สงขลาพอเพียง : เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา - Songkhla Health

หนุนเสริมภาคี ประสานความร่วมมือ

โฆษ กสธ. แนะบริโภคเนื้อปลา-อาหารไขมันต่ำเพื่อปรับสภาพ หลังออกเจ

by boonruaing @26 ต.ค. 52 11:53 ( IP : 114...118 ) | Tags : ข่าวสุขภาพประจำวัน

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพประชาชนหลังออกเจ แนะในระยะเริ่มแรกควรเริ่มกินอาหารจำพวกปลา เพราะย่อยง่าย มีไขมันต่ำ เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพการย่อยและดูดซึมอาหารให้กลับสู่สภาวะปกติ พร้อมแนะประชาชนถือโอกาสวันออกเจ ปรับพฤติกรรมกินอาหาร โดยให้ชั่งน้ำหนักตัว หากเพิ่มขึ้นในช่วงกินเจ ต้องปรับเมนูชนิดไร้ไขมันหรือไขมันต่ำแทน

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมตัวออกเจ ของประชาชนที่กินเจ เป็นเวลา 9 วัน เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2552 ซึ่งจะออกวันที่ 26 ตุลาคม 2552 ว่าการกินผักติดต่อกันมานานถึง 9 วัน ได้ส่งผลให้ร่างกายปรับระบบการย่อยอาหารจากย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักแทน แต่เมื่อหันกลับมากินเนื้อสัตว์แบบเดิม จะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันได้ ดังนั้น อาหารหลังออกเจในระยะเริ่มแรกควรเริ่มด้วยอาหารที่ย่อยง่าย

โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ควรเน้นการกินปลา ไข่ และนม แทนก่อนแล้วจึงค่อยๆ เริ่มกินเนื้อไก่ หมู และวัว ตามลำดับ เพราะปลาเป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นผลดีต่อสุขภาพ ป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือดได้ เมนูปลาที่รับประทานควรเป็นประเภทต้ม นึ่ง ย่าง แทนการทอด แต่ถ้าต้องการกินผลิตภัณฑ์ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น เต้าหู้และโปรตีนเกษตรแทนเนื้อสัตว์ต่อไป ก็ไม่เสียหาย แต่แนะให้ดื่มนมและกินไข่ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ได้โปรตีนที่มีคุณภาพพอเพียงต่อร่างกาย

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า ในวันออกเจ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับพฤติกรรมการการกินอาหารของประชาชนที่กินเจทั้ง กินเพื่อถือศีล ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และเพื่อสุขภาพ ให้เริ่มต้นการประเมินภาวะโภชนาการของตนเองแบบง่ายๆ ด้วยการชั่งน้ำหนักตัว เพื่อดูว่าน้ำหนักขึ้นในช่วงกินเจหรือไม่ หากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 กิโลกรัม แสดงว่าอาจเกิดจากการกินอาหารประเภทแป้งและไขมันจากอาหารเจมากเกินไป จึงควรเอาบทเรียนดังกล่าวมาปรับการกินอาหารหลังออกเจ โดยใช้เมนูประเภทต้ม นึ่ง ย่าง ยำ หรืออบ แทนการกินเมนูอาหารประเภทที่ใช้น้ำมัน เช่น ผัด ทอด และควรกินข้าว แป้ง ให้พอเหมาะ ลดการกินอาหารรสหวานให้น้อยลง ส่วนพฤติกรรมการกินผัก ผลไม้ที่รสไม่หวานจัดเช่นฝรั่ง ชมพู่ มะละกอ ขอให้ปฏิบัติต่อไป แต่ขอให้กินหลากหลายชนิด ล้างผักให้สะอาดก่อนกินทุกครั้ง และออกกำลังกายควบคู่กันไปอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ก็จะทำให้สุขภาพแข็งแรง หุ่นดี ไม่มีโรคภัยแอบแฝง

ที่มา : สำนักสารสนเทศ กระทรวงสาธารณสุข

Relate topics

ขออภัย ขณะนี้เว็บไซท์ของดการสร้างหัวข้อใหม่และการแสดงความคิดเห็นไว้ชั่วคราว