจากเรามีเมตตา อาชีพการเป็นหมอมันมาเอง จากที่เพื่อนมาใช้เราตลอด บางทีต้องนอนเที่ยงคืน ที่ช่วยเขาไม่ได้คิดเงิน แค่เขาสามารถเดินได้ เราก็ภูมิใจ แค่นั้นเองไม่มีอะไรมาก สุดท้ายมะสงสัยว่า เราท่าจะไปด้านนี้มั้ง เลยมาเรียนด้านแพทย์แผนไทย ตอนนี้กำลังเรียนต่อของแพทย์แผนไทยของ มสธ.(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) อีก คิดว่าจะเรียนไปเรื่อยๆ พร้อมกับเอาความรู้จากมะมาประยุกต์เข้ากัน”

ก่อนขึ้นไปเรียนรามคำแหงนั้นสุติมาเป็น อสม. แล้วอาจจะนับว่าเป็น อสม.อายุน้อยอีกเหมือนกัน การรับบทบาทนี้ตั้งแต่ยังวัยเยาว์ จนเพื่อนสงสัย เธอให้เหตุผลว่าเพราะช่วยคนอื่นอยู่แล้วนับแต่รุ่นแม่ มาถึงพี่ชายที่เป็น อสม.เธอรับช่วง อสม. จากพี่ชาย เธอคิดว่างาน อสม. ได้คบคน และสนุกกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

คำอธิบายภาพ : sutima2การได้รางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติ สุติมาเห็นว่าเพราะตัวเธอเองช่วยเหลือคนเป็นหลักมาโดยไม่คิดหวังผลตอบแทน นอกจากรักษาเธอยังสอนวิชาแพทย์แผนไทยให้กับเยาวชนในชุมชนในนามชมรมอนุรักษ์สมุนไพรบ้านคู (ชายบาง) หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านหาร

เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจบจากรามคำแหงเธอสอนอ่านคัมภีร์กุรอานหลังละหมาดมัฆริบ เด็กทีมาเรียนทั้งหญิงชาย ราว 25 คน เธอจึงสอนเพิ่มความรู้ทางสมุนไพรด้วย เพราะเห็นว่า คนที่เรียนคัมภีร์อัลกุรอาน จะทำให้มีจิตใจอ่อนน้อม จิตใจดี ตามหลักถ้าจิตใจไม่ดี จะไม่ให้เรียนด้านนี้ เธอค่อยใส่ความรู้ให้ตามลำดับ เริ่มจากบอกสรรพคุณสมุนไพรสอนนวด ที่สำคัญย้ำว่าคนที่รักษาคนได้ต้องมิจิตใจเมตตา และคุณธรรม หลายอย่าง

“เราตั้งชมรมเองออกเงินเราเอง เพราะไม่อยากให้ภูมิปัญญาตรงนี้สูญหายไป”

สมัยก่อน การถ่ายทอดแพทย์แผนไทย ผู้สอนจะบอกไม่หมด แต่สุติมาสอนหมด และมีแนวคิดทำเป็นสารานุกรม ทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติ ที่ใช้รักษาได้ผลเชิงคุณภาพ นอกจากนั้นแพทย์แผนไทยมักต้องใช้คาถา เธอจะมีคาถาที่สืบทอดมานานเช่นเดียวกัน อย่างการนวด จะมีคาถาป้องกันไม่ให้โรคคนป่วยมาสู่หมอ และของหมอไปสู่คนป่วย ก่อนนวดหมอต้องตื่นมาละหมาดตอนตี 2-4 ตอนรักษาต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อเป็นเกราะป้องกันอีก

“มีคนป่วยคนหนึ่งมาหาเขาเป็นซาง คือเขาทำงานห้องเอกเรย์แต่เชื่อแพทย์แผนไทย เราแค่สัมผัสใช้คาถาเขาก็หาย แสดงว่ามีจิตใจที่ทำให้หาย มันเหนือจากธรรมชาติ ไม่สามารถพิสูจน์ได้”

ทุกวันนี้ลูกศิษย์ของเธอมีความรู้พื้นฐานทางแพทย์แผนไทย ระดับหนึ่ง พร้อมสำหรับหาโอกาสศึกษาต่อในเรื่องนี้

“ที่แน่นอนเขาจะรู้ว่าสรรพคุณสมุนไพร แต่ละอย่างนั้นสามารถรักษาโรคอะไรได้บ้างอย่างพริกไทยบำรุงธาตุขับลม อันนี้จะเขาบอกได้ ตอนกรรมการคัด อสม.ดีเด่นลงพื้นที่มาตรวจสอบ น้องๆ พากันลาโรงเรียน มาช่วยให้ข้อมูลจนเราได้รางวัล ซึ่งเราอดภูมิใจไม่ได้”

สุติมายังสอนแม่บ้านมาทำลูกประคบ น้ำมันนวด นอกจากได้ผลทางสุขภาพยังทำให้ พวกเขามีทำให้มีรายได้ยามว่าง ผลผลิตส่งขายที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านของเธอเอง หรือเอาไว้ใช้เองเป็นยาสามัญประจำบ้าน

กลุ่มผู้สูงอายุ เธอไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสอนเรื่องสมุนไพร ว่ากินพืชสมุนไพรที่มีอยู่ข้างบ้านอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ

“บทบาท อสม.เรารับผิดชอบ 11 ครัวเรือน ซึ่งถือว่ามากกว่าเพื่อน ใครเกิดเวลาไหนก็จะไป คนแก่ คนพิการ ก็พาไปจดทะเบียน ตอนนี้มีคนเกิดใหม่ 3 คน คนแก่ 60 ปี ขึ้นไปประมาณ 4 คน แล้วก็เด็ก พิการ 1 คน”

นอกจากวิชาทางแพทย์แผนไทยไปช่วยงาน อสม.เธอประยุกต์กับความรู้สมัยใหม่ อย่างคนพิการเธอแนะนำว่าอยู่เฉย ต้องเคลื่อนไหว ทำกายภาพบำบัด คนแก่ซึมเศร้าใช้วิชาทางจิตวิทยาไปคุยให้สนุกสนาน กินข้าวได้ ให้เขายิ้ม วัด ความดันให้ เอาขนมไปฝาก เอาเงินของทางราชการไปให้ หรือบางทีให้เงินตัวเองไปด้วย

สุติมาเล่าว่าวิชาหมอพื้นบ้านของแม่ ถือว่า เป็นของเก่าดั้งเดิม แต่เมื่อเธอเรียนแพทย์แผนไทยอย่างเป็นระบบมาก็ไม่ได้ทิ้งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ หลักจึงเอาจุดเด่นประยุกต์เข้าหา

“พบว่าของมะดีกว่า แต่มะ อาจไม่รู้จักประยุกต์ ตามประสาชาวบ้านเดิมๆ

พอไปเรียนทำให้นำมาผสมผสานพัฒนาได้อย่างยาของมะ ต้มอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันชาวบ้านไม่สะดวกกับการต้มยา ทำอย่างไรให้สะดวกกับการกิน พกพาไปไหนได้ ก็ต้องทำเป็นแคปซูล เป็นลูกกลอน เป็นผง” บ้านของสุติมานอกจากเป็นศูนย์เรียนรู้แพทย์แผนไทย เธอเปิดเป็นคลินิกแพทย์แผนไทย โดยผู้ป่วยต้องโทรมานัดล่วงหน้า ทางยาเธอคิดสูตรสมุนไพรขึ้นมาหลายตัว เช่นยาหม่องซึ่งกำลังได้รับการตอบรับกว้างขวาง ยาสระผม สำหรับสร้างเซลผมขึ้นใหม่ สบู่ เหล่านี้เธอประยุกต์สูตรสมุนไพรจากแม่และยายผู้ซึ่งผมไม่เป็นหงอกและร่างกายแข็งแรงแม้ยามวัยชรา

“ถ้ามองอีกอย่างที่เขาแข็งแรงเพราะ กินของง่ายๆ อย่างของข้างบ้าน

มะชอบกินใบยอ มะเขือพวง ดอกแคยอดแค กินน้ำชุบ ของลวก ปลา ทอด ไม่กินอย่างอื่น กล้วยของชอบ มะไม่กินนม แต่แข็งแรง อย่างแกงส้ม เป็นยาหม้อที่ดีที่ หนึ่ง ต้มยำ มีสมุนไพรมาก แต่ทุกวันนี้เรามักไปกินแบบตะวันตก มีแต่จะทำให้อ้วนและเป็นโรค”

เธอฝันว่าถ้าแพทย์แผนปัจจุบัน กับแพทย์แผนไทยมาประยุกต์รวมกัน น่าจะเกิดผลดีที่สุด เพราะ แต่ละส่วนมีจุดเด่น ความเก่งในแต่ละด้านที่ไม่เหมือนกัน

“ยกตัวอย่างว่าเส้นทับกระดูกซึ่งต้องผ่าตัด ประสบการณ์ตัวเองบอกได้เลยว่า ไม่ต้องผ่าให้เจ็บตัวคนทุกวันนี้มองที่ปลายเหตุอย่างเดียว โดยไม่มองว่าต้นเหตุ ทำไมจึงเส้นทับ เช่น เพราะเขานั่งนานเกิน จนตำแหน่งของเส้นมันเปลี่ยนไป”

โรคชิคุนกุนยา เธอบอกว่าในทางแพทย์แผนไทยโรคนี้มันมีมานานแล้วไม่รู้กี่พันปี แต่ไม่คิดถึงว่าเชื้อมันจะเวียนกลับมา เรื่องนี้ในคัมภีร์ตักศิลาเขียนเอาไว้หมดแล้ว ว่าต้องกระทุ้งพิษให้หมดก่อนแล้วจึงจะให้ยา แก้ไข้ ขั้นตอนรักษาไม่รีบร้อน เพราะเป็นโรคโบราณ ถ้ารักษา ตามแบบโบราณหลายขั้นตอน จะหายขาด มั่นคง ไม่ใช่ว่าหายไข้ชิคุนกุนยาแล้วยังปวดเข่า ซึ่งถือว่ายังไม่หาย

คนคลอดลูกในโรงพยาบาลอาจมีปัญหาโรคเรื้อรังหลายอย่างตามมาแต่คนสมัยก่อนเน้นให้เกิดเองเพื่อที่จะเอาของเสียในร่างกายออก กินยาขับเลือด ขับน้ำคาวปลา ให้อยู่ไฟ

“เรามีของดี แต่ไม่ได้เอามาใช้ ซึ่งไข้บางอย่างต้องใช้แผนโบราณ ความคิดตัวเองเป็นอย่างนั้น”

เธอเล่าถึงคนไข้รายหนึ่งซึ่งหมอแผนปัจจุบันบอกว่าเป็นต้อ ต้องผ่าตัด เมื่อมาหาเธอถามว่าเคยไข้สูง ร้อน ตาแดง ต้อเกิดขึ้นมาหลังไข้ใช่หรือไม่ จากการวินิจฉัยใหม่แบบแผนไทย แล้วให้ยากระทุ้งพิษก็หายได้ เธอมองว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะแพทย์ปัจจุบันวินิจฉัยเฉพาะตาอย่างเดียว ไม่ได้มองแบบองค์รวม

“การต่อกระดูกต้องผ่ากี่ครั้ง ต้องผ่าเอาเหล็กเข้าไปทีหนึ่งแล้วผ่าเอาเหล็กออกอีกครั้งหนึ่งเป็นแผลเป็น แต่หมอโบราณทำโดยไม่ต้องผ่าอะไรเลย และยังติดเร็วกว่าอีก”

อย่างไรก็ตามเธอยอมรับว่าจุดอ่อนจุดแข็ง ระหว่างแผนปัจจุบันและแผนไทย ก็มีต่างกันอยู่มาก อย่างแผนปัจจุบันสามารถเวชระเบียนผู้ป่วยได้ละเอียดขณะแผนไทยยังไม่ค่อยได้ทำตรงนี้เท่าใดนัก เธอจึงพยายามปรับปรุงระบบเวชระเบียน เพราะข้อมูลไม่ครบทำให้วินิจฉัยโรคผิดนับว่าเป็นบาปอย่างหนึ่ง

หลักสำคัญของคนเป็นหมอต้องมีคุณธรรม รักษาโดยไม่มีข้อแม้

“ตัวเองเชื่อปรัชญาแพทย์แผนไทยเพราะอ่านคัมภีร์อัลกุรอานมาตั้งแต่เด็กๆซึ่ง จะมีการอธิบายความหมายเรื่องแบบนี้ เอาไว้แล้ว แม้ว่าไตรปิฎกของศาสนาพุทธ และไบเบิล ของคริสต์ ก็จะบอกเรื่องแบบนี้เอาไว้เช่นกัน จะมีสิ่งดีเปรียบเทียบไว้ คนดีๆ จิตใจดี มักไม่ค่อยเป็นอะไร คนต้องมีคุณธรรม เรื่องสุขภาพเชื่อมโยงกับศาสนาทุกศาสนา” บทบาทอีกอย่างหนึ่งของสุติมาทุกวันนี้ คือเป็นอาจารย์สอน ที่ คณะแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มองถึงอนาคตของตัวเองว่า อยากเรียนรู้ต่อไปเพื่อพัฒนาคน

ทุกวันนี้แม้ว่าทางราชการจะมายกป้ายให้ที่บ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ แต่เธอมองว่าเหมือนกับยังไม่มีความพร้อมสำหรับผู้ต้องการมาเรียนรู้เท่าใดนัก ในความคิดเธอศูนย์เรียนรู้ต้องจัดให้มีห้องเรียน โต๊ะ เก้าอี้ สำหรับคนทั่วไปมาเรียนทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อเธอได้สืบทอดภูมิปัญญาอย่างชัดเจน

เธอมองอีกมุมหนึ่งว่าทุกวันนี้ การใช้ยาแผนไทย เป็นไปตามกระแส โดยไม่มีความรู้ การใช้ยาสมุนไพรไม่ถูกวิธี ก็มีผลข้างเคียง

“หลักการทำยา สมุนไพร มี 4 อย่าง คือยาตัวตรง ตัวแทรก ตัวตาม ตัวคุม การทำยาแบบนี้รักษาคนได้ แต่ตัวยาบางอย่างจะกินเดี่ยว มักมีผลข้างเคียง ต้องมีตัวแก้ ตัวเสริม ต้องดูคนเป็นหลัก ต้องดูสุขภาพ คนๆนั้นไม่ดี มีโรคอื่นแทรก อย่างมะรุมที่คนกำลังนิยมกันอยู่อาจมีปัญหา”

ตามหลักแพทย์แผนไทยการกินอะไรสักอย่าง ต้องลำดับแต่ต้นเหตุว่าคนนั้นเป็นโรคอะไรมาก่อน อย่างเป็นโรคไต ต้องรักษาไต ก่อนจึงจะมากินสมุนไพรบางอย่าง อย่าง ฟ้าทะลายโจรกินเดี่ยวๆ ถ้า ต่อเนื่องกัน 7-15 วัน ทำให้หลอดเลือดหัวใจขยายขึ้น การทำงานหัวใจจะหนัก อาจทำให้หัวใจพิการได้ แต่ถ้าเราเอาตัวยาบำรุงหัวใจใส่ ก็แก้ได้ สำหรับสุติมาสิ่งที่ประทับใจในชีวิตเธอคือรักษาโรคให้หาย นั่นคือความสบายใจ ความภูมิใจ สุขแบบที่ไม่สามารถบอกใครได้.

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว