สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

คลองหอยโข่งเปิดลานสะบ้า ฟื้นกีฬาเชิงวัฒนธรรม

by กล้วยหวาน @27 ต.ค. 52 11:20 ( IP : 222...233 ) | Tags : แนะนำเครือข่าย

หลังเที่ยง 8 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง เลขที่ 3/3 ม.1 บ้านจอมหรำ ต.คลองหอยโข่ง อ.คลองหอยโข่ง นักกีฬาสะบ้าหลายชีวิต ใจจดจ่อเฝ้ารอเวลาสำคัญ

กระทั่งอาจารย์นครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติ ประเดิมยิงสะบ้าเปิดลานใหม่ นิมิตหมายว่ากีฬาพื้นบ้านชนิดนี้กำลังกลับมาอีกครั้งหลังจากห่างหายไปร่วม 40 ปี

สายลมอดีตพัดความตื่นเต้นแห่งวัยหนุ่มกลับมาสู่นักเล่นสะบ้ามือหนึ่งจากแต่ละถิ่นที่มารวมตัวกันวันนั้น บนลานดินสีส้มจาง เรียบเนียน สะอาด กลับทันสมัยอีกระดับด้วยกระดานจดคะแนน ขึ้นรายชื่อผู้กำลังลงแข่ง มีชื่อ เกษม ,ชัย ,แหล้ม ,อุบล ,หะฝี ,เจือ ,วิบูลย์ ,ไล่ ...

ถ้าจัดอันดับมือวางสะบ้าของสงขลา เขาเหล่านี้คงติดอยู่ในอันดับต้นๆ ผิดกับผู้ชมเกาะขอบสนามส่วนใหญ่เป็นเยาวชนผู้ไม่เคยได้ยินหรือเห็นกีฬาชนิดนี้มาก่อน จ้องมองอย่างสนใจ พร้อมวิพากษ์วิจารณ์เทียบเคียงว่า คล้ายประเภทกีฬาใดที่เขาคุ้นเคย เมื่อการแข่งขันเริ่มต้นเสียงกระทบของลูกต่อลูกเสียงดังผ๊ากกก!เผยพลังซ่อนเร้นของเมล็ดเล็กๆ สีดำ เสนาะหูนักสะบ้ายิ่งนัก

สุรศิษฏ์ มุสิกะไชยกรรมการโครงการลานสะบ้ากีฬาเพื่อสุขภาพอำเภอคลองหอยโข่ง รับบทนักพากย์ ประจำสนามค่อยอธิบายกฎ กติกา มารยาทของกีฬาท้องถิ่นชนิดนี้ อย่างสนุกสนาน ตัวเขาเองคืออีกหนึ่งนักสะบ้า

ศัพท์แสงทางสะบ้านับว่ามีอยู่มาก จะว่าไปคล้ายภาษากีฬากอล์ฟที่พูดกันได้ไม่รู้จบ

เสียงผ๊าก ยังดังอยู่ต่อเนื่อง เสียงอุทานอย่างตื่นตะลึงในฝีมือที่ถูกลืมเลือนจนเกือบหายไปกับกาลเวลา และเสียงปรบมือแห่งปัจจุบัน ทำให้ลานสะบ้ากลับมามีชีวิตเหมือน 40 กว่าปีก่อน สุรศิษฏ์วางไมโครโฟนชั่วคราว ปลีกตัวมานั่งเล่าเรื่องราวความเป็นไปเป็นมาอีกครั้ง

“วันนี้ถือว่าเป็นการเปิดลาน ต่อไปจะเป็นการเลือกเฟ้นผู้ที่จะมาเล่นจากเครือข่ายคงเน้นบุคคลในพื้นที่ก่อนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ”

สุรศิษฏ์เล่าว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ ต้องการยกระดับจากสิ่งที่ชาวบ้านไม่สนใจแล้ว กลับมาเล่นเพื่อออกกำลังกาย เมื่อเกิดตรงนี้เป็นจุดแรก ต้องการขยายกิจกรรมนี้ออกไปในอำเภอคลองหอยโข่ง ตรงไหนมีผู้สนใจกีฬาชนิดนี้พร้อมเข้าไปสนับสนุนสร้างลานฝึก แนะนำสาธิตการเล่น โดยเฉพาะ กับเด็กๆ และเยาวชน

“ในกลุ่มเด็กเราอยากผลักดันเป็นกีฬาในโรงเรียนเช่นบรรจุในโปรแกรมการแข่งขันกีฬาสี ต่อไปในอนาคต” แม้ใจอยากถ่ายทอดกีฬาพื้นบ้านชนิดนี้ไปสู่เยาวชน แต่ยังสุรศิษฏ์อดกังวลว่าเด็กรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจ

“เด็กรุ่นผมไม่มีที่เที่ยวไหน ก็มาเล่นอยู่หน้าลานสะบ้า ผู้ใหญ่เขากลัวจะยุ่ง เขาก็ทำลานสะบ้าเล็กๆ เอาไว้ให้เด็กที่เล่นอยู่ใกล้ๆกันนั้น ให้เด็กฝึกยิงเล่น เรียกว่ายิงสะบ้าคลานช้าง สองฝ่ายอยู่ห่างกันสัก 3-4 เมตร ปักลูกสะบ้าไว้ ใช้ลูกเกยอันเดียว ผลัดกันยิงไปยิงมาให้ถูกลูกไม้เป้าหมาย ใครแพ้ต้องคลานมารับ อีกฝ่ายให้ขี่หลัง วนรอบลาน เป็นการละเล่นของเด็กที่ฝึกสะบ้าไปด้วย”

ในชีวิตจริงสุรศิษฏ์เลิกเล่นสะบ้ามา 26 ปี การเปิดลานสะบ้าขึ้นมาอีกครั้ง เป็นโอกาสให้ได้เชิญชวนเพื่อนนักสะบ้ารุ่นราวคราวเดียวมาพบกันอีกครั้ง พวกเขามาจากหลายที่ในสงขลาไม่ว่า บ้านเกาะปลัก (ต.ทุ่งใหญ่) บ้านนาหลา (ต. ท่าข้าม ) ต.ทุ่งขมิ้น ต. บ้านพรุ และจากบ้านยางเกาะ (อ.สะเดา) รู้หน้า รู้ฝีมือกันแม้อดีตการไปมาหาสู่ลำบากกว่าปัจจุบันหลายเท่า ปรากฏว่านักสะบ้าตระเวนเดินทางเล่นกันไปทั่ว จนเกิดเป็นความผูกพันทางสังคม

“ทีมจากยางเกาะอาจจะเคยมาเล่นที่ท่าข้าม คนไม่เคยรู้จักกัน ก็ได้มารู้จักกัน คนไม่ได้เป็นญาติพี่น้องอะไรมารู้จักระดับส่งบัตรเชิญ บอกงาน(เชิญไปร่วมงานประเพณี งานบุญ)กันถือว่าได้เรื่องสังคม”

การเล่นสะบ้าเป็นกีฬาที่เน้นความสามัคคี ช่วยเหลือกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยอยู่ในหลายขั้นตอน เช่นช่วยกันปักลูกลงดิน หรือจิตวิญญาณของเกมที่แม้ว่ารู้ฝีมือกันว่าใครเก่งกว่าใคร แต่ไม่ได้ถือว่าเสียเปรียบไม่มีใครคิดว่าถ้าเล่นกับคน เก่งจะเสียท่าและเสียเงิน ถ้ามีการพนัน!

การเล่นสะบ้านับจากอดีตมักเกี่ยวข้องกับการพนันผิดกฎหมาย แต่การเล่นพนันสะบ้าวงเงินน้อย“ผมเองคลุกในวงการตั้งแต่เด็กพ่อบอกว่าถ้าจะเล่นการพนัน ให้เล่นอย่างเดียวคือสะบ้า เพราะจะไม่เดือดร้อนกับครอบครัว ผมพยายามเสนอทุกคนว่านี่ไม่ใช่การพนัน อาจเล่นกันนิดหน่อยเพื่อเสริมกำลังใจ ให้สนุกสนาน สร้างความเข้มข้นของเกม สิ่งที่ได้คือความสนุกสนานเพลิดเพลิน พบปะสังสังสรรค์พูดคุย ถามสารทุกข์ สุขดิบ เดินออกกำลังกายนับเป็นจุดประสงค์ในปัจจุบัน”

เขาเห็นว่าใครมองว่าการเล่นสะบ้าแค่การพนัน ถือว่าน่าเสียดาย เพราะ เป็นวัฒนธรรม ท้องถิ่นทางภาคใต้อย่างหนึ่งที่มีเรื่องวิถีชีวิต กีฬา ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม ครบถ้วน ในภาคใต้มีการเล่นหลายพื้นที่ เทคนิคการเล่นหลากหลายวิธีการ มีแบบฉบับเป็นของตัวเอง เช่นเมืองตรังใช้แบบโยน หรือทอย ข้ามศรีษะโดยท่าบังคับต่าง ๆ หรือทางสุราษฏร์ธานีก็จะเล่นไปอีกแบบ

สุรศิษฏ์ มองว่าการเล่นสะบ้าทำให้เกิดการบริหารร่างกายชัดเจน เขาชี้ให้ดูพรรคพวกที่กำลังเล่น ชี้ให้เห็นว่า มีการยืดหยุ่นร่างกายด้วยท่านั่งยิงแบบต่างๆ ตลอดการเล่น มีการนั่ง ลุกขึ้น ก้มตัว เดิน หยิบลูกการยิงลูก ต้องใช้ นิ้วชี้และหัวแม่มือ เกร็งกล้ามเนื้อ ออกแรง สายตาต้องจ้องมองคาดคะเนทางเดินของลูกซึ่งอาจพาดนอนหรือไซด์โค้ง

“การเล่นสะบ้า คือโบลิ่งผสมกอล์ฟ การยิงวิถีตรงไม่ได้คะแนนต้องโค้งจึงจะกินลูกซึ่งอาศัยฝีมือและการฝึกฝน” เนื่องจากเป็นกีฬาที่ถ้าเหนื่อยก็หยุดพักได้ตลอด จึงเหมาะกับคนสูงอายุ

“เรากำลังส่งเสริมให้คน 60-70 ปี ตกเย็นแทนที่จะนั่งกินเหล้าใต้ถุนบ้านหรือตามร้าน มายิงบ้าดีกว่าผมวางระเบียบในการเล่นด้วยว่าห้ามกินเหล้า ในลานสะบ้าซึ่งแข่งขันต้องมีสามัคคีธรรม ห้ามมีปากเสียง ห้ามทะเลาะกัน ใครมีปากเสียงกันผมให้หยุด ออกนั่งข้างนอกสงบสติอารมณ์ก่อน”

แผนการดำเนินการลำดับต่อไปของลานสะบ้ากีฬาเพื่อสุขภาพคลองหอยโข่ง ต้องการชักชวนคนสนใจมาเล่น กำหนดเป็นทุกช่วงเย็น เสาร์ -อาทิตย์ ระยะแรกเน้นการฝึกทักษะการเล่น โดยสุรศิษฏ์รับเป็นผู้สอนและเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เมื่อได้รับความสนใจระดับหนึ่งจึงจะค่อยขยายออกไปตามพื้นที่ ซึ่งน่าจะผุดสนามเล็กๆในพื้นที่ตามบ้านเครือข่าย

“แต่เดิมมักใช้ลานดินธรรมชาติ แต่สถานที่แบบนั้นหายากแล้ว อย่างสนามนี้ ต้องหาดินแดงละเอียดมาอัด บด กันอยู่หลายวันกว่าจะลงตัว ส่วนเรื่องฝึกทักษะ ความแม่น ฝึกนิ้ว สมัยก่อนเขามีการนวด มีสมุนไพรเฉพาะ เพราะความแข็งของมือ จะเป็นเรื่องสำคัญ ใครมือแข็งได้เปรียบ”

สุรศิษฏ์เล่าว่าเคยฟังเรื่องของคนๆหนึ่งป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ตอนหลังลงมาเล่นสะบ้าต่อเนื่อง 3 เดือนกลับหายเป็นปกติ นับว่าเป็นกรณีศึกษาน่าสนใจ จากการที่เราได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมกรณีดังกล่าวพบว่าเกิดขึ้นราว 10 กว่าปีก่อน ผู้ป่วยชื่อว่า “อ่วม” อยู่ที่บ้านวังปลิง ต.เขามีเกียรติ อ.สะเดา ขณะนายอ่วมอายุ 60 ปี มีอาการอัมพฤกษ์ ได้ลงมาหัดเล่นสะบ้า ในลานสะบ้าของหมู่บ้าน จากที่เขาไม่เคยเล่นมาก่อนฝึกจนเล่นเป็น ผู้ใกล้ชิดยืนยันว่าอาการอัมพฤกษ์นายอ่วมได้หายจริงหลังจากเล่นสะบ้า แต่นายอ่วมมาเสียชีวิตด้วยโรคอื่นเมื่ออายุราว 72 ปี ส่วนลานสะบ้าที่บ้านวังปลิงทุกวันนี้ก็ไม่มีแล้ว เพราะสถานที่ดังกล่าวนำไปปลูกสร้างบ้านเรือน

นอกจากผลทางกายแล้ว ทางจิตใจและอารมณ์ สะบ้านับว่าให้ความบันเทิง ทำให้เห็นเรื่องการแพ้ชนะ เป็นธรรมดา ควบคุมอารมณ์ อดทน รู้ใจเขาใจเรา น้ำใจนักกีฬา ยับยั้งอารมณ์ ผลในทางสังคมดังกล่าวแล้วว่า มีการพบปะสังสรรค์ระหว่างผู้เล่น ผู้ชมในชุมชนต่างๆ เกิดความรัก สามัคคี ไม่ขัดแย้ง และเหลื่อมล้ำทางสังคม และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทัศนคติที่ดีต่อกัน

การเล่นสะบ้าสะท้อนภูมิปัญญาคนโบราณหลายแขนง มุมหนึ่งในนั้นสุรศิษฏ์เล่าว่าแฝงด้วยเรื่องไสยศาสตร์ อย่างการขันแข่งสุดยอดฝีมือ นอกจากฝีมือการเล่น ต้องมีวิชาทางไสยศาสตร์ อยู่ด้วย คนไหนที่เป็นยอดฝีมือ จะถูกคู่ต่อสู้แกล้ง มีการใช้คาถา ต่างๆ อย่างการหักนิ้ว วิธีการฝ่ายที่ทำใช้ไม้แห้งๆ มาบริกรรมคาถา พอคู่ต่อสู้ทำท่าจะยิงก็หักไม้เปาะเดียว นิ้วฝ่ายเป้าหมายจะเสียเล่นต่อไม่ได้ คนที่ถูกหักนิ้วก็ต้องหา ผู้รู้ที่จะแก้เพื่อให้หาย หรือหายาสมุนไพรบางชนิดมารักษา ไสยศาสตร์อีกทางหนึ่งเรียกว่าคาถาสังสูน ใครฝึกตรงนี้จะยิงถูกเป้าหมายเสมอ เป็นคาถาในวงการนักเลง แต่ถูกดึงมาใช้ในสะบ้า ส่วน “ม๊อบ” เป็นการสู้ด้วยอาคม กรณีลูกสะบ้าปักในดิน เห็นวางเฉยๆ แต่โดนยิงอย่างไรก็ไม่ล้ม

“ที่เล่าเพราะผมเห็นมากับตาแต่มายุคหลังจะไม่ค่อยมี แต่นี่เล่นเราเพื่อสุขภาพจะไม่มีเรื่องพวกนั้นมาเกี่ยวข้อง” เปิดลานสะบ้าเพื่อสุขภาพขึ้นมาแล้วอย่างเป็นทางการวันนี้ สุรศิษฏ์ อยากชวนคนทั่วไปที่สนใจมาเล่นพื้นที่ มาเล่นสะบ้าเพื่อสุขภาพ โดยทางกลุ่มยินดีเปิดรับ

“หลายคนสนใจอยากเปิดกิจกรรมแบบนี้ในพื้นที่แต่ไม่มีความรู้ ผมบอกว่า เราพร้อมช่วยฝึก เตรียมอุปกรณ์ ดูแลทำลานให้ สอนกฎ กติกา หลักการ สำหรับลูกสะบ้าบางแห่งปลูกเอาไว้เขตป่า แถวสำนักหว้า วังปลิง นาทวี ยังหาได้ สตูลยังมี”

ด้าน สิริพล สัจจาพันธ์ เครือข่ายสื่อภาคประชาชน ซึ่งมาร่วมเสวนาเปิดลานสะบ้าคลองหอยโข่ง ร่วมกับ อาจารย์นครินทร์ ชาทอง สุรศิษฏ์ มุสิกะไชย ประเสริฐ รักษ์วงศ์ โดยมีชัยวุฒิ เกิดชื่น เป็นผู้ดำเนินรายการ มองว่าการเล่นสะบ้าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง วัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับชีวิต เป็นกระบวนทั้งหมดของคน เป็นองค์รวม การเคลื่อนทางศิลปวัฒนธรรมจะทำให้ไปถึงสุขภาวะทางปัญญาในที่สุด.


เล่น “บ้า” ไม่ “บ้า”

สะบ้า หรือ คนใต้เรียกว่า “บ้า” เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ลักษณะเป็นเถาขนาดใหญ่ งอกตามธรรมชาติในป่าใหญ่ที่ปกคลุมด้วยไม้สูง

ผลของสะบ้าเป็นฝักแบนยาวคล้ายสะตอ เมล็ดกลมแบนเรียงไปตามยาวของฝัก แต่ละฝักมีเมล็ดประมาณ 5 เมล็ด เมล็ดเมื่ออ่อนมีความนิ่ม เมื่อสุกจะเหนียว และแข็งคล้ายเขาควาย เส้นผ่าศูนย์กลางราว 3 เซนติเมตร

ชาวบ้านนำสะบ้ามาใช้ประโยชน์หลายอย่าง สมัยก่อนนำเถามาทุบให้ช้ำ ผึ่งแดดพอเหี่ยว นำไปชุบน้ำขยี้ให้เกิดฟอง ใช้สระผมแก้รังแค และคันศีรษะ บางท้องถิ่นนิยมนำไปฟอกศีรษะให้กับศพ โดยมีคติว่าถ้านำไปฟอกศีรษะศพจะต้องตัดสะบ้าให้ขาดนำมาเป็นท่อน แต่ถ้านำมาสระผมคนเป็นต้องกะเทาะเอาเถาสะบ้าเพียงบางส่วน ไม่ให้เถาขาด

เถาสะบ้ายังใช้คั้นเอาน้ำผสมยาอื่นกินแก้ไส้เลื่อน เยื่อในสะบ้ามีพิษเมา หมอแผนไทยนิยมนำมาฆ่าเชื้อโรค รักษาหิด กลาก โดยตำเป็นผงผสมกับเถากลอยเล่นลม แล้วเคี่ยวน้ำมันมะพร้าวนำไปใช้ทา

เมล็ดสะบ้าเผาไฟให้แดงเหมือนถ่านกำลังลุกโชน นำไปจุ่มในน้ำสะอาดทิ้งไว้ราว 2 ชั่วโมงกรองให้สะอาด ใช้สำหรับเด็กเป็นตานขโมยดื่มก่อนนอน เพื่อขับพยาธิ

ผลสะบ้าเปลือกแข็งและผิวเรียบ คนโบราณใช้ไม้ตอกส่วนที่แบนข้างหนึ่ง ไม่ให้ทะลุทำเป็นแกนหมุนแล้วใช้มือผัดแกน ให้หน้าผลสะบ้าอีกด้านสมผัสบนแผ่นสมุดข่อย เพื่อให้เกิดความเรียบ ก่อนจะพับเป็นเล่มเพื่อใช้เขียนหนังสือ

เถาสะบ้าฉีกเป็นเส้นเล็กๆ ใช้ผูกมัดสิ่งของ

สะบ้าเป็นกีฬาพื้นเมืองอย่างหนึ่ง ของภาคใต้ ในงานเทศกาลอย่างสงกรานต์

อุปกรณ์ มี ลูกสะบ้า ที่ใช้ปักเป็นเป้าสำหรับยิงเรียกว่า “ลูกขี้ตั้ง” หรือลูกตั้ง จำนวน 10-20 ลูก

ส่วนที่ใช้ยิงลูกสะบ้า อาจเลือกลูกสะบ้าขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “บ้าหยัง” หรือาจนำแกนไม้มาตกแต่งให้เหมือนลูกสะบ้า หรือใชโลหะมาทำ โดยให้ข้างในกลวง บางแห่งใช้เขาควายตัดเป็นวง หรือแม้แต่หอยโข่ง สิ่งที่ใช้เป็นลูกยิงนี้เรียกว่า “ลูกเกย” บางแห่งนำหินหรือไม้แก่นมาแต่งให้กลม ขนาดเท่าปลีน่องเรียกว่าลูกกลิ้งหรือลูกคุง สำหรับใช้กลิ้งหรือโยน

สถานที่เล่นสะบ้า

มักใช้ลานดินเรียบในบริเวณที่ร่ม เรียกว่า ลานบ้า มี 2 แบบ แบบหนึ่งใช้ในการเล่นสะบ้าชุด สะบ้าหลาก และสะบ้าคุ้ม ขนาด 2.5x 3เมตร ขุดลึกลงดินราว 15 เซนติเมตร ปลายลานลาดต่ำกว่าด้านต้นลานเล็กน้อย และทำเป็นคัดดินโค้ง ด้านหลังสุดของปลายลานขุดเป็นร่องตื้นๆ ตามแนวขวางเพื่อรับลูกสะบ้าที่ถูกยิง ตัวลานลาดด้วยดินเหนียวทุบแน่น แข็งและเรียบ ลานสะบ้าอีกแบบหนึ่ง ขนาด 3x20 เมตรเป็นลานพื้นดินธรรมดา เพียงแต่ตกแต่งให้เรียบเสมอ และแน่น

ลานสะบ้ามักทำขึ้นเป็นการชั่วคราวเพราะเดิมมักเล่นตามเทศกาล บางแห่งที่เชื่อทางไสยศาสตร์จะไม่ทำในเขตที่พักอาศัย เพราะสะบ้ามักมีการพนัน คู่พนันอาจใช้เวทย์มนต์คาถา ภูตผีปีศาจ ปล่อยตรึงไว้กับสถานที่ อาจเป็นโทษแก่เจ้าของบ้านในภายหลัง

วิธีการเล่น

ปักลูกขี้ตั้งเป็นแถวตามแต่รูปแบบการเล่นแต่ละประเภทกำหนด ระยะห่างแต่ละลูกประมาณ 3- 5 นิ้ว แถวลูกขี้ตั้งเรียกว่า “เน็จ” ลูกสะบ้าริมสุด 2 ข้างเรียกว่า “หู” แบ่งเป็นหูซ้าย-ขวา ลูกขี้ตั้งระหว่างหูซ้าย-ขวาเรียกว่า “ช่องกลาง”

ในการปักลูกสะบ้าจะขุดเน็จคือขุดดินให้พอวางลูกสะบ้าด้านข้างให้ทรงตัวได้มั่นคง แล้วเอาลูกสะบ้าปักลงไปเรียกว่า “ปักเป้า” ต้องได้ระดับแถวเสมอกันตลอด

การยิงสะบ้า มี 2 วิธี วิธีแรกใช้ลูกเกย จับขอบลูกเกยด้วยนิ้วหัวแม่มือ ให้ด้านแบนเข้าหาฝ่ามือ บางคนใช้นิ้วชี้กับหัวแม่มือ บางคนจับทั้ง 5 นิ้วใช้นิ้วชี้อีกมือหนึ่งสอดใต้ลูกเกยด้านตรงข้ามกับหัวแม่มือดันให้ ลูกเกยหลุดจากมือ หมุนอย่างเร็ว เพื่อพุ่งเข้าหาเน็จเพื่อทำให้แถวลูกขี้ตั้งล้มลงอีกวิธีหนึ่งใช้กับลูกคุง จับด้วยมือ 2 ข้าง โยนให้กลิ้งไปยังเน็จ

ผลแพ้ชนะจะดูที่การทำให้ลูกขี้ตั้งล้มลงมากกว่ากัน ซึ่งรายละเอียดตามแต่จะตกลงกันว่าอย่างไร

การยิงจะยิงเป็นชุด แต่ละชุดเรียกว่า “ดาน” ในการเล่นสะบ้ามีศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกอีกหลายคำ เช่น ยิงเลื้อย ยิงหล็อกก๊อกแก็ก ยิงเพาะ ยิงแตก ยิงฉีกหู บ้าถีบ บ้าฟันหัก เป็นต้น ผู้สนใจสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากการฝึกฝนและเล่นจริง.

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว